เบื้องหลัง วิชาพลศึกษา และการแข่งกีฬา?

พละ เด็ก เตะ ฟุตบอล กีฬา วิชาพลศึกษา การออกกำลังกาย
ภาพประกอบจาก กองบรรณาธิการมติชน

โดยทั่วไป เมื่อนึกถึง วิชาพลศึกษา การออกกำลังกาย การแข่งกีฬาต่างๆ ก็มักนึกถึงเหตุผลเพื่อร่างกายที่แข็งแรง แต่บางครั้งก็ยังมีเหตุผลเบื้องหลังทางสังคมอีกด้วย

มุมมองหนึ่งในเรื่องนี้ ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์ ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ใน “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม่เรียว: ประวัติศาสตร์และการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย” (มติชน, 2565) ซึ่งในที่นี้ขอนำเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอดังนี้  (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

ในทศวรรษ 2480 การให้ความสำคัญกับ การออกกำลังกาย และพลศึกษาเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และความคิดนี้ไปสัมพันธ์กับการสร้างชาติให้เป็นประเทศมหาอำนาจ เรือนร่างที่แข็งแรงมีสุขภาพดีก็จะเป็นพละกำลังให้แก่ประเทศเช่นเดียวกับทหาร ดังนั้นรัฐจึงสนับสนุนให้ทั้งข้าราชการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย ส่วนนักเรียนก็เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ [1] อาจเป็นไปได้ว่า ลักษณะเช่นนี้ได้มาจากประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกันกับการควบคุมวินัยอื่นๆ ในโรงเรียน การจัดทำแบบฝึกสอนกายบริหารสำหรับชั้นประถมและมัธยมศึกษา

ใน พ.ศ. 2482 เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ มีมาตรฐานการฝึกอย่างเดียวกัน หนังสือฉบับนี้ใช้ถ้อยคำง่ายๆ ประกอบภาพ เอื้อให้โรงเรียนที่ไม่มีครูพลศึกษาใช้เป็นคู่มือให้ได้ผล ตัวอย่างของเนื้อหา ได้แก่ การให้นักเรียนเข้าแถว รอฟังสัญญาณ ให้ทำท่าต่างๆ พร้อมกันเพื่อประโยชน์แก่ร่างกาย และการทำอย่างพร้อมเพรียงจะเป็นภาพที่สวยงาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลต้องการให้ฝึกพลศึกษาทุกวันเป็นเวลา 45 นาที แต่ไม่นานก็ต้องยกเลิก เพราะปัญหาสถานที่และครูไม่เพียงพอ [2]

การกีฬาจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น และมีลักษณะเป็นพิธีกรรมคู่กับ การออกกำลังกาย ในทศวรรษ 2500 เมื่อกีฬากลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในสถานการณ์สงครามเย็น มหกรรมกีฬาระดับนานาชาติในนามเอเชียนเกมส์ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2509 นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของกีฬาสมัยใหม่ในสังคมไทย ทั้งในฐานะพิธีกรรมกีฬาระดับนานาชาติ [3] และในฐานะกิจกรรมเพื่อสุขภาพ

กีฬาถูกเลือกมาเป็นเครื่องมือหนึ่ง เพื่อสร้างระเบียบวินัยให้แก่เด็กและเยาวชน ช่วยแก้ไขปัญหาที่เด็กและนักเรียนมีเวลาว่างเกินไปจนนำไปสู่การมั่วสุมหรือทำกิจกรรมผิดๆ [4]

ก่อนหน้านี้ วิชาพลศึกษา จะเน้นไปที่นักเรียนแต่ละคน ซึ่ง การออกกำลังกาย ก็เพื่อสร้างสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรง ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ในทศวรรษ 2480 ร่างกายของเด็กมีความสัมพันธ์กับร่างกายของพลเมืองที่รัฐคาดหวัง ต่างจากในยุคนี้มหกรรมกีฬามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับแนวคิดการแข่งขันที่เชิดชูผู้ชนะ หรือวีรบุรุษกีฬาที่เชื่อมโยงกับความเป็นชาติ เช่น นักมวยที่สามารถคว้าแชมป์โลกอย่างโผน กิ่งเพชร [5]…

วิธีคิดแบบมหกรรมกีฬาทำให้คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับความสำคัญ คนส่วนใหญ่กลายเป็นเพียงกองเชียร์ เช่นเดียวกับคณะเชียร์มีหน้าที่ขึ้นสแตนด์เชียร์ร่วมไปกับพิธีกรรมของกีฬา มากกว่าจะเป็นผู้ชมกีฬาที่มีเจตจำนงอิสระของตนเอง ไม่ต่างกับผู้ร่วมพิธีกรรมในการสวนสนามของกองทัพหรือคณะลูกเสือ

การแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทย นับได้ว่าเป็นการจำลองภาพกีฬาโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ลงมาในระดับประเทศ คือแต่ละจังหวัดจะมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในการแข่งขัน และเวียนกันเป็นเจ้าภาพไปในแต่ละแห่ง มวลชนที่ถูกเกณฑ์ไปร่วมแสดงพิธีเปิด หรือนั่งชมเชียร์มักจะเป็นนักเรียนในจังหวัดนั้นๆ

มหกรรมกีฬาแห่งชาติเริ่มจัดขึ้นใน พ.ศ. 2510 [6] ปีเดียวกับกีฬาแหลมทองและหลังกีฬาเอเชียนเกมส์เพียง 1 ปี ซึ่งถือว่ากีฬาได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวางแล้ว ความสำคัญของกีฬาในมุมมองรัฐเห็นได้จากคำกล่าวในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ. 2524 ว่า

“รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของกีฬาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่จะพัฒนาคนให้มีระเบียบ วินัย มีความรับผิดชอบ รู้จักเคารพ กติกาและการกีฬายังเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดคุณธรรมทางใจ ความสามัคคี และเป็นเครื่องเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างคนในชาติ จึงได้เร่งรัดปรับปรุงการกีฬาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค” [7]

เช่นเดียวกับงานกีฬาภายในโรงเรียน งานกีฬาจังหวัด [8] หรือกิจกรรมกีฬาต่างๆ กลายเป็นงานเชิงพิธีกรรม ซึ่งไม่ได้ทำให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการออกกำลังกาย นักเรียนจำนวนมากเป็นเพียงผู้ร่วมพิธีคล้ายแนวคิดรัฐนาฏกรรม พวกเขาเป็นกองเชียร์ตามคณะสี หรือสังกัดหน่วยงานที่ถูกสั่ง กำกับ และควบคุมให้ปรบมือ ร้องเพลง เชียร์ตามโพย หรือเป็นเพียงแรงงานจัดแปรอักษรบนสแตนด์เชียร์ [9] โดยศูนย์กลางอยู่ที่การแข่งขันและการมอบเหรียญรางวัล หรือการให้ความสำคัญกับประธานในพิธีเท่านั้น

บางงานวิจัยชี้ว่า ปัญหาสำคัญที่เกิดในการแข่งขันส่วนหนึ่งก็คือ การควบคุมความประพฤติและมารยาทการชมกีฬาในสนามการแข่งขันของนักเรียนกองเชียร์ [10] สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความต้องการควบคุมและต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้อยู่ในร่องในรอยและระเบียบวินัยในอุดมคติ

กีฬาจึงมิใช่เป็นกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินหรือเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงส่วนบุคคลอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลายเป็นการวัดทักษะและสมรรถภาพของเหล่านักเรียนเพื่อผู้มีความสามารถทางกีฬา [11] ไม่เพียงเท่านั้นวิชาพลศึกษาถูกใช้สำหรับการพัฒนาบุคลิกภาพที่พึงประสงค์คือ การมีน้ำใจนักกีฬาด้านคุณธรรม ความประพฤติ มีระเบียบวินัย รับผิดชอบต่อหน้าที่กล้าแสดงออกอย่างมีเหตุผล [12]

ส่วนวิชาพลศึกษาเริ่มมีบทบาทในโรงเรียนอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 2500 จากเดิมที่สอนอยู่ในวงแคบอย่างโรงเรียนทหาร และโรงเรียนสามัญ [13] ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา มีการขยายหลักสูตรพลศึกษาให้กว้างขวาง โดยคำนึงถึงความพร้อม ความเหมาะสมของกิจกรรมต่อผู้เรียนร่วมกับอุปกรณ์ สถานที่ และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการจัดการแข่งขันกีฬาสีภายในและการแข่งขันกีฬาภายนอก

รัฐบาลตระหนักดีถึงจำนวนครูพลศึกษาที่มีไม่มากจึงได้ทยอยอบรมพลศึกษาภาคฤดูร้อน ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 จำนวนเพิ่มจาก 216 คนในปีแรกเป็น 1,382 คนใน พ.ศ. 2514 แสดงให้เห็นถึงปริมาณที่เพิ่มขึ้นและความตั้งใจแก้ไขปัญหาบุคลากรที่ขาดแคลน แต่กระนั้น ผู้ไปอบรมมักมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มวุฒิของตนมากกว่าสนใจด้านพลศึกษา [14]

รายวิชาดังกล่าวนอกจากจะเน้นเรื่องการออกกำลังกายและสุขอนามัยแล้ว ยังสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องมหกรรมกีฬาและระเบียบวินัยของนักเรียนอยู่ไม่น้อย ยังไม่ต้องนับว่าเมื่อเป็นรายวิชา จุดมุ่งหมายกลับไปสัมพันธกับการวัดผลและมุ่งไปที่สมรรถนะของนักเรียนเชิงกีฬามากกว่าการเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน

ไม่น่าแปลกใจว่า พื้นที่สันทนาการดังกล่าวมิได้ดึงดูดเยาวชนจำนวนมากอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับความเย้ายวนบันเทิงของภาพยนตร์ วิทยุ ตู้เพลง ร้านกาแฟ และโรงบิลเลียด พวกเขาเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ที่ไร้ความสำคัญในกิจกรรมกีฬา ต่างจากกิจกรรมบันเทิงที่พวกเขาสามารถเลือกได้ตามความชอบ กีฬาจึงเป็นได้เพียงเครื่องมือหนึ่งของรัฐที่ถูกใช้ในการสร้างพลเมืองในอุดมคติ ที่มีระเบียบวินัย อยู่ในร่องในรอยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของพลเมือง

วิชาพลศึกษา กลับมาคึกคักอีกครั้งจากการที่ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับการออกกำลังกายช่วงปลาย พ.ศ. 2546 ว่า เขาต้องการเน้นกีฬาเพื่อให้เด็กๆ เล่นกีฬามากขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ สังคม และความเป็นตัวของตัวเอง [15] ในยุคปฏิรูปการศึกษา หลักการของวิชาพลศึกษามุ่งเน้นไปที่พัฒนาทางกาย ส่งเสริมสุขภาพ และอาจรวมถึงการสร้างความเป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม และน้ำใจ [16]

วิชาพลศึกษา เริ่มเกี่ยวข้องกันกับประเด็นจิตวิญญาณทางศาสนามากขึ้น ใน พ.ศ. 2543 มีการระบุถึงการสอนคุณธรรม ในนักเรียนชั้น ป. 3-4 [17] มีงานวิจัยบางชิ้นพยายามชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของการสอนพลศึกษาที่เชื่อมโยงกับพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไตรสิกขาที่ให้ความสำคัญกับศีล สมาธิ ปัญญา ที่พยายามอธิบายว่าสอดคล้องกับการพัฒนาทางกาย วาจา ใจ หรือมรรค 8 ที่ถูกนำมาจับคู่กับไตรสิกขาและผลที่เกิดขึ้นตามความมุ่งหมายของวิชาพลศึกษา หรือการกล่าวถึงคุณสมบัติผู้สอนที่ต้องมีคุณธรรม เป็นผู้มีปัญญาแตกฉาน เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่กระทำชั่วทั้งกาย วาจา ใจ [18]

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] มติชนออนไลน์, “ระเบียบวินัย” เริ่มที่ไหน เมื่อครูเชิญทหารฝึกเด็ก, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564, จาก https://www.matichon.co.th/article/ news 573813

[2] ก้องกวิน กวินรวีกุล, “การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487” น. 105

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 107.

[4] ดูประเด็นนี้ได้ในหัวข้อ “การจัดแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 2509” ใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, กำเนิด “ประเทศไทย” ภายใต้เผด็จการ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2548), น. 241-244.

[5] ดูประเด็นนี้ได้ในหัวข้อ “กาลเทศะในวันเด็กแห่งชาติ และความเป็นเด็ก ในพลเมืองไทยยุคพัฒนา” ใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, ประวัติศาสตร์สำเหนียก (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), น. 172-195.

[6] ผู้จัดการออนไลน์, “ในหลวง” กับเหรียญทอง และพระราชปณิธานกีฬาที่ยิ่งใหญ่, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563, จาก https://mgror sport/detail/9590000103254

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, วันกีฬาแห่งชาติ 16 รับวาคม, สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563, จาก https://www.lib.ru ac.th/journal/dec/dec16-DayForThaiSport.html

[9] งานวิจัยใน พ.ศ. 2524 แสดงให้เห็นว่า ความนิยมกีฬาของประชาชน เรียงตามลำดับจากมากไปน้อยคือ ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เซปัก ตะกร้อ และกรีฑา ปริมาณการจัดการแข่งขันเฉลี่ยทุกจังหวัดใน 1 ปี ฟุตบอล 3 ครั้ง บาสเกตบอล 2 ครั้ง วอลเลย์บอล 2 ครั้ง เซปักตะกร้อ 2 ครั้ง และ กรีฑา 2 ครั้ง โปรดดู วีระพงษ์ บางท่าไม้, “ปัญหาการจัดและดำเนินการกีฬาจังหวัด” (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพลศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524).

[10] งานวิจัยใน พ.ศ. 2516 แสดงความคิดเห็นของนักกีฬาต่อการเชียร์กีฬาว่า 1. วิธีการเชียร์กีฬาที่นักกีฬาชอบมาก ได้แก่ แบบมีผู้นำในการเชียร์แบบปรบมือ แบบมีผู้นำในการร้องเพลง แบบมีการแปรอักษร แบบการพูดชมเชยและปลุกใจ แบบทำตลกและการแต่งกายแปลกๆ และแบบการใช้เครื่องดนตรีประกอบ (กลอง ฉิ่ง แตร) 2. วิธีการเชียร์กีฬาแบบมีผู้นำในการเชียร์ แบบมีผู้นำในการร้องเพลง แบบปรบมือ แบบมีการแปรอักษร และแบบการพูดชมเชยและปลุกใจ มีผลต่อการเล่นของนักกีฬามากคือ ทำให้มีกำลังใจและกล้าเล่นกีฬา ทำให้มีความตั้งใจและมุมานะในการเล่นกีฬา ทำให้ร่วมสามัคคีกันและมีน้ำใจนักกีฬาในการเล่น ทำให้มีอารมณ์เยือกเย็นในการเล่นกีฬาและทำให้มีสมาธิในการเล่นกีฬา 3. วิธีการเชียร์กีฬาแบบการสอน การตำหนิและยั่วแหย่ และแบบการโห่ร้องกระทืบพื้นและเป่าปาก มีผลต่อการเล่นของนักกีฬามากคือ ทำให้มีการทะเลาะวิวาทกันในการเล่นกีฬา ทำให้การเล่นรุนแรงขึ้น ทำให้มีโมโหในการเล่นกีฬา ทำให้มีความประหม่า เล่นไม่ดีและผิดพลาด ทำให้มีความรำคาญ หงุดหงิด และเบื่อหน่ายใน 4. วิธีการเชียร์กีฬาแบบไม่มีการเชียร์หรือดูเฉยๆ มีผลต่อการเล่นของนักกีฬามากคือ ทำให้มีสมาธิในการเล่นกีฬา ทำให้มีอารมณ์เยือกเย็นในการเล่นกีฬา ทำให้ร่วมสามัคคีกันและมีน้ำใจนักกีฬาในการเล่น โปรดดู สมลักษณ์ ดูรณสิงห์, “ความคิดเห็นของนักกีฬาที่มีต่อการเชียร์กีฬา” (วิทยานิพนธ์ครุมหาบัณฑิต ภาควิชาพลศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526).

[11] พิทักษ์ พลขันธ์, “ปัญหาการจัดและดำเนินการแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียนในส่วนกลาง” (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพลศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524).

[12] ตัวอย่างวิทยานิพนธ์ใน พ.ศ. 2516 เช่น หลวงเสมมีสุข, “การเปรียบเทียบทักษะทางกีฬาของนักเรียนโรงเรียนแบบประสมพิบูลวิทยาลัยและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย” (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาพลศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2516).

[13] ปัทมาวดี นวรัตน, “ความคิดเห็นของผู้ปกครองนักเรียนที่มีอาชีพต่างๆ ต่อวิชาพลศึกษา” (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพลศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524),

[14] อุทธรณ์ ปิดพยันต์, “พัฒนาการของการพลศึกษาในประเทศไทย” (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาพลศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517), น. 25-27.

[15] เรื่องเดียวกัน, น. 31.

[16] แสวง วิทยพิทักษ์, “การศึกษาสมรรถภาพที่พึงประสงค์ของครูพลศึกษา ในยุคปฏิรูปการศึกษาไทย พ.ศ. 2542” (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา ภาควิชาหลักสูตรการสอนและเทคโนโลยีการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547), น. 24-25.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 32.

[18] สุวพร แสงรักษา, “สภาพและปัญหาการสอนพลศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ” (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา ภาควิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543), น. 107-108.

[19] พราม อินพรม, “การวิเคราะห์ปรัชญาพลศึกษาตามแนวพุทธ (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา ภาควิชาพลศึก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543), น. 142-145.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2565