ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2531 |
---|---|
ผู้เขียน | ล้อม เพ็งแก้ว |
เผยแพร่ |
ส่าเหล้า ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง มิใช้กากของเชื้อเหล้า ส่วนสาวหยุด ก็คือชื่อพรรณไม้เช่นเดียวกัน ที่จงใจใช้ชื่อ สาวหยุด ไม่ใช้ สายหยุด ก็เพื่อประท้วงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525
ทำไมจึงต้องประท้วง
ก็เพราะราชบัณฑิตท่านกำหนดให้ ส่าเหล้า กับ สายหยุด เป็นไม้ชนิดเดียวกัน
ท่านอธิบาย ส่าเหล้า ที่เป็นต้นไม้ว่าอย่างนี้
“น. ชื่อพรรณไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง (Desmos chinensis) ในวงศ์ Annonaceae, สายหยุดก็เรียก.”
ส่วน สายหยุด ท่านอธิบายว่า
“น. ชื่อไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง (Desmos chinensis) ในวงศ์ Annonaceae, คล้ายกระดังงา ดอกหอม พอสายก็หมดกลิ่น, ส่าเหล้าก็เรียก.”
นอกจะกำหนดให้ส่าเหล้า กับสายหยุด เป็นต้นได้เดียวกันแล้ว ท่านไม่ยอมเอ่ยถึงชื่อ สาวหยุด เลย
แสดงว่าราชบัณฑิตท่านไม่ชอบสาวหยุด
คำว่า สาวหยุด จึงไปอยู่ในพจนานุกรมที่เป็นฉบับเอกชน เช่น ฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ฉบับแพร่พิทยา และฉบับของหมอบรัดเลย์ เป็นต้น
คำว่า สาวหยุด นั้น ชาวบ้านหลายท้องที่ยังใช้กันอยู่ นอกจากนั้น ในวรรณคดีก็กล่าวถึงไว้ เช่นในกาพย์ห่อโคลง พระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้งว่า
เห็นไม้ชื่อนางแย้ม คิดนางแย้มโอฐพริ้มพราย
สาวหยุดยุดมือชาย พี่ย่อมยุดสุดเสน่ห์ชม
หรือในกาพย์เห่เรือ ว่า
สาวหยุดพุทธชาด บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป
นึกน้องกรองมาลัย วางให้พี่ข้างที่นอน
ซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่นั้นเองว่า เหตุใดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จึงไม่ยอมเก็บคำนี้เอาไว้
ที่จริง พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. 2525 ก็ได้พัฒนามาจากฉบับ พ.ศ. 2493 เมื่อลองเปิดดูก็พบดังนี้
ส่าเหล้า น. ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง คล้ายต้นสายหยุด
สายหยุด น. ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง คล้ายกระดังงา แต่เป็นไม้เลื้อย ดอกหอม พอสายก็หมดกลิ่น
แสดงว่า ราชบัณฑิตยุค พ.ศ. 2493 ท่านเห็นว่า ส่าเหล้า ไม่ใช่ สายหยุด การสรุปว่า ส่าเหล้า กับสายหยุด เป็นต้นเดียวกัน เป็นเรื่องของท่านราชบัณฑิตยุค พ.ศ. 2525
ผมเอง เคยเป็นเด็กท้องไร่ท้องนา และได้เรียนรู้หรือรู้จักต้นไม้ในท้องถิ่นเกือบทุกชนิดที่พบเห็น ได้คุ้นเคยทั้งส่าเหล้าและสาวหยุด อย่างแทบจะปิดตาจับเอาได้ ทั้งนี้เพราะสองข้างทางที่ผมเดินไปโรงเรียนประชาบาล อุดมด้วยไม้ทั้งสองชนิดนี้ซึ่งไม่เหมือนกัน
นอกจากนั้น ผมยังจำชื่อยากลางบ้านขนานหนึ่ง ซึ่งเด็กๆ ท่องจำกันได้ทุกคน (หมายถึงเด็กรุ่นผม) ยาขนานดังกล่าวว่าดังนี้
“ส่าเหล้า สาวหยุค ทั้งปุดนา เหล็กทั้งห้า ทำยาดอแข็ง” ซึ่งก็เป็นหลักฐานว่า ส่าเหล้า กับ สาวหยุด ไม่ใช่ไม้ต้นเดียวกัน ตรงตามที่พจนานุกรมฉบับ 2493 ระบุไว้
ตอนผมไปเยี่ยมบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2530 จึงได้ให้อาจารย์บัวไทย แจ่มจันทร์ ถ่ายภาพต้นส่าเหล้า ซึ่งกำลังออกดอกสะพรั่ง อยู่ข้างทางที่ผมเคยเดินไปโรงเรียนเมื่อ 40 ปีก่อน ก็ได้ภาพทั้งที่นำเสนอนี่แหละ
ส่าเหล้าเป็นไม้พุ่ม เท่าที่เคยเห็น ต้นสูงไม่เกิน 2 เมตร ส่วนสาวหยุดเป็นไม้เถา คิดว่ารู้จักกันอยู่แล้ว จึงไม่ได้เสนอภาพ
สีลำต้น ใบ ของส่าเหล้า มีลักษณะคล้ายสายหยุด ใบส่าเหล้านั้น หลังใบ (ที่อีสานเรียกทางเทิง) เป็นสีเขียว ส่วนใต้ใบ (อีสานว่าทางลุ่ม) เป็นสีนวล
ที่ต้องวงเล็บคำอีสานกัน เพราะสังเกตเห็นว่า ทุกวันนี้คำหน้าและหลังในภาษากลางใช้กันสับสนเต็มที จนผมสื่อความไม่ได้เสียแล้ว (เช่น วันหน้า วันหลัง เป็นต้น)
ส่วนดอกนั้น ส่าเหล้ามีเพียง 3 กลีบ ที่สมบูรณ์เต็มที่กลีบอาจกว้างถึงนิ้วครึ่ง ยาวถึง 6 นิ้ว ซึ่งไม่เหมือนดอกสาวหยุดเลย
หลายท่านบอกว่า ชื่อไทยนั้นสับสน ท้องถิ่นต่างกันเรียกไม่เหมือนกัน จึงไม่ควร ใช้ชื่อในภาษาไทยมาตัดสิน ควรใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ เป็นถูกต้องที่สุด
ผมก็ลองค้นชื่อวิทยาศาสตร์ดู แต่เมื่อไม่เห็นต้นก็จำเป็นต้องใช้ชื่อเพียงอย่างเดียวมาพิจารณา
ผมเคยได้รับสั่งสอนมาว่า (บอกชื่อผู้สอนเสียเลย คืออาจารย์สมศักดิ์ แสนสุข) เรื่องต้นไม้ในเมืองไทยนั้น ถ้าจะอ้างอิงให้ใช้หนังสือของอาจารย์เต็ม สมิตินันทน์ เป็นถูกต้องที่สุด ฉะนั้น หนังสือที่ผมค้นชื่อวิทยาศาสตร์ต่อไปนี้ ก็เป็นหนังสือซึ่งอาจารย์เต็ม เรียบเรียง ซึ่งอาจารย์เต็มได้บอกทั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อไทยพื้นเมือง โดยบอกด้วยว่าเรียกกันเช่นนั้นๆ ที่เมืองไหน
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Desmos chinensis (ตามที่บอกไว้ในพจนานุกรม) เรียกชื่อภาษาไทยว่า กล้วยเครือ (สระบุรี), เครือเขาแกลบ (เลย), สายหยุด, สาวหยุด (ภาคกลาง) เสลาเพชร (สุราษฎร์ธานี)
จะเห็นว่า ไม่มีชื่อส่าเหล้าเลย จึงค้านกับราชบัณฑิตอย่างจังเลยทีเดียว
ผมได้ลองค้นหาชื่อ ส่าเหล้า จากหนังสือของอาจารย์เต็ม สมิตินันทน์ พบว่ามีไม้เลื้อยอยู่ต้นหนึ่ง เรียกกันที่ประจวบคีรีขันธ์ว่า ส่าเหล้าช้าง ส่วนที่นครราชสีมาเรียก นางดำ ที่ปัตตานีเรียก โยม ไม้ต้นนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Desmos cochinchinensis อยู่ในวงศ์ Annonaceae เช่นเดียวกับ สาวหยุด
นอกจากนี้ยังพบไม้พุ่มอีกต้นหนึ่ง อาจารย์เต็มบอกว่าที่ระนองเรียก ส่าเหล้าต้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Goniothalamus undulatus อยู่ในวงศ์ Annonaceae เช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุที่ในหนังสือของอาจารย์เต็ม ไม่มีรูป ผมจึงไม่ทราบว่า ส่าเหล้าต้นเป็นอย่างไร ในคำอธิบายว่าเป็นไม้พุ่ม ก็ตรงกับส่าเหล้าที่ผมเคยรู้จักมา
จะเห็นได้ว่าในหนังสือ ชื่อพรรณไม้ในประเทศไทย ของอาจารย์เต็ม สมิตินันทน์ นั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อภาษาไทยพื้นเมือง หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม ส่าเหล้า (ต้น, ช้าง) ไม่ใช่ต้นเดียวกับสาวหยุด (สายหยุด) เป็นแน่นอน
ว่าแต่ใครทราบบ้างละครับว่า ส่าเหล้าต้นที่ระนอง เป็นต้นเดียวกับส่าเหล้าที่ผมนำเสนอรูปนี่หรือเปล่า?
เมื่อผมได้เสนอรูปเหล่านี้ ต่อเพื่อนฝูงที่สอนทางพฤกษศาสตร์ที่พอจะถามได้ เขาบอกว่า ดูจากฐานดอก กลีบ และผลที่เป็นช่อเช่นนี้ บอกได้แน่นอนว่า เป็นต้นไม้ในวงศ์ Annonaceae อย่างแน่นอน และมีเค้าอยู่มากว่าจะมีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกับส่าเหล้าต้นของเมืองระนอง ผมจึงยังไม่ขอสรุป
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ส่าเหล้า ไม่ใช่ สาวหยุด” เขียนโดย ล้อม เพ็งแก้ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2531
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2565