ควายหาย เรื่องใหญ่ระดับชาติสมัยรัชกาลที่ 5

ควาย
ฝูงควาย (ภาพประกอบจากห้องสมุดภาพมติชน)

ทำไมปัญหา “ควายหาย” ถึงเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติในสมัยรัชกาลที่ 5 !?

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากจะมีการสนับสนุนให้ค้าข้าวแล้ว ยังส่งเสริมให้ชาวนาขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว โดยมีนโยบายงดเก็บเงินหางข้าวค่านาในปีแรก กรณีที่มีการหักร้างถางพงเพื่อปรับปรุงให้เป็นพื้นที่นาและให้เก็บเงินหางข้าวค่านาในปีถัดไป นอกจากนี้ชาวนายังได้รับการกระตุ้นส่งเสริมจากรัฐด้วยนโยบายต่างๆ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ, การขุดคลอง, การงดเก็บเงินค่านา, การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ฯลฯ

การสนับสนุนต่างๆ ของรัฐ ทำให้ตัวเลขการส่งออกข้าวมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น ใน พ.ศ. 2393 มีการส่งออกข้าวจำนวนร้อยละ 5 ของผลผลิตทั้งหมด ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2443 มีการส่งออกข้าวถึงร้อยละ 50 ของผลผลิตที่ผลิตได้ ทั้งๆ ที่จำนวนผลผลิตทั้งหมดมีมากกว่าแต่ก่อน คิดเป็นรายได้มากกว่า 3 ใน 4 ของมูลค่าราคาสินค้าส่งออกทั้งหมดของสยาม [1]

เจมส์ แมคคาร์ธี ผู้ทำการสำรวจที่ดินให้กับรัฐในปี พ.ศ. 2423 ได้กล่าวถึงที่ดินบริเวณตอนเหนือคลองแสนแสบว่า เต็มไปด้วยช้างป่า และใน 7 ปีต่อมา (พ.ศ. 2430) ในรายงานของเขาว่า “เจ็ดปีมานี้ข้าพเจ้าได้มาในที่เหล่านี้บ้างแล้ว มีความปลาดในตาอย่างที่สุด ที่ได้มาเห็นที่ๆ เป็นป่าพงมาเป็นทุ่งนาไปหมดนั้น เมื่อข้าพเจ้าออกมาครั้งก่อนนั้นที่เหล่านี้ไม่มีสิ่งใดเลย เป็นแต่ป่าพงดงช้างป่าทั้งนั้น” [2] นอกจากนั้นยังมีหลักฐานที่แสดงถึงการขยายพื้นที่นาในเวลาต่อๆ มา คือ พ.ศ. 2450 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9,334,000 ไร่ เพิ่มเป็น 13,890,000 ไร่ ใน พ.ศ. 2460 [3]

ขณะที่การขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็นไปอย่างกว้างขวาง แต่ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือ “กระบือ” หรือ “ควาย” กลับไม่ได้มีอัตราการเพิ่มที่รองรับกับพื้นที่นาที่ขยายตัว ทั้งๆ ที่กระบือมีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการผลิตข้าว

ชาวนาจะต้องอาศัยกระบือตั้งแต่ การไถนา การคราด หลังจากการเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวนายังอาศัยกระบือนวดข้าว เพื่อให้เม็ดข้าวหลุดจากรวงข้าว และยังอาศัยกระบือในการขนข้าวและฟางข้าวไปเก็บอีกด้วย ในบางท้องถิ่นที่มีการผลิตน้ำตาลทราย ยังมีการอาศัยแรงงานกระบือในการลากอ้อยและหีบอ้อย โดยแรงงานกระบือ 1 ตัว สามารถทำงานได้วันละ 5 ชั่วโมงครึ่ง หรือไถนาได้วันละ 1 ไร่ เท่านั้น [4]

ภาวะการขาดแคลนกระบือจึงเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อราคาซื้อขายกระบือที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปรากฏหลักฐานการต้อนฝูงกระบือของ “นายฮ้อย” ที่คุมแรงงานอีสานมารับจ้างทำนา นำกระบือมาขายหรือเช่ายังหัวเมืองในเขตภาคกลาง อาทิ กรุงเทพฯ ลพบุรี กรุงเก่า และนครชัยศรี เป็นต้น [5] เฉพาะที่ลพบุรี ปรากฎหลักฐานในปี ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) ว่า มีกระบือจำนวน 7,000-8,000 ตัว ถูกต้อนขึ้นรถไฟที่นครราชสีมาเพื่อเดินทางมายังลพบุรี [6] เข้าใจว่าบางรายต้อนไปถึงมะละแหม่งเพื่อขายทอดต่อไปยังบริเวณเพาะปลูกในพม่า

ดังนี้การก่ออาชญากรรม การปล้นกระบือ หรือแอบลักขโมยกระบือ เป็นกรณี “ควายหาย” จึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

หลักฐานในปี ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ถึง ร.ศ.122 (พ.ศ. 2446) ว่า มีจำนวนโจรปล้นกระบือบริเวณแขวงกรุงเทพเป็นจำนวนมาก หรือในรายงานของอำเภอเสนาใหญ่ เมืองกรุงเก่า กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2435 มีผู้ลักควายไป 500 เศษ ปี พ.ศ. 2436 ลักควายไป 600 เศษ ฝูงควายเหล่านี้จะถูกต้อนไปขายยังต่างถิ่นต่างแขวง [7] เพื่ออำพรางคดีและให้ไกลจากเจ้าทรัพย์

รายงานการไปตรวจราชการของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นหลวงดำรงราชานุภาพ) แจ้งว่า เฉพาะที่เมืองอ่างทองมีคดีเกี่ยวกับการลักขโมยหรือปล้นโคกระบือ เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) จำนวน 171 คดี ในจำนวนนี้ทางการสามารถดำเนินการจับตัวผู้ร้ายพร้อมของกลางได้ 33 ราย ได้แต่เฉพาะของกลาง 36 ราย และยังจับไม่ได้ถึง 102 ราย [8]

ชาวนาที่ถูกปล้นจำเป็นจะต้องออกติดตามนำกระบือกลับคืนด้วยตนเอง ในบางครั้งหากไม่สามารถติดตามนำกระบือของตนเองคืนมาได้ หลังจากที่ถูกปล้นเพียง 2-3 วัน ชาวนาคนดังกล่าวอาจต้อนกระบือกลับมาในจำนวนเท่าเดิม ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงบางคนอาจจำได้ว่า กระบือที่นำกลับมาใหม่ไม่ใช่กระบือตัวเดิม เป็นกระบือที่ปล้นหรือลักขโมยมา

“แต่ด้วยการที่เข้าใจกันดีว่า บางทีพวกเขาอาจจะต้องไปขโมยควายของผู้อื่น หลังจากที่ควายของตนถูกขโมยไปเช่นเดียวกัน พวกเขาจึงไม่รายงานต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด” [9]

การละเลยต่อพฤติกรรมการปล้นหรือลักกระบือ เป็นปรากฏการณ์ของสังคมเฉพาะท้องที่อย่างหนึ่ง ทั้งนี้จากการที่กระบือเป็นแรงงานสำคัญอย่างมากต่อการเกษตรและอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่เองก็ไม่อาจจะปราบปรามได้อย่างเต็มที่ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของท้องถิ่น

ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2439 มีรายงานว่า ที่มณฑลนครไชยศรี สินค้าน้ำตาลเป็นสินค้าสำคัญของมณฑลนี้ เจ้าหน้าที่เมืองนครปฐมต้องทำเป็นละเลยในการปราบปรามโจรผู้ร้ายลักขโมยกระบือ ทั้งนี้เพราะโรงหีบอ้อยส่วนใหญ่ อาศัยแรงงานจากกระบือที่ซื้อจากพวกขโมย หากเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมปราบปรามการปล้นหรือลักขโมยอย่างเด็ดขาด ก็จะกระทบต่อโรงหีบอ้อย ที่อาจจะไม่มีกระบือในการหีบอ้อย โรงหีบอ้อยอาจต้องปิด ซึ่งนอกจากจะเป็นที่เดือดร้อนแก่เจ้าของโรงงานน้ำตาล และคนงานแล้ว ยังทำให้รัฐขาดรายได้จากภาษีน้ำตาลเป็นจำนวนมากอีกด้วย [10]

ความไม่สามารถพึ่งอำนาจรัฐในการควบคุม หรือป้องปรามการถูกปล้นและลักขโมยกระบือได้ ทำให้ชาวนาต้องพึ่งตนเอง

วิธีป้องกันวิธีหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การรวมกลุ่มกันเลี้ยง เดินทาง และขังกระบือไว้ในที่เดียวกัน อีกวิธีหนึ่งในการป้องกันการปล้นกระบือก็คือ การนำกระบือของแต่ละคนมารวมกันแล้วจ้างคนเลี้ยงดูแล ซึ่งบางครั้งก็เกิด “ควายหาย” เพราะผู้ที่เลี้ยงดูก็อาจจะเป็นผู้ที่นำกลุ่มโจรมาปล้นเสียเองก็มี

ในราวต้นปี พ.ศ. 2419 มาตรการของรัฐในการป้องกันการปล้นกระบือที่เป็นรูปธรรมก็เกิดขึ้น มีการออกพระราชบัญญัติโคกระบือซึ่ง มีเนื้อหาสาระที่สำคัญ ดังนี้

“กำหนดตำบลที่ซื้อขายโคกระบือ…ตามเมืองใหญ่เมืองน้อย ซึ่งเป็นทางราษฎรเดิน ให้มีกรมการกำนันกำกับอยู่ในที่นั้นเป็นนิตย์ สำหรับทำบาญชีรูปพรรณซื้อขาย แลรูปพรรณโคกระบือด้วย…หนังสือเดินทางนั้น ให้เขียนด้วยเส้นหมึกสีดำ บอกชื่อผู้ซื้อผู้ขาย แลรูปพรรณโคกระบือลงในหนังสือเดินทางว่า นายนั้นมาขายโคกระบือ กับทั้งฎีกาพิมพ์รูปพรรณเจ้าของแลโค กระบือ ให้แก่นายนั้น ภรรยาชื่อนั้น อยู่บ้านที่นั้น อำเภอ กำนันนั้น แขวงเมืองเท่านั้น เรียกเอาแต่ผู้ซื้อโคกระบือ ถ้าซื้อขายใช้สอยอยู่ในแขวงบ้านเมืองเดียวกัน โคกระบือจะมากน้อยเท่าใด ให้อำเภอ กำนัน เสมียน เรียกค่าทำหนังสือเดินทางอย่าให้เกินฉบับละสลึง เมื่อซื้อขายออกไปต่างเมือง โคกระบือต่ำกว่าสิบตัวลงมา ให้เรียกฉบับละสลึง ถ้าเกินสิบตัวขึ้นไปให้เรียกฉบับละบาท…” [11]

จากข้อความในพระราชบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ามีการจดทะเบียนนิติกรรม เพื่อให้บุคคลแสดงความเป็นเจ้าของเหนือโคกระบือนั้นๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย วัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้มีการอ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของเหนือโคกระบือ หากเป็นโคกระบือที่ปล้นหรือลักขโมยมา และยังทำให้การซื้อขายของกลางเป็นไปด้วยความลำบากขึ้น

ต่อมา พ.ศ. 2420 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการทำหนังสือเดินทางขึ้น สำหรับชาวนาที่ต้องการนำสัตว์พาหนะเดินทางออกนอกแขวงนอกเมือง เพื่อจะได้แสดงความเป็นเจ้าของและเส้นทาง ระยะทางในการเดินทาง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแอบอ้างความเป็นเจ้าของในกรณีที่เป็นสัตว์ถูกปล้นมาและกำลังหลบหนี เพราะหนังสือเดินทางจะระบุบอกชื่อเจ้าของ ตำหนิสัตว์และจุดหมายของการเดินทาง เมื่อเสร็จกิจธุระในการเดินทาง จะต้องนำหนังสือเดินทางมาคืนภายใน 3 วัน ถ้าจะเดินทางใหม่ก็ให้ทำหนังสือทุกครั้ง

นอกจากนี้รัฐได้จัดการกับปัญหา โดยการออกประกาศห้ามการค้าขายโคกระบือส่งออกนอกประเทศ แต่เมื่อได้แจ้งความประสงค์ไปยังกงสุลต่างๆ ให้ทราบ ก็มีเสียงคัดค้าน และมีการแสดงทัศนะที่น่าสนใจก็คือ การแนะนำให้รัฐตระหนักถึงประเด็นภาวะความขาดแคลนสัตว์พาหนะ (กระบือ) นี้ มิใช่เกิดจากการค้าขายกับต่างประเทศเท่านั้น ปัญหาการปล้นและลักขโมยเพื่อใช้ในพื้นที่นาของชาวนาเองเป็นปัญหาที่สมควรได้รับการแก้ไขก่อนต่างหาก

เซอร์โทมัส ยอช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า

“…ถ้าจะว่าเปนช่องโจรผู้ร้าย ที่จะลักโคกระบือของชาวนามาขาย ก็ใช่ว่าจะลักมาขายให้แก่เรือที่จะบันทุกไปต่างประเทศอย่างเดียว ย่อมจะลักมาซื้อขายใช้ในการนานั้นเองก็มี การที่จะระงับโจรผู้ร้ายเปนพนักงานของไทยเองที่จะต้องรักษา เมื่อไม่คิดระงับโจรผู้ร้าย ถึงโดยจะห้ามไม่ให้บันทุกโคกระบือออกไปต่างประเทศ ก็คงไม่สิ้นผู้ร้ายอยู่เอง” [12]

การยืนยันของกงสุลต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการห้ามบรรทุกโคกระบือออกนอกสยาม ทำให้แนวคิดที่จะลดปัญหาการขาดแคลนโดกระบือด้วยการห้ามค้าขายนั้นต้องสิ้นสุดลง

ความวิตกกังวลของผู้มีอำนาจการปกครองต่อปัญหาการปล้น หรือลักขโมยกระบือและสัตว์พาหนะอื่นๆ แสดงผ่านความเห็นต่างๆ มากมาย ประเด็นที่ตื่นตัวขึ้นมาคือ ความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในที่สุดเกิดพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ ร.ศ. 111 ขึ้น

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะนี้ไว้ใช้สืบไป ประกอบด้วย 7 หมวด 30 มาตรา เพื่อดูแลลักษณะการทำตั๋วรูปพรรณ, การตรวจสัตว์พาหนะ, บทลงโทษ และความรับผิดชอบต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ รวมถึงอัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง โดยให้เริ่มใช้ในหัวเมืองมณฑลกรุงเก่า มณฑลราชบุรี มณฑลนครไชยศรี มณฑลพิศณุโลก มณฑลนครราชสีมา และมณฑลปราจิณ

ในการประชุมเทศาภิบาล ในปี ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) ที่ประชุมได้มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้และมีความเห็นว่า “ถ้าผู้ร้ายลักกระบือในท้องที่อำเภอใด กำนันผู้ใหญ่บ้านได้ทราบเหตุแลจัดลูกบ้านออกช่วยติดตาม ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ไปติดตามกระบือผู้หายนั้น…”

แต่ในความเป็นจริงแล้วคดีการปล้นและขโมยควายยังเกิดขึ้นชุกชุมอยู่ทั่วไป ความต้องการแรงงานควายเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน บังคับและเร่งเร้าให้มีการปล้นอยู่เสมอ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] Normal Maxwell. Impact, Export and Shipping in Twentieth Century Impression of Siam (London : The Gresham Press)ล อ้างถึงในสมชายหลั่งหมอยา, “ปัญหาชาวนาและนโยบายของรัฐบาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” อักษรศาสตร์นิพนธ์ 1: รวมบทความทางประวัติศาสตร์ไทย, น. 75

[2] หจช กส: แผนกหนังสือเก่า: 62, 2483, แมคคาร์ธีถึงเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เอกสารลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2483, หจช. ร.5 ก.1/9 เจ้าพระยาเทเวศวงศวิวัฒน์กราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ 5 เอกสารลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448. และ หจช. กส: แผนกหนังสือเก่า 46, 1794, อ้างถึงใน เดวิด บรซ จอห์นสตัน, สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ. 2423-2473, น. 55

[3] Statistical Year Book of Thai Kingdom of Siam B.E. 2454 to 2475, p. 414.

[4] จรัญ จันทลักขณา, ควายในระบบไร่นาไทย, อ้างถึงใน คมเนตร ญาณโสภณ, อำนาจท้องถิ่นแบบจารีตและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นในยุคเทศาภิบาล, น. 24 และสัมภาษณ์ นางสิน ชัยได้สุข อายุ 87 ปี 241/1 หมู่ 1 ตำบลสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2543.

[5] สุวิทย์ ไพทยวัฒน์. วิวัฒนาการเศรษฐกิจชนบทในภาคกลางของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2394-2475, น. 162-169.

[6] หจช. ร.5 ยธ 5.6/15 เรื่อง รถไฟที่จะคิดสร้างขึ้นตั้งแต่เมืองนครราชสีมาถึงหนองคาย, อ้างถึงใน สุวิทย์ ไพทยวัฒน์, วิวัฒนาการเศรษฐกิจชนบทในภาคกลางของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2394-2475, น. 207.

[7] หจช. ร.5 ม.40/1 เรื่อง ราชการมณฑลกรุงเก่า เอกสารลงวันที่ 5 มิถุนายน-30 พฤศจิกายน ร.ศ. 114

[8] หจช. ร.5 ม.11/13 เรื่อง รายงานการประชุมเทศาภิบาล “เรื่องรายงานกรมหลวงดำรงไปตรวจราชการมณฑลกรุงเก่าแลพิษณุโลก นครสวรรค์ และรายงานระยะทางที่เสด็จ เอกสารลงวันที่ 30 กันยายน-18 สิงหาคม ร.ศ.119

[9] “The State of the Suburbs, BT อ้างถึงใน เดวิด บรูซ จอห์นสตัน, สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ. 2423-2473, น. 132

[10] วิวรรณา เทวาชลาอังกูร, นโยบายรัฐกับตำรวจภูธร พ.ศ. 2440-2465 (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527), น. 105

[11] เสถียร ลายลักษณ์, “พระราชบัญญัติโคกระบือ” ประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม 9 (กรุงเทพฯ: เดลิเมล์ 2478) น.175-177

[12] ชัย เรืองศิลป์, ประวัติศาสต์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453, น. 252


หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงจาก พีรศักดิ์ ชัยได้สุข. ชาติเสือไว้ลาย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2565