พระสมเด็จเผ่า พระสมเด็จเวอร์ชั่นนี้ เกี่ยวข้องอะไรพลตำรวจเอกเผ่า

พระสมเด็จเผ่า พระสมเด็จ
พระสมเด็จเผ่า (ภาพประกอบจาก “พระตำรวจสร้าง”)

“พระสมเด็จ” พระเครื่องสกุลหนึ่งที่มีผู้นิยมเช่าบูชาเป็นจำนวนมาก มักมีคำต่อท้ายชื่อเป็นสถานที่จัดสร้างพระ, ผู้สร้างพระ ฯลฯ เช่น พระสมเด็จวัดระฆังฯ สร้างที่วัดระฆังโฆสิตาราม, พระสมเด็จบางขุนพรหม สร้างที่วัดบางขุนพรหม ในวงการพระเครื่องจึงมีพระสมเด็จหลากหลายเวอร์ชั่น ส่วน “พระสมเด็จเผ่า” นั้นเป็นการตั้งชื่อตามผู้สร้าง ซึ่ง พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ อธิบายไว้ดังนี้

สมเด็จเผ่า พระเครื่องที่ตำรวจได้จัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นพระพิมพ์ สมเด็จแบบสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยม ได้นำแบบมาจากพระสมเด็จวัดระฆังที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างไว้และเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วประเทศ

พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ ได้เชิญบรรดาข้าราชการและพ่อค้าไปพบปะหารือการหาเงินรายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมโบสถ์วัดอินทรวิหาร และศาลาการเปรียญที่ชำรุดทรุดโทรม

การสร้างใหม่ต้องใช้เงินเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 500,000 บาท จึงเสนอว่าควรสร้างพระพิมพ์แบบของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จำนวน 84,000 องค์ เมื่อสร้างแล้วก็มอบแก่ผู้บริจาคเงินทำบุญวัดองค์ละ 10 บาท ก็จะได้เงินราว 800,000 บาท คงสร้างศาลาการเปรียญได้

การพิมพ์ “พระสมเด็จเผ่า” ใช้รูปแบบพระพิมพ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ได้สร้างไว้ ซึ่งมี 2 แบบ ได้แก่ แบบสี่เหลี่ยม และแบบสามเหลี่ยม แม่พิมพ์อันนี้เป็นของมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของ นายประยูร วงศ์ผดุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จวัดพลับ จังหวัดชลบุรี

การทำพิธีปลุกเสกพระพิมพ์ที่ได้ทำไว้ ทำพิธีปลุกเสก 2 ครั้ง ดังนี้

ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ในพิธีปลุกเสกพระเครื่อง พระครูศิวาจารย์พราหมณ์ เป็นผู้กระทำพิธีบริเวณข้างโบสถ์วัด อินทรวิหาร พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานในพิธีจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วจุดเทียนบวงสรวงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระอาจารย์ต่าง ๆ ที่มาทำพิธีเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศทั้งสิ้น

อาทิ สมเด็จพระวันรัต วัดเบญจมบพิตร, พระธรรมปิฎก วัดพระปฐมเจดีย์, ท่านเจ้าคุณภาวนาโกศลเถระ วัดปากน้ำ, ท่านเจ้าคุณศรีสมโพธิ์ วัดสุทัศน์, พระครูเมตตาวิหารี วัดกิ่งแก้ว, พระครูนนทวุฒาจารย์ (ช่วง) วัดบางแพรกใต้, พระครูวินิจสมาจารย์ วัดหนองบัว, พระครูรุ่ง วัดท่ากระบือ, พระปลัดเส่ง วัดกัลยาณมิตร, ท่านอาจารย์แฉ่ง วัดบางพัง ปากเกร็ด, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, พระภิกษุอินทร์ วัดสุทัศน์ เป็นต้น

ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ตรงกับวันพุธ แรม 3 ค่ำ เดือน 12 จัตวาศก อธิการ จุลศักราช 1314 เวลา 16 นาฬิกา 21 นาที 16 วินาที เป็นปฐมฤกษ์ เริ่มจุดเทียนชัยจนถึงเวลา 16 นาฬิกา 32 นาที 16 วินาที เป็นที่สุดแห่งฤกษ์ ปลุกเสกด้วยหัวใจพระคาถาแห่งพระสูตรต่าง ๆ พร้อมทั้งกฤติยาคมเวทมนตร์ สวดพุทธาภิเษกไปจนตลอดรุ่ง และได้มีการอัญเชิญดวงวิญญาณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เสร็จแล้วได้ทราบว่าท่านมาร่วมพิธีตั้งแต่ก่อนจุดเทียนบวงสรวง

และปรากฏว่าได้มีพระอาจารย์ตามท่านมาด้วย 4 องค์ คือ พระอาจารย์พริ้ง วัดบางปะกอก, สมเด็จพระวันรัต วัดโพธิ์, ท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม, หลวงพ่อเดิม นครสวรรค์ ที่สิ้นไปแล้ว และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้อยู่สวดมนต์รอบ ๆ พระที่สร้างแล้วนั้นอยู่ตลอดคืนยันรุ่ง

การที่ทราบว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระภิกษุดังกล่าวมาร่วมพิธี เนื่องจากนาวาเอก หลวงสุชาญ นายแพทย์ของทหารเรือ และอาจารย์ทองดี วัดท่าเกวียน ที่ได้ลาสิกขาแล้ว ได้บอกสอดคล้องกันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้มาในพิธีตั้งแต่ก่อนเวลาที่ได้เริ่มถึงฤกษ์จุดเทียนชัยเสียด้วยซ้ำไป

เมื่อเสร็จพิธีปลุกเสกในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ท่านเจ้าคุณธรรมปิฎก วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นผู้เจิมพระพิมพ์ที่สร้างและสิ่งของต่าง ๆ ตลอดจนทำพิธีดับเทียนชัย จนถึงเวลาประมาณ 14 นาฬิกา จึงได้แจกพระพิมพ์แก่ประชาชนที่มาขอบูชาถวายเงินร่วมการกุศลสร้างศาลาการเปรียญในครั้งนั้นอย่างคับคั่ง โดยได้กำหนดว่า ผู้ที่ถวายเงิน 10 บาท จะได้รับพระพิมพ์ของสมเด็จหนึ่งองค์ เมื่อวันเสร็จพิธีพระอาจารย์ต่าง ๆ ที่ได้มากระทำพิธีในครั้งนั้นได้บริจาคเงิน และขอรับพระพิมพ์ไปทันที่หลายร้อยองค์ เช่น พระอาจารย์แฉ่ง วัดบางพัง

วันที่แจกพระตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ได้เงินเกือบสามแสนบาท

พระพิมพ์สมเด็จที่ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้จัดสร้างในครั้งนั้น มีด้วยกัน 4 พิมพ์ใหญ่ ๆ ได้แก่ 1. พิมพ์ใหญ่ 2. พิมพ์ทรงเจดีย์ 3. พิมพ์อกร่องหูบายศรี 4. พิมพ์สามเหลี่ยมนางพญา

โดยได้สร้างไว้ทั้งสิ้น 84,000 องค์ โดยเฉลี่ยจำนวนในแต่ละพิมพ์ใกล้เคียงกัน เกจิอาจารย์ที่ร่วมพิธีปลุกเสก นับได้ว่าเป็นสุดยอดของประเทศมีความเข้มขลังทุกรูปแบบ ประสบการณ์ และพุทธคุณของพระพิมพ์สมเด็จเป็นที่โจษจันว่า มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาด ปลอดภัย เมตตามหานิยม

เนื่องจากเป็นพระเครื่องรุ่นแรกที่ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้สร้าง ในวงการพระเครื่องหรือประชาชนทั่วไป จึงเรียกกันจนติดปากว่า “สมเด็จเผ่า”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดย่อเนื้อหาจาก พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์. พระตำรวจสร้าง, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2565