ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เจดีย์จีนองค์หนึ่ง เป็นเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ของจีน มีความเก่าแก่หลายร้อยปี มีเกี่ยวข้องกับความมั่งคั่ง การค้าขาย ความร่ำรวย นั่นคือ เจดีย์วัดเป้าเอินซื่อ เจดีย์กระเบื้องเคลือบแห่งวัดเป้าเอินซื่อ
ย้อนกลับไปในสมัยราชวงศ์หมิง ความมั่งคั่งของราชสำนักหลั่งไหลเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่กองเรือมหาสมบัติของ “เจิ้งเหอ” ออกทำการค้าขายและประสบผลสำเร็จอย่างดีถึง 3 ครั้ง รวมถึงการค้าขายจากราชทูตและพ่อค้าต่างชาติที่ติดตามมาด้วย สิ่งที่สามารถยืนยันในความมั่งคั่งนี้ได้ดีคือ เจดีย์กระเบื้องเคลือบแห่งวัดเป้าเอินซื่อ ที่เมืองนานกิง
จักรพรรดิหย่งเล่อได้ให้เกณฑ์แรงงานกว่า 100,000 คน มาสร้างวัดเป้าเอินซื่อ และเจดีย์องค์นี้ โดยเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม สูงถึง 9 ชั้น ประดับประดาด้วยของมีค่ามากมาย เพื่ออุทิศแก่พระราชมารดา ได้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1412 (หลังจากที่เจิ้งเหอนำกองเรือมหาสมบัติกลับจากการเดินทางครั้งที่ 3 มาเทียบชายฝั่งเมืองนานกิงในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1411)
เจดีย์องค์นี้ใช้เวลาสร้างนานกว่า 20 ปี จึงแล้วเสร็จ ใช้งบประมาณราว 2.5 ล้านตำลึงเงิน ซึ่งว่ากันว่าเป็นผลกำไรจากการค้าขายโดยกองเรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอ ที่ครองทั่วน่านน้ำมหาสมุทรอินเดียในเวลานั้นนั่นเอง
Henry Wadsworth ชาวตะวันตกที่เดินทางมายังเมืองนานกิงในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้บันทึกถึงความยิ่งใหญ่ของเจดีย์จีนองค์นี้ว่า
“หอคอยกระเบื้องอันเก่าแก่และน่าตื่นตะลึงแห่งนครนานกิง ยอดแทงขึ้นไปจนสูงเสียดฟ้า มีความสูงรวม 9 ชั้น พร้อมด้วยระเบียงมุข ที่บนยอดประดับด้วยระฆังกระเบื้องที่มีเสียงก้องกังวาน อันน่าอภิรมย์อยู่ทุกทิวาราตรีกาล สีของกระเบื้องที่ห่อหุ้มหอคอยแลเปล่งปลั่งเป็นฉัพพรรณรังสีอันงดงาม เป็นประกายแห่งสีสันอันเจิดจ้า ดุงดั่งมวลบุปผาชาติที่ตระหง่านทายท้าแสงแห่งตะวัน”
น่าเสียดายที่เจดีย์กระเบื้องเคลือบแห่งวัดเป้าเอินซื่อถูกทำลายลงด้วยผลจากสงครามกลางเมือง ในสมัยกบฏไท่ผิง ค.ศ. 1856
อ่านเพิ่มเติม :
- เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน เจดีย์ไม้ที่เก่าแก่สุด สูงที่สุดในโลก อายุเกือบ 1,000 ปี
- “เจิ้งเหอ” ขันทีอิสลามชาวจีน เลื่อมใสพุทธศาสนา ถวายพระไตรปิฎกทำบุญวันเกิด?
- กองเรือ “เจิ้งเหอ” ขนาดมหึมา สามารถจอดเทียบท่าที่กรุงศรีอยุธยาได้หรือไม่?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปริวัฒน์ จันทร. (2546). เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง”. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 2564