“พุทธทำนาย” ของแท้ ศาสนาพุทธจะล่มสลายใน “500 ปี” โดยมี “ผู้หญิง” เป็นต้นเหตุสำคัญ

ผู้หญิง สตรี พระมารดา พระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา ศาสนาพุทธ

“พุทธทำนาย” ของแท้ “พระพุทธศาสนา” จะล่มสลายใน 500 ปี โดยมี “ผู้หญิง” เป็นต้นเหตุสำคัญ

“หมอดูเขาว่าคู่กับหมอเดา” สำนวนไทยที่มักถูกใช้เพื่อลดคุณค่าของโหราศาสตร์ ซึ่งจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อคำทำนายออกมาไม่ตรงใจ หรือเมื่อเวลาผ่านไปแล้วผลของคำทำนายไม่เกิดขึ้น แต่โหราศาสตร์ก็อยู่คู่กับคนไทยมาโดยตลอด ในฐานะที่พึงทางใจ ที่แม้ผลทำนายออกมาไม่ดีแต่ก็ล้วนมีทางแก้ ซึ่งบางครั้งกลายเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์จนเกินส่วนของผู้ทำนายไปด้วย

Advertisement

ความผูกพันของคนไทยกับคำทำนายและโหราศาสตร์ เห็นได้จากกิจกรรมสำคัญต่างๆ ของคนไทยที่มักพึ่งพาหมอดูหรือผู้รู้ในด้านโหราศาสตร์ ในการหาฤกษ์ยามเพื่อความเป็นสิริมงคล ตั้งแต่งานบวช งานแต่ง ไปจนถึงงานตาย และในคัมภีร์ หรือบันทึกโบราณของชาวพุทธเองก็มีการกล่าวถึงคำทำนาย ซึ่งว่ากันว่าเป็นคำทำนายของพระพุทธเจ้า ที่มักจะเรียกกันว่า “พุทธทำนาย”

เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์กับพระนางปชาบดีโคตมี ภาพโดย Maligawage Sarlis, via Wikimedia Commons

ตั้งแต่เด็กผู้เขียนได้ยินบ่อยครั้งว่า “พระพุทธเจ้าเคยทำนายเอาไว้ว่า พระศาสนาของพระองค์จะดำรงอยู่ได้ 5 พันปี” และผู้เขียนก็เชื่อมาโดยตลอดว่า คำทำนายดังกล่าวเป็น “พุทธทำนาย” ของแท้ ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เอง

จนกระทั่งไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ลองตรวจสอบหาที่มาของคำทำนายดังกล่าว โดยอาศัย “พระไตรปิฎก” แหล่งรวมพุทธพจน์ที่น่าจะมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด แต่สิ่งที่พบไม่ได้เป็นตามความที่ผู้เขียนได้รับฟังมา กลับกันพระพุทธองค์ทรงทำนายว่า พระธรรมของพระองค์จะอยู่รอดได้เพียง “500 ปี” เท่านั้น และ “ผู้หญิง” ยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้พระธรรมของพระองค์อายุสั้นกว่าที่ควร

พุทธทำนายดังกล่าวปรากฏอยู่ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม 7 ภาค 2 ในตอนที่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระพุทธองค์ พยายามทูลขอออกบวชหลายครั้ง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต จนกระทั่งพระอานนท์โน้มน้าวให้พระพุทธองค์ทรงยอมให้พระนางปชาบดีโคตมีออกบวชได้ในที่สุด แต่ขณะเดียวกันพระองค์ตรัสว่า

“ดูก่อนอานนท์ ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว

บัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปีเท่านั้น ดูก่อนอานนท์ สตรีได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อยตระกูลเหล่านั้นถูกพวกโจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย…”

หลังการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ได้มีผู้ออกมาตั้งข้อกังขาในพุทธทำนายดังกล่าวของพระองค์ หนึ่งในนั้นคือ พระเจ้ามิลินท์ หรือเมนันเดอร์ที่ 1 กษัตริย์ชาวกรีกผู้นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 4 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 5) ดังปรากฏใน “มิลินทปัญหา” (เอกสารบันทึกการโต้ตอบระหว่างพระเจ้ามิลินท์ กับพระนาคเสน ปราชญ์ชาวพุทธ ซึ่งเชื่อว่าต้นฉบับน่าจะแต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤตในช่วงศตวรรษที่ 1 หรือศตวรรษที่ 2 [ราว พ.ศ. 544-743, หลังรัชสมัยของพระเจ้ามิลินท์นับร้อยปี] โดยนักเขียนนิรนาม ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์บาลีของพม่าด้วย) พระเจ้ามิลินท์ทรงถามพระนาคเสนว่า

หลังจากที่ผู้หญิงออกบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า พระธรรมอันบริสุทธิ์จะดำรงอยู่ได้เพียง 500 ปี อย่างไรก็ดีพระองค์ทรงเคยตรัสกับพระสุภัททะว่า ‘ตราบเท่าที่หมู่สงฆ์ยังคงยึดถือพระธรรมเป็นแนวปฏิบัติโดยสมบูรณ์แล้ว โลกนี้ย่อมไม่ขาดแคลนซึ่งพระอรหันต์’ คำพูดทั้งสองย่อมขัดกันเอง”

พระนาคเสนตอบกลับไปว่า คำพูดของพระพุทธองค์ทั้งสองประโยคถูกกล่าวในบริบทที่ต่างกัน หนึ่งคืออายุขัยของพระธรรมอันบริสุทธิ์ อีกหนึ่งคือแนวปฏิบัติในโลกของพระธรรม ซึ่งพระนาคเสนมองว่า ต่างกัน โดยเชื่อว่า หากศิษยานุศิษย์ของพระพุทธองค์ยังคงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คำสอนของพระพุทธองค์ย่อมคงอยู่ไม่สูญหาย (แต่อาจจะไม่บริสุทธิ์แล้ว?)

ทั้งนี้ เนื้อหาในมิลินทปัญหาที่ผู้เขียนยกมานั้นเป็นฉบับภาษาอังกฤษ (The Debate of King Milinda) โดย Bhikku Pesala พระชาวอังกฤษที่ได้รับการบวชให้โดยพระชาวพม่า และเข้ามาศึกษาพระธรรมทั้งในพม่าและไทย ตำราอ้างอิงที่พระรูปนี้ใช้จึงเป็นคัมภีร์บาลีของพม่า (รวมไปถึงฉบับแปลในภาษาอื่นๆด้วย) ซึ่งบันทึกไว้ต่างจากฉบับศรีลังกา (และไทย) ที่ระบุว่า “พระสัทธรรมของตถาคตจะตั้งอยู่นานประมาณกำหนดห้าพันปี”

การที่บันทึกฝ่ายไทยไปแปลมิลินทปัญหาโดยระบุระยะเวลาเช่นนั้น ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะเนื้อหาในส่วนที่พระเจ้ามิลินท์อ้างถึงคือการบวชของผู้หญิงนั้น “พระไตรปิฎก” ฉบับภาษาไทยก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะทำให้ “สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปี”

ผู้เขียนจึงเชื่อว่า มิลินทปัญหาฉบับศรีลังกาและไทย น่าจะใส่เลขศูนย์เกินไปหนึ่งตัว

ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเกิดขึ้นด้วยความจงใจ ด้วยชาวพุทธมักเชื่อว่า พระพุทธองค์ทรง “ตรัสรู้” ย่อมเป็นผู้รู้ในทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นอดีตปัจจุบัน และอนาคต ทำให้คำทำนายของพระองค์ต้องเป็นจริงแน่นอน การที่พระองค์ตรัสว่าพระธรรมของพระองค์จะตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปี แต่พุทธศาสนากลับดำรงอยู่ได้เลยช่วงเวลาดังกล่าว ย่อมทำให้ความเชื่อที่ว่าพระองค์คือผู้รู้ในทุกสรรพสิ่งสั่นคลอน

การเติมศูนย์เพิ่มเข้าไปในเอกสารชั้นรองอย่างมิลินทปัญหา ผู้บันทึกชาวไทยและศรีลังกาคงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การเติมศูนย์เพิ่มเข้าไปในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม พระเถระจึงใช้ “อรรถกถา” หรือคำอธิบายเสริมพระไตรปิฎก เพื่อขยายความคำพูดของพระพุทธองค์ออกไปว่า แท้จริงที่พระองค์ตรัสว่า พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปี เพราะมาตุคามบวช แต่กลับไม่ได้เป็นดังที่พระองค์ทรงตรัส เพราะพระองค์ได้ทรงบัญญัติครุธรรมเพื่อกันความละเมิดไว้ก่อน “ทำให้พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ตลอดพันปีที่ตรัสทีแรกนั่นเอง”

นอกจากนี้ อรรถกถายังอธิบายต่อไปว่า การคงอยู่ของพระสัทธรรมหนึ่งพันปีตามที่พระพุทธองค์ตรัสถึงก็ด้วยอำนาจ “พระขีณาสพผู้ถึงความแตกฉานในปฏิสัมภิทา” (พระอรหันต์ขั้นสูง) เท่านั้น แต่พระสัทธรรมจะยังคงอยู่ไปอีกพันปีด้วยอำนาจ “พระขีณาสพสุกขวิปัสสกะ” (พระอรหันต์ขั้นรองลงมา) อีกพันปีด้วยอำนาจ “พระอนาคามี” อีกพันปีด้วยอำนาจ “พระสกทาคามี” และอีกพันปีด้วยอำนาจ “พระโสดาบัน” ทำให้พระสัทธรรมของพระพุทธองค์จะคงอยู่ได้รวม “5,000 ปี”

ด้วยเหตุนี้จึงพอจะกล่าวได้ว่า ความเชื่อในพุทธทำนายที่ว่า พระพุทธศาสนา จะอยู่ได้ 5,000 ปี แท้จริงแล้วมิได้มาจากพระพุทธองค์เอง แต่เป็นการตีความพุทธพจน์ที่เกิดขึ้นภายหลัง (เนื่องจากไม่อาจตีความตามตัวอักษรได้อีกต่อไป) ซึ่งมีการผลิตซ้ำในเอกสารชั้นรองว่า คำทำนายดังกล่าวเป็นของพระพุทธองค์เองเช่นในมิลินทปัญหาฉบับศรีลังกาและไทย

นอกจากนี้ ยังมีการอ้างว่า เมื่อครั้งที่คณะธรรมทูตไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่อินเดียเมื่อ พ.ศ. 2484 ได้พบศิลาจารึกในเขตมหาวิหารในสวนมฤคทายวัน ซึ่งได้ลงจารึกไว้ว่า โลกจะแตกหลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว 5,000 ปี (ไปไกลกว่าเดิม) แต่ก็เป็นเพียงการอ้างลอยๆ ไม่มีการระบุชื่อผู้พบและผู้แปลเป็นที่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2559