“ประตูท่าแพ” และ “ดอยสุเทพ” – นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประตูเมือง เมืองเชียงใหม่
ประตูเมืองเชียงใหม่ (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2442)

“ประตูท่าแพ” และ “ดอยสุเทพ”

ถนนท่าแพเป็นย่านธุรกิจที่จอแจที่สุดสายหนึ่งของเมืองเชียงใหม่

จอแจเสียจนกระทั่งได้ปิดเดินรถทางเดียวมาหลายปีแล้ว ที่สุดถนนท่าแพด้านทิศตะวันตกเขากำลังสร้างประตูท่าแพขึ้นมาใหม่

ประตูท่าแพ เป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันออกของเวียงเชียงใหม่

เมื่อ พ.ศ. 2503 เทศบาลนครเชียงใหม่ได้รื้อทำลายประตูเมืองอันนี้ลงเพื่อขยายถนน แล้วก็สร้างหลักประตูสองข้างขึ้นใหม่ พอให้หมายรู้ได้ว่าตรงนี้เดิมเป็นประตู แน่นอนจะสร้างให้เหมือนของเก่าย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะประตูเมืองโบราณไม่ได้มีไว้ให้รถวิ่งลอดสวนกันไปมาเหมือนปัจจุบัน เพราะฉะนั้นประตูท่าแพจึงเป็นประตูเทียม ไม่มีอะไรที่เหมือนกับของเดิมเลย

แต่คราวนี้เขาจะรื้อประตูเทียมเพื่อสร้างประตูจริงกันใหม่

ประตูจริงนี้หมายความว่าศึกษารูปภาพที่เก่าสัก 100 ปีมาแล้ว เพื่อสร้างประตูใหม่ให้เหมือนของเก่าเปี๊ยบ ถูกต้องตามหลักวิชา…ก็วิชาอะไรสักอย่างหนึ่งนั่นแหละ

นอกจากงบประมาณของจังหวัดแล้วก็ยังมีการเรี่ยไรเงินราษฎรร่วมกันออกทุนเพื่อสร้างประตูท่าแพให้เหมือนเก่าเปี๊ยบนี้กัน เพราะพอเสร็จจากประตูท่าแพแล้ว ก็จะไปสร้างประตูใหม่แบบเก่าหรือประตูเก่าแบบใหม่นี้ขึ้นให้ครบทั้งสี่ทิศ กะกันว่าคงจะหมดไปราว 8 ล้านบาท ทั้งนี้คงรวมถึงบานประตูไม้ซึ่งครั้งหนึ่งก็คงเคยมีอยู่ในสมัยโบราณ

ผู้ดำริสร้างประตูเมืองขึ้นใหม่นี้ไม่ได้คิดว่าพม่าจะกลับมาใหม่หรอก แต่มีเหตุผลโดยสรุปว่า เพื่อให้ประตูนี้เป็นที่ “เชิดหน้าชูตา” แก่เมืองเชียงใหม่ ให้สมกับเป็นเมืองเก่าแก่อายุตั้งเกือบ 700 ปี

ประตูเมืองที่เหมือนเก่าเปี๊ยบนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็คงขวางการจราจรอยู่กลางถนน เพราะมันแคบนิดเดียวเมื่อเทียบกับความจำเป็นปัจจุบัน

อีกทั้งตามโครงการยังจะสร้างกำแพงเหมือนเก่าเปี๊ยบสองข้างประตูเป็นแนวไว้ให้ประตูไม่ดูโด่เด่อยู่ลอย ๆ ก็เป็นอันว่ารถไม่ต้องผ่านอีกต่อไป และคงต้องวิ่งอ้อมประตูเหมือนเก่าเปี๊ยบนี้เป็นวงกลม เพราะฉะนั้นก็นับว่าสมเจตนารมณ์ของผู้ดำริจะสร้างประตูนี้ให้เป็นที่ “เชิดหน้าชูตา” ของเมือง เพราะมันจะทำอะไรไม่ได้อีกเลยนอกจากเป็นอนุสาวรีย์ว่านี่เป็นเมืองเก่ารุ่นที่สร้างกำแพงเมืองด้วยอิฐเป็นอย่างน้อย (ซึ่งก็คงเก่าไม่ถึง 700 ปี)

อันที่จริงประตูและกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้นได้หมดหน้าที่ของมันไปนานเต็มที ก่อนหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่จะได้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ นักเดินทางและมิชชันนารีที่ขึ้นไปถึงเชียงใหม่ในรัชกาลที่ 5 ก็รายงานตรงกันว่า สภาพของกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้นชำรุดทรุดโทรมเต็มที และผู้ปกครองก็ไม่ได้ซ่อมบำรุงกำแพงเหล่านั้นเลย การละเลยของผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่สมัยนั้นต่อกำแพง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือแนวป้องกันเมืองเลยนั้น ไม่ใช่เกิดจากความไร้สมรรถภาพ แต่เป็นเพราะแนวป้องกันเมืองแบบโบราณไม่ว่าจะเป็นกำแพง, ประตู หรือคูเมืองก็ตาม มันหมดหน้าที่หลักของมันไปแล้วด้วยความเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธี, การเมืองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่สถานะทางการเมืองของรัฐเชียงใหม่เอง

เพราะฉะนั้นการกระทำของเทศบาลนครเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2503 จึงไม่ได้เป็นความไร้สมรรถภาพเหมือนกัน แต่เป็นการกระทำที่สืบเนื่องมาในพัฒนาการในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานพอสมควร กล่าวคือละทิ้งและเพิกถอนสิ่งที่หมดหน้าที่ทางสังคมไปเสียแล้ว

แต่หน้าที่ทางสังคมของของเก่านั้นมันไม่ได้หมดไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง พระสงฆ์ก็เป็นของเก่าอย่างหนึ่งอายุตั้ง 2,500 ปีมาแล้ว แต่หน้าที่ของพระสงฆ์ก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ซ้ำของเก่าบางอย่างแม้ว่าหมดหน้าที่ทางสังคมแบบเก่าไปแล้ว แต่ก็กลับได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทางสังคมแบบใหม่ขึ้นโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างที่นึกออกในทันทีก็เช่นคูเมืองเชียงใหม่

เชียงใหม่โชคดีที่เมืองไม่ได้เติบโตเร็วเท่ากรุงเทพฯ (แต่อย่าวางใจ มันโตเร็วอย่างน่าตกใจในระยะ 10 ปีหลังนี้…โดยปราศจากการวางแผนเพื่อรับการเติบโตนั้น เหมือนหัวเมืองอีกหลายแห่งของประเทศไทยปัจจุบัน) คูเมืองเชียงใหม่ยังอยู่ในสภาพดีเยี่ยม ภูมิสัณฐานของเมืองก็ทำให้น้ำในคูถ่ายเทได้สะดวกพอสมควร แม้ว่าคูเมืองไม่สามารถป้องกันอริราชศัตรูได้อีกแล้ว แต่คูเมืองนี้หากได้พัฒนาขึ้นเพียงเล็กน้อยจะเป็นแนวทางเดินที่ร่มรื่นและน่าอภิรมย์แก่ชาวเมืองได้ ในทุกวันนี้ยังมีคนที่ตกปลาทั้งเล่นและจริงในคูเมืองให้เห็น อย่างที่เมื่อสองร้อยปีมาแล้วก็คงเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำของชาวเมือง และในบางช่วงของคูเมืองก็ยังเป็นสวิมมิงพูลแก่เด็ก ๆ ที่พ่อแม่ไม่มีกะตังส่งไปเรียนว่ายน้ำตามโรงแรมหรือโรงเรียนได้อย่างดี

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นทั้งหน้าที่เก่าและหน้าที่ใหม่ที่คูเมืองเชียงใหม่ยังมีต่อสังคม

แต่ประตูท่าแพที่เหมือนเก่าเปี๊ยบจะมีหน้าที่ทางสังคมแก่เมืองเชียงใหม่อย่างไร? นอกจากเป็นอนุสาวรีย์

แต่อนุสาวรีย์ก็มีไว้เพื่อให้อนุสรณ์ถึงอะไรอย่างอื่น ประตูท่าแพที่เหมือนเก่าเปี๊ยบจะทำให้เราอนุสรณ์ถึงอะไร อนุสรณ์ว่าเชียงใหม่เป็นเมืองเก่าเกือบ 7 ศตวรรษหรือ? อะไรในเมืองเชียงใหม่ที่ปิดบังความเก่าแก่ของเมืองบ้าง ไม่ว่าจะเป็นวัดเจดีย์หลวง ถนนแคบ ๆ ประเพณีท้องถิ่น ฯลฯ ล้วนแต่บ่งบอกอย่างชัดแจ้งถึงความรุ่งเรืองในอดีตของเมืองแห่งนี้ อย่างน้อยก็บอกอย่างชัดแจ้งแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเห็น ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการเห็นแค่ขาอ่อนของลูกสาวชาวเมือง ถึงยังไง ๆ ก็ไม่เห็นอยู่แล้ว

จากประตูท่าแพมองไปทางทิศตะวันตก ที่สุดขอบฟ้าด้านนั้นดอยสุเทพทมึนงำเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งเมือง

ดอยสุเทพเป็นหัวใจอีกซีกหนึ่งของเมืองเชียงใหม่คู่กับแม่น้ำปิง

ตำนานที่เล่าว่ามีอดีตมหาราชถึงสามองค์ร่วมกันในการสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น จริงหรือเท็จไม่ทราบได้ แต่ใครก็ตามที่เลือกสร้างเมืองเชียงใหม่ไว้ตรงที่ราบลุ่มแม่ปิงเชิงดอยสุเทพนี้ ช่างเข้าใจระบบนิเวศวิทยาที่จำเป็นแก่การสร้างเมืองนี่กระไร

ป่าไม้ที่เขียวชอุ่มเสียดแทงลิ่วขึ้นไปท้องฟ้า ดูดดึงเอาความชื้นจากปุยเมฆมาเก็บซับไว้ในพื้นดินของดอยสุเทพ แล้วค่อย ๆ รินไหลลงเป็นสายน้ำชะโกรกก่อให้เกิดกระแสธารหลายต่อหลายสาย อาบเอิบไปทั่วที่ราบลุ่มเบื้องล่าง เฉพาะสายสำคัญ ๆ ของธารที่ไหลมาเลี้ยงเมืองก็มีถึง 7 สาย อย่างที่ชื่อเวียงเจ็ดรินริมดอยบ่งบอกไว้

ห้วยนานาที่ไหลลงเอิบอาบที่ราบลุ่มและตัวเมือง เลี้ยงน้ำในคูเมืองให้ใสสะอาดอยู่ชั่วนาตาปี เลี้ยงหนองน้ำขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียง และเลี้ยงสายธารขนาดเล็กที่ถูกขุดนำน้ำเข้าไปถึงหน้าบ้านของชาวเมืองทุกคน เพียงเมื่อประมาณไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง นักเดินทางตะวันตกคนหนึ่งยังบันทึกเล่าถึงระบบประปาธรรมชาติที่บริการชาวเมืองทั่วทุกบ้าน ภาพของหญิงแม่เรือนที่นำผ้ามาซักริมธารขุดหน้าบ้านของตนทุกเช้า เป็นสิ่งที่บันทึกนักเดินทางกล่าวถึงเสมอ และด้วยมาตรฐานของตะวันตกแล้วผู้บันทึกหลายคนยืนยันตรงกันว่า บ้านเรือนและผู้คนในเชียงใหม่สะอาดกว่าบ้านเรือนและผู้คนของ “ชาวสยาม” (คนภาคกลาง) มากนัก ความสุขสบายและความอุดมสมบูรณ์ของเวียงเชียงใหม่นั้นธำรงอยู่ได้ด้วยความเขียวชอุ่มของดอยสุเทพ

เหนือยอดดอยลูกหนึ่งในทิวเขานี้เป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุอันเป็นที่สักการะอย่างสูงของชาวเมือง นอกจากหน้าที่เป็นเจดีย์หรือเครื่องระลึกถึงพระรัตนตรัยแล้ว วัดพระธาตุดอยสุเทพอาจรับหน้าที่เก่าบางอย่างของชุมชนในแถบนี้สืบมาจากสมัยก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีกก็ได้ นั่นก็คือช่วยธำรงความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขา การนับถือภูเขาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่สิงสถิตของทวยเทพที่คุ้มครองชุมชน เป็นลัทธิความเชื่อที่พบได้ในหลายแห่งของภูมิภาคนี้ เช่น ภูเขาโปปะที่พุกาม และภูเขาลิงคบรรพตของเขมร ตำนานของเชียงใหม่เองก็กล่าวถึงดอย “อุจฉุบรรพต” หรือดอยสุเทพว่าเป็นที่สถิตของฤษีวาสุเทพที่ศักดิ์สิทธิ์มาก่อน วัดพระธาตุดอยสุเทพจึงผนวกเอาทั้งความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะพุทธเจดีย์และศิราภรณ์ของอุจฉุบรรพต ซึ่งครอบงำและปกป้องชุมชนเบื้องล่างมาเนิ่นนาน

วัดพระธาตุดอยสุเทพในฐานะเช่นนี้จึงไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นที่จาริกแสวงบุญอันมีประเพณีการขึ้นดอยเพื่อทำบุญกันทุกปีช่วยจรรโลงฐานะนี้เอาไว้

การเดินขึ้นดอยในตอนกลางคืนเพื่อไปอดตาหลับขับตานอนรับแสงอรุณที่วัด และทำบุญในวันรุ่งขึ้นอันเป็นวันสำคัญทางศาสนา ให้ประสบการณ์อย่างดีของการ “จารึกแสวงบุญ” คือผ่านความยากลำบากด้วยการทรมานกาย (อันเป็นสัญญาณแห่งการทรมานจิตด้วย) เพื่อ “บรรลุ” ถึงกุศลกรรมในที่สูงอันศักดิ์สิทธิ์

ฐานะอันสำคัญของ “อุจฉุบรรพต” ในความเชื่อและศาสนามีต่อชาวเชียงใหม่ถึงปานนี้ ป่าไม้อันเขียวชอุ่มที่หล่อเลี้ยงห้วยธารหลายสายจึงยังคงถูกรักษาสืบมา แม้เมื่อบริษัทฝรั่งเข้ามาทำไม้ในภาคเหนือมากเพียงใด ดอยสุเทพก็ยังเป็น “ป่าสงวน” ที่ไม่เคยยกสัมปทานให้ใครไป

เมื่อถนนถูกตัดขึ้นดอย เมื่อรถยนต์นำผู้คนจากข้างล่างขึ้นไปยังวัดพระธาตุได้ภายในพริบตา วัดพระธาตุก็ไม่เป็นที่จาริกแสวงบุญอีกต่อไป แต่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตาของเมืองเชียงใหม่ ร้านค้าแบบถาวรเริ่มเกิดขึ้น ร้านอาหารแบบหรูหราที่พร้อมจะแปรเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ผุดขึ้นคียงข้างพระธาตุ สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่จะต้องเกิดในแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก, ชายทะเล หรือยอดเขาและพระธาตุ

บทบาทของวัดพระธาตุแบบเก่าได้มลายไปแล้ว หน้าที่ของวัดพระธาตุต่อดอยอุจฉุบรรพตและต่อเมืองเชียงใหม่ก็สลายตามไปด้วย แม้ว่ามีการออกพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติและได้จัดดอยสุเทพอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การบังคับใช้กฎหมายนี้ก็ไม่เป็นผลเมื่อศรัทธาของประชาชนต่อดอยสุเทพเปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนยากจนที่สูญเสียที่ดินของตนเองด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เริ่มยึดที่ป่าสงวนแห่งนี้ที่เชิงดอยตัดไม้ขนาดต่าง ๆ จากภูเขาเพื่อสร้างทับกระท่อมของตน คนมีที่ต้องการตากอากาศสร้างคฤหาสน์ไว้ชมทิวทัศน์จากกลางดอยขึ้นไปจนถึงยอด หน่วยราชการหลายกรมกองดั้นด้นใช้งบประมาณแผ่นดินขึ้นมาใช้ป่าสงวนสร้างสำนักงานแบบไทยปนสวิสส์ขึ้นตามลาดเขา

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีใครสำนึกว่าบทบาทของวัดพระธาตุได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และทำให้หน้าที่ของวัดพระธาตุซึ่งเคยมีต่อป่าไม้บนดอยและเมืองเชียงใหม่กลายเป็นช่องโหว่ที่ไม่มีใครทำไปด้วย ผลในบัดนี้ก็คือดอยสุเทพกลายเป็นดอยที่ “ตาย” เสียแล้ว ห้วยธารจำนวนมากแห้งขอดเหลือแต่ร่องรอยที่ดารดาษไปด้วยก้อนหิน ไม้ใหญ่ถูกทำลายลงหมดเหลือแต่วัชพืชและไม้เล็กที่ไม่มีค่าทั้งในทางเศรษฐกิจหรือนิเวศวิทยา เมื่อฝนตกจะชะเอาหน้าดินจำนวนเป็นหมื่นเป็นล้านตันลงมาทับถมที่ราบลุ่มข้างล่าง ในขณะที่ผิวดินของดอยสุเทพเหลือแต่หินโผล่ขึ้นระเกะระกะ สายน้ำที่หลั่งไหลลงเลี้ยงเมืองเชียงใหม่จึงแห้งผากเสียเป็นส่วนใหญ่

ในรอบปีผู้คนจากทั่วสารทิศยังคงพากันนั่งรถขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพมากเสียยิ่งกว่าเคยมีในครั้งใด อย่างเดียวกับที่การคมนาคมแผนใหม่พานักท่องเที่ยวไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงอื่น ๆ และในไม่ช้ากระเช้าสวรรค์จะพานักท่องเที่ยวเหาะลอยลิ่วจากเชิงดอยข้ามความแห้งแล้งของดอยไปสู่วัดพระธาตุโดยตรงทีเดียว

แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สายเกินไป หรืออย่างน้อยก็หวังว่าจะยังไม่สายเกินไป สิ่งทั้งหลายที่คนโบราณสร้างขึ้นไว้นั้นมีหน้าที่ของมันกว้างไกลกว่าที่เราจะมองเห็นได้ผิวเผิน ด้วยความเข้าใจในระบบทั้งหมดของบทบาทและหน้าที่ของสิ่งเหล่านั้น เราก็จะสามารถอนุรักษ์โบราณสถานให้มีความหมายต่อปัจจุบันได้ตลอดไป ไม่ใช่ด้วยการลงรักปิดทองของเก่าเสมอไป แต่อาจจะหมายถึงการสร้างบทบาทใหม่ หน้าที่ใหม่เพื่อทำให้จุดประสงค์เก่าที่ยังมีคุณประโยชน์นั้นดำรงอยู่ต่อไปแก่สังคมปัจจุบัน

ดอยสุเทพอาจถูกชุบชีวิตกลับขึ้นมาใหม่ได้ด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการของคนสมัยใหม่ วัดพระธาตุก็ยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไปได้ แต่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวลักษณะไหนถึงจะเอื้ออำนวยต่อชีวิตของดอยสุเทพที่ชุ่มน้ำ สิ่งเหล่านี้ไม่เหลือบ่ากว่าแรงความรู้ความสามารถของหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และไม่เหลือเกินจากสติปัญญาและความเข้าใจของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ซึ่งความร่วมมือของเขาเท่านั้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการชุบชีวิตของดอยสุเทพ

ตรงกลางระหว่างประตูท่าแพที่สร้างให้เหมือนเก่าเปี๊ยบและดอยสุเทพ มีคลองชลประทานขนาดใหญ่ที่ชักน้ำจากโครงการแม่แตงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ลงไปทางทิศใต้ น้ำจากลำคลองนี้เป็นแหล่งป้อนน้ำดิบสักครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำดิบทั้งหมดที่การประปาของเมืองต้องใช้ทุกหน้าแล้ง กรมชลประทานจะต้องปิดน้ำในคลองนี้เพื่อซ่อมแซม และทุกหน้าแล้งก็จะเกิดความเดือดร้อนแก่คนสักครึ่งเมืองที่ขาดน้ำประปาใช้ไประยะหนึ่ง ในแง่แหล่งน้ำบริโภคคลองชลประทานนี้จึงมีฐานะเท่าแม่ปิงซึ่งกำลังตายลงเพราะความแห้งแล้งของป่าไม้ในต้นน้ำเช่นกัน

การขาดแคลนน้ำของเมืองเชียงใหม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เลยในดวงความคิดของอดีตมหาราชสามพระองค์ที่ช่วยกันวางแผนสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่การขาดการอนุรักษ์วัดพระธาตุดอยสุเทพอย่างชนิดที่คำนึงถึงระบบบทบาทและหน้าที่ทั้งระบบนี้ต่างหาก ที่ทำให้สิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้กำลังเริ่มเกิดขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่

การรื้อฟื้นอดีต และการสร้างอนุสาวรีย์ในรูปต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์อดีตไว้ไม่ได้เกิดขึ้นที่เชียงใหม่แห่งเดียว ดูเหมือนจะเป็นประเพณีนิยมที่แพร่ไปอย่างกว้างขวางในหมู่หน่วยราชการของชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

อนุสาวรีย์ที่ขาดหน้าที่ทางสังคม จึงผุดขึ้นทั่วไปในทุกจังหวัดเพื่อ “เชิดหน้าชูตา” เมืองเหล่านั้น

แล้วสักวันหนึ่งข้างหน้า ประตูท่าแพที่เหมือนเก่าเงียบก็จะตระหง่านขึ้น หันเผชิญหน้าอย่างท้าทายกับดอยสุเทพที่เหี่ยวเฉาแห้งแล้งจนตายสนิท ในเมืองซึ่งน้ำทุกหยดที่ใช้บริโภคมีราคาการผลิตสิ้นเปลืองแก่เงินของสาธารณชนยิ่งกว่าน้ำของเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ประตูท่าแพ และ ดอยสุเทพ” เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2529


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2565