ชีวิตคู่ของ “มนุษย์” ใช่ว่าต้องดำรงอยู่ด้วย “รัก” แต่อาจถูกผลักดันด้วย “ความหิวโหย” !

การแต่งงาน งานแต่ง ของ กบ ใน อินเดีย ดับ ความหิวโหย
ภาพงานแต่งกบซึ่งเป็นความเชื่อในสมัยโบราณเพื่อความอุดมสมบูรณ์ จากบังคาลอร์ ประเทศอินเดีย (INDIA-WEATHER-RELIGION / AFP)

นับแต่ครั้งโบราณมา การแต่งงาน หรือการแสวงหาคู่ชีวิตเป็นกิจกรรมที่สำคัญประการหนึ่งของสังคมมนุษย์ แรงจูงใจที่กระตุ้นให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้นนั้นมีทั้งมาจากความรักอันหวานชื่น ความพึงพอใจในกันและกัน ความปรารถนาเชิงราคะระหว่างคนสองคน หรืออาจมาจากแรงจูงใจใหญ่ๆ อย่างการเชื่อมความสัมพันธ์ทางการเมืองของบรรดาเจ้าขุนมูลนาย การส่งเสริมความมั่นคงทางธุรกิจระหว่างครอบครัวของมหาเศรษฐี อย่างไรก็ตาม การแต่งงาน หรือการแสวงหาคู่ชีวิตก็ใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นจากแรงจูงใจในข้างต้นเสมอไป เพราะในบางกรณีนั้นพบว่าแรงจูงใจในแสวงหาชีวิตคู่ของมนุษย์นั้นอาจมาจาก “ความหิวโหย”

หลายคนในโลกยุคปัจจุบันที่การหาอาหารมาดับ “ความหิวโหย” ไม่ใช่เรื่องที่ยากเท่าใดนัก อาจนึกไม่ออกว่าแรงจูงใจนี้มีความเกี่ยวของกับการแสวงหาคู่ชีวิตอย่างไร? หลักฐานที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของแรงจูงใจข้อหลังนี้ เราสามารถสังเกตได้จากสังคมของมนุษย์ที่ดำรงชีพด้วยการเก็บของป่า-ล่าสัตว์ ตัวอย่างเช่น

ชาวเอสกิโม (Eskimo) ที่อาศัยอยู่ในบริเวณขั้วโลกเหนือ ในอดีตชายชาวเอสกิโมที่มีภรรยาแล้วอาจถึงขั้นฆ่าชายแปลกหน้าที่เดินทางเข้ามาที่บ้าน โดยไม่ได้มีเหตุผลมาจากความหึงหวงในความสาวความสวยของภรรยา แต่เนื่องมาจากกลัวที่จะถูกแย่งภรรยา ซึ่งทำหน้าที่ปรุงอาหารและดูแลกระท่อมน้ำแข็ง (Igloo)

ชนพื้นเมืองบนหมู่เกาะตีวิ (Tiwi) ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศออสเตรเลียในปัจจุบัน
ชนพื้นเมืองเพศชายของหมู่เกาะนี้นิยมการมีภรรยาจำนวนหลายคน เพราะเชื่อว่าจะสามารถช่วยกันหาอาหารได้มากขึ้น หลักฐานที่บ่งชี้ว่าชายชาวตีวิให้ความสำคัญกับการมีอาหารกินมากกว่าเรื่องความรักความใคร่ คือการพบว่าภรรยาที่แต่งงานด้วยนั้นอาจจะมีอายุมากกว่าสามีหลายสิบปีหรืออยู่ในช่วงอายุที่หมดวัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว

ชนเผ่าเมฮินาคุ (Mehinaku) ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าลึกของประเทศบราซิล ชายชาวเมฮินาคุมักยึดถือคติประจำใจว่าการเป็นโสดนั้นมักก่อความทุกข์อยู่เสมอ เนื่องจากจะไม่มีคนคอยช่วยเหลือในการหาอาหารส่งผลให้มีอาหารไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตน และไม่มีอาหารพอสำหรับใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังไม่มีโอกาสได้แสดงความโอบอ้อมอารีด้วยการจัดงานเลี้ยงอาหารคนในเผ่าเลย

ชาวปิ๊กมี่ (pygmies) ที่อาศัยอยู่ในป่าลึกบริเวณตอนกลางของทวีปแอฟริกา ในกรณีของชาวปิ๊กมีนั้นพวกเขามักจะมีความคิดเห็นต่อการใช้ชีวิตแบบเป็นโสดว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะจะไม่มีใคร “…คอยช่วยก่อกองไฟ ซ่อมแซมกระท่อม เก็บผลไม้ป่า…” ความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นเพียงเรื่องรอง ชีวิตของชายชาวปิ๊กมี่ที่เป็นโสดมักมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ อยู่แบบอดๆ อยากๆ อาหารไม่พอกิน มักต้องแอบไปขโมยอาหารจากครอบครัวของคนอื่นๆ ในเผ่า หากถูกจับได้ก็จะถูกเฆี่ยนตีด้วยกิ่งไม้มีหนามอยู่เสมอ

ตัวอย่างเหล่านี้น่าจะพอชี้ให้เห็นได้ว่าวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่อยู่ในสังคมเก็บของป่า-ล่าสัตว์ มีความเป็นอยู่แบบดึกดำบรรพ์ อยู่ห่างไกลจากความเป็นสังคมสมัยใหม่และห้างซูเปอร์มาร์เก็ต ความปรารถนาถึงการมีท้องที่อิ่มหนำได้กลายเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่สามารถกระตุ้นให้คนต้องการแสวงหาคู่ชีวิตได้ไม่น้อยไปกว่าแรงจูงใจจากความรักอันหวานชื่นหรือความต้องการทางเพศเลย

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราเป็นนายพราน 

หากว่าเรานับการปรากฎตัวขึ้นบนโลกของลิงไร้หาง (Ape) สกุล โฮโม (Homo) เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้ว ถือได้ว่าเราใช้ชีวิตเป็นนายพรานเก็บของป่า-ล่าสัตว์มาอย่างยาวนานกว่า 2-3 ล้านปี ขณะที่การทำเกษตรกรรมหรือการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์นั้นเป็นกิจกรรมของมนุษยชาติที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงประมาณ 10,000 ปีหลังนี่เอง

อย่างไรก็ตาม การเก็บของป่า-ล่าสัตว์ในยุคแรกๆ นั้นมนุษย์ยังไม่ได้มีความสามารถในการเป็น “ผู้ล่า” โดยตรง เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของเราทั้งพละกำลัง เขี้ยว เล็บนั้นอ่อนแอกว่าสัตว์นักล่าอื่นๆ อย่าง เสือ สิงโต ไฮยีน่า มาก เราจึงมีบทบาทในฐานะผู้กำจัดซากสัตว์ที่สัตว์นักล่ากินเหลือมากกว่า เครื่องมือหินจึงได้รับการประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ในการทุบ ขูด แคะ กระดูกสัตว์เพื่อนำไขกระดูกที่อยู่ภายในมากิน

ภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปหลายแสนปีมนุษย์จึงสามารถประดิษฐ์อาวุธอย่าง หอก ขวาน ธนู และค้นพบเทคนิคที่ช่วยให้การล่าประสบความสำเร็จมากขึ้น เช่น การเผาป่า การไล่ต้อนสัตว์ การรวมกลุ่มกันออกล่า ฯลฯ มนุษย์จึงได้มีสถานะเป็น นายพราน หรือ “ผู้ล่า” อย่างแท้จริง กระทั่งช่วงประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว มนุษยชาติในหลายพื้นที่ของโลกค้นพบวิธีและริเริ่มการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ซึ่งช่วยให้เรามีอาหารการกินที่เหลือเฟือมากขึ้น จนมีผู้กล่าวว่าการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์เป็นรากฐานในการสร้างสรรค์อารยธรรมมนุษย์

แต่ในอีกทางหนึ่งได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์กลับทำให้มนุษย์มีสุขภาพที่อ่อนแอลง เสี่ยงที่จะเผชิญกับทุพภิกขภัยบ่อยขึ้น เกิดสงครามที่รุนแรงมากขึ้น และมนุษย์ได้สูญเสียทักษะสำคัญบางประการที่เคยมีไปจนหมดสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือ

ยูวัล โนอาห์ แฮรารี. เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ. แปลโดย นำชัย ชีววิวรรธน์. กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2561
ริชาร์ด แรงแฮม. ไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์. แปลโดย ศิริรัตน์ ณ ระนอง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555

เว็บไซต์

https://www.timesofisrael.com/for-2-million-years-humans-ate-meat-and-little-else-study/

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/joim.13011

https://en.wikipedia.org/wiki/Mehinaku

https://en.wikipedia.org/wiki/Tiwi_people


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2565