เกิดอะไรเมื่อทุนญี่ปุ่นเข้ามาแทนทุนเมกา หลังสงครามเย็นผ่อนคลาย

ภาประกอบบทความ (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

สงครามเย็นที่เอเชียผ่อนคลายลงหลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกจากอินโดจีน (พ.ศ. 2518) สหรัฐยังคงค้ำจุนรัฐบาลไทยด้านการทหาร แต่ความสัมพันธ์เหินห่างลง ในระดับโลกกระแสสังคมนิยมตกต่ำ ส่งผลให้เมืองไทยพัฒนาไปสู่ระบบตลาดตามแนวทางเสรีนิยมต่อไปอย่างแข็งขัน ช่วงแรกที่อเมริกาถอนตัวออกไปจากภูมิภาค เมืองไทยต้องปรับตัวอยู่บ้าง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง (เงินความช่วยเหลือและเงินค่าใช้จ่ายด้านการทหารลดลงฮวบฮาบ)

แต่ต่อมาก็ฟื้นตัวได้เมื่อ “ญี่ปุ่น” และประเทศกลุ่ม “เสือเอเชีย” (สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้) เฟื่องฟูและหันมาลงทุนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

การเปิดเสรีด้านการค้าตามด้วยการเงิน ส่งผลให้อุตสาหกรรมและความเป็นเมืองขยายตัวต่อไปในอัตราเร่งเร้า และเป็นตัวผนึกเศรษฐกิจไทยให้โยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกแนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีก การสิ้นสุดของสงครามเย็น ยังส่งผลบวกโดยประเทศเพื่อนบ้านที่เคยทำสงครามกันกลับกลายเป็น “ตลาด” สำหรับระบายสินค้าไทย และเป็นแหล่งที่มาของแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไปในอัตราที่สูงขึ้นในช่วงทศวรรษ 2510 ถึงทศวรรษ 2540 บทบาทของภาคชนบทลดลง ขณะที่ภาคเมืองพุ่งขึ้น เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์มากขึ้น ชาวนาลดความสำคัญลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งในระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระดับชาติ พลวัตและพลังต่างๆ ของสังคมกระจุกตัวอยู่ที่เมืองทั้งสิ้น

กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองใหญ่ที่สุด มีประชากรกว่า 10 ล้านคน และได้สมญาว่า “เมืองโตเดี่ยวใหญ่สุดของโลก” เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่รองลงมาในเมืองไทยคือโคราช กรุงเทพฯ มีประชากรมากกว่าถึง 40 เท่า ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง ชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนและสำแดงบทบาทสำคัญของกลุ่มตนเองชัดเจนมากขึ้น ชาวชนบทจำนวนมากถูกดึงออกจากหมู่บ้าน เข้ามาทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ ทำให้ชนชั้นคนงานเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนั้น การศึกษาที่สูงขึ้น การคมนาคมที่รวดเร็วขึ้น และการขยายตัวของสื่อมวลชนได้ก่นสร้างสังคมมวลชนใหม่ขึ้นมา เป็นสังคมประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย จึงเกิดคำถามใหม่ที่ท้าทายวาทกรรมว่าด้วย “ชาติไทย” ของทางการ

ช่วง 25 ปี นับแต่ พ.ศ. 2515-2540 มีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรที่สำคัญ อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการคุมกำเนิดที่ได้ผล เพราะว่าคนมีฐานะดีขึ้น และเพราะว่าคนหนุ่มสาวเลื่อนการมีลูกออกไปเพื่อเรียนต่อหรือเพื่อตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้เสียก่อน ดังนั้น อัตราการเพิ่มของประชากรจึงลดลงจากร้อยละ 3 ต่อปี เมื่อทศวรรษ 2490 เหลือเพียงร้อยละ 1 ต่อปี เมื่อทศวรรษ 2530 อย่างไรก็ตาม จำนวนคนในวัยทำงานเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อทศวรรษ 2510 และ 2520 เพราะเกิดตั้งแต่สมัยทศวรรษก่อนหน้าขณะอัตราการเกิดยังสูงอยู่

ช่วงเวลาดังกล่าวข้างต้น เศรษฐกิจเมืองพัฒนารุดหน้าไปกว่าก่อนมาก มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) เพิ่มขึ้น 5 เท่า และ GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า สำหรับกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศนั้น ประมาณ 1 ใน 4 อพยพมาจากภาคเกษตร จำนวนของประชากรกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า (จาก 3 ล้านเป็นกว่า 10 ล้าน)

เริ่มแรกการพุ่งขึ้นของเมืองเป็นไปอย่างช้าๆ “เหตุการณ์ 14 ตุลา 16” และ “6 ตุลา 19” ทำให้การลงทุนทั้งในและจากต่างประเทศหยุดชะงักลง หลังตุลาคม 2519 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นคาดหวังว่าเมื่อการเมืองมีเสถียรภาพขึ้น นักลงทุนจากต่างประเทศจะแห่กันมาลงทุนอีก บอกว่า “ผมมีวิสัยทรรศน์ เป็นเงินดอลลาร์ เงินมาร์คเยอรมัน ล้วนไหลเข้าเมืองไทยเป็นล้านเป็นแสน” [1]

แต่จริงๆ แล้วเงินดอลลาร์กลับไหลออก เพราะว่าสหรัฐถอนฐานทัพออกไป บริษัทอเมริกันจำนวนมากเกรงว่าเมืองไทยจะตกเป็นคอมมิวนิสต์จึงยังปิดกิจการในไทย…

แม้ว่าดอลลาร์สหรัฐจะไหลออก แต่เงินเยนกลับไหลเข้า ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนที่เมืองไทยตั้งแต่ราวๆ พ.ศ. 2505 ครั้นทศวรรษ 2520 เงินลงทุนจากญี่ปุ่นสูงกว่าจากสหรัฐเกือบ 3 เท่า ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการประกอบรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนั้นก็ยังมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นโดยเฉพาะสิ่งทอ ทั้งเพื่อขายในเมืองไทยเองและเพื่อส่งออก

ทศวรรษ 2520 จึงได้เห็นสินค้ายี่ห้อญี่ปุ่นตามร้านสรรพสินค้าทั่วไปแทนที่จะเป็นยี่ห้ออเมริกัน ดังที่มีนักกวีแต่งกลอนเสียดสีเอาไว้ว่า

เช้าตื่นขึ้นมารีบคว้าก่อน   ไวท์ไลอ้อนสีฟันมันหนักหนา

เนชั่นแนลหม้อหุงปรุงน้ำชา   แต่ผมทาน้ำมันชื่อตันโจ

นุ่งผ้าไทยโทเรเทโตร่อน   ครั้นถึงตอนออกไปคาดไซโก้

ข่าวประชาสัมพันธ์ฟังซันโย   เอารถโตโยต้า ขับไปรับแฟนๆ [2]

การล้อเลียนเสียดสีแบบนี้ก็มี แต่ไม่มีการเดินขบวนประท้วงต่อต้าน เหมือนที่นักศึกษาเคยเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2515 หรือการประท้วงนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ทานากะ) ที่มาเยือนไทยในปี 2518 ทศวรรษ 2520 รัฐบาลญี่ปุ่นปรับปรุงภาพพจน์ของตัวเองในเมืองไทย โดยลงทุนด้านวัฒนธรรม เช่น สนับสนุนให้นักศึกษา นักวิชาการ สื่อ มีโอกาสไปรู้จักสังคมญี่ปุ่น เพื่อให้คนไทยยอมรับญี่ปุ่นมากขึ้น บริษัทญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาลงทุนเลือกหุ้น ส่วนไทยที่เป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ และยินยอมให้หุ้นส่วนคนไทยบริหาร ด้านการตลาด การทำสัญญากับรัฐบาล และการประชาสัมพันธ์

การร่วมทุนทำธุรกิจกับบริษัทญี่ปุ่น ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับธุรกิจระดับนำของไทย เมื่อระบอบประชาธิปไตยหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งหลัง พ.ศ. 2520 นักธุรกิจระดับแนวหน้าของไทยก็ได้เข้าร่วมก่อตั้ง “พรรคการเมือง” บ้างก็สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง หรือพยายามกดดันให้เกิดนโยบายที่เอื้อธุรกิจ พ.ศ. 2523 บุญชู โรจนเสถียร อดีตประธานกรรมการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านนโยบายเศรษฐกิจ เสนอให้รัฐบาลและนักธุรกิจร่วมมือกันสร้าง “บรรษัทประเทศไทย” [3] ตามแบบอย่างหนังสือชื่อ Japan Inc. ว่าด้วยความสำเร็จของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

บุญชูต้องการให้รัฐบาลบริหารจัดการประเทศไทยเสมือนเป็นบริษัทธุรกิจแห่งหนึ่ง ความพยายามนี้ล้มเหลว แต่ผู้นำด้านธุรกิจก็ได้ชักจูงให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปในแนวทางที่เอื้อกับวิสาหกิจเอกชน โดยส่งแรงกดดันผ่านสมาคมอุตสาหกรรม หอการค้า และสมาคมธนาคาร

พ.ศ. 2524 รัฐบาลก่อตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (ก.ร.อ.) เพื่อให้เกิดการประสานงานกันระหว่างคณะกรรมการจากสมาคมต่างๆ เหล่านี้กับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ผู้นำธุรกิจได้ใช้ลู่ทางนี้ลดปัญหาความล่าช้าในการทำงานของภาคราชการ และลดทอนกฎเกณฑ์ที่เป็นขีดจำกัดต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่น กลุ่มนักธุรกิจเริ่มที่จะแสวงหาอิทธิพลทางการเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจทางเศรษฐกิจของพวกเขาที่เพิ่มพูนขึ้น

บุญชูมีแผนให้เมืองไทยดำเนินรอยตามแนวทางของญี่ปุ่นและเสือเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง) โดยให้ไทยผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2510 เทคโนแครต เขียนยุทธศาสตร์ดังกล่าวลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (แผน 5 ปี) อย่างไรก็ตาม ความหวังที่ต้องรออีกสักพัก ตราบเท่าที่เกษตรส่งออกและการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน (แม้จะมีไม่มาก) ยังคงสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ

กลุ่มนักธุรกิจไทยที่ได้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ยังไม่อยากให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย และถึงแม้ว่าธนาคารโลกจะเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่การส่งออก เพื่อแลกกับการที่จะอนุมัติเงินกู้ให้เมื่อกลางศตวรรษ 2520 ก็ตามที ในทางปฏิบัติยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นบ้าง แต่อัตราเพิ่มไม่สูงนัก

การเปลี่ยนนโยบายเกิดขึ้นหลังจากที่เผชิญกับวิกฤต เริ่มที่รายได้จากการส่งสินค้าออกเกษตรชะลอตัวลง พร้อมๆ กับที่เงินอุดหนุนจากสหรัฐเริ่มหดหาย ตามด้วยวิกฤตราคาน้ำมันพุ่ง พ.ศ. 2523-2527 ที่เพิ่มต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน ขั้นแรกรัฐบาลพยายามชะลอผลลบโดยตรึงราคาน้ำมันเอาไว้ ทั้งนี้รัฐเข้าอุดหนุนบางส่วน พร้อมกันพยายามเพิ่มเงินรายได้จากเงินตราต่างประเทศด้วยการเพิ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และการส่งคนงานไทยไปทำงานที่ตะวันออกกลาง แต่ก็ไม่เพียงพอ

พ.ศ. 2526-2527 เศรษฐกิจไทยถดถอย ลูกหนี้หยุดจ่ายเงินคืนธนาคาร ธนาคารแห่งหนึ่งล้ม รัฐบาลต้องเข้าค้ำจุน ธนาคารอีกแห่งหนึ่งและบริษัทเงินทุนหลายแห่งเผชิญปัญหา กระทรวงการคลังขาดเงินที่จะจ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับเจ้าหนี้ต่างประเทศตามกำหนด

เทคโนแครตและนักธุรกิจที่สนับสนุนการปฏิรูปนโยบายสู่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ฉวยโอกาสปรับยุทธศาสตร์ทันที เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2527 รัฐบาลไทยลดค่าเงินบาทถึงร้อยละ 14.7 ผู้บัญชาการทหารบกออกรายการโทรทัศน์เรียกร้องให้รัฐบาลกลับลำ แต่เทคโนแครตต้านทานได้สำเร็จ นักธุรกิจระดับนำสนับสนุนการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ รัฐบาลเริ่มจะปรับเปลี่ยน “ระบบภาษี” และดำเนินมาตรการส่งเสริมการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก

ปัจจัยภายนอกประการหนึ่งที่ทำให้การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์คือ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528 สหรัฐและญี่ปุ่นประชุมกัน เพื่อแก้ปัญหาความวุ่นวายในตลาดการค้าเงินตราต่างประเทศของโลก ภายหลังจากที่โลกเผชิญกับวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างพรวดพราด การประชุมกันครั้งนั้นนำไปสู่การตกลงที่รู้จักกันว่า Plaza Accords โดยญี่ปุ่นยอมปล่อยให้ค่าเงินเยนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลอื่นๆ ที่โยงกับเงินดอลลาร์ เช่น เงินบาท อีก 4 ปีต่อมาค่าเงินบาทในรูปของเงินเยนลดลงครึ่งหนึ่ง ทำให้มูลค่าสินค้าออกจากไทยสู่ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ไทยจึงเข้าร่วมขบวนแบบจำลองเอเชีย (Asian model) เป็นเศรษฐกิจส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอีกรายหนึ่ง

บริษัทเอกชนของไทยและที่ร่วมทุนกับต่างชาติในขณะนั้นเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ใหม่ ธนาคารและบริษัทเงินทุนยินดีที่จะให้บริษัทเหล่านี้กู้เงินเพื่อขยายการลงทุน สินค้าออกของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 25 ต่อปี นับจาก พ.ศ. 2527-2532 มีเสื้อผ้าสำเร็จรูป ของเด็กเล่น กระเป๋า ดอกไม้ประดิษฐ์ และสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นอื่นๆ เป็นตัวนำ

ต่อมาบริษัทในญี่ปุ่นต้อง “หนีจากค่าเยนสูง” (คำขวัญที่ญี่ปุ่นในขณะนั้น) เพราะว่าค่าเงินเยนสูงทำให้สินค้าผลิตที่ญี่ปุ่นแพงขึ้นในตลาดโลก ต้องย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่นไปยังที่ที่มีต้นทุนต่ำกว่า จึงแห่กันเข้ามาลงทุนในไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย อีกไม่นานบริษัทจากไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ก็เผชิญภาวะค่าเงินสูงด้วย จึงเข้ามาลงทุนอีกระลอกหนึ่ง

จาก พ.ศ. 2531 เงินลงทุนทางตรงจากประเทศเอเชียตะวันออกเหล่านี้ไหลสู่เมืองไทยอย่างมากมาย บางบริษัทเข้ามาผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ของเด็กเล่น กระเป๋า รองเท้า (โดยเฉพาะจากไต้หวัน) แต่หลายบริษัทเข้ามาลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ สินค้าไฟฟ้า และชิ้นส่วนรถยนต์

โดยการลงทุนในเมืองไทยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตสินค้าในหลายประเทศของบริษัทลงทุนเหล่านี้ ครั้นต้นทศวรรษ 2530 “มินิแบ” บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ได้ย้ายการผลิตร้อยละ 60 ของการผลิตทั่วโลกของบริษัทมาที่ไทย จนกลายเป็นเอกชนผู้จ้างแรงงานไทยรายใหญ่ที่สุด

พ.ศ. 2534 รัฐบาลผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่กำกับอุตสาหกรรมรถยนต์ลงอย่างมาก จึงจูงใจให้บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นและต่อมาสหรัฐเพิ่มเงินลงทุนที่ไทย จาก พ.ศ. 2533 เป็นต้นไป การส่งออกสินค้าใช้เทคโนโลยีเข้มข้นเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุด กระทั่งระหว่าง พ.ศ. 2536-2539 เรียกได้ว่ามีโรงงานญี่ปุ่นเปิดใหม่ 1 แห่ง ทุกๆ 3 วัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาอังกฤษว่า “I have a vision. It is of US dollars, Deutschmarks…all flying into Thailand, millions and millions of them.” The Nation 26 มกราคม 2520 อ้างใน M. K. Connors, Democracy and National Identity in Thailand (New York and London: Routledge CurZon, 2003), p. 91.

[2] บัญญัติ สุรการวิทย์, “ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น : ภาพพจน์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง,” มติชนรายวัน, 2 พฤษภาคม 2526.

[3] รัฐกร อัสดรธีรยุทธ์, บุญชู โรจนเสถียร. ซาร์เศรษฐกิจ ผู้ไม่รู้จักคำว่าชนะ. (กรุงเทพฯ : ดอกเบี้ย, 2536) น. 38-44.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 9 พฤศจิกายน 2562, เรียบเรียงโดย เสมียนนารี


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5  เมษายน 2565