พ่อขุนรามคำแหง-พ่อขุนรามพล เป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่?

ภาพจาก Tevaprapas / Wikimedia commons (Public domain)

“พ่อขุนรามคำแหง” เป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งของ “รัฐในอุดมคติ” (คือแคว้นสุโขทัย) จนเกือบจะเป็น “พระนามในอุดมคติ” ไปด้วย เพราะพบพระนามนี้ในจารึกหลักเดียวคือจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหง

คำว่า “พ่อขุน” ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็คือ “พ่อ” ของ “ขุน” มักใช้เป็นคำนำหน้าในความหมายของพระเจ้าแผ่นดินแคว้นสุโขทัย ซึ่งจะพบร่องรอยเก่าที่สุดอยู่ในจารึกวัดศรีชุม (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2)

Advertisement

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า “พ่อขุน” ใช้เรียกกษัตริย์สมัยสุโขทัยมาแต่แรก ครั้นราว พ.ศ. 1900 ก็เปลี่ยนไปใช้คำว่า “พรญา” (พระยา) แทน

แต่ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าคำ “พ่อขุน” ใช้บรรยายเมื่อพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ กล่าวถึงกษัตริย์สุโขทัย ผู้ทรงเป็นพระญาติที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว

คำว่า “รามคำแหง” น่าจะเกี่ยวกับ “พระราม” ในเรื่องรามเกียรติ์ แต่ไม่พบชื่อนี้ในศิลาจารึกหลักอื่นๆ ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ สงสัยว่ารัชกาลที่ 4 จะทรงดัดแปลงมาจากชื่อ “พรญาคำแหงพระราม” ในจารึกวัดศรีชุม

จารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่นๆ ไม่เรียก “พ่อขุนรามคำแหง” แต่เรียก “พ่อขุนรามราช” หรือ “พรญารามราช” สอดคล้องกับเอกสารประเภทตำนาน

ปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีก เมื่อพบพระนาม “พ่อขุนรามพล” ในศิลาจารึกหลักที่ 285 พิมพ์เผยแพร่อยู่ในหนังสือ “ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7” ว่า

“พ่อขุนรามพล…เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาไลยสุโขทัย…”

“…พ่อขุนรามพลได้เมืองศรีสัชนาไลยคืนโสด เขาพี่น้อง…”

“…พ่อขุนรามพลเข้าเมืองศรีสัชนาไลยหากให้แก่พี่น้อง แก่ทวยทหารได้สามแสนคน จารึกนี้พ่อขุนรามพลให้ไส่ไว้ ผู้ต้องหนังสือนี้ชื่อช่างแป…”

เอาละซี่ “พ่อขุนรามพล” เป็นใคร?

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7

รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย มูลศิลป์ กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ และกรรมการสมาคมประวัติศาสตร์ กรุณาเขียนถึงสารสังเขปของหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ 7 มาให้ดังต่อไปนี้

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7

สำหรับผู้ที่สนใจวิชาการไทยศึกษากันอย่างจริงจังแล้ว หนังสือชุด ประชุมศิลาจารึก ที่คณะกรรมการพิจารณาจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์โบราณคดี สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่มาแล้วตั้งแต่ภาคที่ 1 ถึงภาคที่ 6 (ตอน 2) นับว่าเป็นหนังสืออ้างอิงที่ขาดเสียมิได้ เพราะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์, โบราณคดี, สัทศาสตร์, นิรุกติศาสตร์, อักขรวิทยา, มานุษยวิทยา และศิลปวัฒนธรรม

ในฐานะหนังสืออ้างอิงที่สำคัญมากชุดหนึ่ง ประชุมศิลาจารึก ภาคต่างๆ จำนวนหลายชุดจึงเก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดของสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในและต่างประเทศ เอกสารชุดนี้ได้มีการจัดพิมพ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2467 โดยหอพระสมุดวชิรญาณ และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เป็นบรรณาธิการสำหรับภาคที่ 1 และ 2 ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้จัดพิมพ์ภาคที่ 3 ถึง 6 แต่มิได้มีการจัดพิมพ์อีกเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ในปัจจุบันนี้หนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคเก่าๆ ได้กลายเป็นหนังสือที่หายากไปแล้ว

นับเป็นที่น่ายินดีสำหรับวงวิชาการไทยที่หลังจากเวลาผ่านไป 12 ปีเศษ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ ได้จัดพิมพ์ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 ขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา ใน พ.ศ. 2534 โดยมี ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เป็นบรรณาธิการ

เงินสนับสนุนการพิมพ์จากมูลนิธิ เจมส์ เอช. ดับเบิลยู ทอมป์สัน ได้มีส่วนช่วยให้ประชุมศิลาจารึกเล่มล่าสุด มีรูปลักษณ์สวยงาม และพิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดีสมศักดิ์ศรีของการเป็นหนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับมรดกทางด้นภูมิปัญญาของไทย

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 ได้ประมวลจารึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยไว้ 34 หลัก โดยแบ่งเป็นจารึกที่พบในประเทศไทย และจารึกที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน จารึกเหล่านี้ปรากฏบนวัตถุหลายประเภท เช่น ศิลาเสมา, ฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์, ลานเงินและลานทอง เป็นต้น ข้อความของจารึกเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน และบางหลักก็เพิ่งอ่านได้สดๆ ร้อนๆ เช่น จารึกพ่อขุนรามพล, จารึกป้านางเมาะ และจารึกเชตพน เป็นต้น

จารึกหลายหลักซึ่งเคยตีพิมพ์ในวารสาร และหนังสือต่างๆ กระจัดกระจายทั่วไปได้รับการรวบรวมไว้ด้วย เพราะการอ่านและคำอ่านเดิมคลาดเคลื่อนในที่สำคัญ

ส่วนจารึกที่พบในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ได้เคยลงพิมพ์ในวารสารภาษาต่างประเทศ ถูกบ้างผิดบ้างและไม่สะดวกต่อการนำมาใช้ คณะผู้จัดทำจึงนำมารวมไว้ที่เดียวกัน

ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 ยังมีคุณค่าในข้อที่ว่าได้พิมพ์ภาพสำเนาจารึกและภาพประกอบที่เก่าแก่หายากไว้ด้วย จารึกแต่ละหลักมีคำอธิบายประวัติและความสำคัญประกอบ นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายศัพท์ยากๆ ไว้มากมาย

จารึกส่วนใหญ่มักเป็นหลักฐานร่วมสมัย ดังนั้นจึงให้บรรยากาศและความประทับใจแห่งยุคจารึกขนาดยาวหลายหลักเขียนด้วยร่าย ทำให้มีลักษณะการเป็นงานวรรณกรรม บางหลักสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณและความเชื่อได้ดี เช่น จารึกคำอธิษฐานที่พรรณนาถึงโรคร้ายต่างๆ ที่คนสมัยนั้นไม่ต้องการพบพาน

สำหรับจารึกที่น่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษมีอยู่หลายหลัก จารึกพ่อขุนรามพลและจารึกวัดบูรพารามได้เสนอข้อมูลใหม่ที่คงจะนำไปสู่ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัยอีกนาน อย่างน้อยพ่อขุนรามพล พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยศรีสัชนาลัย ผู้นี้ก็เป็นปริศนาให้คิดและถกเถียง

จารึกลานทองจากตะนาวศรี 4 หลัก แสดงให้เห็นไม่เฉพาะแต่อิทธิพลทางการเมืองของกรุงศรีอยุธยาเหนือหัวเมืองมอญในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หากยังเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นร่องรอยการจัดการปกครองของไทยสมัยโบราณด้วย

ส่วนศิลาจารึกพระมหาราชครูเชียงใหม่ เดินทางไปบูรณะเจดีย์ชเวซิกองที่พุกาม ในต้นพุทธศตวรรษที่ 20 แสดงให้เห็นสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ไร้พรมแดนระหว่างล้านนากับพม่า

นอกจากนี้ยังมีจารึกไทยในกัมพูชาของสมเด็จพระราชมุนีบพิตรและเจ้ามหากุศล มีพระภิกษุที่เข้าไปบูรณะพระพุทธรูปที่ชำรุดในบริเวณนครวัดและบนพนมบาเค็ง ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา จารึกหลักหนึ่งในกลุ่มนี้ (หลักที่ 314) ยืนยันว่า ชื่อ พระนครศรีอโยธยา เปลี่ยนเป็น พระนครศรีอยุธยา อย่างแน่นอนในรัชกาลดังกล่าว

กระบวนการทั้งหมดก่อนที่จะนำไปสู่การจัดพิมพ์ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 ได้นั้น เป็นเรื่องยุ่งยากละเอียดลออ และถือได้ว่าเป็นผลสำเร็จของคณะนักวิชาการไทยที่ร่วมกันสร้างอนุสรณ์ขึ้นใหม่แก่วงการไทยศึกษา…

จารึกพ่อขุนรามพล

อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร กับ พลตรี ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี อธิบายความเป็นมาของจารึกพ่อขุนรามพลไว้ดังนี้

ศิลาจารึกพ่อขุนรามพล เป็นศิลาหินทรายหยาบสีเทา มีลักษณะเป็นแท่งศิลาสูงจากฐาน 154 เซนติเมตร หากมองแต่ไกลจะมีลักษณะลวงตาให้เห็นดังเป็นหลักศิลา 4 เหลี่ยม รูปเป็นทรงกระโจมแบบศิลาจารึกหลักที่ 1 แต่ที่จริงถ้ามองตัดจากด้านบนลงมาจะเห็นเป็นรูปหลักศิลา 5 เหลี่ยม กล่าวคือ มีขนาดความกว้าง 40 เซนติเมตร (ด้านหลังที่ไม่มีคำจารึก) ด้านข้างขวาของศิลา (A) กว้าง 10 เซนติเมตร ด้านข้างซ้ายของศิลา (D) กว้าง 11.5 เซนติเมตร ในขณะที่ด้านหน้าของศิลามีลักษณะเป็นมุมแหลมยื่นออกมาตรงกลางเสมือนเอาฐานของสี่เหลี่ยมจัตุรัสสองอันมาประจบ แต่เอียงเข้าหากันและกว้างด้าน (B และ C) ละ 25 เซนติเมตร

เมื่อดูอย่างผิวเผิน จะเห็นว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามพล อยู่ในสภาพค่อนข้างดี แต่ในการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดพบว่า แท่งศิลานั้นเคยหักแล้วนำมาต่อขึ้นใหม่ ส่วนตัวอักษรจารึกนั้นคงมีอยู่ 60 บรรทัดทุกด้าน แต่เลือนรางมาก โดยเฉพาะด้าน C นั้นอ่านไม่ได้เลย ดังนั้น จึงเหลืออยู่เพียง 3 ด้านที่มีร่องรอยให้เห็น อักษรจารึก ด้าน A เป็นอักษรสุโขทัย ภาษาไทยมีอยู่ 60 บรรทัด อ่านได้กระท่อนกระแท่นตั้งแต่บรรทัดที่ 24 ถึง 60 ด้าน B อักษรขอม สุโขทัย ภาษาบาลี ลบเลือนเกือบหมด ยกเว้นมุมขวาล่างของศิลา ซึ่งอ่านได้ไม่กี่คำ และด้าน D ซึ่งลบเลือนเกือบหมดเช่นกัน เหลือรอยนูนของอักษรจารึกค่อนไปข้างบนบ้าง แต่ไม่สามารถอ่านได้

พิจารณาจากข้อความจารึกแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามพล เดิมเคยอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครย้ายมาไว้ที่ระเบียงคด องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่เมื่อใด เดิมนายประสาร บุญประคอง ได้เคยทำแผ่นสำเนาจารึกหลักนี้ไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 และได้ขึ้นทะเบียนวัตถุไว้ เลขที่ นฐ. 12 แต่สำเนาจารึกเลือนรางมาก ในครั้งนั้นนายประเสริฐ ณ นคร ได้อ่านในชั้นต้นแล้วได้ความแต่เพียงว่า เป็นจารึกตัวอักษรสมัยสุโขทัย และเป็นเรื่อง การทำบุญ

คำจารึก-คำอ่าน ในจารึกพ่อขุนรามพล

ครั้นเมื่อ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีดำริที่จะจัดพิมพ์ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ นายประเสริฐ ณ นคร จึงได้เสนอให้คณะกรรมการฯ ทราบ และได้พยายามอ่านข้อความจากสำเนาจารึกอีกครั้งหนึ่ง และพบว่ามีคำ พ่อขุนรามพล อยู่ เป็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ จึงมอบหมายให้นายเทิม มีเต็ม ไปอ่านตัวอักษรจารึกที่หลักศิลาจริง ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม และวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2534

นายประเสริฐ ณ นคร ได้ตรวจสอบการถ่ายอักษรจารึก และการอ่านทั้งจากหลักศิลาจริง, แผ่นสำเนากดทับ และภาพถ่ายประกอบกันข้อความจารึกที่นำมาลงพิมพ์ข้างท้ายนี้ เป็นผลมาจากการอภิปรายและความเห็นชอบตรงกัน ของผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึกทั้งสองท่าน

ตรวจสอบตามบัญชีศิลาจารึกต่างๆ ในภาคผนวกของประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 (พิมพ์ พ.ศ. 2467) เราทั้งสองมีความเห็นว่า จารึกพ่อขุนรามพล น่าจะตรงกับจารึกจากอำเภอวังไม้ขร จังหวัดสวรรคโลก (ในเวลานั้น) ซึ่งเข้าใจว่าพบที่วัดมหาธาตุ เมืองเชลียง และมีจารึกอยู่ 3 ด้าน ด้านละ 60 บรรทัดเช่นกัน จารึกจากอำเภอวังไม้ขรหลักนี้ มีหลักฐานว่านำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ แต่เมื่อสอบถามดู ภัณฑารักษ์ก็ไม่ทราบและมีหลักฐานว่าย้ายไปอยู่ ณ ที่ใดแล้ว

ดังนั้นจึงใคร่สันนิษฐานว่า จารึกหลักวังไม้ขร หรือ จารึกพ่อขุนรามพล อาจจะถูกขนย้ายลงมาพร้อมกับพระร่วงโรจนฤทธิ์ ภายหลังเมื่อย้ายพระร่วงโรจนฤทธิ์ไปประดิษฐานที่องค์พระปฐมเจดีย์ จารึกพ่อขุนรามพล ได้ถูกขนย้ายไปด้วยก็เป็นได้

ประเด็นปัญหาสำคัญก็คือ จารึกนี้ทำขึ้นสมัยใด? เราอาจประมาณได้จาก (1) คำว่า พ่อขุน ซึ่งใช้เรียกกษัตริย์ ; (2) ข้อเท็จจริงที่ว่า สุโขทัยได้เปลี่ยนมาใช้คำว่าพรญา (พระยา) เรียกกษัตริย์แทนตั้งแต่ จารึกหลักที่ 3 พ.ศ. 1900 และ (3) จารึกพ่อขุนรามพล ไม่ได้ใช้ไม้หันอากาศ ซึ่งเริ่มใช้ระหว่าง พ.ศ. 1902-1904 และยังใช้ตัวอักษรคล้ายกับ จารึกหลักที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวอักษร ธ และ ช เป็นรูปที่ใช้อยู่ก่อน พ.ศ. 1935 ดังนั้น จารึกพ่อขุนรามพล ควรมีอายุก่อนหรือใกล้กับ พ.ศ. 1900

ข้อมูลที่ค่อนข้างกระท่อนกระแท่นจาก จารึกพ่อขุนรามพล ทำให้ใคร่สันนิษฐานในชั้นต้นว่า พ่อขุนรามพล อาจเป็นองค์เดียวกันกับ พระยาพระราม อนุชาของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย) (โปรดดูศิลาจารึกหลักที่ 11) และพ่อขุนศรี อาจเป็นพระยางั่วนำถุมก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพระองค์อาจหมายถึง กษัตริย์คู่อื่นก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้คงต้องพิจารณาจากรายละเอียดที่อาจอ่านได้เพิ่มเติมในโอกาสข้างหน้า

ศิลาจารึกพ่อขุนรามพล ได้ถูกย้ายจากระเบียงคดด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย เข้ามาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน

พ่อขุนรามพล คือ-พ่อขุนรามคำแหง หรือ-กษัตริย์องค์ใหม่ของแคว้นสุโขทัย

“พ่อขุนรามพล” คือ “พ่อขุนรามคำแหง” ได้ไหม?

“ผมคิดว่าพ่อขุนรามพลอาจจะเป็นพ่อขุนรามคำแหงได้…” อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ชี้แจ้ง “ผมยังไม่ตัดประเด็นว่าจะเป็นพ่อขุนรามคำแหงออกไป ถึงแม้ว่าตัวหนังสือที่อ่านได้อาจจะมีอายุหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงแล้ว เพราะรุ่นลูกรุ่นหลานอาจทำจารึกนี้ขึ้นมาเพื่อบอกเรื่องราวของพ่อขุนรามคำแหงก็ได้ หรืออาจเป็นไปได้อีกว่าข้อความด้านที่จารึกเป็นภาษาขอมซึ่งอ่านไม่ได้เพราะลบเลือนมากนั้น อาจเป็นข้อความที่จารขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็ได้ แล้วหลังจากนั้นมีการต่อเติมข้อความด้านที่อ่านออกมานี้”

“พ่อขุนรามพล” เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของแคว้นสุโขทัยได้ไหม?

อาจารย์ ดร.ประเสริฐ ยังอธิบายอีกว่า

“เป็นธรรมเนียมของสุโขทัยที่มักจะนำชื่อปู่ไปตั้งชื่อหลาน เช่น สมัยพระยาลิไทยก็มีน้องชื่อ พระยารามซึ่งเป็นหลานปู่ของพ่อขุนรามคำแหง หลังจากนั้นถึงสมัยพระนครินทราชาปรากฏว่ามีพระยารามอีกองค์หนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจสันนิษฐานฯ ว่า พ่อขุนรามพลอาจเป็นใครองค์ใดองค์หนึ่งในสามองค์นี้”

“แต่ถ้าไม่ใช่ทั้งสามพระองค์ดังกล่าว พ่อขุนรามพลก็คงเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของสุโขทัย ซึ่งต้องร่วมกันศึกษาต้องสัมมนากันใหม่”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2565