พุทธทำนาย เรื่อง…ความเจริญทางเทคโนโลยีของมนุษย์

พุทธทำนาย
พุทธทำนาย จารไว้เป็นอักษรธรรมล้านนา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2537)

ผมเคยได้ยินผู้สูงอายุเล่าให้ฟังว่า มี “พุทธทำนาย” ว่าในกาลอนาคต พื้นแผ่นดินจะราบเรียบเสมอกันประดุจหน้ากลอง

ตอนนั้นผมก็นึกไม่ออกว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะถนนที่ดีที่สุดในสมัยนั้นยังเป็นตะปุ่มตะป่ำ ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ แม้จะลาดยางแล้วก็ตาม จนกระทั่งได้เห็นถนนมิตรภาพ (ไทย-อเมริกัน) สายแรกเมื่อคราวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา จึงประจักษ์ว่ามนุษย์สามารถสร้างถนนให้ราบเรียบประดุจหน้ากลองได้จริงๆ

ผมลืมเรื่องพุทธทำนายไปเสียนาน จนกระทั่งได้อ่าน “พุทธทำนาย” ฉบับหนึ่งที่เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา มีเรื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต ผมเข้าใจว่าผู้แต่งคงจะเป็นคนไทยภาคเหนือ แต่อ้างว่าเป็นพุทธทำนายเพื่อให้คนอ่านเชื่อถือ

ถ้าตัดเรื่องพระโพธิสัตว์ พระอินทร์ พระพิษณุกรรม แม่ธรณี พระเวสสุวรรณ และยักษ์มารออก ก็จะเหลือแต่สาระสำคัญคือความคิดในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ด้อยไปกว่า เอช. จีเวลส์ หรือ จูลส์ เวิร์น เลย

พุทธทำนายฉบับที่ผมจะถ่ายทอดเป็นอักษรไทยเพียงบางตอนต่อไปนี้ ได้มาจากพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งผมไม่ได้ขออนุญาตเปิดเผยชื่อและวัดของท่าน จึงบอกได้แต่เพียงว่าท่านอยู่ที่ อ. แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน

[ในวงเล็บคือคำอธิบายหรือคำแปล ในเครื่องหมาย /-/ คือคำที่ผมเติมเข้าให้ได้ใจความ]

เปิด “พุทธทำนาย”

“เทวบุตรตนชื่ออุตตโรโพธิสัตว์เจ้านั้น รับนิมนต์ของอินทราธิราชเจ้าฟ้าแล้วก็จุติจากชั้นฟ้าตุสิดา จักลงมาเกิด/ใน/เมืองอังครัฐ วันตกเขาอินทนนท์ ตะวันออกแจ่งใต้ (เฉียงใต้) ฝั่งน้ำแม่กลาง เพราะเมืองอังครัฐนี้ประเสริฐยิ่งนัก เป็นที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมาจำวสาที่นี้ทุกองค์…ท่านเกิดมาในปีกัดเป้า เดือน 7 เพ็งเม็ง วันจันทร์ จุลศักราชได้ 1246 ตัว…เมื่อบวชเป็นภิกขุแล้ว ชาวเจ้าภิกขุ หลุ้ม (รุม) ชังท่านมากนัก บ่ได้ร่วมอุโบสถกับด้วยชาวเจ้าทั้งหลายมีความเทศนาสั่งสอนคนทั้งหลายหื้อไปสู่ทางดี รักษาศีล เมตตาภาวนา…

ยามนั้นเทวบุตรตนเป็นสหาย ท่านลงมาเกิดช่วยสมภารท่าน เขตเมืองคมันโตนพบุรี ในปีกาบยี่ จุลศักราชได้ 1276 เป็นภิกขุแล้วจักเข้าป่าไปพ่ำเพ็ง (บำเพ็ญ) สมณธรรมอยู่ป่าใหญ่ ภิกษุทั้งหลายก็จักหนีเข้ามาอยู่บ้านอยู่เมืองทุกที่ทุกแห่ง ก็จักมามุสาอุบาย บอกหื้อคนหลงเชื่อว่าตนบุญ เกิดหั้นเกิดหนี้ (เกิดที่นั่นที่นี่) จักจุ (โกหก) คนทั้งหลายไปทานกระทำบุญ แตกตื่นกันมากนัก ยามนั้นแดดก็ร้อนนัก มะเห็บ (ลูกเห็บ) ก็จักตกร้ายนัก ไฟก็จักไหม้เรือน คนทั้งหลายมากนัก ก็จักพากันหลงใหลไปทาน เข้าใจว่าตนบุญลงมาเกิด จักเป็นตนบุญนั้นแท้ก็บ่มี เท่าเป็นอุมุต (คนบ้า) แลถะหลิ (เสแสร้ง) อุบายบ่ดาย ก็จักเกิดมียามนั้นชาแล ฝนหล้างดีตกก็บ่ตก มืดฝนมาแล้วหายเปล่งไป

มีทางบ่มีคนไต่ มีแต่รอยงูไขว่หันกันฟันทางหน้อยขวายทางหลวง (วรรคนี้แปลไม่ได้) มีเข้า (ข้าว) บ่มีช่างตำ มีนาบ่ช่างไถ (ไถไม่เป็น) แลหว่านกล้า บัวราณว่าไว้ลวด (ก็เลย) บ่ถือทือเอา มีหูกบ่ช่างทอ มีผ้าต้อย (ผ้าโจงกระเบน) พ้อย บ่นุ่ง (กลับไม่นุ่ง) มีธรรมบ่ช่างผ่อ (ดู) และเล่าลือ มีหนังสือ อักขระบัวราณสืบมาแต่เช่นก่อน (คนรุ่นก่อน) บ่ช่างเล่าแลเขียน มีแต่เล่าเขียนเอาใหม่ ไจ้ๆ (เรื่อยๆ) บ่ว่าภิกขุแลสามเณรก็จักพากันร้องไห้อยู่ในอบายพุ้น หมื่นชาแล (ดั่งนี้แล) เอารีตเมืองเพื่อนมาเป็นเมืองตัว เผียบ (เปรียบ) เหมือนละเมียไปเปีย (คว้า) ทางชู้ ก็จักวอดวายฉิบหาย ในชั่วนี้แลชั่วหน้าชาแล

ยามนั้น ก่ำพุ้งหลวง (แมงมุมยักษ์) ก็จักผ่านสายใยกลางเมือง พระภิกขุจักเบื่อวินัยธรรม เอากระดาษมาจ่ายเป็นเงินคำ ซื้อขายกันกินทุกที่ทุกแห่ง ผีหัวหลวงบินบนหนอากาศ จักพุ่งส้าว (แสงสว่างที่เกิดจากลูกอุกกาบาต) ทั้งเมื่อวันเมื่อคืนหื้อคนทั้งหลายหัน (เห็น) ทุกแห่ง เพราะเจ้าขุนแต่งบ่ชอบคำบัวราณ มัก เหล้ม (เสี้ยม) งาช้างล่อชนกันกินก็จักมีกาละยามนั้นชาแล เข้าก็จักแล้งแห้งแดดชาแล จับลางทีก็จักเป็น เพลี้ยง (เพลี้ย) ด้วง แมงบ้ง (หนอน) กัดมากนักชาแล

คนมายามนั้น อายุเขาก็สั้นนัก เพราะว่าปีสั้น เดือนสั้น พลันค่ำพลันแจ้ง เขาก็จักมีเตชะฤทธีมากนัก ดำดินบินบนโยนขึ้นไปในอากาศก็ได้ตามใจมักของเขา ก็จักมียามนั้นชาแล ชาวเจ้าภิกษุทั้งหลายก็จักละสิกขาบทวินัยเดิม กุมผ้า (ครองจีวร) เกี้ยวแขนเหมือนงวงช้าง เอาถง (ถุงย่าม) ห้อยศอก แอ่ว (เที่ยว) จรเดินไปเทศนาธรรมตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ ชุที่ชุแห่ง (ทุกที่ทุกแห่ง) ชาแล ตัวอักขระ พยัญชนะ อรรถะบาลีก็จักแต่งแปงเอาแถมใหม่ คำยาวหื้อเป็นคำสั้น คำสั้นหื้อเป็นคำยาว ก็จักเป็นปาปกรรมแน่นหนาแก่เขามากนักชาแล

น้ำธรรมคำสอนก็จักเอา คว่างทุม (ขว้างทิ้ง) เสีย ก็แปงเอาแถมใหม่ หาว่าธรรมเก่าบ่ถูก บ่แม่นคำสอนของพระพุทธเจ้าชาแล ก็จักค้อน (ประพันธ์) เอาแถมใหม่ เรียนชาวต่างภาษา พุทธรูปเจดีย์ พระบาทพระธาตุมีที่ไหนก็จักพากันไปบก (ขุด) ผ่าเอาหัวใจ ขุดกู่ (สถูป) หื้อ หลุ (ชำรุด) ไปค่ำ (ข่มเหง) ศาสนาพระพุทธเจ้า ครั้นตายไปก็จักไปร้องไห้อยู่ก้นหม้อ มหาอวิจีนรกโพ้นหมื่นชาแล 2,500 พระวสาปลายไปเถิง 3,000 พระวสานั้นเป็นศาสนาของพระยามหากษัตริย์ เสนาอามาตย์ ปุถุชน ภิกขุสงฆ์ทั้งหลาย ปกครองรักษาอาชญาบ้านเมือง ตัดถ้อย ตัดความ ก็จักเปลี่ยนแปลงเอาแถมใหม่ มอมหมิ่นไก่ (มอมหน้าไก่) ล่อชนกันกิน ค่าจ้างฝ่ายใดนัก (มาก) ก็ฝ่ายนั้นแพ้ (ชนะ) มีแต่โลภะตัณหา กินบ่อิ่มบ่ค่าย (เบื่อ) แม้นว่าเอาตัวเอาเมียก็จักได้เสียค่าส่วยไร ค่าเช่ามากนัก

ครั้นสร้างวัดวาอาราม แปงกุฎี วิหาร พระธาตุ โบสถ เคหะ หอเรือนคนทั้งหลาย เยียะ (ทำ) ไร่นา แลแม่งัวตัวควาย ซื้อขายก็จักมาเก็บภาษีค่าเช่าของคนทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่าง นั่งไหนไห้หั้น (นั่งที่ไหนร้องไห้ที่นั่น) ก็จักเก็บเอาเด็กน้อยทั้งหลายไปออกันไว้เป็นที่เป็นแห่ง ก็ทุกข์ยาก กั้นอยาก (อดอยาก) เป็นโจรขโมยขึ้น ยาดแคว (ยื้อแย่ง) กันกินทุกที่ทุกแห่ง เข้าก็จักแพงมากนัก พ่อชายทั้งหลายก็ขายลูกแลเมียของเขามาเลี้ยงอินทรีย์ชีวิตชาแล ผู้ญิงหนุ่ม (หญิงสาว) ทั้งหลายก็จักขายตัวมากนัก เพราะว่าทุกข์ยาก อยากเข้าอืบแกง (อดข้าวอดแกง) มากนัก

ไปทางเหนือก็จัก เฝือกัน (ประคองกัน) คืนมา ไปทางใต้ก็จักได้ให้คืนมา ไปทางวันตกก็จักได้หก (วิ่ง) คืนมา ไปทางวันออกก็จักได้พอก (กลับ) คืนมา แม้นว่าตายไปก็จักลอกคราบห้อยฝาเรือนไว้ แม้นว่าพระอาทิตย์ตกลับดอยไปแล้ว ท้าวพระยาทั้งหลายจักแปงแสงพระอาทิตย์ แจ้งเปล่งดีงามเหมือนเมื่อพระอาทิตย์บ่ตกเทื่อ นั้นแล ลางพร่อง (บางคน) อยู่เมืองพาราณสีพร่องอยู่เมืองกปิลวัตถุนคร อู้กันฟู่กัน (พูดคุยกัน) ได้ยินเสียงปากถี่ (ชัดเจน) เหมือนอยู่ใกล้กันนั้น แล…ฯลฯ

….เพราะว่าผีวิสาจ (ปีศาจ) ร้ายมายุยงหัวใจแม่ญิงพ่อชายหนุ่มทั้งหลายฝูงนั้นหื้อทำเพศ เหมือนกันผี (เหมือนกับผี) นุ่งผ้าเสื้อ ก็จดมะต่อม (กลัดกระดุม) ทางหลังนุ่งเตี่ยว กางเกงขาสั้น ขายาว ตัดผมแลงอผม ย้อมริมปากแลเล็บนขาของเขาหื้อแดง…ซากศพผีตายก็จักสักเสิน (สรรเสริญ) ว่าดี เอาฆ้องกลองมาแห่ประดับ หย่านหย้อง (ตกแต่ง) หื้องาม หาว่าเป็นของดี เอาเหล้ามาสู่กันกิน เหล้น ภ้าย (ไพ่) แลโป ข้า (ฆ่า) งัวข้าควายแลข้าสัตว์ตัวน้อยตัวใหญ่มาสู่กันกิน….

…แม่ญิงพ่อชายก็จักพากันตัดผมนุ่งเตี่ยว แม่ญิงแลพ่อชายอยู่ไกล/ๆ/ ผ่อบ่รู้จักทักว่าญิงก็กลัวบ่แม่น จักว่าผู้ชายก็กลัวบ่แม่น…ละรีตเก่ารอยหลัง นุ่งซิ่นแลเตี่ยวรัดแอวเหมือนกัน แมงไบ้ (หมาร่า) นุ่งเสื้อก็แหวกทางหลังเหมือนกันหามขอนผีไปทุมเผายังป่าช้า…(คนตายเท่านั้นที่ใส่เสื้อกลับหน้าเป็นหลัง)

…คนทั้งหลายเกิดมายามนั้นจักมีฤทธีเตชะมากนัก ดำดินบินบนซาน (เหาะ) ไปด้วยอากาศก็ได้ หนทางไปไกลได้ 8 เดือน แล 9 เดือน เขาก็ซานไปประมาณ เกิ่งผากเข้างาย (ครึ่งหนึ่งของเวลาจากอาหารเช้าถึงเที่ยง) เดียวก็เถิง หื้อเขาเวย (เร็ว) นัก เหมือนกันฟ้าแมบ (ฟ้าแลบ) ก็จักมีในกาละยามนั้นหมื่นชาแล เขาก็มีศาสตรศิลป์สวาดธิยาย (สาธยาย) ของเขา มีพละกำลังแรงยิ่งกว่าช้างพลายสารหมื่นตัวแสนตัวก็จักปรากฏมีในกาละยามนั้นแล

พิษณูกรรม์ แม่ธรณีเหอย เขาอู้ฟู่กัน แล ซาบ (กระซิบ) กัน บ่ /ว่า/ ไกลแลใกล้ ก็จักได้ยินเสียงปากหมดเหมือนกันทุกคน แม้นว่าดับจิตไปแล้ว อวาย (ระบาย) จิตแลเสียงปากมา อู้ฟู่กันก็ได้ อัดแปงปั้นรูปคนตายนั้นไว้ หื้อยกย่างย้ายไปมา อู้แลปาก และใคร่หัวเหิดสู้ (หัวเราะดังลั่นชอบใจ) ย่างเดินเทียวไปมาเหมือนดั่งเมื่อมันบ่ตายนั้นแล แม่น้ำมหาสมุทรเลิก (ลึก) ยิ่งกว่าเลิก ก็จักดำลงไปเทียวในน้ำมหาสมุทร ผาบ (ปราบ) แพ้เลือกงาปลาฝา (ตะพาบน้ำ) จักเข้แลมังกรบ่มากระทำร้ายหื้อเขาฝูงนั้นได้…

ดอยหินผาใหญ่แลสูงนัก ขึ้นสองวันสามวันจึ่งรอด เขาก็แปง อะม็อกสีนาค (ปืนใหญ่) ยิงดอยหินลูกนั้นคำเดียว (ทีเดียว) แตกย่อยเป็นขะจวน (เป็นจุณ) ไปเสี้ยง (สิ้น) เลี่ยนเกลี้ยงเหมือนหน้ากลองสบัดชัยชาแล เขาก็จักแปงลูกยางใหญ่ตั้งข่าย ฝังป้องกันบ้านเมืองไว้ ครั้นว่าข้าเศิกศัตรูจักมารบแลกระทำร้ายลู่ (แย่ง) เอาบ้านเมือง ครั้นว่ามาย่ำใส่ ข่ายที่เขาฝังไว้นั้น ลูกสีนาดก็จักแตกใส่ข้าเศิกทั้งหลายฝูงนั้น ตายตั้งล้านตั้งโกฏิ บ่หลอได้สักคน ก็จักมีในกาละยามนั้นหมื่นชาแล เขาก็แข่งฤทธี แปงเดือนดาวพุ่งขึ้นไป/ใน/ทิศท้องอากาศเป็นหาง เป็นควันหื้อคนทั้งหลายทันทุกที่ทุกแห่งก็จักมียามนันชาแล

ในกาลยามนั้น ยักษ์ทั้งหลายนอกขอกฟ้าจักรวาลก็ขออนุญาตกับพระยาเวสสุวรรณ /ว่า/ จักมากินชิ้น (เนื้อ) คนใจบาปหนาอธรรมทั้งหลายฝูงนั้น พระยาเวสสุวรรณก็ห้ามยักษ์เสียบ่อนุญาตหื้อ เพราะว่ามนุษยโลกทั้งหลายมีเตชะฤทธีมากนัก มหายักษ์ก็ขอพระยาเวสสุวรรณ /ๆ/ ก็ถามยักษ์ว่า สูท่านทั้งหลายจักกระทำดั่งฤาหื้อคนทั้งหลายฝูงนั้นได้ชา ยักษ์ลางพร่องก็ว่าจักแปงไฟไหม้ ลางพร่องก็ว่าจักแปงลมพัด ลางพร่องก็จักเนรมิตเป็นเสือมากิน ลางพร่องก็จักเนรมิตเป็นน้ำมาท่วม

พระยาเวสสุวรรณก็บอกหื้อยักษ์ทั้งหลายว่า ครั้นสูเหลือคำ (ไม่เชื่อฟัง) กูนี้ ครั้นว่าลงไปใต้มนุษย์ก็จักไปวินาศตายฉิบหายกับคนมนุษย์ทั้งหลายฝูงนั้น /ๆ/ ก็จักข้าแลยิงสูด้วยสีนาดอันใหญ่ สูก็จักมรณาตายบ่เหลือสักตน แม้นว่าหินผา ดอยหิน เขา/ยัง/ยิง เป็นขะจวนไป ยิงคำเดียวก็ย่อยยับไปหมดแล แม่น้ำมหาสมุทรก็จักแปงเครื่องดึงดูดเอามาตกเป็นฝนใส่ไร่นาเรือกสวนเขาก็ได้บัดเดี๋ยวนั้นแล ฝนจักตกที่เมืองอื่น เขาก็แปงเครื่องดึงดูดเอาฝนมาตก เมืองเขาก็ได้ชาแล ท่านก็จักแปงน้ำมาท่วม เขาก็จักแปงลมพัดน้ำนั้นไปหื้อแห้งคำเดียวก็ได้ ครั้นจักแปงไฟไหม้ เขาก็จักแปงเครื่องดึงดูดเอาน้ำมารดหื้อดับไป ท่านจักแปงลมมาตี เขาก็จักแปงเครื่องดึงดูดเกิ้ง (บัง) ลมไว้ พัดแลกำจัดหื้อลมร้ายทั้งหลายฝูงนั้นหื้อหลีกฟีก แตกเป็นทลัดทลายไปก็จักมียามนั้นชาแล คนใจบาปฝูงนั้นก็จัก สมเฝ่ายา (ผสมเคมี) ยิงสู เหม็นตายไปหมดบ่เหลือสักตน เพราะนั้นแล ยักษ์ทั้งหลายบ่ลงมากินคนได้…”

พุทธทำนายกับเทคโนโลยีของมนุษย์

พุทธทำนาย ข้างต้น กล่าวถึงความเจริญทางเทคโนโลยีของมนุษย์หลายอย่าง เช่น

การสร้างถนนที่ “บ่มีคนไต่” (เพราะกลัวรถจะชนตาย)

เครื่องยนต์ที่ใช้ในการเกษตรจนทำให้คน “มีนาบ่ช่างไถ”

มีเครื่องสีข้าวที่ทำให้คน “มีเข้าบ่ช่างตำ”

โรงงานทอผ้าที่ทำให้คน “มีหูกบ่ช่างทอ”

สายไฟฟ้า สายโทรเลข และสายโทรศัพท์ ที่เป็นเสมือนสายใยของ “ก่ำพุ้งหลวง” พาดผ่านไปทั่วบ้านทั่วเมือง

มีหลอดไฟฟ้าที่ทำให้เกิดแสงสว่างเหมือนกลางวัน แม้พระอาทิตย์จะตกไปแล้ว

เครื่องโทรศัพท์ที่ทำให้คนอยู่ไกลกันคนละเมืองพูดคุยกันได้ด้วยเสียงกระซิบ

เครื่องบันทึกภาพและเสียงที่ทำให้คนทั้งหลายมองเห็นภาพความเคลื่อนไหว และได้ยินเสียงพูดของผู้ที่ตายไปแล้ว ภาพถ่ายของคนก็เปรียบเสมือนการ “ลอกคราบห้อยฝาเรือนไว้”

อาวุธจรวดที่คนใช้ทำสงครามกันก็คือ “ผีพุ่งส้าว”

อุโมงค์ใต้ดินและการเดินทางด้วยอากาศยาน ทำให้มนุษย์สามารถ “ดำดินบินบน” ได้

“เครื่องดึงดูดเอาฝนมาตกใส่ไร่นา” คือการทำฝนเทียม

การที่มนุษย์สามารถ “แปงเดือนดาวพุ่งขึ้นไปในทิศท้องอากาศ” คือการส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรในอวกาศ

การฝัง “ลูกยางใหญ่” ก็คือการฝังกับระเบิด

การยิงภูเขาทั้งลูกให้หลายราบลงด้วยกระสุนเพียงนัดเดียว คงจะเป็นอาวุธหัวรบปรมาณูอย่างไม่ต้องสงสัย

การ “สมเฝ่ายา” คือการผสมเคมีในการทำอาวุธเคมีอันเป็นอาวุธที่ร้ายแรงพอๆ กับระเบิดนิวเคลียร์ เพราะจะทำให้มนุษย์ “เหม็นตาย” คือ สำลักแก๊สพิษจนหมดทั้งเมืองได้

ผู้แต่งพุทธทำนายนี้คงจะเป็นพระภิกษุที่ได้อนาคตังสญาณ คือญาณหยั่งรู้อนาคต เพราะในสมัยก่อนคนไทยไม่ได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่จะเป็นพื้นฐานให้คาดคะเนความเจริญทางเทคโนโลยีได้ถูกต้องแม่นยำถึงขนาดนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน 2565