ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว |
เผยแพร่ |
แดดเที่ยงสาดแสงจ้าอยู่ท่ามกลางตึกสูง บ้านเก่างามประณีต ย่านการค้าพลุกพล่าน หากเพียงเลี้ยวมุมถนนนอร์แทม ถัดจากตึกสูงเพียงชั่วถนนกั้น คือภาพของดงไม้ร่มครึ้มซ่อนอยู่หลังกำแพงซีเมนต์เก่าคร่ำ เป็นมุมแห่งความสงบ เงียบเชียบ และวังเวงยิ่งนักเมื่อเดินผ่านไปใต้เงาไม้สลัว มองเห็นเปลวแดดมลังเมลือง ฉายผ่านใบไม้ซับซ้อนฉลุลายแต้มสีทองวับ ๆ อยู่บน “หลุมศพฝรั่ง” กลางสุสานโปรเตสแตนต์ อันเก่าแก่ของเกาะปีนัง
มุมหนึ่งในสุสานแห่งนี้ คือหลุมศพของกัปตันฟรานซิส ไลท์ (ค.ศ. 1745 – 21 ตุลาคม ค.ศ. 1794) กัปตันไลท์เป็นพ่อค้าชาวอังกฤษ สังกัดบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เขามีผลประโยชน์ทางการค้าอย่างกว้างขวางในฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู เคยเข้ามาอยู่ในเกาะถลาง (ภูเก็ต) หลายปีเพื่อค้าดีบุก กัปตันไลท์มีความสนิทสนมชอบพอกับพระพิมลเจ้าเมืองถลางและคุณหญิงจันภรรยาเป็นอย่างดี ถึงขนาดได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เสมอ เขาเคยจัดหาอาวุธปืนขายให้กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อต่อสู้กับพม่าในระยะของการฟื้นฟูอำนาจของสยาม เขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระมหากษัตริย์ไทยให้เป็น “พระยาราชกปิตัน” หรือที่ชาวไทยร่วมสมัยรู้จักกันในนามของ “กปิตันเหล็ก” หรือ “กัปตันเหล็ก”
แต่เนื้อแท้แล้วกัปตันไลท์เป็นพ่อค้า มีงานศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของกัปตันไลท์ไว้ว่า ในระยะที่มีทั้งข่าวลือ และสถานการณ์อันเป็นจริงว่า ช่วงที่ดัตช์และฝรั่งเศสจะเข้ามาสถาปนาอำนาจในดินแดนอินโดจีน กัปตันไลท์มองเห็นความหายนะของผลประโยชน์ตน เขาจึงพยายามเรียกร้อง ผลักไส วิ่งเต้นให้บริษัทอินเดียตะวันออกยึดดินแดนหนึ่งในแถบนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของตนเอง ดังที่เขาได้พยายามให้บริษัทอังกฤษยึดปากน้ำไทรบุรี ถลาง มะริด กลับมาถลางใหม่ และไปสำเร็จที่ปีนังในที่สุด
ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อังกฤษมีนโยบายที่จะแผ่อิทธิพลออกมาทางคาบสมุทรอินโดจีน โดยเฉพาะมีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะหาที่ตั้งท่าจอดเรือรบและเรือสินค้าทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล แต่ก็ยังมิได้เจาะจงลงไปว่าจะเป็นที่ใด เพราะอังกฤษยังไม่รู้จักภูมิประเทศบ้านเมืองแถบนี้ดี ในครั้งนั้นฟรานซิส ไลท์ เคยคิดยึดเกาะถลางมาเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จดหมายที่ติดต่อกับทางอังกฤษหลายฉบับในระยะต่อมา บอกให้รู้ว่า กัปตันไลท์เคยสนับสนุนให้อังกฤษรวบเอาทั้งเกาะถลางและเกาะปีนัง หากในที่สุดข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่อินเดีย ก็ตัดสินใจเลิกยึดเกาะถลาง หันไปเอาเกาะปีนังเพียงแห่งเดียว โดยให้เหตุ ผลว่า
1. เมืองถลางป้องกันรักษายากกว่า จำเป็นจะต้องมีกำลังทหารไว้รักษามาก
2. ในครั้งนั้น รัฐบาลอังกฤษต้องการจะได้ท่าเรือรบ และท่าเรือสินค้า เพื่อค้าขายแข่งกับฮอลันดา ซึ่งได้เมืองมะละกาไว้เป็นที่มั่น ในแง่นี้ อ่าวจอดเรือของปีนังดีกว่าถลาง
ในที่สุดฟรานซิส ไลท์ ได้ประสบผลสำเร็จในการเจรจาขอเช่าเกาะปีนังจากเจ้าเมืองไทรบุรี ด้วยวิธีให้ข้อเสนอที่พระยาไทรบุรีไม่อาจปฏิเสธได้ ดังที่กล่าวไว้ในประวัติตอนหนึ่งของเขาว่า “พระยาไทรบุรีต้องการทราบว่าถ้าตนจะไม่ตกลงในจดหมายหลายฉบับของบริษัทแล้ว ฟรานซิส ไลท์ จะกลับไปเบงกอลอย่างสงบโดยไม่เป็นศัตรูกันหรือไม่ คำถามข้อนี้กัปตันไลท์ไม่ตอบ นิ่งเสีย คงจะเป็นเชิงขู่พระยาไทรบุรีอยู่ในตัว”
ยุคสมัยนั้น ปีนังยังเป็นเกาะร้าง แต่บริบูรณ์ด้วยน้ำจืดและสัตว์ป่า รกครื้มไปด้วยป่าดิบ ในอ่าวเต็มไปด้วยปลานานาชนิด และบนแผ่นดินใหญ่ตรงข้ามปีนัง (หรือเขตบัตเตอร์เวิร์ธในปัจจุบัน) ก็มีคนอาศัยอยู่มาก ทำนาปลูกข้าวเลี้ยงเป็ดไก่กันในพื้นที่กว้างขวาง มีชัยภูมิดีเยี่ยม สามารถใช้ปืนใหญ่บนเกาะและบนแผ่นดินใหญ่ป้องกันทางเข้า ไม่ให้ศัตรูบุกขึ้นเกาะได้ง่าย ๆ อีกทั้งปีนังยังสะดวกยิ่งสำหรับการเดินเรือค้าขายที่มุ่งหน้าไปเมืองจีน พร้อมจะเป็นศูนย์กลางตั้งถิ่นฐานของทั้งคนจีน อินเดีย มลายู นานาสัญชาติที่ผ่านเข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายในดินแดนแถบนี้
ดังนั้น การที่กัปตันไลท์พยายามดิ้นรนให้อังกฤษยึดครองเกาะปีนังเอาไว้ให้ได้ จึงนับเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ทางการค้าและการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่กว้างไกลอย่างยิ่ง
เมื่อสามารถเช่าเกาะปีนังจากพระยาไทรบุรีได้เรียบร้อย กัปตันไลท์ก็ได้ตระเตรียมที่จะตั้งอาณานิคมของอังกฤษขึ้นทันที เขาจัดเรือ 3 ลำแล่นไปยังเกาะปีนังเมื่อเย็นวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2329 (ค.ศ. 1786) คนที่ขึ้นเกาะในคราวแรกนี้มีทั้งทหารอังกฤษ กะลาสีชาวเบงกอล 100 คน วิศวกร พ่อค้าอังกฤษ และยังมีอาวุธต่าง ๆ กับปืนใหญ่อีกจำนวนมาก
ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2329 (ค.ศ. 1786) กัปตันไลท์ตั้งชื่อเกาะปีนังใหม่ว่าเกาะพริ้นซ์ ออฟ เวลส์ (Prince of Wales Island) เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายแห่งเวลส์ของประเทศอังกฤษ และนับเอาวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1786 เป็นวันตั้งอาณานิคมของอังกฤษบนเกาะนี้

กัปตันฟรานซิส ไลท์ เป็นเจ้าเมืองปีนังคนแรก ตลอดช่วงชีวิตที่ปีนัง เขาได้เป็นที่พึ่งของเจ้าเมืองมลายูหลายคนที่บ่ายหน้ามาขอความช่วยเหลือ เพื่อให้กัปตันไลท์และอังกฤษปกป้องหัวเมืองมลายูจากการคุกคามของสยามและพม่า นอกจากนี้ กัปตันไลท์ได้พัฒนาบุกเบิกปีนังให้เจริญรุดหน้าในหลาย ๆ ด้าน เมืองปีนังกลายเป็นสถานีทางการค้าอันเฟื่องฟูและมีผู้คนนานาชาติเข้ามาตั้งรกราก จนเป็นเมืองที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมของหลากหลายกลุ่มชนทั้งแขกมลายู แขกอินเดีย แขก อาเจะห์ จีนฮกเกี้ยน จีนไหหลำ ฯลฯ มาจนปัจจุบัน
แต่กัปตันไลท์มีเวลาอยู่ในปีนังเพียงแค่ 8 ปี เขาล้มป่วย อาการหนัก เขียนพินัยกรรมยกสมบัติให้มาร์ติน่า โรเซลล์ หญิงลูกครึ่งโปรตุเกส-ไทย ผู้เป็นภรรยา กับลูก ๆ ส่วนทรัพย์สินที่เหลืออีกจำนวนมาก กัปตันไลท์ได้ยกให้กับเพื่อน ๆ ผู้บุกเบิกสร้างเกาะปีนังมาด้วยกันกับเขา นอกจากนี้เขายังปลดปล่อยทาสของตนให้เป็นอิสระ อาการป่วยของเขาหนักมากขึ้นทุกที ในที่สุด กัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2337 (ค.ศ. 1794) ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของบุตร ภรรยา และผู้ที่มาตั้งรกรากในเกาะปีนังทั้งมวล
ศพของกัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้ทำพิธีทางศาสนาและฝังอยู่ที่สุสานโปรเตสแตนต์ ชายขอบของเมืองยุคนั้น หากกลายเป็นพื้นที่กลางเมืองปีนังในห้วงเวลาปัจจุบัน
แต่เดิมสุสานโปรเตสแตนต์เคยมีเพียงหลุมศพสูง ๆ ต่ำ ๆ พอถึงปี ค.ศ. 1818 ได้มีการสร้างกำแพงขึ้นเพื่อกำหนดเขตของสุสาน เมื่อเวลาล่วงผ่าน จำนวนคนตายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีหลุมฝังศพเต็มพื้นที่ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงได้มีการปิดสุสาน ไม่รับฝังศพเพิ่มขึ้นอีก บัดนี้สุสานโปรเตสแตนต์ได้กลายเป็นที่พำนักแหล่งสุดท้ายของคนรุ่นบุกเบิก นักแสวงโชคจากดินแดนไกลโพ้น ที่เรื่องราวของพวกเขายังมีชีวิตแทรกอยู่ในเงาสลัวของเวลา
กลางสุสาน สองฟากทางเดินเต็มไปด้วยหลุมศพและแผ่นหินจารึกคำอำลา บรรยากาศในสุสานเยือกเย็น แกมวังเวง ลมกระโชกแรง ดอกลั่นทมขาวร่วงพรูพราย กลิ่นหอมอ่อนกำจายกรุ่น ร่มใบลั่นทมบังแดดเที่ยงให้กลายเป็นแสงครึ้มสลัว ที่พำนักของกัปตันไลท์ มองเห็นสงบนิ่งอยู่ท่ามกลางหลุมศพของมิตรสหายจำนวนมากที่ร่วมบุกเบิกก่อตั้งเกาะปีนังมากับเขา ดังเช่นเจมส์ สก็อตต์, เดวิด บราวน์, เจมส์ ริชาร์ดสัน โลแกน ฯลฯ
สำหรับนักเดินเรือ นักผจญภัย พ่อค้าชาติตะวันตกและครอบครัว ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ สเปน โปรตุเกส ฯลฯ ผู้มุ่งหน้ามาแสวงโชค และสามารถกอบโกยความมั่งคั่งได้ดังใจปรารถนา หาก “ราคา” ที่ฝรั่งนักบุกเบิกยุคนั้นต้อง “จ่าย” ให้กับแผ่นดินตะวันออกที่แสนห่างไกล ก็ดูจะ “แพง” อยู่ไม่น้อย หลายกรณีความมั่งคั่ง หรือการสนองตอบต่อวิญญาณของนักบุกเบิกผจญภัยนั้นต้องแลกมาด้วย “ชีวิต” คนต่างแผ่นดินจำนวนมากเดินทางมาล้มตายด้วยโรคเมืองร้อน ดังเช่น มาลาเรีย อหิวาตกโรค ไข้บิด ไข้รากสาด ทั้งที่อยู่ในวัยไม่สมควร อัตรารอดชีวิตของเด็กฝรั่งเด็กลูกครึ่งในประเทศอาณานิคมก็ออกจะต่ำมาก ๆ รวมทั้งผู้หญิงฝรั่งที่คลอดลูกตาย ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ให้เราได้มองเห็นเรื่องราวของเขาและเธอ จากแผ่นหินจารึกเหนือหลุมศพ อันเต็มไปด้วยรอยอาลัยล้ำลึก
เช่นเดียวกับกัปตันฟรานซิส ไลท์ ที่โรคเมืองร้อนบนเกาะปีนังได้คร่าชีวิตเขาไปในวัยเพียง 49 ปี

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “กัปตันฟรานซิส ไลท์ ในเงาสลัวของเวลา” เขียนโดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2565