ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
หลูจั้วฝู เอกชนผู้ปกป้องอุตสาหกรรมของชาติ ช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น
“การถอนทัพครั้งใหญ่ที่ดันเคิร์ก” เมืองชายทะเลของประเทศฝรั่งเศส เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 เมื่อกองทัพพันธมิตรอังกฤษและฝรั่งเศสสามแสนกว่านาย ถูกกองทัพเยอรมนีปิดล้อมอยู่ที่นั่น กำลังเผชิญหน้ากับทะเลและอาจจะจมน้ำตาย ระหว่างที่กองทัพเยอรมนีหยุดพักหลังยิงระเบิดใส่อย่างบ้าคลั่ง กองทัพเรืออังกฤษระดมเรือทั้งหมดไปช่วยกองทัพพันธมิตรที่ถูกปิดล้อมได้อย่างปลอดภัย ภายในเวลาเพียง 9 วัน 9 คืน เหตุการณ์ครั้งนี้โด่งดังในประวัติศาสตร์สงครามโลก
ก่อนประมาณปีเศษในปี 1938 เกิดเหตุการณ์ถอนทัพครั้งใหญ่ที่คล้ายคลึงกันมากเกิดขึ้นที่จีน โดย หลูจั้วฝู-ผู้บริหารจากภาคเอกชน
หลูจั้วฝู เป็นผู้จัดการใหญ่บริษัทเรือกลไฟหมินเซิง บัญชาการกองกำลังทางเรือบุกฝ่าดงระเบิดของกองทัพญี่ปุ่น เพื่อลำเลียงเสบียงที่ใช้ในยามสงครามและผู้คนไปยังมณฑลเสฉวน ในสงครามจีนญี่ปุ่น (ค.ศ. 1937-1945) จึงปกป้องชีวิตของอุตสาหกรรมของชาติจีนไว้ได้
หลูจั้วฝู (ค.ศ. 1893-1952) เกิดในครอบครัวชาวนาธรรมดาที่อำเภอเหอชวน มณฑลเสฉวน เมื่อยังเป็นเด็กเขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบใหม่ เคยเข้าร่วมสมาคมถงเหมิงฮุย หลังการปฏิวัติซินไฮ่ เขาก็ทุ่มกำลังให้กับการศึกษาและกิจการหนังสือพิมพ์มาตลอด
ตุลาคม 1925 หลูจั้วฝูร่วมลงทุนกับเพื่อนเปิดบริษัทขนส่งทางเรือชื่อบริษัทหมินเซิงที่บ้านเกิดอำเภอเหอชวน เหตุที่ตั้งชื่อว่า “หมินเซิง” ซึ่งแปลว่าประชาชีพ ซึ่งเป็นแนวคิดเร่งด่วนในลัทธิราษฏร์ของซุนยัตเซ็น ช่วงเริ่มต้นหมินเซิงดำเนินกิจการอย่างยากลำบาก หลูจั้วฝูระดมทุนจากหลายๆ ฝ่ายจึงได้เงินทุน 8,000 หยวน เขาซื้อ “เรือกลไฟหมินเซิง” สิ่งมีระวางน้ำหนัก 70 ตัน 1 ลำ เมื่อถึงปี 1937 หมินเซิงมีเรือกลไฟ 46 ลำ มีระวางน้ำหนักรวม 19,000 ตัน ถือเป็นบริษัทเรือกลไฟที่มีกำลังเข้มแข็งที่สุดในเขตแม่น้ำชวนเจียง
ขณะที่กิจการของบริษัทหมินเซิงกำลังเจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็เกิดสงครามจีนญี่ปุ่นขึ้นในปี 1937
หลูจั้วฝูอยู่ที่กรุงนานกิง เมืองหลวงในขณะนั้น กำลังเตรียมตัวไปดูงานที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา หากรัฐบาลกลับรั้งตัวไว้ให้ช่วยกำหนดแผนการถอยร่น ขณะนั้นไม่เพียงแต่มีหน่วยงานจำนวนมากที่จำเป็นต้องถอนตัว แต่โรงงานในเมืองเซี่ยงไฮ้และที่อื่นก็จำเป็นต้องย้ายเข้าไปอยู่ภายในเขตตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีมณฑลเสฉวนเป็นพื้นที่หลักด้วย โดยจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองฉงชิ่ง ในเดือนพฤศจิกายน 1937
ดังนั้น การขนส่งจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือในแม่น้ำชวนเจียงก็ยังต้องอาศัยกำลังของบริษัทหมินเซิงเกือบทั้งหมด มีผู้เป็นห่วงอนาคตของหมินเซิงกล่าวว่า “ประเทศเราได้เริ่มทำสงครามต่อต้านข้าศึกภายนอกแล้ว ชีวิตของบริษัทหมินเชิงก็จบสิ้นลงเสียแล้ว” แต่หลูจั้วฝูกลับคิดเห็นตรงกัน เขากล่าวว่า “ประเทศเราได้เริ่มทำสงครามต่อต้านข้าศึกภายนอกแล้ว กิจการของบริษัทหมินเซิงก็เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน ก่อนอื่นควรปลุกระดมบริษัทหมินเซิงให้ร่วมทำสงคราม”
เดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 เมืองอู่ฮั่นถูกข้าศึกยึด เมืองอู่ชางซึ่งถือเป็นคอหอยของแม่น้ำแยงซีเกียงและประตูสู่มณฑลเสฉวนเผชิญอันตรายซึ่งหน้า ขณะนั้นเมืองอี๋ชางเป็นแหล่งรวบรวมเครื่องจักรกล 90,000 กว่าตัน และเจ้าหน้าที่ 30,000 กว่าคนที่ขนถ่าย มาจากตอนกลางและตอนปลายของแม่น้ำแยงซีเกียง ชะตาชีวิตของอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเบาล้วนขึ้นอยู่กับเมืองแห่งนี้
แต่เครื่องบินญี่ปุ่นทิ้งระเบิดใส่อย่างต่อเนื่อง และบุกประชิดเข้ามาทุกขณะ ความหวาดกลัวและอันตรายปกคลุมไปทั่วเมืองภาพที่หลูจั้วฝูเห็นด้วยตาตนเองคือ “บนท้องถนนมีเจ้าหน้าที่เต็มไปหมด บนพื้นมีอาวุธดาษดื่นไปทั่ว ผู้คนรู้สึกหวาดหวั่นเหลือเกิน เนื่องจากทุกคนแย่งกันขนย้ายสิ่งของ สถานการณ์จึงสับสนวุ่นวายยิ่งนัก…หน่วยงานที่จัดการเรื่องการขนส่งต่อว่าบริษัทเรือกลไฟ เจ้าพนักงานที่แย่งกันขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต่อว่ากันเองอีก”
สถานการณ์ที่สับสนวุ่นวาย เร่งด่วน และอันตรายเช่นนี้ หลูจั้วฝูเรียกผู้รับผิดชอบของบริษัทเรือกลไฟทุกแห่งมาประชุมในคืนนั้น หลูจั้วฝูจัดสรรอัตรากำลังการขนส่งที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยตนเอง และกำหนดแผนการขนส่งวัตถุสิ่งของต่างๆ อย่างละเอียด ตลอดจนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง โดยให้ความร่วมมือในการถอนตัวออกจากสถานที่แห่งนี้ตามแผนอย่างมีระเบียบ
หลูจั้วฝูใช้ “วิธีเดินเรือสามช่วง” ตามสภาพแม่น้ำแยงซีเกียงที่แห้งขอด โดยแบ่งเส้นทางการเดินเรือตั้งแต่เมืองอี๋ชางที่อยู่ต้นแม่น้ำแยงซีเกียงไปจนถึงเมืองฉงชิ่งออกเป็น 3 ช่วง จัดหาเรือกลไฟที่มีแรงม้า รูปแบบเรือ และความเร็วที่เหมาะสมตามเส้นทางการเดินเรือในแต่ละช่วงที่มีระดับน้ำ ความเร็วของกระแสน้ำ และสภาพภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมือนกันเพื่อเดินเรือขนส่งเป็นช่วงๆ
โดยการจัดการขนส่งวัตถุสิ่งของที่สำคัญที่สุด และวัตถุสิ่งของที่ขนถ่ายยากที่สุดไปเมืองฉงชิ่งโดยตรง ส่วนวัตถุสิ่งของที่สำคัญรองลงมาถูกขนส่งไปอำเภอว่านเซี่ยนแล้วก็ตีเรือกลับ จากนั้นวัตถุสิ่งของในลำดับถัดมาถูกขนส่งไปอำเภอเฟิ่งเจี๋ย อำเภออูซาน และอำเภอปาตง แล้วก็ตีเรือกลับ ทำให้ลดระยะทางเดินเรือก็ลดลงครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง และมีเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาอันจำกัด หลูจั้วฝูบริหารจัดการบรรทุกวัตถุสิ่งของเป็นจำนวนมากและดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในทุกขั้นตอนเพื่อแข่งกับเวลาและสถานการณ์การสู้รบที่ดุเดือดและตึงเครียด
ด้วยความพยายามของทุกฝ่ายในบริษัทหมินเซิง 40 วันให้หลัง เจ้าหน้าที่ที่ถูกกักตัวในเมืองอี๋ชางได้รับการขนย้ายออกไปทั้งหมด ส่วนวัสดุอุปกรณ์จำนวน 2 ใน 3 ถูกขนย้ายออกไปแล้วเช่นกัน หลังจากนั้นอีก 20 วันอุปกรณ์ก็ถูกขนย้ายออกไปทั้งหมด ซึ่งปกติการขนย้ายเจ้าหน้าที่นับหมื่นนับพันคน และวัตถุสิ่งที่กองพะเนินเป็นภูเขา จำเป็นต้องใช้เวลา 1 ปี แต่ครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น
ภายหลังเยี่ยนหยางชู นักการศึกษาชื่อดัง กล่าวยกย่องไว้ว่า “นี่คือการถอนทัพครั้งใหญ่ที่ดันเคิร์กในประวัติศาสตร์ธุรกิจของประเทศจีน ในประวัติศาสตร์สงครามของจีนและต่างประเทศ การถอนทัพเช่นนี้มีเพียงที่นี่ที่เดียวเท่านั้น”
หากครั้งนั้นบริษัทหมินเซิงสูญเสียทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ไปไม่น้อย บริษัทหมินเซิงเสียเรือกลไฟไป 16 ลำ พนักงานบริษัทเสียชีวิต 116 คน และบาดเจ็บถึงขั้นพิการ 61 คน ในการกอบกู้วิกฤตการณ์ของชาติ
ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศตกอยู่ในภัยพิบัติเช่นนี้ หลูจั้วฝูที่เป็นนักธุรกิจเอกชนคนหนึ่งไม่ได้มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน แต่รับผิดชอบต่อประเทศ และเป็นห่วงชะตากรรมของชาตินั้น จึงเป็นบุคคลตัวอย่างผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ที่ชนรุ่นหลังเคารพยกย่อง
ในทศวรรษ 1950 เหมาเจ๋อตงกล่าวไว้ว่า กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมของชาติจีน มีบุคคลในวงการอุตสาหกรรมที่มิอาจลืมได้อยู่ 4 คน ได้แก่ จางจือต้ง ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมหนัก ฟานซวี่ตง ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเคมี หลูจั้วฝู ผู้บุกเบิกการคมนาคมขนส่ง และจางเจี่ยน ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมทอผ้า
อ่านเพิ่มเติม :
- วิลเฮลมินา วอทริน แม่พระแห่งนานกิง ที่ช่วยเด็ก-ผู้หญิงจากการย่ำยีของทหารญี่ปุ่น
- ตามรอย เจดีย์วัดเป้าเอินซื่อ เจดีย์กระเบื้องอันเก่าแก่แห่งนานกิง
ข้อมูลจาก :
เส้าหยาง, หวังไห่เผิง เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2565