บางเหตุผลที่สังคมไม่ควรยอมให้ “รื้อ-สร้าง” ศาลฎีกาใหม่

กลุ่มอาคารศาลฎีกาเก่า (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

8 ธันวาคม 2549 นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น ได้เสนอโครงการรื้อกลุ่มอาคารศาลริมถนนราชดำเนินใน เพื่อก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ ต่อคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้โครงการก่อสร้างศาลฎีกาหลังใหม่เป็นหนึ่งใน โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสสำคัญนี้ [1]

23 กันยายน 2550 ประธานศาลฎีกาได้เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเพื่อเริ่มดำเนินการโครงการนี้ และได้แถลงข่าวว่า กลุ่มอาคารศาลปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ โดยได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลทั้งสิ้น 3,700 ล้านบาท เป็นงบผูกพันตั้งแต่ปี 2550-2556 เริ่มก่อสร้างในปี 2551 [2] โดยรูปแบบศาลใหม่จะเป็นงาน “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” ที่ดึงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจารีตของไทยในอดีต มาใช้เป็นแนวทางหลักในการออกแบบ เพื่อแทนที่รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดิมที่เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น (Modern Architecture) ในทศวรรษที่ 2480

กรณีดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดคำถามแก่ผู้เขียนและหลาย ๆ ส่วนจากสังคมถึงเหตุผลและความเหมาะสมของการรื้อกลุ่มอาคารศาลทิ้งว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนเป็นจำนวนมากขนาดนี้ เพื่อทำการ “รื้อ-สร้าง” อาคารที่ทำการศาลใหม่ ทั้ง ๆ ที่ผลการศึกษาสภาพอาคาร ณ ปัจจุบันก็ไม่ได้มีการสรุปผลในลักษณะที่แสดงว่าอาคารมีความเสื่อมสภาพมากจนไม่อาจใช้งานต่อไปได้ (ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป)

อาคารศาลฎีกาเก่า (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

สำคัญที่สุดคือ กลุ่มอาคารศาลนี้ เป็นกลุ่มอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง สมควรแค่ไหนที่จะทำการรื้อทิ้ง นอกจากนั้น ที่ตั้งของกลุ่มอาคารศาลยังเป็นพื้นที่สำคัญใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งรายล้อมไปด้วยประวัติศาสตร์และโบราณสถานสำคัญมากมาย ดังนั้นการคิดทำโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ประวัติศาสตร์เช่นนี้ เหมาะสมแล้วหรือที่จะดำเนินการไปโดยไม่คิดถามความเห็นของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศเลย

บทความนี้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะแสดงหลักฐานและเหตุผลในมุมมองที่แตกต่าง เพื่อเป็นการเปิดประเด็นให้สังคมได้รับรู้ว่า โครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่นี้ มีประเด็นที่มีความซับซ้อนหลายประการ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ด้านวิชาการทางสถาปัตยกรรม ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายสาธารณะของภาครัฐ ฯลฯ ซึ่งประเด็นทั้งหลายนี้มีความซับซ้อนจนเกินกว่าที่จะปล่อยให้มีการดำเนินการภายใต้เหตุผลง่าย ๆ เรื่องความเสื่อมสภาพของอาคารเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างเป็นวิชาการจริงจังแต่อย่างใดด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษและความสามารถของผู้เขียนเอง ในบทความนี้จึงจะขีดวงในการพิจารณาเฉพาะในประเด็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางสถาปัตยกรรม และเรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารศาลฎีกาใหม่เท่านั้น

ที่ระลึกเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล

กลุ่มอาคารศาลในปัจจุบันประกอบด้วยอาคารหลายหลัง แต่ที่มีความสำคัญมากที่สุดและไม่ควรถูกรื้อทิ้งอย่างเด็ดขาดในทัศนะผู้เขียนคือ กลุ่มอาคารรูปตัววี (V) ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะ “ศิลปกรรมแบบทันสมัย” [3] ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ และมีอายุเก่าแก่ที่สุด

กลุ่มอาคารศาลรูปตัววี ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ออกแบบขึ้นในคราวเดียวกันเพื่อให้เป็นกลุ่มอาคารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอย่างครบวงจร สถาปนิกผู้ออกแบบคือ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกกรมศิลปากรที่มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหลายชิ้นในยุคสมัยนั้น โดยมีสถาปนิกและวิศวกรที่สำคัญในยุคสมัยมาดูแลด้วยอีกหลายท่านคือ หมิว อภัยวงศ์ หลวงบุรกรรมโกวิท นายเอฟ ปิโตโน ส่วนผู้มีความรู้เกี่ยวกับศาลและกระบวนการยุติธรรมก็เช่น หลวงจักรปาณีศรีวิสุทธิ์ เป็นต้น [4]

แม้ว่าจะออกแบบไว้พร้อมกัน แต่เมื่อถึงช่วงการก่อสร้างก็มิได้สร้างขึ้นในคราวเดียวกันทั้งหมด โดยอาคารหลังแรกเริ่มสร้างในปี 2482 (อาคารปลายตัววี ด้านหลังอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เพื่อใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2484 [5] (วันชาติ และ วันที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย) อาคารหลังที่สองที่สร้างขึ้นคือ อาคารปีกตัววีฝั่งที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม สร้างในปี 2484 ทำพิธีเปิดเมื่อ 24 มิถุนายน 2486 ส่วนปีกอาคารฝั่งถนนราชดำเนินในนั้น ไม่ได้ถูกก่อสร้างตามแบบเดิมที่ได้ออกแบบไว้ อันเนื่องมาจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่จะมาเริ่มก่อสร้างใหม่ ภายใต้การออกแบบใหม่ในปี 2502 ก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในปี 2506 [6]

ผังอาคารศาลฎีกาเก่า (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

กลุ่มอาคารศาลกลุ่มนี้ ถูกสร้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์การยุติธรรมของไทย โดยมีที่มาที่สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ “เอกราชทางการศาล” คืนอย่างสมบูรณ์ (อธิปไตยโดยสมบูรณ์) หลังจากที่ต้องเสียไปนับตั้งแต่ได้ทำสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปี 2481 ได้บันทึกถึงเหตุผลในการก่อสร้างอาคารศาลนี้ไว้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2481 มีความตอนหนึ่งว่า “…บัดนี้ประเทศสยามได้เอกราชในทางศาลคืนมาโดยสมบูรณ์แล้ว จึ่งเป็นการสมควรที่จะมีศาลยุติธรรมให้เป็นสง่าผ่าเผยเยี่ยงประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการที่ได้อำนาจศาลคืนมา…” [7]

ความคิดในการสร้างกลุ่มอาคารศาล เกิดจากดำริของหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ดังปรากฏหลักฐานในรายงานการเปิดตึกที่ทำการกระทรวงยุติธรรม ความว่า

“…ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา กิจการในด้านศาลยุติธรรมได้รับการประคับประคองและเชิดชูขึ้นสู่มาตรฐานอันสูงยิ่ง ๆ ขึ้น…ครั้นต่อมาในสมัยรัฐบาลปัจจุบันนี้ บ้านเมืองได้รับการปรับปรุงและทนุบำรุงให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ประกอบด้วยประเทศไทยได้เอกราชทางศาลสมบูรณ์แล้ว ท่านนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ดำริเห็นสมควรที่จะให้มีที่ทำการกระทรวงและศาลใหม่ให้เป็นที่เทอดเกียรติประเทศชาติและสง่างามสมภาคภูมิกับที่เป็นที่สถิตแห่งความยุติธรรม…” [8]

เอกราชสมบูรณ์ทางการศาล : ความทรงจำที่ถูกลืมในประวัติศาสตร์การยุติธรรมไทย

“เอกราชสมบูรณ์ทางการศาล” เป็นหมุดหมายสำคัญประการหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เป็นสัญลักษณ์ของการมีอธิปไตยสมบูรณ์อีกครั้งของไทย แต่ที่น่าสังเกตคือ สังคมไทย ณ ปัจจุบัน แม้กระทั่งในวงการศาลยุติธรรมเองก็ตาม กลับมีความทรงจำที่พร่าเลือนจนกระทั่งบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงจนน่าตกใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการได้มาซึ่งเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล

สนธิสัญญาเบาริ่ง ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ซึ่งหมายถึงสิทธิพิเศษที่ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย หากกระทำความผิดทางกฎหมาย ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลไทย แต่ไปพิจารณาคดีในศาลกงสุลของประเทศที่ชาวต่างชาติคนนั้นสังกัดแทน ซึ่งเท่ากับว่า ประเทศไทยได้เสียอธิปไตยของชาติให้แก่ต่างชาติ ลักษณะดังกล่าว แม้จะไม่ถึงกับเรียกว่าตกเป็นอาณานิคมก็ตาม แต่การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้ ก็มีลักษณะของการเป็นอาณานิคมบางส่วนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

สนธิสัญญาเบาริ่ง ได้เป็นแม่แบบหลักของสนธิสัญญาที่ไทยทำกับนานาประเทศต่อมาอีกหลายฉบับ ซึ่งเท่ากับเป็นการเสียเอกราชทางการศาลให้แก่ประเทศเหล่านั้นทั้งหมด

นับตั้งแต่ประเทศไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ชนชั้นนำไทยทุกยุคก็ได้ต่อสู้ต่อรองเพื่อเรียกร้องเอกราชและอธิปไตยทางการศาลคืนมาโดยลำดับนับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา แต่จวบจนกระทั่งในรัชกาลที่ 7 เอกราชทางการศาลของไทยก็ยังไม่สามารถเรียกร้องกลับคืนมาได้โดยสมบูรณ์ [9] เพราะแม้ว่าแนวโน้มอำนาจของศาลไทยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากก็ตาม แต่ในขั้นสุดท้าย กงสุลต่างประเทศก็ยังคงมีอำนาจในการถอนคดีออกจากการพิจารณาของศาลไทยได้อยู่ [10]

คณะราษฎร ซึ่งทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ยืนอ่านแถลงการณ์ปฏิวัติกลางลานพระบรมรูปทรงม้าในเช้าวันนั้น โดยความตอนหนึ่งได้ประกาศ “หลัก 6 ประการ” ไว้เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ โดยข้อแรกของหลัก 6 ประการของคณะราษฎรคือ “หลักเอกราช” ซึ่งเอกราชตามความหมายในประกาศนั้น มีนัยที่เน้นถึงการเรียกร้องเอกราชทางการศาลให้กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์นั่นเอง จะเห็นได้ว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดประการหนึ่งของยุคสมัย

หลังจากนั้นมา รัฐบาลคณะราษฎรก็ได้เร่งทำประมวลกฏหมายสมัยใหม่หลายฉบับ สานต่อมาจากรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาแล้วเสร็จเรียบร้อยครบทุกอย่างในปี 2477 และประกาศใช้ในปี 2478 และนับจากจุดนี้รัฐบาลก็ได้พยายามดำเนินนโยบายเพื่อให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคอันเป็นเหตุให้ไทยเสียเอกราชทางการศาลลง ซึ่งก็ได้มีประเทศต่าง ๆ ทยอยแก้สนธิสัญญาใหม่มาโดยลำดับ จนในที่สุดประเทศไทยได้ลงสัตยาบันสนธิสัญญาใหม่กับประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศ สุดท้ายในปี 2481 [11] ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์อย่างแท้จริง

ภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2489 แสดงให้เห็นอาคารกระทรวงยุติธรรม และปีกอาคารศาลฝั่งคลองคูเมืองเดิม ที่ทำการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ส่วนอาคารที่ติดถนนราชดำเนินในคือ อาคารศาลยุติธรรมหลังเดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ข้างต้น กลับไม่ได้เป็นที่จดจำเลยในปัจจุบัน ความทรงจำว่าด้วยการได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาลได้ถูกทำให้พร่าเลือนไป แม้แต่ผู้ที่อยู่ในวงการยุติธรรมโดยตรงเองก็ตาม ก็มิได้มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่กลับมีความทรงจำไปในลักษณะที่ว่า ไทยมีเอกราชทางการศาลโดยสมบูรณ์แล้วมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยผูกโยงเรื่องราวเชื่อมไปกับการสร้างความทรงจำว่าด้วย “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ที่ได้ถวายให้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ [12] ซึ่งการถวายพระเกียรตินี้ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในยุคหลังปี 2500 เป็นต้นมาเท่านั้น [13]

ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศทางการเมืองยุคหลัง 2490 ที่ “กระแสอนุรักษ์นิยม” และ “กระแสนิยมเจ้า” เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและทรงพลังอีกครั้ง บรรยากาศทางการเมืองนี้ได้ก่อรูปกระแสประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” [14] ขึ้น ซึ่งเป็นการพยายามอธิบายประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ และเจ้านายเชื้อพระวงศ์พระองค์ต่าง ๆ ความเจริญก้าวหน้าของชาติในทุก ๆ ด้านล้วนเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์พร้อมภายใต้ร่มพระบารมี

กระแสประวัติศาสตร์ดังกล่าว มีคู่กรณีที่ไม่อาจยอมความกันได้เลยคือคณะราษฎร สิ่งใดก็ตามที่เป็นผลผลิตในช่วงสมัยที่คณะราษฎรมีบทบาทนำในสังคม มักจะได้รับการอธิบายในเชิงลบ และพยายามขจัดออกไปจากความทรงจำร่วมของสังคม ซึ่งกรณีการได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาลก็เป็นหนึ่งในความทรงจำที่ต้องถูกลบออกจากสังคมไทยด้วยเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ได้ผ่านมาเพียงราว 70 ปีเท่านั้น และทั้ง ๆ ที่ในช่วงดังกล่าว ประเทศไทยได้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ขึ้น โดยจัดเป็นงานใหญ่ควบคู่ไปกับงานฉลองวันชาติในปี 2482 มีการเดินสวนสนามเฉลิมฉลอง มีการจัดงานเป็นรัฐพิธีใหญ่ สร้างพลับพลาเจิมสนธิสัญญาที่ได้ทำกับนานาชาติอย่างใหญ่โต มีประชาชนออกมาร่วมงานอย่างมากมาย ฯลฯ [15]

ผลของการลบเลือนและบิดเบือนไปของความทรงจำดังกล่าวนี้เอง ที่ส่งผลกระทบทำให้สังคมไทย ไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการสร้างกลุ่มอาคารศาลขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกของการได้มาซึ่งเอกราชสมบูรณ์ดังกล่าวหลงเหลือตามไปด้วย และทำให้กลุ่มอาคารนี้ไม่มีค่าอะไรในทางประวัติศาสตร์ มีสถานะเป็นเพียงตึกเก่า ๆ ที่เสื่อมสภาพแล้วเท่านั้น เมื่อผนวกเข้ากับเพดานความคิดที่ตื้นเขินของวงการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป) ก็ยิ่งทำให้กลุ่มอาคารนี้ไม่มีที่ทางอะไรในสังคมไทยอีกต่อไป

โรงเจิมสนธิสัญญาใหม่ ปี 2481 ด้านหน้าปักธงชาติของประเทศต่าง ๆ ที่แก้ไขสนธิสัญญากับไทย (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

ปัญหาเพดานความคิดในการประเมินคุณค่าสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคคณะราษฎร

กล่าวอย่างรวบรัด กลุ่มอาคารศาลรูปตัววีที่ได้กล่าวมานั้น ถูกก่อสร้างขึ้นด้วยอิทธิพลทางรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น (Modern Architecture) ซึ่งเป็นกระแสทางสถาปัตยกรรมกระแสหลักในโลก ณ ขณะนั้น

ลักษณะสำคัญโดยสังเขปของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในบริบทสังคมยุโรปคือ การปฏิเสธรูปแบบสถาปัตยกรรมในอดีต รูปทรงทางสถาปัตยกรรมพัฒนาขึ้นภายใต้จิตวิญญาณของสังคมสมัยใหม่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับความเจริญทางเทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่ รูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นตัดขาดจากอดีตเกือบโดยสิ้นเชิง ไม่นิยมประดับประดาตกแต่งลวดลายลงบนงานสถาปัตยกรรม รูปทรงทางสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นจากประโยชน์ใช้สอยอย่างซื่อสัตย์ ฯลฯ

อิทธิพลของแนวคิดและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเช่นนี้ได้แพร่เข้ามาในสังคมไทยนับตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นอย่างน้อย ซึ่งเข้ามาพร้อม ๆ กับกลุ่มนักเรียนไทยที่ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุโรป ตัวอย่างงานที่รู้จักกันดีคือ ศาลาเฉลิมกรุง อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวกลับแพร่หลายมากนับจากหลังปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นได้รับความนิยมในการก่อสร้างมากขึ้น โดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่สำคัญของชาติ

จากการศึกษาของผู้เขียนที่ผ่านมาพบว่า คณะราษฎร ได้จงใจเลือกใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นไปในความหมายเฉพาะอีกแบบที่ไม่เหมือนกับความหมายในสังคมยุโรปเสียทีเดียวนัก แต่เลือกใช้และสร้างความหมายเฉพาะในสังคมไทยขึ้นเพื่อสะท้อนแนวคิดทางการเมืองของคณะราษฎร ที่มีลักษณะต่อต้าน แข่งขัน และแย่งชิงความชอบธรรมทางการเมืองกับกลุ่มอำนาจเก่า (สถาบันกษัตริย์ และกลุ่มนิยมเจ้า) อย่างชัดเจน รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นคือสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในยุคประชาธิปไตยของคณะราษฎร [16] ซึ่งกลุ่มอาคารศาลคือหนึ่งในสถาปัตยกรรมในความหมายดังกล่าว

สนธิสัญญาใหม่ที่ไทยทำกับประเทศต่าง ๆ อันเป็นสัญลักษณ์ของการได้เอกราชสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

ดังนั้นในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม กลุ่มอาคารในยุคสมัยนี้จึงมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสูงในทัศนะผู้เขียน โดยมีคุณค่าอย่างน้อย 2 ประการคือ หนึ่ง คุณค่าในแง่ที่เป็นหนึ่งในกระแสของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในระดับสากล และสอง คุณค่าในบริบทเฉพาะทางการเมืองของไทย ซึ่งคุณค่าทั้งสองประการนี้ไม่ควรถูกรื้อถอนทำลายลงไปอย่างไม่ไยดีเช่นที่กำลังจะเกิดขึ้นกับกลุ่มอาคารศาลเลย

ทั้งหมดเกิดขึ้นจากเพดานความคิดที่ตื้นเขินของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม ซึ่งยังคงขีดเส้นเพดานคุณค่าทางสถาปัตยกรรมหยุดไว้เพียงแค่ตึกอาคารที่สร้างขึ้นก่อน 2475 เท่านั้น และประเมินคุณค่าทางสถาปัตยกรรมด้วยลวดลายประดับประดาอาคาร อาคารใดสร้างขึ้นหลังจาก 2475 ไม่มีคุณค่าใด ๆ ทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ยิ่งไร้ซึ่งลวดลายประดาประดับ ยิ่งไม่ต้องคิดให้เสียเวลาในการประเมินคุณค่าแต่อย่างใด

กลุ่มอาคารสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลาง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่น่าตกใจว่า คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มสถาปัตยกรรมดังกล่าวที่มีอย่างมากมาย โดยเฉพาะต่อประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ยังไม่สามารถผลักดันจนทำให้เกิดการขึ้นทะเบียนกลุ่มอาคารดังกล่าวเป็นโบราณสถานได้จวบจนปัจจุบัน ในอนาคตข้างหน้า กรณีแบบที่เกิดขึ้นกับศาลาเฉลิมไทยคงไม่ไกลเกินความเป็นจริงมากนัก เมื่อไรหนอที่เพดานความคิดอันคับแคบดังกล่าวจะพังทลายลงเสียที

ผู้เขียนหวังว่า สัญญาณในทางบวกจากกรมศิลปากรทางสื่อเมื่อไม่นานมานี้ ต่อกรณีการรื้อศาลที่ดูแล้วมีแนวโน้มไปในทิศทางที่จะทำการอนุรักษ์กลุ่มอาคารศาลนี้ไว้ จะไม่เป็นเพียงสายลมที่พัดผ่านไปเท่านั้น หวังว่าท่าทีของกรมศิลปากรต่อกรณีนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การทลายเพดานความคิดเรื่องคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ที่ถูกขีดเส้นแบ่งไว้ที่ปี 2475 ลงอย่างจริงจังเสียที

บรรยากาศภายในโรงเจิมสนธิสัญญา มีผู้นำรัฐบาลและทูตานุฑูตประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมในพิธี (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

ข้อเท็จจริงว่าด้วยความเสื่อมสภาพของอาคาร

จากที่กล่าวมา ผู้เขียนหวังว่าได้ให้ภาพที่ชัดเจนเพียงพอต่อคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของกลุ่มอาคารศาลแล้ว ดังนั้นในหัวข้อนี้จึงอยากจะย้อนกลับมาที่ประเด็นที่ฝ่ายสนับสนุนการรื้อได้กล่าวไว้ว่า อาคารศาลอยู่ในสภาวะเสื่อมสภาพจนไม่อาจใช้การได้อีกต่อไป [17] ว่า มีข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

เมื่อราวปี 2546 ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำวิจัยชื่อ “โครงการศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาอาคารศาลฎีกาและอาคารบริเวณรอบศาลฎีกา” โดยแล้วเสร็จส่งให้กับทางสำนักงานศาลยุติธรรมไปเมื่อราวปี 2548 (ใช้เวลาทำการศึกษาประมาณ 2 ปี)

เนื้อหาในงานวิจัยชิ้นนั้น ประกอบด้วยการศึกษาวิเคราะห์และประเมินสภาพกลุ่มอาคารศาลในปัจจุบันว่าอยู่ในสภาพเช่นไร พร้อมทั้งทำการนำเสนอแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ศาลทั้งหมด

ในบทที่ 3 การสำรวจและวิเคราะห์สภาพอาคารปัจจุบันงานวิศวกรรมโยธา ซึ่งเป็นส่วนที่ว่าด้วยการประเมินสภาพความแข็งแรงของอาคารโดยเฉพาะนั้น ผลการศึกษาในส่วนของการทดสอบกำลังของคอนกรีตบริเวณส่วนล่างของเสาในแต่ละอาคารสรุปได้ว่า ทุกอาคารไม่มีปัญหาในแง่การรับน้ำหนักแต่อย่างใดเลย [18]

ในส่วนของความเสียหายที่ปรากฏในแต่ละอาคารพบว่า ในส่วนของอาคารกระทรวงยุติธรรมเดิม (อาคารปลายตัววี ด้านหลังอนุสาวรีย์) ไม่พบความเสียหายที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารแต่อย่างใด อาคารฝั่งถนนราชดำเนินใน (ปัจจุบันคืออาคารศาลฎีกา) พบความเสียหายที่มีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงแต่ไม่ได้เป็นความเสียหายที่มีนัยสำคัญ ส่วนปีกอาคารฝั่งที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม พบความเสียหายที่มีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงอย่างมีนัยสำคัญ คือ รอยร้าวจากเหล็กยืนภายในเสาเป็นสนิม [19]

จากผลการศึกษาข้างต้นจะพบว่า กลุ่มอาคารศาลแม้จะมีความเสียหายปรากฏให้เห็น แต่ก็มีเพียงเล็กน้อยที่ส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของอาคารที่ใช้งานมานาน ที่สำคัญที่สุดคือ ผลสรุปไม่ได้แสดงว่า ความเสียหายนี้จะต้องนำมาสู่การเสื่อมสภาพการใช้งานจนต้องรื้อทิ้งแต่อย่างใด ทุกความเสียหายล้วนมีทางแก้ไขได้โดยไม่ได้ลำบาก

ผลสรุปข้างต้นที่ไม่ได้แสดงถึงความเสื่อมสภาพจนเกินเยี่ยวยาดังกล่าว น่าจะเป็นที่ทราบดีในหมู่ผู้ที่สนับสนุนการรื้อ เพราะสังเกตได้จากบทความเรื่อง “ต้องทุบอาคารศาลฎีกาทิ้ง” ของ พฤตินัย (ลงในมติชน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2550) ผู้ที่อยากให้มีการรื้ออย่างเต็มที่และกล่าวว่าอาคารเสื่อมสภาพหมดแล้ว ก็ยังเขียนในเชิงขัดแย้งในตัวเองและยอมรับอยู่ในทีเกี่ยวกับเรื่องความแข็ง แรงว่า “…ปัจจุบันความเห็นของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ไม่เป็นที่ยุติ…”

ส่วนข้ออ้างอื่น ๆ อาทิ “…สถานที่เก็บมูลถ่ายอุจจาระบริเวณห้องขังเดิมของศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลแขวงดุสิตเต็มจนทำให้อุจจาระล้นขึ้นออกมาภายนอก เป็นที่น่ารังเกียจและอุจาดไปทั่ว…นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงสภาพรั่วไหลและรั่วซึมของน้ำบนหลังคาศาลและสภาพรั่วซึมของทุกชั้นทุกศาลภายในอาคารศาลฎีกาทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถแก้ไขซ่อมแซมให้หายขาดได้…” [20]

อาคารศาลฝั่งคลองคูเมืองเดิม สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคคณะราษฎร เสร็จในปี 2486 (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

สิ่งเหล่านี้ล้วนมิใช่ประเด็นหลักที่ต้องทำการรื้ออาคารทั้งหมดแต่อย่างใด (และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรั่วก็มิได้เกิดการรั่วมากมายในทุกจุดทุกชั้นทุกที่ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด) เพราะบ้านที่ฝนรั่วและส้วมเต็มคงไม่มีเจ้าของบ้านคนไหนแก้ไขด้วยวิธีการรื้อบ้านแล้วสร้างใหม่อย่างแน่นอน

เหตุผลอีกประการที่ใช้อธิบายเหตุผลในการรื้อคือ ความต้องการในการใช้พื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างมากมาย ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเป็นประเด็นสำคัญและเห็นใจ หากไม่มีที่ทำงานเพียงพอ ซึ่งจะพลอยทำให้เสียภาพลักษณ์ของสถาบันศาลด้วย

แต่จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กลุ่มอาคารศาลได้มีการย้ายหน่วยงานศาลอื่นออกไปแล้วไม่น้อย โดยเฉพาะล่าสุดคือ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่า เพื่อความชัดเจน ควรมีการสำรวจพื้นที่และประเมินความต้องการในการใช้พื้นที่อย่างจริงจังเสียก่อน แล้วค่อยมาพิจารณากันในลำดับต่อไป มากกว่าที่จะเป็นการพูดลอย ๆ บนการประเมินจากสายตาเท่านั้น

ที่น่าสังเกตที่สุดคือ ถ้าดูจากแบบใหม่ในการก่อสร้าง ก็จะพบว่า ไม่ได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นมากแต่อย่างใดเลย การออกแบบผังอาคารใหม่ เหมือนกับแบบเดิมเกือบทั้งหมด ความสูงและจำนวนชั้นก็มิได้แตกต่างกัน ซึ่งน่าสงสัยต่อการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยว่า จะเพิ่มมากขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนยังมิได้เคยเห็นแบบตัวจริงทั้งหมด การประเมินนี้คงยังไม่อาจสรุปได้ง่ายนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลจากทั้งหมดแล้ว ในทัศนะผู้เขียน (ซึ่งถกเถียงกันได้ และควรถกเถียงต่อไปมาก ๆ ด้วย โดยอย่าเพิ่งรีบรื้ออาคารลงเสียก่อน) ไม่พบเหตุผลที่มีน้ำหนักมากเพียงพอแต่อย่างใดในการรื้อกลุ่มอาคารศาลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมองอย่างเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวไปมากแล้วในหัวข้อที่ผ่านมาประกอบด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนจึงได้พยายามวิเคราะห์ว่า อะไรคือสาเหตุหลักที่อยู่เบื้องหลังความต้องการในการรื้อ ซึ่งในที่สุดผู้เขียนพบว่า สาเหตุสำคัญน่าจะเกิดจากความต้องการในรูปทรงภายนอกของอาคารมากกว่าสิ่งอื่นใด โดยมีความต้องการอยากได้อาคารศาลฎีกาที่มีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเป็นรูปทรงไทยเพียงเท่านั้น

อาคารศาล จังหวัดสงขลา เสร็จในปี 2484 อีกหนึ่งอาคารศาลที่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมโมเดิร์น (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

3,700 ล้านบาทเพื่อหลังคาทรงไทย?

หากย้อนทบทวนประวัติศาสตร์ จะพบว่า ความต้องการรื้อกลุ่มอาคารศาลครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกแต่อย่างใด แต่แนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่อาคารศาลด้านฝั่งถนนราชดำเนินในเปิดใช้งานไปได้เพียง 23 ปี คือในปี 2529 โดยคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นอนุมัติให้มีการรื้ออาคารศาลฎีกาลงเพื่อสร้างใหม่ในที่เดิม ต่อมาในปี 2535 ได้มีมติเห็นชอบในรูปแบบอาคารศาลฎีกาใหม่ พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณราว 2,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้าง [21]

ความคิดในการรื้ออาคารหลังจากที่มีการใช้งานไปเพียง 23 ปี เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง ความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุผลย่อมไม่ใช่เรื่องความเสื่อมสภาพของอาคารอย่างแน่นอน เพราะ 23 ปีในอายุการใช้งานของอาคารนั้นถือว่ายังใหม่เกินกว่าจะทำการรื้อสร้างใหม่ ผู้เขียนคิดว่า เหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันความคิดดังกล่าวคือ ความไม่พอใจในรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของคณะราษฎร ที่ในสายตาคนทั่วไปแล้วไม่มีความเป็นไทยเท่าที่ควร

รูปแบบอาคารศาลที่ออกแบบใหม่ ณ ช่วงนั้น ได้รับการออกแบบให้เป็น “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” ประกอบด้วย “ยอดปราสาท” เลียนแบบคล้ายยอดปราสาทในพระบรมมหาราชวัง แต่โครงการถูกระงับไปก่อน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ จวบจนมาถึงในปัจจุบัน โครงการนี้จึงได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นอีกครั้ง โดยมีการปรับรายละเอียดในรูปแบบสถาปัตยกรรมไปบ้าง ยกเลิกการนำยอดปราสาทมาใช้ อันเนื่องมาจากกระแสในการตระหนักถึง “ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรม”

อย่างไรก็ตาม รูปแบบโดยรวมก็ยังเป็นงาน “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” ที่หยิบยืมรูปแบบหลังคาและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบจารีต ประเภทวัดและวัง (ที่เป็นภาพตัวแทนความเป็นไทยเพียงอย่างเดียวในแวดงวงสถาปัตยกรรม) มาปรับสวมลงในผังอาคารสมัยใหม่เช่นเดิม

ดังจะเห็นได้จากแนวความคิดล่าสุดในการออกแบบรูปทรงของอาคารศาลฎีกาใหม่ที่ปรากฏทางสื่อคือ “…อาคารศาลฎีกาเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยในยุคปัจจุบัน พัฒนาแนวความคิดที่สืบสานต่อจากอดีต กล่าวคือเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมที่ประสานสนองประโยชน์ใช้สอยของปัจจุบันที่สมบูรณ์กับลักษณะไทยที่คงรักษาฉันทลักษณ์เดิมไว้ได้อย่างเหมาะสมในทุกส่วนขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม…” [22]

หรือในส่วนการออกแบบภายในก็จะพบแนวคิดนี้เช่นกันคือ “…เอกลักษณ์ของความสง่างามแบบไทยประเพณี ได้แก่ห้องโถง ทางเข้าใหญ่ของอาคารและห้องพิจารณาคดีใหญ่ ซึ่งเป็นห้องที่สำคัญที่จะต้องออกแบบให้มีความสง่างามและมีเอกลักษณ์ของไทยตามแบบอย่างลักษณะโบราณประเพณี…” [23]

เมื่อแนวคิดเป็นเช่นนี้ รูปแบบจึงปรากฏออกมาอย่างน่าตกใจ กลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่ เป็น “งานสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” ที่ดูหลงยุคหลงสมัยจนไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาดูผังโดยภาพรวมจะเห็นว่า มิได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเลยจากผังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนน่าสงสัยว่าแบบใหม่จะช่วยทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ต่างกันมีเพียงผืนหลังคาขนาดจั่วทรงไทยขนาดยาวมหึมาที่ครอบสวมลงไปบนผังแบบเดิม และองค์ประกอบอื่น ๆ ของงานสถาปัตยกรรมแบบประเพณีที่ประดับอยู่ตามหัวเสาและฐานอาคารเพียงเท่านั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือ ได้มีการออกแบบอาคารขนาดใหญ่หลังหนึ่งรูปทรงคล้ายโบสถ์ มีความสูงประมาณ 4 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ว่างตรงกลางของผังรูปตัววีเดิม ด้วยรูปทรงและมวลอาคารที่ดูเสมือนว่าเป็นการขยายสัดส่วนมาจากโบสถ์แบบประเพณีเดิมหลายเท่าตัว ทำให้หากมีการก่อสร้างจริงจะเป็นอาคารที่มีสัดส่วนใหญ่โตจนน่ากลัวและดูหลอกตาเป็นอย่างยิ่ง

รูปแบบที่ดูผิดยุคสมัยนี้ ย่อมไม่อาจกล่าวโทษไปที่สถาปนิกคนใดคนหนึ่งได้ เพราะสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง อันเป็นผลผลิตของมายาคติใหญ่ในสังคมไทยที่สั่งสมมายาวนานว่า เอกลักษณ์ไทยในทางสถาปัตยกรรมคือ อาคารที่มีหลังคาจั่วทรงสูง มายาคตินี้เริ่มถูกสั่งสมภายใต้นโยบาย “ชาตินิยมไทย” ในราวทศวรรษที่ 2490 เป็นต้นมา โดยอาศัยอิงแอบสร้างความเป็นไทยอย่างง่าย ๆ กับเปลือกนอกทางสถาปัตยกรรมแบบจารีตต่าง ๆ ในอดีต ซึ่งเป็นความเชื่อและวิธีการหาความเป็นไทยที่ฝังลึกและ “เอาง่ายเข้าว่า” มาอย่างยาวนานแล้วในสังคมไทย

อาคารราชการทั้งหมดในสมัยนั้นจะต้องสร้างขึ้นโดยมีหลังคาจั่วทรงสูง พร้อมกับมีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายสถาปัตยกรรมแบบจารีตที่ถูกลดทอนลายละเอียดลงให้ดูเรียบง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้คือสูตรสำเร็จในการสร้างเอกลักษณ์ไทยในทางสถาปัตยกรรม ตัวอย่างที่สำคัญคือ อาคารราชการสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินนอก โรงละครแห่งชาติ หอประชุมธรรมศาสตร์ ฯลฯ

แบบจำลองแสดงรูปทรงอาคารกลุ่มศาลฎีกาใหม่ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

มายาคตินี้ได้รับการสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ในแวดวงสถาปัตยกรรมจะวิพากษ์วิจารณ์ “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” มากมายเพียงใดก็ตาม รูปแบบดังกล่าวก็ยังคงมีพลังในการเป็นตัวแทนของความเป็นไทยมาได้โดยตลอด หรือแม้แต่สถาปนิกที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ หลายคนก็ยังตกอยู่ใต้มายาคติของรูปทรงจั่วสามเหลี่ยมไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่อ้างถึงความเป็นไทย ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นต้องใช้รูปทรงจั่วสามเหลี่ยมมาเป็นสื่อหลักในการอธิบายความเป็นไทยอยู่นั่นเอง

ด้วยมายาคติดังกล่าว ผสานกับกระแสประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ต้องการลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรออกไปจากสังคมไทย (ดังที่กล่าวมาในตอนต้น) ได้ส่งผลผสมผสานทำให้กลุ่มอาคารศาลฎีกาที่เป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นซึ่งไม่มีหลังคาจั่วทรงไทย อีกทั้งยังถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้นำในคณะราษฎร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถูกจัดการรื้อทำลายลง และสร้างกลุ่มอาคารศาลหลังคาทรงไทยขึ้นแทน เพื่อเป้าหมายในการสร้างความเป็นไทย และรื้อความทรงจำที่เกี่ยวเนื่องกับคณะราษฎรลงไปพร้อม ๆ กัน

น่าสังเกตว่า สถาปัตยกรรมโมเดิร์น หากผสานเรื่องราวให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมได้ ก็จะไม่ประสบชะตากรรมที่น่าสงสารเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น “ศาลาเฉลิมกรุง” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ไม่ต่างจากอาคารในยุคคณะราษฎรเลย แต่สังคมกลับให้คุณค่าทางสถาปัตยกรรมสูงมากจนไม่มีใครคิดว่าจะต้องรื้อ ด้วยเหตุผลที่ว่า อาคารสร้างมานาน (นานกว่าศาลฎีกาด้วย) จนเสื่อมสภาพหมดแล้ว

กล่าวโดยสรุป เมื่อพิจารณาเหตุผลต่าง ๆ ตลอดจนรูปแบบใหม่ของอาคารที่จะสร้าง ทำให้ผู้เขียนไม่อาจเชื่อได้ว่า เป็นผลของความเสื่อมสภาพของอาคารจนเกินเยียวยา แต่น่าจะเกิดจากความต้องการในรูปทรงของหลังคาจั่วทรงไทยมากกว่าเหตุผลอื่น (แน่นอนเหตุผลของความเสื่อมสภาพ และความต้องการใช้พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมีอยู่จริง แต่นั่นมิใช่เหตุผลหลักในทัศนะผู้เขียน)

หากเป็นดังที่ผู้เขียนวิเคราะห์จริง (ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่าอยากให้มีการถกเถียงในวงกว้างมากกว่านี้) ก็อยากจะตั้งคำถามต่อสังคมว่า สังคมควรยอมให้รัฐจ่ายเงินเป็นจำนวน 3,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของทุกคน ไปใช้เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งอาคารที่ครอบด้วยหลังคาจั่วทรงไทยขนาดมหึมานี้หรือไม่? ที่สำคัญยังทำลายประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าลงไปอย่างน่าเสียดาย

แบบจำลองอาคารศาลฎีกาใหม่ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551)

ความส่งท้าย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอยืนยันว่า ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า กลุ่มอาคารศาล ณ ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ไม่สมเกียรติกับความเป็นสถาบันตุลาการ ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดสถาบันหนึ่งในสังคมไทย และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ด้วยภารกิจที่เพิ่มขึ้นของศาลฎีกา ย่อมต้องการรูปแบบพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับกิจกรรมแบบใหม่ด้วย ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับได้

ผู้เขียนขอยืนยันว่า การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดในบทความนี้มิได้มุ่งหมายจะให้มีการเก็บรักษากลุ่มอาคารศาลเดิมนี้ไว้ในสภาพเดิมทุกประการ หรือต้องการจะให้ทำการอนุรักษ์โดยแช่แข็งอาคารไว้เหมือนเดิมทุกอย่างโดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เลยก็หาไม่ เพียงแต่ในการปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนไปนั้น มิใช่จะต้องเลือกหนทาง “รื้อ-สร้าง” เพียงอย่างเดียว

ศาลควรหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นที่นอกเหนือไปจากการรื้อสร้างใหม่ทั้งหมดลง โดยหันมาลองพิจารณาเลือกใช้แนวทางการอนุรักษ์ในรูปแบบที่สามารถผสานกับความต้องการในการใช้สอยสมัยใหม่ได้ โดยการออกแบบปรับเปลี่ยนการใช้สอยพื้นที่ภายในอาคารใหม่ ในลักษณะที่ยังดำรงรักษาคุณค่าของตัวอาคารไว้ได้ด้วย ซึ่งสามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบมาก ซึ่งแนวทางเช่นนี้ นอกจากจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้สอยแล้ว ยังสามารถใช้มูลค่าเพิ่มทางประวัติศาสตร์ของอาคารมาหนุนเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรได้เป็นอย่างดี

ด้วยหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามาภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด ผู้เขียนเชื่อว่า สภาพของอาคารกลุ่มศาล ณ ปัจจุบัน ยังมีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้อย่างสมเกียรติสถาบันศาล โดยไม่ละเลยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ฝังอยู่ในตัวงานสถาปัตยกรรม

สุดท้าย ผู้เขียนหวังว่า กรณีความพยายาม “รื้อ-สร้าง” อาคารศาลฎีกาใหม่ในครั้งนี้ จะนำมาสู่ความตื่นตัวของสังคมในระดับที่กว้างขวางมากขึ้น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งใช้งบประมาณขนาดนี้ และที่สำคัญคือ เป็นโครงการที่สร้างลงบนพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สูงเช่นนี้ สังคมควรจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามอย่างรอบด้านและจริงจังมากขึ้น

ประเด็นเหล่านี้ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คนมานั่งตัดสินนโยบายสาธารณะที่สำคัญเช่นนี้เพียงลำพังอีกต่อไป [24]

 


เชิงอรรถ :

[1] ดูรายละเอียดใน ข่าวศาลยุติธรรม ปีที่ 7 ฉบับพิเศษที่ 79 วันที่ 12 ธันวาคม 2549

[2] จดหมายข่าวศาลยุติธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 22 วันที่ 30 กันยายน 2550

[3] หจช., (2) สร 0201.87.3.1/4 รายงานการเปิดตึกที่ทำการกระทรวงยุติธรรม 24 มิถุนายน 2484, หน้า 2.

[4] หจช., (4) ศธ 2.3.6/11 รายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการสร้างกระทรวงและศาลยุติธรรม วันที่ 3 มิถุนายน 2483, หน้า 1.

[5] กระทรวงยุติธรรม, 100 ปีกระทรวงยุติธรรม. (กรุงเทพฯ : กระทรวงยุติธรรม, 2535), หน้า 173-175.

[6] เพิ่งอ้าง, หน้า 191.

[7] บันทึกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2481 อ้างถึงใน ที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารที่ทำการศาลแพ่งและศาลฎีกา 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2506, หน้า 21.

[8] หจช., (2) สร 0201.87.3.1/4 รายงานการเปิดตึกที่ทำการกระทรวงยุติธรรม 24 มิถุนายน 2484, หน้า 1.

[9] ดูรายละเอียดใน เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2544), หน้า 165-188.

[10] เพิ่งอ้าง, หน้า 184.

[11] วัธนธัมทางการสาล. (พระนคร : บริษัทโสภณพิพัธนากร, 2486), หน้า 39.

[12] ข้อมูลนี้เกิดขึ้นจากการพูดคุยกับหลายๆ คนเกี่ยวกับเหตุการณ์ “การได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาล” ในช่วงเวลาราว 1 เดือนที่ผ่านมา โดยในหลายคนที่มีโอกาสได้พูดคุยด้วยนั้น เป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงของศาล และมีตำแหน่งระดับสูงหลายคน อย่างไรก็ตาม ในเชิงปริมาณแล้ว ก็ยังไม่อาจกล่าวสรุปได้ว่า นี่คือความทรงจำร่วมทั้งหมดของสังคมไทย ณ ปัจจุบัน

[13] ดูรายละเอียดใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล. “ความยอกย้อนในประวัติศาสตร์ของบิดาแห่งกฏหมายไทย,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปี 23 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2545) : 70-86. และ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 23 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2545) : 82-89.

[14] ดู ธงชัย วินิจจะกูล. “ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม : จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฏุมพีไทยในปัจจุบัน,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปี 23 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2544) : 56-65.

[15] ดูรายละเอียดงานเฉลิมฉลองใน ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 (ม.ป.ท.) (ม.ป.ป.)

[16] ดูรายละเอียดใน ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), หน้า 285-356.

[17] ดูการให้เหตุผลเรื่องการเสื่อมสภาพของอาคารจาก พฤตินัย (นามแฝง). “ต้องทุบอาคารศาลฎีกาทิ้ง,” ใน มติชน วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550.

[18] ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โครงการศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาอาคารศาลฎีกาและอาคารบริเวณรอบศาลฎีกา เสนอต่อสำนักงานศาลยุติธรรม (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์). หน้า 3_23.

[19] เพิ่งอ้าง, หน้า 3_30-3_32.

[20] พฤตินัย (นามแฝง). “ต้องทุบอาคารศาลฎีกาทิ้ง,” ใน มติชน วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550.

[21] ข่าวศาลยุติธรรม ปีที่ 7 ฉบับพิเศษที่ 79 วันที่ 12 ธันวาคม 2549.

[22] “เปิดโมเดล ‘อาคารศาลฎีกา’ ใหม่ ทุบหลังเก่าทิ้งท่ามกลางเสียงค้าน จับตา ‘ปธ.ฎีกา’ ตัดสินใจหาทางออก” ใน มติชน วันที่ 28 ตุลาคม 2550.

[23] เพิ่งอ้าง

[24] นอกจากประเด็นต่าง ๆ ที่นำเสนอในบทความนี้แล้ว ยังมีประเด็นสำคัญอีกประการที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญมาก แต่ยังไม่มีความรู้เพียงพอจะเข้าไปสิพากษ์อย่างเป็นระบบได้ นั่นก็คือ หากโครงการศาลฎีกาใหม่ได้รับการก่อสร้างจริง จะก่อให้เกิดประเด็น “สองมาตรฐาน” ของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์อย่างชัดเจน และจะนำมาซึ่งผลกระทบในวงกว้างมาก ๆ ต่อนโยบายการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ในอนาคต ซึ่งคงจะต้องมีผู้ที่รู้ช่วยกันพิจารณาต่อไป


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2565