นโยบาย “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” ในยุโรปสมัยบิสมาร์ค อัครมหาเสนาบดีแห่งเยอรมนี

Conference of Berlin สมัยของบิสมาร์ค
ภาพ Conference of Berlin in 1884 เกี่ยวกับปัญหาในแอฟริกา (ภาพจาก Wikimedia Commons)

นโยบาย “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” ในยุโรป สมัยของบิสมาร์ค อัครมหาเสนาบดีแห่งเยอรมนี

ยุโรปในช่วงปี 1870-1890 ถือว่าเป็นสมัยที่หลายประเทศต่างแสวงหาทรัพยากรและขยายอำนาจของประตนเองเองไปยังดินแดนต่างๆ โดยประเทศที่มีความโดดเด่นคือประเทศเยอรมนี จนถูกขนานนามว่า “สมัยของบิสมาร์ค” (Age of bismark) กล่าวคือบิสมาร์คเป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งเยอรมนีที่มีบทบาทในการกำหนดวิถีทางการเมืองของยุโรปมากที่สุด เห็นได้จากนโยบายที่สำคัญ ดังนี้

“Realpolitik Turns or Itself” กล่าวให้รัดกุมว่าเป็นนโยบายต่างประเทศที่มีหลักอยู่บนการคำนวณของฐานอำนาจ รวมถึงผลประโยชน์แห่งชาติ โดยมีลักษณะ “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” ซึ่งอาจจะพิจารณาได้จากระบบการทูตและระบบพันธมิตรของบิสมาร์ค เพราะภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitik) ที่ติดกับประเทศมหาอำนาจทั้งฝรั่งเศสและรัสเซีย

ฉะนั้น เยอรมนีจึงต้องสานสัมพันธ์อันดีกับรัฐอื่นๆ โดยยึดมั่นในหลักการทูตที่เอื้อประประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายที่ปรารถนาพันธมิตรกับเยอรมนี จึงทำให้เยอรมนีกลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางการทูต และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐยุโรป โดยจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเยอรมนีกับประเทศต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพ ดังนี้

เยอรมนีและอังกฤษ อังกฤษมีนโยบาย “การโดดเดี่ยวอย่างสง่างาม” (Splendid isolation) โดยมีลักษณะของความไม่เต็มใจที่จะเข้าสู่พันธมิตรยุโรปอย่างถาวรหรือมีข้อผูกมัดกับมหาอำนาจอื่นๆ ทำให้บิสมาร์คดำเนินการเป็นพันธมิตรที่ดีกับออสเตรียเพื่อที่จะได้รับความสนับสนุนจากอังกฤษ เนื่องจากนโยบายของอังกฤษต้องการเห็นยุโรปกลางเข้มแข็ง เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝรั่งเศสและรัสเซีย

เยอรมนีและฝรั่งเศส ในสงครามครั้งสุดท้ายคือสงครามกับฝรั่งเศส ในปี 1870-1871 เยอรมนีได้ผนวกแคว้นอัลซัค-ลอเรนส์ เข้าไว้ในจักรวรรดิของตนด้วย การกระทำของเยอรมนีเช่นนี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ฝรั่งเศสได้คอยหาโอกาสที่จะแก้แค้นเพื่อดึงแคว้นทั้งสองกลับคืนไปตลอดเวลา ลำพังแต่เพียงการทำสงครามครามกับฝรั่งเศสนั้นบิสมาร์คไม่หวั่นเกรงเลย เขาหวั่นเกรงแต่ว่าฝรั่งเศสจะร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจอื่นแล้วร่วมกันโจมตีเยอรมนี

ดังนั้น นโยบายต่างประเทศของบิสมาร์คก็คือการพยายามให้ฝรั่งเศสต้องอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพัง ไม่มีพันธมิตร ส่วนการที่จะทำให้ฝรั่งเศสโดดเดี่ยวไม่มีพันธมิตรนั่นก็หมายความว่าเยอรมนีจะต้องดึงเอาประเทศมหาอำนาจอื่นๆ นั้นมาเป็นพันธมิตรของตน เช่น รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี เป็นต้น

เยอรมนี ออสเตรีย และรัสเซีย บิสมาร์คเคยกราบทูลพระเจ้าจักพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 ว่า “นโยบายต่างประเทศของจักรวรรดิเยอรมนีภายหลังจากปี 1871 นั้น ได้แก่ การรักษาสันติภาพ และการป้องกันแนวร่วมต่อต้านเยอรมนี ซึ่งตัวจักรสำคัญในเรื่องนี้คือ รัสเซีย”

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเยอรมนีและรัสเซียมีมาตั้งแต่ปี 1863 และออสเตรียเองก็ยอมรับสภาพที่ด้อยกว่าเยอรมนีและเห็นประโยชน์จากการเป็นมิตรกับเยอรมนี ต่อมาทั้ง 3 ประเทศได้ทำข้อตกลงทางการเมืองในชื่อว่า “สันนิบาตจักรพรรดิสามพระองค์” (The League of Three Emperors หรือ Drei Kaiserbund)

สาระสำคัญของข้อตกลงในสันนิบาตนี้เป็นไปทำนองว่าทั้ง 3 ชาติจะร่วมปรึกษาหารือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่คุกคามต่อสันติภาพ สะท้อนให้เห็นถึง การที่ “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” เพราะในช่วงขณะนั้น รัสเซียกับออสเตรีย-ฮังการี กำลังเป็นคู่แข่งกันเข้าไปมีอิทธิพลในแหลมบอลข่าน แต่ก็สามารถจับมือเพื่อผลประโยชน์ของชาติได้ (ช่วงแรก)

เยอรมนีและออสเตรีย การที่ออสเตรียและรัสเซียมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันในดินแดนบอลข่านระหว่างช่วงปี 1877-1878 และการที่สนธิสัญญาเบอร์ลินได้สร้างความไม่พอใจให้แก่รัสเซียอย่างมาก เพราะรัสเซียถูกอังกฤษและออสเตรีย-ฮังการี ปิดกั้น ไม่สามารถแผ่ขยายอำนาจออกมาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ จึงก่อให้เกิดความร้าวฉานขึ้นในสันนิบาตจักรพรรดิสามพระองค์

ซึ่งบิสมาร์คเลือกที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกับออสเตรียก่อน เนื่องจากเยอรมนีจะมั่นคงปลอดภัย ทั้งสองได้ลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรสองประเทศ (Dual Alliance) สัญญานี้มีสาระสำคัญว่าทั้งสองจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกรณีที่ถูกรัสเซียโจมตี แต่ถ้าเป็นประเทศอื่น (ฝรั่งเศส) แต่ละฝ่ายจะวางตัวเป็นกลาง

พันธมิตรไตรภาคี (Triple Alliance) ในปี 1882 อิตาลีได้เข้าลงนามด้วยอีกชาติหนึ่งทั้งนี้เพราะอิตาลีผิดหวังและแค้นเคืองฝรั่งเศสที่แย่งดินแดนตูนิสซึ่งอิตาลีหวังที่จะเข้าครอบครองไป ความผิดหวังครั้งนี้ได้ทำให้อิตาลีรู้สึกโดดเดี่ยวและเห็นว่าตนไม่อาจจะแสวงหาผลประโยชน์อะไรได้หากอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง จึงกลายมาสู่สนธิสัญญาพันธมิตรสามประเทศ เรียกว่า ค่ายมหาอำนาจ Triple Alliance

โดยมีสาระสำคัญ เช่น อิตาลีจะสนับสนุนเยอรมนี หากถูกฝรั่งเศสคุกคาม หรือรัฐภาคีทั้งสามจะเข้าช่วยเหลือกันทั้งหมด หากมหาอำนาจอื่นๆ รุกรานรัฐภาคี แต่อิตาลีขอสงวนสิทธิไม่เข้าร่วมหากมีอังกฤษเป็นคู่กรณีด้วย เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปคือ หลัก “Realpolitik” เปรียบดั่งการเป็นนักวางแผนทางการเมือง คิดคำนวณ และกะการณ์สถานการณ์อย่างแยบยลและหลักแหลม จะเห็นได้ว่าการที่ประเทศมหาอำนาจพยายามร่วมมือกันนั้นล้วนแต่อยู่บนผลประโยชน์ของประเทศของตนเองทั้งนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” แต่ในทางกลับกันก็ต้องพึ่งพิงความฉลาดของผู้นำหากผู้นำอ่อนแอแล้วก็จะไม่สามารถดำรงระบบอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดได้ เพราะมีความซับซ้อน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Henry Kissinger. Diplomacy

บรรพต กำเนิดศิริ. ประวัติศาสตร์การทูตตั้งแต่การประชุมที่กรุงเวียนนา ค.ศ.1815 จนถึงจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นปี ค.ศ. 1947

มัทนา เกษกมล. เอกสารประกอบการสอน ยุโรปคริสตศตวรรษที่ 19-20

Charles Petrie. Diplomatic History 1713-1933


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2565