ตามรอย “เตาไฟ” แบบโบราณ จากเตาก้อนเส้า ถึง “เตาอั้งโล่” และ “เตามหาเศรษฐี”

เตา เตาไฟ เตาอั้งโล่
(ซ้าย) เตาอั้งโล่แบบทั่วไป (ภาพจาก ดร. นนทพร อยู่มั่งมี), (ขวา) เตามหาเศรษฐี (ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)

“เตาไฟ” เป็นสิ่งอยู่คู่ครัวไทยที่ขาดเสียไม่ได้ แม้ว่า “เตาแก๊ส” จะเข้ามาทดแทนด้วยความที่สะดวกกว่า จุดไฟก็ง่ายกว่า ไม่ยุ่งยาก แถมยังไร้ควันอีกด้วย แต่เตาไฟแบบโบราณ เช่น “เตาก้อนเส้า” “เตาเส้าเหล็ก” “เตาวง” “เตาเชิงกราน” ที่เป็นเตาไฟอย่างไทย หรือ “เตาอั้งโล่” อย่างจีนนั้น ก็ยังมีความจำเป็นไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับการประกอบอาหารจำพวกปิ้งหรือย่าง ที่ทำให้อาหารนั้นมีกลิ่นหอมกว่าการใช้เตาแก๊ส

เตาไฟแบบโบราณข้างต้นนั้นเป็นอย่างไร?

เตาก้อนเส้า เป็นเตาแบบโบราณทำขึ้นอย่างง่าย ๆ โดยการเอาหินหรืออิฐจำนวน 3 ชิ้น วางหรือปักเป็นหลัก ลักษณะสามเส้าสำหรับรองรับภาชนะ เตาก้อนเส้านับเป็นเตาไฟแบบโบราณ อาจเรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกเริ่มก็ว่าได้ เพราะทำขึ้นโดยไม่ต้องประดิษฐ์หรือพิถีพิถันอันใดมาก ไม่ว่าจะอยู่ในเมือง ชนบท หรือตามป่าดง หากหาวัสดุทำนองดังกล่าวมาตั้งเป็นเส้าทั้งสามก็สามารถหุงหาอาหารได้แล้ว

เตาเส้าเหล็ก เป็นเตาที่ทำจากเหล็กดัดให้เป็นวงกลม มีสามขา ใช้หลักการเดียวกันกับเตาก้อนเส้า

เตาเส้าเหล็ก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2543)

อย่างไรก็ตาม เตาก้อนเส้าและเตาเส้าเหล็กมีข้อเสียคือไม่มีที่กั้นลม ทำให้ฟืนหรือถ่านมอดเร็วเป็นการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เตาไฟที่ทำจากดินเผาจึงได้รับความนิยมมากกว่า อย่างเช่น เตาเชิงกราน เตาวง และเตาอั้งโล่

เตาเชิงกราน เป็นเตาไฟทำจากดินเผา ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกปากผายออก มีช่องตัดตรงหน้าเตา ก้นทึบ มีชานต่อออกมาข้างหน้าเตาสำหรับวางฟืนหรือถ่าน

คำว่า “เชิงกราน” มาจากคำว่า “เชิง” หมายถึง ฐานที่ใช้รองรับของบางสิ่ง กับคำว่า “กราน” นัยว่าเป็นคำเขมร หมายถึง ไฟ รวมความแล้วจึงมีความหมายว่า “ฐานรองรับไฟ” หรือ “เตาไฟแบบที่มีฐานรองรับอยู่ข้างใต้”

เตาเชิงกราน บางครั้งก็เรียกว่า “เชิงไฟ” ปรากฏในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ได้กล่าวถึงการทำเครื่องปั้นดินเผาในสมัยอยุธยา ซึ่งมีเตาเชิงกรานหรือเชิงไฟอยู่ด้วย ความว่า “บ้านปั้นม่อเข้าม่อแกงใหญ่เลก แลกะทะเตาขนมครก ขนมเบื้อง เตาไฟ ตะเกียงใต้ ตะคันเชิงไฟ พานภุ่มสีผึ้งถวายพระเจ้าวษา…บ้านคนทีปั้นกระโถนดิน กระถางดินปลูกต้นไม้ แลตะคัน เชิงไฟ เตาไฟ แลปั้นรูปช้างรูปม้าตุกตาต่าง ๆ ขาย…”

เตาเชิงกราน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2543)

เตาวง เป็นเตาไฟทำจากดินเผา ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก สูงประมาณคืบเศษ หน้าเตาตัดเป็นช่องสำหรับใส่ฟืนหรือถ่าน ด้านล่างเตาเป็นก้นกลวงไม่มีฐาน ด้านบนมีกรวยดินยื่นออกมาสำหรับรองรับภาชนะ เรียก “จมูกเตา” อย่างไรก็ตาม เตาวง มีข้อเสียตรงที่ต้องวางบนแม่เตาไฟ (ฐานรองรับเตาไฟ) หรือวางบนพื้นดิน ไม่เหมาะกับการวางบนเรือนแพหรือพื้นไม้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดไฟไหม้

เตาวง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2543)

เตาอั้งโล่ เป็นเตาไฟแบบจีน คนจีนนำเข้ามาใช้ในดินแดนประเทศไทยเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด แต่ด้วยความที่เตาอั้งโล่สะดวกต่อการใช้งาน ปลอดภัย ไม่ทำให้ครัวสกปรก ไม่สู้มีควันไฟและเขม่ามากนัก จึงได้รับความนิยมมาก

คนจีนแต้จิ๋วเรียกเตาประเภทนี้ว่า “ฮวงโล้ว” หมายถึง เตาลม ส่วนคนจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “ฮังหลอ” หมายถึง เตาปิ้ง เตาย่าง อย่างไรก็ตาม ในภาษามลายูและอินโดนีเซียเรียกเตาชนิดนี้ว่า “อังโล” (Anglo) ซึ่งยืมมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยนคือ “ฮังหลอ” จึงอาจสรุปได้ว่า เตาอั้งโล่น่าจะเพี้ยนมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน

เตาอั้งโล่ ทำจากดินเผา ลักษณะทรงกระบอก ส่วนก้นสอบเข้าเล็กน้อย ด้านหน้าเตาเจาะเป็นช่องสำหรับใส่ฟืนหรือถ่าน บริเวณปากเตาทำเป็นเส้าคล้ายลูกป้อมที่ตั้งรายบนกำแพงเมืองโบราณ มีทั้งหมดสามเส้าไว้สำหรับรองรับภาชนะ นอกจากนี้ ภายในเตาอั้งโล่จะมี “ตะกรับ” หรือ “รังผึ้ง” ภาษาจีนเรียก “โล่เท็ง” เป็นแผ่นดินเผาลักษณะกลม เจาะรูเต็มแผ่น เอาไว้สำหรับรองรับเชื้อเพลิง ส่วนช่องว่างข้างใต้ตะกรับนั้นช่วยระบายอากาศ และช่วยถ่ายขี้เถ้าลงไว้ด้านล่างเตา

ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่าเตาไฟแบบโบราณประเภทอื่น ๆ ทำให้เตาอั้งโล่เข้ามาแทนที่และประจำอยู่คู่ทุกครัวเรือนคนไทย เริ่มจากการใช้ตามบ้านเรือนของผู้มีฐานะดี ก่อนจะนิยมมากขึ้นทั้งในเมืองและหัวเมือง ก่อนสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรากฏในกรุงเทพฯ ว่ามีการทำเตาอั้งโล่ขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่หลังตลาดเจริญผล ติดคลองแสนแสบ ปัจจุบันคือบริเวณสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ถนนพระรามที่ 1

ในบรรดาเตาไฟทั้งหลายเหล่านี้ “เตาอั้งโล่” ดูจะเป็นเตาไฟที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) ซึ่งล่าสุดกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน แนะนำให้ประชาชนใช้ “เตามหาเศรษฐี” เป็นเตาซูเปอร์อั้งโล่ ซึ่งเป็นเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง พัฒนาขึ้นมาทดแทนเตาอั้งโล่ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป

เตามหาเศรษฐี เตาไฟ เตา เตาอั้งโล่
เตามหาเศรษฐี (ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)

รายงานข่าวระบุสรรพคุณของเตามหาเศรษฐีว่า มีประสิทธิภาพเชิงความร้อนมากกว่าเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดถึง 29%, มีลักษณะเพรียวและน้ำหนักเบา, ให้ความร้อนสูง, ประหยัดถ่านกว่าเตาอั้งโล่ทั่วไปราว 30–40%, วางภาชนะได้ 9 ขนาด ตั้งแต่เบอร์ 16-32, ขณะหุงต้มไม่มีควันและก๊าซพิษเกิดขึ้นเนื่องจากเผาไหม้สมบูรณ์ และมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 2 ปี

นี่นับเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของ “เตาอั้งโล่” ซึ่งอันสะท้อนให้เห็นว่า การใช้เตาไฟด้วยเชื้อเพลิงจากฟืนและถ่านยังคงมีอยู่กันโดยทั่วไป และเตาไฟชนิดนี้เป็นเตาไฟที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคปัจจุบัน

จิตรกรรม ชาย หญิง เตาไฟ กระทะใบบัว
การหุงต้มโดยใช้เตาก้อนเส้าและกระทะใบบัวขนาดใหญ่ จิตรกรรมวิหารวัดหนองบัว จังหวัดน่าน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2543)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เตาไฟ มิตรคู่ครัว. (กรกฎาคม, 2543). ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 21 : ฉบับที่ 9.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 5. (2542). กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

เครื่องใช้ในครัวไทยสมัยเก่า. (2561), จาก https://citly.me/9qjoz

ข่าวสด. (2565). ก.พลังงาน แนะนำ ‘เตามหาเศรษฐี’ ซูเปอร์อั้งโล่ ประหยัดถ่านกว่าปกติ 40 %, จาก https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7120855


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2565