การท่องเที่ยวดูหิ่งห้อยเริ่มเมื่อใด แล้ว “หิ่งห้อย” มาเกี่ยวกับ “ต้นลําพู” ได้อย่างไร

คลองอัมพวา หิ่งห้อย
คลองอัมพวา (ภาพโดย สาวิตรี ถิตตยานุรักษ์ จากหนังสือชื่อบ้านนามเมือง ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม)

การท่องเที่ยวดูหิ่งห้อยเริ่มเมื่อใด แล้ว “หิ่งห้อย” มาเกี่ยวกับ “ต้นลำพู” ได้อย่างไร แล้วต้นลำพู เกี่ยวอะไรกับ “บางลำพู” ?

เดิมลำพูมีสถานะใกล้เคียงไม้พื้นถิ่นอื่นๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นต้นกุ่ม ต้นแจง ต้นโคล่ ต้นกรวย ผู้คนจะเรียกชื่อไม้เหล่านี้ตามชื่อของท้องถิ่น คือ บางลำพู บึงกุ่ม ดอนแจง บางโคล่ บางกรวย

ชื่อที่แนะนำมา ลำพู ดูจะเป็นไม้ที่มีการกล่าวถึงมากกว่าชื่ออื่น เพราะเมื่อ 10 ปีเศษมานี้ คนนิยมไปดูหิ่งห้อยที่เกาะอยู่ตามต้นลำพูในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้ไม้ท้องถิ่นได้รับการกล่าวถึง กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีราคาขึ้นมาทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ อย่างดีลำพูก็แค่กันไม่ให้ตลิ่งพัง

ลำพูเป็นไม้ที่ขึ้นตามพื้นที่ชายเลน น้ำขึ้นน้ำลง หากมีความเค็มนิดๆ ในหน้าแล้ง ลำพูพอทนได้ แต่เค็มจัดๆ อย่างบริเวณปากอ่าวติดทะเลลำพูทนไม่ได้ พบลำพูในหลายจังหวัด ภาคกลางพบที่กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ภาคใต้ก็มีที่ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช

ต่างประเทศพบลำพูที่ศรีลังกา อินเดีย มาเลเซีย ไกลออกไปหน่อยพบทางตอนเหนือของออสเตรเลีย หมู่เกาะโซโลมอน หมู่เกาะนิวเฮบริดีส

รอบๆ โคนต้นลำพูจะสังเกตเห็นรากงอกขึ้นเหนือพื้นดิน เป็นธรรมชาติของเขาที่ต้องโผล่ขึ้นมารับอากาศบางส่วน เพราะรากส่วนใหญ่จะแช่น้ำอยู่

ต้นลำพู สูงสุดอยู่ที่ 25 เมตร ขนาดของต้นที่ใหญ่ๆ มีไม่มากนัก แต่พบอยู่ต้นหนึ่ง ชาวบ้านเขาอนุรักษ์ไว้ที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ทรงพุ่มของลำพู มีกิ่งก้านห้อยย้อยลง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ขนานอย่างน้อย 5 คู่ ใบมีความกว้าง 0.4-0.6 เซนติเมตร ยาว 0.5-11 เซนติเมตร รูปร่างมนไข่ ปลายแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ เนื้อหนาสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีอ่อน

ตาดอกเป็นรูปไข่กว้าง ปลายกลมหรือมน ดอกมีขนาดกว้าง 1.2-1.7 เซนติเมตร ยาว 2-2.7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงของดอกรูปไข่กลับหรือกลม ปลายแหลม แฉกกลีบเลี้ยง 5 -7 แฉก หลอดกลีบเลี้ยงรูปถ้วย ผิวเรียบ มีสัน

ส่วนต่างๆ ของดอก มักยาวเลยหลอด โคนกลีบเลี้ยงด้านในสีแดงอมชมพู กลีบดอกรูปแถบแกมรูปใบหอก สีแดง จำนวนเท่ากับกลีบเลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียสีแดง ชูอับเรณูยาว 2.8-4 เซนติเมตร ส่วนล่างมีสีแดง ส่วนบนมีสีขาว รังไข่ 16-21 ช่อง ก้านดอกเป็นสี่เหลี่ยม

ผลแป้น สีเขียวสด มีเนื้อ ข้างในผลมีเมล็ดหลายเมล็ดผลยาว 2.3-3.5 เซนติเมตร กว้าง 4-6 เซนติเมตร อยู่บนฐานรองดอกรูปถ้วยแบน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5-6.3 เซนติเมตร มีแฉกกลีบเลี้ยงแผ่รองรับอยู่โดยรอบตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเด่น

ในต่างประเทศ มาเลเซียมีการใช้ประโยชน์จากลำพูพอสมควร โดยใช้ผลอ่อนที่มีรสเปรี้ยวกวนไว้รับประทานกับแกงกะหรี่ หรือใช้ปรุงแกงเผ็ด ที่นิยมกันมากคือนำมาทำน้ำส้ม ผลสุกมีรสชาติคล้ายเนยแข็ง อาจนำมารับประทานดิบหรือนำมาปรุงอาหารก็ได้

ลำพูมีสรรพคุณทางยา โดยใช้น้ำที่ได้จากการหมักดองผลมาดื่มเพื่อยับยั้งอาการเลือดไหลไม่หยุด และน้ำคั้นจากผลกึ่งสุกช่วยบรรเทาอาการไอ น้ำที่สกัดจากส่วนดอกเป็นส่วนผสมในยาขับเลือดในระบบปัสสาวะ รากที่โผล่ขึ้นมาเป็นรากหายใจ ใช้แทนจุกก๊อก ดังนั้นลำพูจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า cork tree

ในประเทศอินเดียมีการนำรากหายใจผลิตเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ เนื้อไม้ใช้ทำฟืน

เรื่องของการใช้ประโยชน์จากลำพู ทุกวันนี้อาจจะพบเห็นไม่มาก เนื่องจากบ้านเมืองพัฒนาขึ้น มีการใช้ยาทันสมัยแทนสมุนไพร แม้แต่การป้องกันไม่ให้ตลิ่งพัง เมื่อก่อนต้นลำพูทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ แต่ความเป็นจริงแล้ว ต้นลำพูหรือจะสู้เขื่อนคอนกรีต เพราะนอกจากคงทนถาวรแล้ว เจ้าของที่ดินยังสามารถสร้างเขื่อนให้ยื่นออกไกลได้ตามที่ต้องการ

ลำพู ถูกนำมาเรียกเป็นชื่อของท้องถิ่น คือ บางลำพู มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่รู้ที่มาของคำว่า บางลำพู

กว่า 100 ปีมาแล้ว บริเวณบางลำพูปัจจุบัน (พ.ศ. 2555 – กองบก. ออนไลน์) มีต้นลำพูขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จึงมีการเรียกบริเวณนั้นว่า “บางลำพู” ครั้นเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินริมแม่น้ำ ริมคลอง จึงต้องตัดต้นลำพูทิ้ง ต้นที่เหลืออยู่บางส่วน เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมก็ล้มตายลง ทำให้เหลือประชากรของลำพูไม่มากนัก ระยะหลังๆ มีการสืบค้นที่มาของชื่อท้องถิ่น ทำให้ได้พบกับต้นลำพูอายุ 100 ปีเศษขึ้นอยู่ ปัจจุบันมีการรักษาอย่างดี ณ สวนสันติชัยปราการ ระยะหลังๆ ทราบว่า มีลำพูต้นเล็กๆ ขึ้นตามมา

โดยทั่วไปแล้ว สถานที่ราชการ ห้างร้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่ย่านบางลำพูเขียนป้ายว่า “บางลำพู” แต่มีห้างร้านบางแห่งเขียนว่า “บางลำภู” ผู้รู้ได้ติติงไปว่า ควรใช้ “พ” แทน “ภ” ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจดี แต่การเปลี่ยนแปลงทำได้ยากลำบาก เนื่องจากต้องเปลี่ยนทั้งระบบ หน่วยงานบางแห่งได้คีย์เข้าระบบคอมพิวเตอร์ไปแล้ว ผู้เกี่ยวข้องบอกว่า ถูกต้องที่สุดให้เขียน “บางลำพู”

หิ่งห้อย มาเกี่ยวข้องกับ ต้นลำพู ได้อย่างไร

หิ่งห้อย จัดอยู่ในกลุ่มอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda) ชั้นอินเซลต้า (Class Insecta) ครอบครัวแลมพายริดิ้ (Family Lampyridae) หมายถึงแมลงตะเกียง

หิ่งห้อยอยู่ในกลุ่มแมลงปีกแข็ง รูปร่างทรงกระบอก ความยาวประมาณ 5-20 มิลลิเมตร ลำตัวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หัว อก และท้อง หิ่งห้อยมีปีก 2 คู่ โดยปีกบนมีลักษณะอ่อนแต่หนา มีขนปกคลุม ต่างจากด้วงปีกแข็งอื่นๆ ส่วนปีกล่าง บางและพับเก็บไว้ใต้ปีกบน สำหรับใช้ในการบิน ลักษณะพิเศษของหิ่งห้อยคืออวัยวะผลิตแสงอยู่ที่ปล้องสุดท้ายของลำตัว

ปล้องผลิตแสงสามารถจำแนกเพศของหิ่งห้อยได้ โดยอวัยวะผลิตแสงของเพศผู้อยู่บริเวณปล้องท้อง 2 ปล้องสุดท้าย ส่วนอวัยวะผลิตแสงของเพศเมียมีเพียงปล้องเดียว อาจอยู่ที่ปล้องสุดท้ายหรือปล้องรองสุดท้าย

หิ่งห้อยควบคุมการกะพริบแสงโดยการเติมออกซิเจนที่ได้จากการหายใจเข้าไปที่อวัยวะผลิตแสง เมื่อออกซิเจนสัมผัสกับสารลูซิเฟอรินจะก่อให้เกิดการสันดาป โดยมีเอ็นไซม์ลูซิเฟอเรสเป็นตัวกระตุ้น และอาศัยพลังงานบางอย่าง และเกลือแมกนีเซียมต่างๆ ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเพื่อปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสง การกะพริบของแสงหิ่งห้อยระหว่างตัวผู้และตัวเมีย เป็นการส่งสัญญาณเพื่อผสมพันธุ์กัน หิ่งห้อยชอบกินหอยเป็นอาหาร บริเวณที่หิ่งห้อยอาศัยอยู่ แหล่งน้ำต้องสะอาด

มีการนำเอาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหิ่งห้อยมาใช้ประโยชน์พอสมควร ชาวจีนและบราซิลสมัยโบราณ นำหิ่งห้อย 8-10 ตัวมาใส่ขวดเพื่อใช้ประโยชน์จากแสงสว่าง นักวิทยาศาสตร์นำความรู้เรื่องการเรืองแสงมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางการแพทย์

เมื่อ 10 ปีเศษมานี้ บ้านเราได้ประโยชน์จากหิ่งห้อยมาก ในแง่ของการท่องเที่ยว ที่ลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณจังหวัดสมุทรสงคราม ธรรมชาติยังดีอยู่พอสมควร ริมแม่น้ำมีต้นลำพูขึ้นอยู่ ต้นลำพูเป็นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อย

การดูหิ่งห้อยเริ่มต้นจากจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยว นอกจากที่กิน ที่พักแล้ว คนท้องถิ่นเห็นว่าคนบ้านอื่นเมืองอื่นชอบหิ่งห้อย ก็เลยจัดให้นั่งเรือไปดูเสียเลย

คุณสรณพงษ์ บัวโรย หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งอยู่จังหวัดสมุทรสงครามมานานกว่า 20 ปี บอกว่า จุดเริ่มต้นการดูหิ่งห้อย เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2540 สาเหตุที่เริ่มดูกัน เพราะคนกรุงเทพฯ ไม่เคยเห็นหิ่งห้อย มองว่าเป็นของแปลก เมื่อดูแล้วติดใจก็เลยบอกต่อๆ กัน หลังๆ กำหนดการท่องเที่ยวหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามที่ขาดไม่ได้คือ ทัวร์หิ่งห้อย

ช่วงทัวร์หิ่งห้อยได้รับความนิยม ชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำเริ่มบ่นว่า ถูกรบกวนจากเครื่องยนต์เรือยามค่ำคืน พร้อมกับน้ำมันเรือก็สร้างมลภาวะที่ไม่ดี หลังๆ มีข่าวออกมาว่า ที่เห็นระยิบระยับนั้น…ส่วนหนึ่งไม่ใช่หิ่งห้อย แต่เป็นแสงไฟที่เจ้าของกิจการทัวร์ทำหลอกนักท่องเที่ยว เคยมีคนให้นำเรือเข้าไปใกล้ๆ แต่เจ้าของเรือบอกว่า ไม่ควรเข้าไปรบกวน…ข่าวนี้ ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร

จริงๆ แล้ว หิ่งห้อยก็เกาะต้นไม้ชนิดอื่น เป็นต้นว่า ต้นลำแพน โพทะเล แสม สาคู

“สาเหตุที่หิงห้อยเกาะอยู่ที่ใบลำพูมาก เพราะว่าต้นลำพูมีขึ้นอยู่ค่อนข้างมากตามริมน้ำ พุ่มใบของลำพูแน่น ทึบ ใบเป็นมัน สะอาด ไม่ค่อยมีฝุ่นจับ ทำให้หิ่งห้อยชอบไปเกาะ ใบไม้ชนิดอื่นหากสะอาดหิงห้อยคงไปเกาะเช่นกัน…ที่มีข่าวว่า มีคนนำไฟไปติดหลอกนักท่องเที่ยวคงไม่จริงมั้ง…ไม่มีใครเขาทำแน่” คุณสรณพงษ์บอก

หิ่งห้อยเป็นแมลงที่รักความสะอาด บริเวณใดที่หิ่งห้อยมีมากแสดงว่าบริเวณนั้นปลอดจากสารเคมี แหล่งน้ำก็สะอาด เอื้ออำนวยต่อการขยายพันธุ์

คุณสรณพงษ์ บอกว่า ที่จังหวัดสมุทรสงครามมีบ่อกุ้งร้างแต่มีต้นลำพูขึ้นอยู่รอบๆ จำนวนมาก ผู้เกี่ยวข้องได้ไปสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะต่อการอาศัยของหิ่งห้อย จึงมีหิ่งห้อยให้ชมทั้งปี ส่วนหนึ่งเป็นหิ่งห้อยนอกฤดู มีไม่มากนักแต่ให้มีมากๆ ต้องช่วงฤดูฝน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2562