เรือคำหยาด 7 แผ่นดิน แห่งหนองคาย

เรือคำหยาด (ภากจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2540)

คำหยาด เป็นชื่อพระตำหนักของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (ขุนหลวงหาวัด) สมเด็จพระราชอนุชาของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ตามพงศาวดารว่า สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พระชนกนาถ ทรงระบุให้ครองราชย์ โดยข้ามสมเด็จพระเชษฐาไปเสีย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต จึงทรงผนวชหลีกเลี่ยงปัญหานี้ จนได้พระสมัญญาดังกล่าวและมาสร้าง “พระตำหนักคำหยาด” ประทับอยู่เมืองอ่างทอง

เมื่อครั้งคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ และคุณขรรค์ชัย บุนปาน ยังเป็น 2 กุมารสยามอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้สำรวจและนำเรื่องพระตำหนักคำหยาดนี้ออกเผยแพร่ จนท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รัตนกวีศรีสยาม ประทับใจคำไพเราะเพราะพริ้งนี้ เมื่อรวมกวีนิพนธ์ครั้งเป็นวัยจ๊าบครั้งแรก จึงตั้งชื่อรวมบทกวีนี้ว่า “คำหยาด”

แต่คำหยาดแห่งเมืองหนองคายมิใช่พระตำหนักหรือหนังสือรวมบทกวี หากแต่เป็นเรือประจำตำแหน่งเจ้าเมืองหนองคาย ในอดีตคุณตาชัยโย ณ หนองคาย อายุ 73 ปี ผู้ดูแลเรือในปัจจุบันถ่ายทอดให้ฟังว่า พระปทุมเทวาภิบาลที่ 1 (บุญมา ณ หนองคาย) ครั้งเป็นท้าวสุวอธรรมา (ราชทินนาม) อุปฮาดเมืองยโสธร นำทัพลูกหลานพระวอพระตา ร่วมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกมหาดไทย บุกเวียงจันท์แก้แค้นให้บรรพบุรุษ จนตั้งเมืองหนองคายขึ้นแทนที่ และได้เป็นเจ้าเมืองท่านแรก พ.ศ. 2370 นั้น เมืองหนองคายก็ต้องเผชิญศึก “อานาม-สยามยุทธ์” ถึง 15 ปี ด้วยสถานการณ์ในลาวและเขมรที่เวียดนามหนุนอยู่

พระปทุมเทวาภิบาลที่ 1 จึงให้บ่าวไพร่หาต้นไม้มงคลที่งามที่สุด เพื่อขุดสร้างเรือเร็วประจำตำแหน่งขึ้น เพราะเป็นภาหนะสำคัญตามเส้นทางน้ำยุคนั้น เช่น แม่น้ำโขง ห้วยโมง ห้วยสวย หรือแม่น้ำงึม เพื่อยันศึกและรักษาความสงบ จนมาพบต้นตะเคียนหินขนาดใหญ่ ณ ดงละคุ (ท้องที่ตำบลหนองนาง อำเภอท่าบ่อ ในปัจจุบัน) โดยจัดพิธีล้มไม้อย่างโบราณ ซึ่งในระหว่างทำพิธีล้มนั้น มีหยาดน้ำไหลหยาดเยิ้มตลอด (ไม่ทราบว่าตกมันหรือหยดน้ำจากต้นไม้อื่นหรือน้ำค้างลง) แล้วใช้ช้างชักลากมาโฮงเฮือเจ้าเมือง (ซอยไปรษณีย์ ปัจจุบัน) โดย “ญาคูใหญ่บ้านนาฮ่อง” ประกอบพิธีขุด เป็นเรือขนาดใหญ่ 40 ฝีพาย ตั้งชื่อตามหยาดน้ำ ในพิธีล้มว่า “เรือหยาดคำ” (คำหมายถึง ทองคำ) ไม่ทราบวันเดือนปีแน่ชัด แต่คาดว่าคงระหว่าง พ.ศ. 2370-2371 เพราะเป็นห้วงศึกสงคราม จึงต้องรีบเร่งสร้าง และใช้เรือคำหยาดนี้รับศึกอานาม-สยามยุทธ์ด้านนี้จนสงบ

พระปทุมเทวาภิบาลที่ 2 (เคน ณ หนองคาย) ผู้บุตรเป็นเจ้าเมืองต่อมา เมืองหนองคายก็เผชิญ “ศึกฮ่อ” (ขบถไทเผงของจีน) ที่แตกพ่ายลงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2418 เป็นศึกใหญ่ เมื่อทัพฮ่อบุกจะข้ามแม่น้ำโขงถึง 3 ครั้ง เรือคำหยาดก็ได้มีส่วนสำคัญรับศึกทุกครั้ง จนล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 โปรดให้ พ.อ.กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (พลตรีกรมหลวงต่อมา) เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้นำทหารหัดใหม่แบบยุโรป (ซีปอย) มาตั้งเป็นเมืองหนองคายปราบฮ่อครั้งที่ 4 พ.ศ. 2428 เสด็จในกรมทรงนำทัพขึ้นไปตีขนาบร่วมกับทัพเหนือ ณ ทุ่งเชียงคำ (แขวงเชียงขวาง ประเทศลาวในปัจจุบัน) เรือคำหยาดก็ได้ร่วมศึก บรรทุกข้าวสาร เสบียง เวชภัณฑ์ ฯลฯ พายทวนแม่น้ำโขง แม่น้ำงึมไปส่งหลายเที่ยว ขากลับก็นำผู้บาดเจ็บมารักษาที่เมืองหนองคาย

จนวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2428 (พ.ศ. 2429 แบบสากล) ก็ตีค่ายฮ่อแตก เรือคำหยาดได้นำเชลยศึกฮ่อ และอัฐิทหารที่เสียชีวิตกลับเมืองหนองคาย เสด็จในกรมนำเชลยมาคุมขังไว้ข้างวัดลำดวน ซึ่งเรียก “ซอยฮ่อ” ปัจจุบัน และสร้างสถูปบรรจุอัฐิทหารไทยไว้ข้างสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองหนองคาย

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 พ.ศ. 2436 กับฝรั่งเศสกรณีพระยอดเมืองขวาง เจ้าเมืองคำเกิดคำม่วนเป็นปฐมนั้น คาดว่าฝรั่งเศสหวาดเกรงเรือคำหยาดมาก จึงไม่กล้าส่งเรือรบบุกแม่น้ำโขง เบนเข็มส่งเรือรบลังคองสตังส์, ลูแตงและโคเมต บุกแม่น้ำเจ้าพระยาแทน (ฮา) จนสยามสละสิทธิ์ฝั่งซ้ายให้ และฝรั่งเศสตั้งเวียงจันท์เป็นศูนย์กลางการปกครองขึ้นมาใหม่ พระกุประดิษฐ์บดี (สาลี, ชาลี กุประดิษฐ์) เจ้าเมืองจันทบุรี (เวียงจันท์) ไม่พอใจอยู่กับฝรั่งเศส จึงเทครัวอพยพมาอยู่ “บ้านท่าบ่อเกลือ” ฝั่งขวา ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงปีติโสมนัส ในความจงรักภักดีนี้ จึงโปรดให้ยกเป็น “เมืองท่าบ่อ” (รวมอำเภอสังคม, ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย และ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี) และเป็นเจ้าเมืองตลอดชีวิต เสด็จในกรมข้าหลวงต่างพระองค์ และพระยาวุฒาธิคุณ (เคน ณ หนองคาย) ที่ปรึกษาฯ ต้องถอยไปตั้งมั่นอยู่อำเภอหมากแข้ง (อ.เมืองอุดรธานี) เจ้าคุณวุฒาฯ จึงยกเรือคำหยาดให้เจ้าเมืองท่าบ่อซึ่งเป็นบุตรเขยด้วย

พระกุประดิษฐ์บดีและคุณนายเปี่ยง ได้ดูแลเรือคำหยาดมานาน โดยผูกไว้โรงเรือวัดท่าคกเรือ เมืองท่าบ่อ ครั้นถึงแก่กรรมจึงยกเป็นมรดกให้ “ขุนกวนวันวาที” (สม สุมารสิงห์) กำนันตำบลกวนวัน อ.เมือง หนองคาย (คาดว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ. 2460) ขุนกวนวันวาทีก็ใช้ในราชการ และใช้เป็นเรือแข่งตามอำเภอต่างๆ ริมแม่น้ำโขง ในงานบุญซ่วงเฮือออกพรรษาทั้งฝั่งลาวด้วยบรรดาเรือแข่งไทย-ลาว หนองคาย-เวียงจันท์ เชื่อว่า “แม่ย่านาง” เรือคำหยาดแรงมาก จึงชนะผูกขาดมาตลอด หากประกบกับเรือใด เสียงตะโกนก้องกระหึ่มทั้งสองฝั่งโขง “อีหยาดลำวัง อีหยาดเฮียเขา อีหยาดเข้าเส้นชัยแล้ว…” เฮ้ (อีหยาดอยู่ด้านนอก, อีหยาดตกแล้วเฮียหรือเหี่ย)

ห้วงสงครามอินโดจีน พ.ศ. 2483 ต่อด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือคำหยาดแห่งบ้านกวนวัน ก็มีส่วนช่วยราชการจนสงบศึก ครั้นท่านขุนถึงแก่กรรม เรือคำหยาดก็ถูกเข็นทิ้งไว้ใต้ถุนเรือนมาพักหนึ่ง จนคุณตาชัยโย ณ หนองคาย บุตรหลานเจ้าเมืองเก่ามาแต่งงานกับคุณยายพร (สุมารสิงห์) ธิดาท่านขุน เมื่อทราบว่าเป็นเรือคำหยาดประจำตำแหน่งเจ้าเมืองหนองคายบรรพบุรุษ จึงขอแรงชาวบ้านซ่อมใหญ่โดยบีบเรือให้หดและขันชะเนาะให้ตึง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2490 เรือคำหยาดก็โลดโผนโจนทะยานสู่แม่น้ำโขงอีกวาระหนึ่งดุจพญานาค

ชาวสองฝั่งโขงหนองคาย-เวียงจันท์ เมื่อจัดงานเทศกาลออกพรรษาปีใด หากไม่เห็นเรือคำหยาดจะรู้สึกว่างานพิธีปีนั้นไม่สมบูรณ์ ถามข่าวคราวกันทุกแห่ง ดุจญาติผู้ใหญ่ด้วยความเป็นห่วง นับเป็นความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งที่เรือลำใดก็ไม่อาจทดแทนความรู้สึกผูกพันได้ถึงเพียงนี้

เรือคำหยาดซ่อมต่ออายุอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2537 คงหัวท้ายและแคมเรือเดิมไว้ คุณตาชัยโยหาไม้ตะเคียนใหม่ขุดท้องเรือและใช้แผ่นเหล็กยึดขันน็อตประมาณ 200 ตัวแน่นสนิท แต่คงทำพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือไม่ถูกต้องนัก จึงชนะบ้างแพ้บ้างจนถึงปีนี้ คุณตาชัยโยอายุ 73 ปีแล้ว ตั้งปฏิญาณแน่วแน่ “คนอยู่ เรืออยู่”

ธรรมเนียมทหารเรือประเทศที่เจริญแล้ว เรือรบใดไม่ว่าไม้หรือเหล็ก หากมีเกียรติประวัติในการรบดีเด่น ประเทศนั้นจะถือเป็นเกียรติยศของชาติ ขึ้นระวางดูแลรักษาอย่างดีไว้เป็นอนุสรณ์และประดับอิสริยาภรณ์เหรียญตราต่างๆ ที่เรือลำนั้นผ่านสมรภูมิหรือยุทธนาวีด้วย เรือคำหยาดแห่งหนองคายลำนี้กรำศึกมาอย่างโชกโชน หากนับตั้งแต่ พ.ศ. 2370 ก็ถึง “169 ปีเต็ม 7 แผ่นดิน” รัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ถึงปัจจุบัน ผ่านศึกอานาม-สยามยุทธ์, ศึกฮ่อ, ศึกฝรั่งเศส, สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

หากราชนาวีไทยซึ่งแบ่งภาคมาเป็น “หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง” (นปข.) รักษาความสงบและกฎหมายในภาคอีสาน ซึ่งมีความเชื่อและเคารพในแม่ย่านางเรือ ตามธรรมเนียมชาวเรือเช่นกัน จะทำเรื่อง ขอพระราชทานเหรียญปราบฮ่อ, เหรียญทหารอาสา (สงครามโลกครั้งที่ 1), เหรียญชัยสมรภูมิ (สงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2) เหรียญราชการชายแดน, เหรียญพิทักษ์เสรีชน หรือเหรียญกล้าหาญ ประดับให้เรือคำหยาดแห่งหนองคายก็น่าจะเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง หรือจะนำชื่อ “คำหยาด” ไว้ขอพระราชทานชื่อเรือหลวงราชนาวีไทยลำใดในอนาคต ชาวจังหวัดหนองคายก็พร้อมจะรับเกียรตินี้ทุกประการ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2565