แรกมี “ยางพารา” ในภาคอีสาน จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ

ยางพารา ต้นยาง
สวนยางพาราแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561 (Photo by Jonathan KLEIN / AFP)

แรกมี “ยางพารา” ในภาคอีสาน จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ

จากต้นยางพาราต้นแรก เมื่อ พ.ศ. 2444 ที่ พระสถลสถานพิทักษ์ (ยู่เกี๊ยด ณ ระนอง) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง น้องบุญธรรมของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง ) นำจากประเทศอินโดนีเซีย และปลูกบริเวณหน้าบ้านพักของพระสถลสถานพิทักษ์ ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ก่อนที่จะขยายพื้นที่ปลูกออกไปทั่วภาคใต้ พระสถลสถานพิทักษ์ ยังเป็นเจ้าของสวนยางพาราคนแรกของประเทศไทย

หากปัจจุบันยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่ปัจจุบันมีการปลูกกันในหลายภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคอีสาน ความเป็นของเรื่องนี้ พานิชย์ ยศปัญญา ได้เรียบเรียงไว้ใน “ยางพารา หยั่งรากลึก…ที่อีสาน” (ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับธันวาคม 2555) ดังนี้


 

คงไม่มีใครคาดคิดว่า พื้นที่ปลูกจะกระจายไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน ซึ่งมีความแห้งแล้งกันดาร ภูมิอากาศต่างจากภาคใต้อย่างสิ้นเชิง

จากที่ปลูกอยู่เฉพาะถิ่น ผู้ปลูกได้เรียนรู้นิสัยใจคอยางพารา ต้นยางพาราก็ปรับตัวให้เข้ากับสภาพของท้องถิ่นต่างๆ ส่งผลให้ยางพาราทั้งประเทศปี พ.ศ. 2552 มีพื้นที่ปลูก 17 ล้านไร่เศษ ผ่านไปปีเดียว คือ ปี พ.ศ. 2553 พื้นที่ปลูกยางพาราทั้งประเทศมีทั้งหมด 18,320,011 ไร่ ดูตัวเลขแล้วก้าวกระโดด ทั้งนี้เพราะรายได้เป็นแรงจูงใจนั่นเอง

ยางพารา เข้าไปสู่อีสานได้อย่างไร

สืบค้นกันจริงๆแล้ว ยางพาราเข้าไปที่อีสาน 2 ลักษณะด้วยกัน คือนำเข้าไปปลูกเพราะเห็นเป็นไม้แปลก และนำเข้าไปปลูกแบบจริงจังเพื่อการค้า มีงานวิจัยรองรับ

การนำยางพาราเข้าไปปลูกที่อีสานลักษณะแรก ผู้ปลูกไม่มีความมั่นใจว่าจะทำได้ แต่ก็ทดลองดู คนที่เฝ้ามองอยู่ อาจจะเข้าใจว่าคนปลูกยางพาราที่อีสานสติไม่ดี

ถึงแม้จะมีความตั้งใจดีของผู้ปลูก แต่ผลของการปลูกยุคแรกไม่ประสบความสำเร็จ

แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีคุณค่า เพราะต้นยางพาราชุดแรกๆ ยังคงยืนต้นอยู่ให้ได้สืบค้นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น กรณียางพาราอายุกว่า 60 ปี ที่จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าของผู้ครอบครองคือ คุณลุงโสภา ขุนจิตรงาม เกษตรกรวัย 77 ปี อยู่หมู่ที่ 9 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

คุณลุงโสภาเล่าว่า ต้นยางพาราที่เห็นอยู่ ปลูกโดย คุณสำเริง ประสิทธิ์ศักดิ์ อดีตข้าราชการกรมที่ดิน

คุณสำเริงนำเมล็ดยางพาราจากประเทศมาเลเซีย ชื่อพันธุ์ “เจมิล่า” หรือ “เจ 1” มาปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 จากที่ปลูกไว้หลายต้น ปัจจุบันยางที่ปลูกรุ่นนั้นเหลือเพียงต้นเดียว ซึ่งมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี  ต้นยางพารามีเส้นรอบวง 2.97 เมตร มีความสูง 28 เมตร ทุกๆ ปี ชาวบ้านจะมาทำบุญสู่ขวัญให้กับยางพาราต้นนี้เป็นประจำ ทั้งนี้เพราะบริเวณนั้นมีเกษตรกรปลูกยางพารากันมาก ผู้ปลูกยางพารามีความเชื่อว่า หากมีการเฉลิมฉลองต้นยางเก่าแก่ เปรียบเสมือน “ปู่ยางพารา” จะทำให้ยางพาราของตนเองได้น้ำยางดี ปู่ยางพาราของคนกันทรลักษณ์ถือว่ามีคุณค่าที่คนท้องถิ่นรักและหวงแหน

ต้นยางพาราของอีสานที่อายุมากอีกต้นหนึ่ง อยู่บ้านหนองแวง หมู่ 2 ตำบลถ้ำเจริญ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ

คุณทอง คำมุงคุณ คนปลูกยางพาราต้นแรกของจังหวัดบึงกาฬเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 2503 หลวงปู่คำสิงห์ วรธรรมโม ซึ่งเป็นญาติกัน กลับจากธุดงค์ทางภาคใต้ คือจังหวัดพัทลุง ได้นำเมล็ดยางพาราใส่ย่ามมาด้วย 25 เมล็ด ท่านให้เมล็ดยางพาราแก่คุณทองเพื่อปลูกในที่ดิน หลวงปู่บอกว่า เป็นพืชที่แปลกให้น้ำยางมาก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง หลังปลูกเมล็ดยางพารางอกและเจริญเติบโตเพียง 5 ต้นเท่านั้น แต่ต่อมากล้ายางพาราอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้เพียงต้นเดียวเท่านั้น ต้นอื่นๆ ถูกฝูงควายเหยียบย่ำเสียหาย

ต้นยางพาราที่เหลือ มีความสูง 25 เมตร วัดรอบต้นได้ 3.4 เมตร

คุณเต็ม นาของ ผู้ครอบครองต้นยางพาราต้นแรกคนปัจจุบันของจังหวัดบึงกาฬ บอกว่า เคยกรีดยางต้นนี้นานมาแล้ว ซึ่งให้น้ำยางดีมาก จนวัสดุที่รองรับขนาดเล็กๆ ไม่พอใส่ แต่มีอยู่คืนหนึ่งฝันว่า หลังกรีดยางพารา มีเลือดสีแดงไหลออกมาจากต้นยางพารา โดยไหลไม่หยุด พร้อมกับมีเสียงผู้หญิงร้องครวญครางโหยหวน ด้วยความเจ็บปวด ตอนเช้าคุณเต็มนำสิ่งที่ฝันไปเล่าให้หลวงพ่อที่วัดฟัง หลวงพ่อท่านบอกว่า เทวดาประจำต้นไม้ได้รับความเจ็บปวดจากการกรีดยาง ได้ฟังดังนั้น คุณเต็มจึงหยุดกรีดยางต้นแรกของบึงกาฬมากว่า 10 ปีแล้ว พร้อมกับตั้งศาลขึ้นมาข้างๆ เพื่อเป็นที่อยู่ของรุกขเทวดา

มีการนำยางพาราเข้าไปปลูกในภาคอีสานลักษณะนี้หลายที่หลายแห่งด้วยกัน เช่น ต้นยางที่อาคารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริฑัตโต วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

ที่อื่นๆ ก็มีอายุกว่า 30 ปี เช่น ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่สถานีทดลองพืชไร่ร้อยเอ็ด ที่อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดนครพนม เป็นต้น

การปลูกยางพาราจริงจัง เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 ทั้งนี้เพราะปีนั้นมีการประชุมที่จังหวัดยะลา ที่ประชุมลงความเห็นว่า อีสานป่าถูกทำลาย ธรรมชาติย่ำแย่ลงทุกที ดังนั้นควรจะปลูกพืชที่สร้างธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูก

ปี พ.ศ. 2520 ได้มีการนำยางพาราลงปลูกทดลองในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ 8 แห่ง พันธุ์ยางที่ปลูกคือ “tjir 1” เมื่อปี พ.ศ. 2523 พบว่า 4 สถานีทดลองที่ปลูกแล้วต้นไม่ตาย คือ สถานีทดลองพืชไร่มุกดาหาร สถานีทดลองพืชไร่ร้อยเอ็ด สถานีทดลองพืชไร่มหาสารคาม และสถานีทดลองพืชสวนเชียงราย

ปี พ.ศ. 2521 มีงานปลูกยางพาราโดยใช้พื้นที่มากขึ้น หน่วยงานของภาครัฐร่วมมือกัน เช่น สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กองนิคมสร้างตนเอง กรมประชาสงเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง

สถานที่ปลูกนั้นมีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือนิคมสร้างตนเองโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย จำนวน 10 ไร่ นิคมสร้างตนเองปราสาท จังหวัดสุรินทร์ 15 ไร่ และนิคมสร้างตนเองบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ 15 ไร่ ถึงปี พ.ศ. 2527 แปลงยางที่นิคมสร้างตนเองโพนพสัยเริ่มกรีดได้เป็นแห่งแรก จากนั้นอีก 2 แห่งก็ตามมา

เมื่อเห็นว่า ยางพาราปลูกได้และมีน้ำยาง หน่วยงานของภาครัฐจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก แต่ก็ไม่แพร่หลายนักในระยะแรกๆ เนื่องจากว่า คนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าจะปลูกได้จริง อีกเหตุผลหนึ่งนั้น ราคายางพาราในแหล่งปลูกก็ไม่จูงใจ โดยเฉพาะทางภาคใต้ ซึ่งราคาขายกิโลกรัมละ 20 บาทอยู่นาน จนกระทั่งเมื่อราคายางสูงขึ้น งานปลูกยางพาราจึงตื่นตัว

เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นงานปลูกยางพาราได้อย่างดี คือเมื่อปี พ.ศ. 2530 ปีนั้นมีโครงการอีสานเขียว นอกจากสร้างแหล่งน้ำให้เกษตรกรแล้ว ทางราชการยังนำกล้ายางพาราไปให้เกษตรกรปลูก โดยผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถึงแม้จะบอกกล่าวชาวบ้านอย่างไรเกี่ยวกับยางพารา ชาวบ้านก็ยังไม่เข้าใจและไม่สนใจที่จะนำไปปลูก สุดท้ายกำนันและผู้ใหญ่บ้าน แถบจังหวัดริมโขง ต้องรับภาระหนัก คือนำกล้ายางพาราไปปลูกด้วยความไม่เต็มใจ แต่เวลาผ่านไป 8-9 ปี ใช้เวลามากหน่อยเพราะไม่ตั้งใจดูแล ปรากฏว่า ยางพารากรีดได้ กำนันและผู้ใหญ่บ้านนั่งนับเงินเพลิน ลูกบ้านได้แต่มองตาปริบๆ

เพราะปลูกยางพาราแล้วรายได้ดี ชาวบ้านแถบถิ่นอีสานจึงลงมือกันยกใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2552 พื้นที่ปลูกยางพาราของถิ่นที่ราบสูงอยู่ที่ 2,989,097 ไร่ ปี พ.ศ. 2553 พื้นที่ปลูก 3,362,791 ไร่ คาดว่าปัจจุบัน พื้นที่น่าจะมากกว่า 4 ล้านไร่อย่างแน่นอน

งานปลูกยางพาราภาคอีสาน ส่วนหนึ่งที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะมีหน่วยงานทางราชการสนับสนุน เช่นแหล่งทุน แหล่งวิชาการ รวมทั้งเรื่องของการตลาด ชาวบ้านเคยไปรับจ้างกรีดยาง ที่จังหวัดยะลา นครศรีธรรมราช ก็กลับมากรีดยางในท้องถิ่นของตน เมื่อมีทุนก็ปลูกเอง

เมื่อยางพาราหยั่งรากลึกลงที่อีสาน ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป ที่แน่ๆ คือชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นดีขึ้น

มีเรื่องเล่ากันว่า บางหมู่บ้านของอีสาน เมื่อก่อนถึงคราวมีงานบุญ เขาล้มวัวกันหมู่บ้านละตัว แต่เมื่อปลูกและขายยางพาราได้ ถึงคราวมีงานบุญ วัวเสียชีวิตเพิ่มหมู่บ้านละ 4-5 ตัว

ถนนที่เลาะเลียบริมน้ำโขง ปัจจุบันคึกคักมาก มีปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ มีร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อผุดขึ้นดังดอกเห็ด รวมทั้งร้านอุปกรณ์ทางการเกษตรก็ไปบริการถึงถิ่น

คนท้องถิ่นแถบริมน้ำโขงเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านจะรวมตัวกันเป็นกระจุก ตามริมถนน ต่อมาชาวบ้านที่ปลูกยางพารา จะย้ายบ้านไปตั้งอยู่ตามสวนยางเพื่อให้สะดวกต่อการปฏิบัติงาน บ้านเรือนจึงอยู่ห่างกันมากขึ้น ด้วยการตั้งบ้านเรือนที่ห่างกันขึ้นนี่เอง อาจจะมีผลทางด้านอื่นตามมา เช่นความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติ ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน

สำหรับการบริโภคอาหาร ผู้ปลูกยางพาราจะซื้ออาหารตุนไว้ทีละมากๆ เมื่อหมดก็ออกมาซื้อ

รสนิยมการซื้อหา ชาวสวนยางพารา มีความใกล้เคียงและเท่าเทียมคนอยู่เมืองใหญ่ คนเมืองใหญ่ใช้รถ โทรศัพท์ รุ่นใหม่ๆ ผู้ปลูกยางและผู้ค้ายางก็สามารถมีได้…ร้านสะดวกซื้อเขตพระโขนง กรุงเทพฯ มีอะไร ร้านสะดวกซื้อที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ก็มีเช่นนั้น

ยางพารา ที่ปลูกกันมากในภาคอีสาน มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนคงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนข้อเสียคงมี แต่อาจจะน้อย จนไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่

คุณเกื้อ ทองแท้ เจ้าพนักงานส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ซึ่งเป็นข้าราชการที่ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพาราเป็นอาชีพเสริมให้แง่คิดว่า หากปลูกยางพาราแล้วไม่สร้างภาระให้กับตนเอง อย่างการซื้อรถมาผ่อนเกินกำลัง ผู้ปลูกก็สามารถอยู่ได้

“ที่อีสานดีมาก ปลูกยางพาราแล้วตามลูกตามหลานที่อยู่กรุงเทพฯไปกรีด…สำหรับระบบกรีดทางใต้ หากเป็นพื้นที่ภูเขา เขาแบ่งกันเจ้าของกับคนกรีด 50 ต่อ 50 แต่หากเป็นพื้นราบ เจ้าของ 60 คนกรีด 40” คุณเกื้อบอก

ที่อีสาน จังหวัดไหนปลูกยางพารามากที่สุด

คำตอบก็คือ บึงกาฬ ปัจจุบันจังหวัดนี้ปลูกยางพาราทั้งหมดกว่า 8 แสนไร่ แต่พื้นที่กรีดได้ยังไม่เต็มที่ กระนั้นก็ตาม เดือนหนึ่ง จังหวัดนี้มีรายได้ 800 ล้านบาท ปีหนึ่งรวมแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบอนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2565