เมื่อ “จักรวรรดิเกาหลี” ไม่ต้องการสยบยอมต่อระบบที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง

วัง Gyeongbokgung ประเทศ เกาหลี
ภาพประกอบเนื้อหา - วัง Gyeongbokgung ที่ประเทศเกาหลี

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จีนถือได้ว่าเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านศิลปวัฒนธรรม พร้อมกันนี้จีนได้ขยายอิทธิพลในด้านต่าง ๆ ออกไปอย่างไพศาล ซึ่งหนึ่งในอาณาจักรที่ได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมาก คือ อาณาจักรโชซอนของ เกาหลี (ค.ศ. 1392-1910) โดยเฉพาะในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครอง

ก่อนการกำเนิดอาณาจักรโชซอนความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนเกาหลีกับจีนนั้นมีมาก่อนอยู่แล้ว ตัวอย่างในยุคสามอาณาจักร (ปีที่ 57 ก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 676) ต่อเนื่องมายังชิลลา (ค.ศ. 676-935) โครยอ (ค.ศ. 935-1170) ต่างแสวงหาพันธมิตรจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อเพิ่มโอกาสในการชนะคู่แข่ง โดยต่อมาเมื่อมีการสถาปนาอาณาจักรโชซอนขึ้นแล้วความสัมพันธ์ระหว่าง เกาหลี กับ จีน ยิ่งมีความแนบแน่นกันเป็นอย่างมาก

แต่ในขณะเดียวกันเมื่อจีนมีความเปลี่ยนแปลงภายในอย่างเช่น การเปลี่ยนราชวงศ์ ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับอาณาจักรโชซอนเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาณาจักรโชซอนมีลักษณะที่จีนเป็น “พี่ใหญ่” ส่วนโชซอนเป็น “น้องเล็ก” ที่ต้องคอยฟังคำสั่งของพี่ใหญ่ แต่ในช่วง ค.ศ. 1897-1910 อาณาจักรโชซอนได้มีความพยายามแยกตัวออกเป็นอิสระจากจีน คือช่วงที่อาณาจักรโชซอนถูกสถาปนาเป็นจักรวรรดิเกาหลี โดยในบทความ แทฮันเจกุก (대한제국) จักรวรรดิเกาหลีที่ถูกลืม ของ นิธิ เนื่องจำนงค์ ได้อภิปรายความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับโชซอน ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ระบบโลกที่จีนเป็นศูนย์กลางเรียกว่า Zongfan ระบบนี้เริ่มในราชวงศ์โจวตะวันตก (1046-771 ปีก่อนคริสตกาล) Zong หมายความถึงจักรพรรดิจีนที่อ้างว่าเป็นโอรสสวรรค์ และมีอำนาจสิทธิ์ขาดอันเนื่องมาจาก “โองการสวรรค์” (mandate of heaven หรือ Tianming) ที่ปกครองทุกสรรพสิ่งภายใต้สวรรค์ ส่วนคำว่า fan หมายถึงเผ่าของราชวงศ์ที่อยู่ตามชายแดนของจีนและมีความชอบธรรมจากการแต่งตั้งของโอรสสวรรค์

ในส่วนความสัมพันธ์ลักษณะนี้ระหว่างเกาหลีในช่วงราชวงศ์โชซอนกับจีนมีจุดน่าสนใจ คืออีซองคเย (Yi Song-gye) อดีตแม่ทัพของอาณาจักรโครยอได้รับคำสั่งจากกษัตริย์โครยอให้เข้าร่วมกับมองโกลในการต่อต้านหมิง แต่อีซองคเยกลับยกทัพกลับแล้วยึดอำนาจก่อนตั้งราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์โชซอน โดยกระบวนการการก่อตั้งอีซองคเยได้แจ้งและขอการยอมรับจากราชวงศ์หมิง แม้กระทั้งชื่อโชซอนยังเป็นจักรพรรดิหงอู่ (Hongwu Emperor, ค.ศ. 1368-1398) เป็นผู้คัดเลือก ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างหมิง-โชซอนจึงมีลักษณะของ “การรับใช้ผู้ยิ่งใหญ่” (Serving the Great)

การสร้างอาณาจักรโชซอนได้ยึดตามแนวทางรัฐแบบขงจื๊อ (แบบจีน) และพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ให้เป็นไปตามตัวแบบขงจื๊อ และมีการประยุกต์ใช้กฎหมายของต้าหมิงในการวางโครงสร้างการบริหารแผ่นดินเนื่องจากผู้ก่อตั้งอาณาจักรโชซอนมีความเลื่อมใสในอุดมการณ์แบบขงจื๊อของต้าหมิง และมีมุมมองต่อต้าหมิงในฐานะของประเทศที่เหนือกว่าทางอารยธรรม หรือ “จุงฮวาอึยชิก” โดยหลักการที่ว่าด้วยการรับใช้ผู้ยิ่งใหญ่แสดงให้เห็นนัยของการที่โชซอนและต้าหมิงไม่ได้อยู่ในสถานภาพของรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยที่เท่าเทียมกัน และความสัมพันธ์ทั้งสองรัฐเป็นไปในลักษณะของลำดับชั้นสูงต่ำ (hierarchy) โดยต้าหมิงเป็นศูนย์กลางอำนาจ ส่วนโชซอนเป็นรัฐบริวาร

แม้ว่าต้าหมิงจะอยู่ในสถานะเสมือนกับเจ้าจักรวรรดิ แต่ประเทศบริวารยังคงสิทธิในการปกครองภายในประเทศตนอย่างเต็มที่ โดยที่สภาวะปกติต้าหมิงจะไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศบริวาร หน้าที่ของรัฐบริวารที่พึงกระทำต่อต้าหมิงคือ การส่งคณะทูตมาแสดงความเคารพและถวายเครื่องบรรณาการตามประเพณีเท่านั้น สำหรับกรณีของโชซอนนั้นต้องส่งคณะทูตไปยังหมิงปีละ 4 ครั้งในช่วงปีใหม่, ในวัดเกิดของจักรพรรดิหมิง, วันเกิดรัชทายาทหมิง และในช่วงฤดูหนาวในวันที่พระอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกมากที่สุด โดยเครื่องบรรณาการของโชซอนมักประกอบด้วยสินค้าสำคัญ อาทิ ม้า โสม หนังสัตว์ ผ้า เสื่อทอลายดอกไม้ เมื่อคณะทูตยกคณะกลับโชซอนมักจะนำสินค้าสำคัญ อาทิ ผ้าแพร ยาจีน หนังสือ เครื่องถ้วยชาม กลับด้วยเสมอ

นอกจากนี้ เมื่อคณะทูตหมิงเดินทางมายังโชซอน กษัตริย์โชซอนจะต้องออกจากพระราชวังเพื่อมาต้อนรับคณะทูตจีนที่ประตูยองกึนมุน หรือประตูแห่งการต้อนรับตามพันธะหน้าที่ (Welcoming Gate for Obligation) ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1537 ก่อนจะนำราชทูตไปที่หอโมฮวากวาน (Mohwagwan Hall) ซึ่งเป็นที่พักของราชทูต ดังนั้น สถานที่ทั้งสองจึงเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและเกาหลี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสัญลักษณ์ของการอยู่ภายใต้ระเบียบโลกที่จีนเป็นศูนย์กลางของเกาหลี ความสัมพันธ์เช่นนี้ถูกสืบทอดไปยังสมัยต้าชิง แต่ความแนบแน่นในความสัมพันธ์ลดลงอย่างมาก สาเหตุสำคัญคือโชซอนมักมองว่าต้าชิงหรือแมนจูมีความด้อยกว่าทางอารยธรรม

จากการที่โชซอนอยู่ในสถานะรัฐบริวารจีนอย่างยาวนาน ดังนั้น หนึ่งในเป้าหมายของการก่อตั้งจักรวรรดิเกาหลีของพระเจ้าโคจง หรือจักรพรรดิควางมู คือ การถอนตัวออกจากระบบโลกที่จีนเป็นศูนย์กลาง ในการดำเนินการดังกล่าวนอกจากการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “โชซอน” ซึ่งเป็นชื่อที่จักรพรรดิหงอู่แห่งต้าหมิงเป็นผู้เลือกมาเป็น “แทฮันเจกุก” พร้อมทั้งเปลี่ยนพระนามของตนเองจากพระเจ้าโคจงเป็นจักพรรดิควางมู การปรับเปลี่ยนชื่อเรียกเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีถึงความพยายามยกสถานะจากเจ้ารัฐบริวารให้มีความเท่าเทียมกับจักรพรรดิของต้าชิงและความเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ

จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างต้าหมิงและต้าชิงกับอาณาโชซอนของเกาหลีมีลักษณะไปในทิศทางที่จีนคือผู้ “ยิ่งใหญ่” ส่วนอาณาจักรโชซอนของ เกาหลี คือ “ผู้รับใช้ผู้ยิ่งใหญ่” จนนำไปสู่การตั้งจักรวรรดิเกาหลีเพื่อที่จะหลุดพ้นความสัมพันธ์ลักษณะที่มีจีนเป็นศูนย์กลางส่วนเกาหลีเป็นรัฐบริวาร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ แทฮันเจกุก (대한제국) จักรวรรดิเกาหลีที่ถูกลืม เขียนโดย นิธิ เนื่องจำนงค์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2564, เรียบเรียงโดย ธนพล หยิบจันทร์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2565