สินค้าญี่ปุ่นเคยห่วย จนนักแสดงเมกาว่า “ของเฮงซวยปกติของญี่ปุ่น”

โรงงาน อุตสาหกรรม รถยนต์ สินค้าญี่ปุ่น
บรรยากาศในโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 (TOSHIFUMI KITAMURA / AFP)

เมื่อประมาณ 20 ปีกว่าก่อน ถ้าพูดถึงสินค้าจากจีน แม้จะได้ชื่อว่า “ราคาถูก” แต่ก็ตามมาด้วยข้อควรระวังอื่นๆ เช่น ของปลอม, อันตรายต่อสุขภาพ, ไม่น่าวางใจ ฯลฯ บรรยากาศแบบนี้เคยเกิดกับ “สินค้าญี่ปุ่น” เช่นกัน แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับจีน แต่สินค้าญี่ปุ่นทั้งหลายได้ชื่อว่า ไม่มีดี, ไม่ทน, ห่วย ฯลฯ จนนักแสดงชาวอเมริกาถึงกับพูดว่า “ของเฮงซวยปกติของญี่ปุ่น”

แล้วญี่ปุ่นทำอะไร ในการพลิกโฉมสินค้าตัวเองจน “แบรนด์ญี่ปุ่น” หรือ “สินค้าญี่ปุ่น” ได้รับความเชื่อเรื่องคุณภาพ สินค้าบางรายการยังแทรงหน้าสินค้าจากค่ายยุโรปและอเมริกา “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” (สนพ.มติชน, 2551) ผลงานของ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ (Alvin Toffler) และไฮดี้ ทอฟฟ์เลอร์ (Heidi Toffler) สฤนี อาชวานันกุล-แปลเป็นภาษาไทย อธิบายเรื่องไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

ในอดีต การพัฒนาทางเศรษฐกิจและบรรเทาความยากจนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศ เช่น ปริมาณแหล่งทุน ทรัพยากรท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวโน้มที่คนจะออมเงิน ความกระตือรือร้น พลังงาน และนิสัยการทำงานของคนทำงาน ฯลฯ

ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา เรื่องนี้เป็นความจริงน้อยลงเรื่อยๆ ระหว่างที่เศรษฐกิจโลกร้อยประสานกันมากขึ้น การค้า คน การลงทุน และโดยเฉพาะความรู้ไหลเวียนข้ามพรมแดน ปัจจัยภายนอกก็ทวีความสำคัญมากกว่าเดิม

………….

กลางทศวรรษ 1950  สมัยที่อเมริกาเริ่มพัฒนาระบบความมั่งคั่งที่ตั้งอยู่บนความรู้

อีกด้านหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นซึ่งถูกบดขยี้เป็นผุยผงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังป้อแป้อยู่ กองทัพที่ปราชัยไม่เหลืออะไรเลย และการเมืองอย่างดีที่สุดก็ยังสั่นคลอนไร้เสถียรภาพ

ณ จุดเปลี่ยนนี้ อเมริกาที่เผชิญหน้าสหภาพโซเวียตที่มีคลังอาวุธนิวเคลียร์และกำลังรุ่ง ลงนามในสัญญาสามฝ่ายกับญี่ปุ่นในด้านการทหาร ญี่ปุ่นจะจับมือเป็นพันธมิตรกับอเมริกาเพื่อต่อต้านอันตรายจากสหภาพโซเวียต ในทางกลับกัน อเมริกาจะให้การสนับสนุนพรรค Liberal Democratic ของญี่ปุ่นที่เป็นแนวอนุรักษนิยม และในด้านเศรษฐกิจ อเมริกาจะเปิดประตูกว้างรับสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่น

ปัญหาของเงื่อนไขสุดท้ายก็คือ ญี่ปุ่นแทบไม่มีอะไรจะขายคนอเมริกันที่อยากได้เลย

ทั่วโลกผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นเป็นของตลกขบขัน ในละครอังกฤษเรื่องหนึ่งปลายทศวรรษ 1970 นักแสดง โรเบิร์ต มอร์เลย์ (Robert Morley) ยังเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้ด้วยการพูดถึง “ของเฮงซวยปกติของญี่ปุ่น” แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ของญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ “ของเฮงซวย” อีกต่อไปแล้ว

ญี่ปุ่นแก้ปัญหาของเฮงซวยด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมอเมริกัน 2 อย่าง

อย่างแรกคือวิธีการควบคุมคุณภาพโดยใช้สถิติ ที่โจเซฟ เอ็ม. จูราน (Joseph M. Juran) และ ดับเบิลยู. เอ็ดวาร์ดส์ เดมิ่ง (W. Edwards Deming) เผยแพ่รไปทั่วญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 การผลิตบนสายพานแบบสมบูรณ์แบบกลายเป็นความหมกมุ่นของทั้งประเทศ (เพื่อตอบแทนบุญคุณที่พวกเขาทำให้ประเทศ จักรพรรดิญี่ปุ่นพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ Order of the Sacred Treasure ให้กับทั้งสองคน)

คุณภาพไม่ได้เป็นคำที่ฮิตติดปากในวงการการผลิตอเมริกันจนอีก 1 หรือ 2 ทศวรรษถัดมา กระทั่งวันนี้รถโตโยต้า ฮอนด้า และนิสสันของญี่ปุ่นก็ได้รับการจัดอันดับเหนือรถยนต์จากดีทรอยต์และยุโรปอย่างสม่ำเสมอในรายงานคุณภาพ

นวัตกรรมอเมริกันอีกอย่างที่ญี่ปุ่นนำไปใช้คือหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซึ่งมีเรื่องราวคล้ายกัน ในปี 1956 วิศวกรชื่อ โจเซฟ เอฟ. เอ็งเกลเบอร์เกอร์ ( Joseph F. Engelberger) และผู้ประกอบการ จอร์จ ซี. เดโวล (George C. Devol) นัดกินค็อกเทลกันและก็ถกเรื่อง I, Robot นวนิยายวิทยาศาสตร์ของไอแซ็ก อาสิมอฟ (Isaac Asimov)

พวกเขาก่อตั้งบริษัทด้วยกัน ตั้งชื่อมันว่า Unimation (มาจาก “universal automation”) แล้วหลังจากนั้น 5 ปีก็ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมตัวแรกได้สำเร็จ General Motors ติดตั้งหุ่นยนต์ดังกล่าวในโรงงานของบริษัทนอกเมืองเทรนตัน (Trenton) มลรัฐนิวเจอร์ซี แต่บริษัทอเมริกันอื่นๆ ไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นต่อเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากนัก

เอ็งเกลเบอร์เกอร์บอกในภายหลังว่า “ผมมีปัญหามากกับนักอุตสาหกรรมอเมริกัน” แต่ในทางกลับกัน “คนญี่ปุ่นเข้าใจทันที นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมหุ่นยนต์ถึงเป็นอุตสาหกรรมมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้ครองตลาด”

ในปี 1965 สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งญี่ปุ่นรายงานว่า “เทคโนโลยีใหม่ๆ…กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด” ที่ชัดเจนกว่านั้นก็คือ ภายในปี 1970 เทคโนโลยีดิจิตอลซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากอเมริกา นำไปสู่ “การแปลงกระบวนการผลิตทั้งหมดให้ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์” ขณะที่หุ่นยนต์ “กำจัดความจำเป็นที่จะต้องใช้มนุษย์ทำงานอันตราย”

จอ์น เอ. คูคาวสกี (John A. Kukowski) และวิลเลี่ยม อาร์. โบลตัน (William R. Bolton) เขียนในรายงานของศูนย์ประเมินญี่ปุ่น (Japanese Evaluation Center) ว่า ภายในปลายทศวรรษ 1970 “ญี่ปุ่นเป็นผู้นำโลกในด้านหุ่นยนต์ประกอบชิ้นส่วนในอุตสาหกรรม และในปี 1992 ญี่ปุ่นควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมร้อยละ 69 ของหุ่นยนต์ทั่วโลกที่มีการติดตั้ง เทียบกับร้อยละ 15 ที่ยุโรปควบคุม และร้อยละ 12 ที่อเมริกาควบคุม”

หลังจากที่ติดอาวุธให้กับตัวเองด้วยนวัตกรรมเหล่านี้และเครื่องมืออื่นๆ ที่ตั้งอยู่บนความรู้ ญี่ปุ่นก็เริ่มทำให้ทั้งโลกตกตะลึงภายในเวลาเพียง 1 ทศวรรษเศษ ไม่เพียงแต่ด้วยสินค้าคุณภาพสูง แต่ด้วยสินค้าที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน

ไม่นาน ชื่ออย่าง โซนี ฟูจิตสึ ฮิตาชิ โตชิบา และมิตซูบิชิ ก็เริ่มผุดขึ้นบนป้ายโฆษณาทั่วโลก ในปี 1957 โตโยต้าขายรถในอเมริกาได้ 288 คัน พอถึงปี 1975 ก็แซงหน้ารถยุโรปเป็นยี่ห้อรถต่างชาติที่ขายดีที่สุดในอเมริกา ในปี 2002 ชาวอเมริกันซื้อรถญี่ปุ่น 1.7 ล้านคัน รวมทั้งหลายคันที่ออกมาจากโรงงานในอเมริกาที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ

ส่วนผสมระหว่างความรู้ด้านเทคโนโลยีของอเมริกา และความกระหายอยากได้ผลิตภัณฑ์ญี่ปุ่นของคนอเมริกัน รวมทั้งความหลักแหลมด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเอง และนวัตกรรมที่คนประเมินต่ำเกินไป เท่ากับฉีดฮอร์โมนอะดรีนาลินเข้าไปในเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ในขณะที่โรงงานญี่ปุ่นเทเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างเครื่องเล่นวิดีโอ ทีวี กล้องถ่ายรูป และสเตอริโอ ญี่ปุ่นก็รุกเข้าไปในธุรกิจชิพเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ในอเมริกา เคลื่อนตัวเองเข้าใกล้การผลิตที่ตั้งอยู่บนความรู้มากขึ้น

ภายในปี 1979 ญี่ปุ่นก็กลายเป็นคู่แข่งเบอร์หนึ่งของไอบีเอ็มในธุรกิจการผลิตคอมพิวเตอร์ และหนังสือชื่อ Japan as No. 1 ก็ดึงดูดความสนใจจากคนทั้งสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มองว่า ความสำเร็จของบริษัทญี่ปุ่นมีรากมาจากความกระหายความรู้ และการให้ความสำคัญกับการฝึกอบรม โดยจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติ และส่งทีมจำนวนนับไม่ถ้วนออกไปเยือนศูนย์ต่างๆ ที่กำลังศึกษาวิจัยความรู้ขั้นก้าวหน้าที่สุด

ความลับข้อแรกแห่งความสำเร็จของญี่ปุ่นคือ “เรียน เรียน เรียน” ความลับข้อที่สองคือการประยุกต์ใช้ความรู้ใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์ และความลับข้อที่สามคือความเร็ว

ด้วยเหตุนั้น ภายในทศวรรษ 1980 เทคโนโลยีชิพของญี่ปุ่นก็ก้าวหน้าไปมากเสียจนวอชิงตันประกาศจำกัดการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากญี่ปุ่น (เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ-ผู้แปล)

รถยนต์ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ชิพ เครื่องถ่าย เอกสาร ทั้งหมดนี้ดูไม่เกี่ยวอะไรเลยกับชีวิตของชาวชนบทในเอเชีย หรือการต่อสู้กับความยากจน

ปาฏิหาริย์การผลิตไฮเทคของญี่ปุ่นทำให้ญี่ปุ่นได้เงินเยนจำนวนมหาศาล และทำให้ค่าเงินพุ่งสูงเสียจนบริษัทญี่ปุ่นเริ่มลงทุนสร้างโรงงานในไต้หวัน เกาหลีใต้ และต่อมาก็ไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จุดประกายให้กับกระบวนการพัฒนาที่ต่อมาเรียกว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Countries หรือย่อว่า NICS)

สิ่งที่เกิดขึ้นคือญี่ปุ่นเริ่มย้ายฐานการผลิตโลว์เทคที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูก ขณะที่ตัวเองยกระดับการผลิตไปสู่ขั้นสูงขึ้นที่ใช้ความรู้เป็นหลัก

ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นก๊อกน้ำเพียงอันเดียวที่เงินลงทุนโดยตรงไหลออกไปสู่เอเชีย อย่างไรก็ตาม ภายในทศวรรษ 1980 รายงานประเทศของห้องสมุดคองเกรสก็ระบุว่า ญี่ปุ่น “แซงหน้าอเมริกาในฐานะประเทศผู้ส่งออกเงินลงทุนและเงินเหลือทางเศรษฐกิจสูงสุด” ในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก โดยรวมญี่ปุ่นเทเงินกว่า 123,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียระหว่างปี 1980-2000

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565