ภูมิหลังบางลำพู ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา

ภาพถ่ายเก่า วัดชนะสงครามฯ หรือวัดกลางนา วัดเก่าแก่ของบางลำพู

บ้านบางลำพู หรือ บางลำพู เป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมขัง มีต้นลำพูขึ้นอยู่หนาแน่น จึงเรียกชื่อว่า บางลำพู แต่เรียกกันมาแต่ครั้งไหนยังไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่เชื่อว่าครั้งกรุงศรีอยุธยาคงจะมีหมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำ และปากคลองแล้ว เพราะบริเวณนี้มีวัดเก่าถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่ด้วย คือวัดกลางนา (วัดชนะสงคราม ในปัจจุบัน) นอกจากนี้ยังมีวัดเก่ายุคกรุงธนบุรีอีกวัดหนึ่งคือวัดสังเวชฯ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดบางลำพู

เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2325 โปรดให้ขุดคลองรอบกรุงเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นคลองเมืองด้านทิศตะวันออก คลองรอบกรุงนี้เริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือ หรือบริเวณบางลำพู แล้วขุดทะลุลงไปเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ ทำให้ชาวบ้านเรียกคลองรอบกรุงตรงบางลำพูอีกชื่อหนึ่งว่า “คลองบางลำพู”

ขอบเขตของบางลำพูกำหนดไม่ได้แน่นอน แต่เป็นที่รู้กันว่า รวมบริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วัดชนะสงคราม ที่อยู่ในเขตกำแพงพระนคร จนถึงวัดสังเวชฯ กับวัดสามพระยา ที่อยู่นอกเขตกำแพงพระนคร โดยบริเวณที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่ชุมชนรอบวัดชนะสงคราม ถัดมาเป็นชุมชนรอบวัดสังเวชฯ และชุนชนรอบวัดสามพระยา ส่วนประชาชนที่อยู่ในชุมชนดังกล่าวมีหลายเผ่าพันธุ์ มีทั้งแขก, มอญ, จีน, ลาว โดยอยู่รวมกันตามชุมชนดังนี้

แขกกับมอญ อยู่ในชุมชนรอบๆ วัดชนะสงคราม ในกำแพงพระนครใกล้วังหน้า และอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นวัดเล็กๆ ชื่อ “วัดกลางนา” มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อหลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม ต่อจากนั้นรัชกาลที่ 1 ทรงแต่งตั้งพระราชาคณะฝ่ายรามัญสำหรับพระนครตามประเพณีครั้งกรุงเก่ามาอยู่วัดนี้ ชาวมอญเรียกวัดดังกล่าวด้วยภาษามอญว่า “วัดตองปุ” ตามแบบวัดมอญกรุงเก่า หลังจากมีชัยในการพระราชสงครามก็พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดชนะสงคราม”

ขณะที่บริเวณตั้งแต่วัดชนะสงครามถึงกำแพงพระนครด้านคลองบางลำพู เป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการและขุนนางฝ่ายวังหน้ามาแต่แรก นอกจากนั้นยังเป็นถิ่นฐานของพวก “แขก” ที่ถูกกวาดต้อนมาด้วย ทำให้มีตลาดเล็กๆ ขึ้นที่นี่ แล้วเรียกกันภายหลังว่า ตลาดยอด หรือ ตลาดบางลำพู

นอกจากนี้เอกสารบางเล่มระบุว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทกวาดต้อนแขกมลายูขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2329 แล้วโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดชนะสงคราม ในนิราศชมพระราชวังสวนดุสิต ที่แต่งราว พ.ศ. 2451-2453 ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 พรรณนาถึง “แขก” ที่อาศัยอยู่แถวๆ นี้ไว้ว่า

ถึงวัดชนะสงครามงามสง่า   ช่างโสภางามเกินเจริญศรี

ขัตติยวงค์ทรงสร้างสำอางดี   หลายสิบปีแล้วยังผ่องไม่หมองรา

……………

ครั้นมาถึงซึ่งตำบลถนนขวาง   ถิ่นที่ทางกว้างโตรโหฐาน

มีโรงแถวแนวมรรคาฝากระดาน   สูงตระหง่านสองชั้นเป็นหลั่นไป

ตำบลนี้ดีเหลือเมื่อแต่แรก   พรรคพวกแขกปลูกเคหาอยู่อาศัย

ประเดี๋ยวนี้มีแปลกทั้งแขกไทย   ตั้งโตใหญ่เคหาฝากระดาน

จีน อยู่ในชุมชนรอบๆ วัดสังเวชฯ เดิมชื่อ “วัดสามจีน” อยู่ริมคลองเมืองนอกกำแพงพระนคร ใต้วัดสามพระยาลงมาเดิม

วัดสังเวชฯ นี้ สมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้พระราชทานแก่นักชีที่ทรงเป็นพระอัยยิกาพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร กับพระองค์เจ้าขัติยาเชื้อสายเขมร ต่อมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ แล้วพระราชทานนามว่า “วัดสังเวชวิศยาราม”

วัดสังเวชฯ ถูกเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2412 ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ต้นเพลิงเกิดจากร้านโรงที่ถนนสิบสามห้าง ซึ่งเป็นการย่านการค้าของชาวจีน แล้วลุกลามข้ามกำแพงพระนครไปจนถึงวัดสังเวชฯ ภายหลังเพลิงสงบแล้ว รัชกาลที่ 5 โปรดให้รื้อพระเมรุมาศที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 4 ไปสร้างเป็นกุฏิเสนาสนะในวัดสังเวชฯ เป็นการเร่งด่วน จากนั้นก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา

มอญ อยู่ในชุมชนรอบๆ วัดสามพระยา อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยานอกกำแพงพระนคร ด้านทิศเหนือ เดิมชื่อ “วัดบางขุนพรหม” ที่มาของชื่อนี้มีเอกสารประวัติวัดเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณนี้มีชื่อเรียกว่า “บ้านลาน” เพราะมีขุนนางเชื้อสายมอญสองพี่น้องผูกขาดค้าใบลานตั้งถิ่นฐานอยู่ คนพี่ชื่อ หลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) คนน้องชื่อ ขุนพรหม (สารท)

ต่อมาขุนพรหมเสียชีวิตด้วยไข้ป่าในคราวที่ทั้งสองร่วมกันเป็นนายช่างควบคุมการสร้างมณฑปพระพุทธบาทตามพระบรมราชโองการ หลวงวิสุทธิโยธามาตย์ผู้พี่พร้อมด้วยญาติจึงตกลงใจยกที่ดินพร้อมทั้งบ้านเรือนของขุนพรหมผู้น้องอุทิศถวายให้เป็นวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลให้ขุนพรหมผู้น้อง คนทั่วไปก็เรียกชื่อว่า “วัดบางขุนพรหม” ชื่อย่านนั้นจึงเปลี่ยนจากบ้านลานเป็น “บางขุนพรหม” ไปด้วย

สมัยรัชกาลที่ 3 วัดบางขุนพรหมชำรุดทรุดโทรมลง ทายาทชั้นหลานของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ กับขุนพรหม ได้แก่ พระยาราชสุภาวดี (ขุนทอง), พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และ พระยาเทพวรชุน (ทองห่อ) ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมจนเสร็จสมบูรณ์ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อรัชกาลที่ 3 เสด็จมาทอดพระเนตรก็โปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นพระอารามหลวง พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดว่า “วัดสามพระยาวรวิหาร”

สมัยรัชกาลที่ 3 เริ่มเปิดตลาดการค้าเสรี กรุงเทพฯ ขยายตัวกว้างขวาง จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น บริเวณบางลำพูก็ขยายตัวกว้างขวางออกไปมากกว่าเดิม มีการสร้างวัดรังษีสุทธาวาส และวัดบวรนิเวศ (ภายหลังรวมกันเป็นวัดบวรนิเวศเดียวกัน)

รัชกาลที่ 4 เมื่อทรงผนวชก็ได้เสด็จมาครองอยู่ที่วัดบวรนิเวศด้วย ย่อมทำให้บริเวณบางลำพูทวีความสำคัญขึ้นมากกว่าเดิม ในที่สุดเมื่อต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มตัดถนนเข้าสู่บริเวณบางลำพู เช่น ถนนพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ ฯลฯ นับแต่นี้ ชุมชนบางลำพูกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่อยู่ในกำแพงพระนคร แต่มีขอบเขตคลุมออกไปนอกกำแพงพระนครทั้งสองฟากคลองเมือง เพราะมีคลองบางลำพูเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ณรงค์ เขียนทองกุล. บ้านบางลำพู ชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของกรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2541


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2564