วิเคราะห์รากเหง้าของปัญหาในรัสเซีย ก่อนจุดเปลี่ยนสำคัญ สู่ห้วงราชวงศ์โรมานอฟล่มสลาย

ภาพถ่าย พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 และ (จากซ้ายไปขวา) Olga และ Maria / Alexandra Fyodorovna, Anastasia, Alexei และ Tatiana ที่พระราชวัง Livadia เมื่อปี 1913 (ไฟล์ public domain)

ตั้งแต่รัสเซียประกาศสงครามกับเยอรมนีเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1914 นั้น ในสังคมชาวต่างชาติภายในกรุงเปโตรกราด (ชื่อใหม่แทนเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในช่วงสงคราม – ผู้เขียน) เริ่มมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักทั้งด้านบวกและด้านลบ

สำหรับชาวยุโรปด้วยกันแล้วต่างพากันแตกตื่นและยักย้ายถ่ายเทพลเมืองของตนกลับภูมิลำเนาเดิมด้วยความหวาดกลัวภัยสงครามถ้าหากตกค้างอยู่ต่อไปในรัสเซียจนกลับบ้านไม่ได้ หรือเป็นห่วงสถานการณ์ที่บ้านเกิดซึ่งกำลังเลือกข้างว่าจะเข้าข้างฝ่ายเยอรมนี (กลุ่มมหาอำนาจกลาง) หรือถือหางฝ่ายตรงกันข้าม

Advertisement

แต่สำหรับชาวอเมริกันซึ่งพื้นเพเดิมอยู่ห่างไกลจากสมรภูมิในยุโรปแล้ว สงครามโลกยังหมายถึงโอกาสใหม่ทางธุรกิจของประเทศคู่กรณีโดยปริยายทั้งการขายอาวุธ การจัดหาวิศวกรซ่อมสร้างเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ รวมทั้งการผลิตอาหารสำเร็จรูปและกักตุนเสบียงกรังในยามคับขัน ล้วนเป็นช่องทางหาเงินของผู้ฉวยโอกาสทั้งสิ้นในยามสงคราม ซึ่งทุกฝ่ายต้องการความช่วยเหลือขนานใหญ่อยู่ดี

รัฐบาลอเมริกันดำเนินการจัดส่งเอกอัครราชทูตคนใหม่มายังรัสเซียสับเปลี่ยนแทนคนเก่าทันที เขาชื่อมิสเตอร์ฟรานซิส (David Rowland Francis) อดีตนักธุรกิจเงินล้านโดยอาชีพ และอดีตผู้ว่าการรัฐมิสซูรี ทั้งที่ไม่มีทักษะด้านการทูตต่างประเทศเลย ทว่า ในยามนี้ดูไม่มีผู้ใดเหมาะสมกับสถานการณ์เท่ากับเขา

ในทางกลับกัน รัฐบาลอังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจขั้วเก่าที่รัสเซียเชื่อใจยังผลักดันให้เซอร์จอร์จ (Sir George Buchanan) รักษาการราชทูตอยู่ต่อไปในกรุงเปโตรกราดในฐานะนักการทูตอาวุโสที่รัสเซียเกรงใจและน่าจะไว้ใจได้มากที่สุดในหมู่ชาวยุโรปด้วยกันในเวลานั้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นคนหน้าใหม่หรือมือเก่าก็ตาม ทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นชาติที่น่าเชื่อถือที่สุดในยามสงครามที่หน้าสิ่วหน้าขวานในสายตาของราชสำนักรัสเซีย ในขณะที่มีจารชนของฝ่ายศัตรูฝังตัวอยู่รอบด้านภายในเมืองหลวง

นอกจากชาวอังกฤษและชาวอเมริกันแล้ว ราชทูตยุโรปที่โดดเด่นและเป็นหัวหอกสำคัญในเวทีสงครามครั้งนี้มีเพียงฝรั่งเศสและอิตาลีเป็นหลัก ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกันดีและมีท่าทีจะยืนหยัดอยู่เคียงข้างรัสเซียตั้งแต่สงครามปะทุขึ้นกลางปี 1914

โดยต่างก็เชื่อมั่นว่ารัสเซียมีความสำคัญและจะเป็นแนวร่วมที่โดดเด่นที่สุดในสมรภูมิฟากตะวันออกที่สามารถยันทัพเยอรมันไว้ได้ และถ้าไม่มีรัสเซียเป็นตัวแปรแล้วไซร้ ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เลิกรบไปได้เลยในสงครามนี้ [7]

รากเหง้าของปัญหา

ความกดดันจากประชาชาติยุโรปให้ซาร์นิโคลาสที่ 2 ทรงยึดมั่นต่อพันธกรณีที่ทรงมีต่อชาติพันธมิตรของพระองค์ในสงครามกอบกู้ยุโรป บัดนี้ ถูกปิดกั้นโดยกำลังภายในของประชาชนรัสเซียเสียเองที่ต้องการแต่อาหารและโอกาสของการรอดชีวิตจากการสู้รบ และการบีบคั้นให้ซาร์เร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในประเทศก็ได้บั่นทอนเสถียรภาพของพระองค์ลงทุกขณะ

พันธมิตรยุโรปอาจไม่เคยรับรู้ว่าซาร์ทรงกลัดกลุ้มและเต็มไปด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจกับปัญหามากมายภายในราชวงศ์ที่รุมเร้าพระราชหฤทัย ก่อนหน้าสงครามโลกจะอุบัติขึ้นด้วยซ้ำไป ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อการประกอบพระราชกรณียกิจและการตัดสินพระราชหฤทัย นับตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงปัญหาใหญ่โตของชาติบ้านเมืองที่ต้องการคำชี้ขาดจากพระองค์เท่านั้น

เรื่องใกล้ตัวอันได้แก่ปัญหาครอบครัวรังแต่จะบั่นทอนจิตใจและส่งผลเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ทำให้ทรงท้อถอยยิ่งขึ้น มีรากเหง้ามาจากปัญหาการสืบทอดราชวงศ์ ความทุพพลภาพขององค์รัชทายาทและการรักษาที่ไม่เป็นผล การใช้คนผิด และพระมเหสีไม่เป็นที่ยอมรับของชาวรัสเซีย เป็นต้น [4]

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกลับทรงปิดบังไว้เป็นความลับ มิฉะนั้นก็ทรงแก้ไขปัญหาตามยถากรรมอย่างไร้ผล นานเข้าปัญหาก็ระเบิดออกมามิใช่จากซาร์โดยตรง แต่จากบุคคลใกล้ชิดรอบข้างที่รายล้อมพระองค์อยู่ ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก และบานปลายออกไปเมื่อมีผู้ไม่หวังดีต้องการซ้ำเติมพระองค์ และก็ทำสำเร็จเสียด้วย

1. ปัญหาการสืบทอดราชวงศ์

การสืบทอดราชสมบัติในราชวงศ์โรมานอฟเต็มไปด้วยเรื่องราวทั้งราบรื่นและเหี้ยมโหดระคนกันในประวัติศาสตร์ ซาร์ทุกรัชกาลต่างก็ทรงตื่นตัวที่จะทำให้สายพระโลหิตของพระองค์ตกทอดไปยังรัชทายาทที่ทรงแต่งตั้งเองเพื่อป้องกันการแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระประยูรญาติหรือแม้แต่พระพี่น้องร่วมสายพระโลหิตด้วยกันเอง [4]

ซาร์ปอลในอดีตได้ทรงตราพระราชบัญญัติตายตัวไว้เมื่อ ค.ศ. 1797 กำหนดให้การสืบสันตติวงศ์เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะแก่พระราชวงศ์ฝ่ายชายที่เป็นพระราชโอรสองค์โตของซาร์องค์ก่อนเท่านั้น โดยตัดสิทธิ์ของพระราชธิดาทุกพระองค์ออกไปจนหมดสิ้น [10]

ใน 3 รัชกาลก่อนหน้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นตามกฎมนเทียรบาลที่ตั้งไว้ จนถึงสมัยซาร์นิโคลาสที่ 2 ปัญหาเริ่มเด่นชัดขึ้นเมื่อพระองค์และพระนางอเล็กซานดรามีพระราชธิดาติดต่อกันถึง 4 พระองค์ โดยไม่มีวี่แววว่าจะให้กำเนิดพระราชโอรส

สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นใน ค.ศ. 1900 เมื่อซาร์นิโคลาสที่ 2 ทรงพระประชวรหนักด้วยพระโรคไข้รากสาดอย่างน่าเป็นห่วง ถึงขั้นที่เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ทูลแนะนำให้ตั้งแกรนด์ดยุคไมเคิล (Grand Duke Michael) พระอนุชาเป็นองค์รัชทายาทชั่วคราว แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากซาร์ อันเนื่องมาจากพระประวัติอันนอกลู่นอกทางและขาดความเหมาะสมของพระอนุชาเอง [4]

แกรนด์ดยุคไมเคิลทรงมีความดื้อรั้นแบบคนหัวแข็งมาแต่ไหนแต่ไรและไม่โปรดความเป็นหลักเป็นฐาน เพราะนอกจากจะไม่เอาพระทัยใส่ในกฎมนเทียรบาลแล้ว ยังไม่โปรดที่จะสุงสิงกับพี่น้องหรือช่วยแบ่งเบาพระราชกรณียกิจดังที่ควรจะทรงกระทำ [10]

เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ซาร์ทรงพระพิโรธอย่างมาก คือการที่แกรนด์ดยุคไมเคิลแอบไปชอบพอกับนางสนมของพระสุณิสาองค์เล็กคือ แกรนด์ดัชเชสออลก้า นางสนมคนนี้ชื่ออเล็กซานดรา (Alexandra Kossikovskaya) และควงเธอจนออกหน้าออกตา ต่อมาได้ขอพระราชทานซาร์เพื่อสมรสกับนาง ซึ่งได้รับการปฏิเสธทันที ในไม่ช้าเธอก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเนรเทศออกนอกประเทศ

ภายหลังมีข่าวลือกระฉ่อนเมืองว่านางสนมผู้นั้นได้เล็ดลอดกลับเข้ามาและแกรนด์ดยุคไมเคิลได้อุปถัมภ์เลี้ยงดูเธอจนถึงขั้นจัดพิธีสมรสอย่างลับๆ ในรัสเซีย เรื่องดังกล่าวสร้างความหมองหมางใจต่อซาร์และสมเด็จพระพันปียิ่งนัก อันเป็นเหตุให้วังหลวงหมดศรัทธา และซาร์ก็แทบจะทรงตัดขาดจากพระราชอนุชาจากเหตุการณ์นั้น [10]

เมื่อซาร์ทรงหายจากพระอาการประชวรแล้วก็บังเกิดข่าวใหญ่ในราชสำนักที่ทุกคนรอคอย คือการที่ซารีนาพระมเหสีมีพระประสูติการเป็นพระราชโอรสสมดังที่ต้องการ แต่ปัญหาก็ยังไม่จางหายไปง่ายๆ [10]

2. ความทุพพลภาพของรัชทายาท

พระราชโอรสของซาร์มีพระสูติการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1904 ณ พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ มีพระนามว่า “มกุฎราชกุมารอเล็กซี่” (Czarevich Alexei Nicolayevich) ทรงเป็นแก้วตาดวงใจของพระราชชนกและพระราชชนนี แต่ที่แน่นอนที่สุดคือทรงเป็นความหวังว่าราชวงศ์โรนานอฟจะยืนหยัดอยู่ต่อไปได้

แต่หลังจากประสูติได้ 6 สัปดาห์ ซาเรวิชอเล็กซี่ (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า อเล็กซี่ – ผู้เขียน) ก็มีพระอาการประชวรด้วยโลหิตไหลไม่หยุดจากพระนาภี (สะดือ) จากโรคฮีโมฟิเลีย (Hemophilia) หรือ “โรคเลือดไหลไม่หยุด” โรคดังกล่าวเป็นโรคพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นพระอัยยิกาของซารีนาอเล็กซานดราโดยตรง

ที่ร้ายแรงก็คือโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และจะทำให้ผู้ติดโรคมีสุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์จนตลอดชีวิต และบางทีจะทำให้ไม่มีชีวิตยืนยาว ซึ่งหมายความว่าอเล็กซี่จะมีพระพลานามัยอ่อนแอและทุพพลภาพไปตลอด และจะทำให้ไม่สามารถสืบทอดราชบัลลังก์ได้ตามกฎมนเทียรบาล [4]

ความปริวิตกของซาร์เริ่มเป็นความกังวลใจของพระประยูรญาติผู้ใกล้ชิดเมื่ออเล็กซี่อยู่ในสภาพทุพพลภาพเกินกว่าจะรับราชบัลลังก์ อีกทั้งแกรนด์ดยุคไมเคิล (พระอนุชาของซาร์) ก็ถูกตัดขาดจากราชสมบัติจากการขัดขืนพระราชบัญชาของซาร์ในเรื่องความประพฤติ เป็นเหตุให้ราชวงศ์โรนานอฟสายอื่นเกิดความคิดที่จะให้ซาร์ทรงสถาปนาเจ้านายพระองค์อื่นไว้แทนเพื่อความไม่ประมาท

แกรนด์ดยุคจอร์จทางสายพระปิตุลาเสนอว่าถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าจะสถาปนาพระบรมวงศ์ไปยังสายของแกรนด์ดยุคอเล็กซานเดอร์ (Grand Duke Alexander Michaelovich) ซึ่งอภิเษกกับ Grand Duchess Xenia พระสุณิสาของซาร์เอง ซึ่งมีพระโอรสด้วยกันถึง 6 พระองค์ ล้วนมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะแต่งตั้งเสียในงานฉลองราชวงศ์โรมานอฟครบ 300 ปี ใน ค.ศ. 1913 เสียเลย ทว่า เรื่องนี้ก็มิได้รับความเห็นชอบจากซาร์แม้แต่น้อย คำแนะดังกล่าวก็หมดความหมาย [10]

ความกังวลเรื่องพระพลานามัยอันไม่สมประกอบของอเล็กซี่กดดันให้ซาร์และซารีนาตัดสินพระราชหฤทัยย้ายที่ประทับจาก Winter Palace แปรพระราชฐานไปยัง Alexander Palace นอกกรุงเปโตรกราดเพื่อตัดขาดจากโลกภายนอกที่คาดหวังในราชวงศ์ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ [4]

3. ซารีนาไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม

การประชวรของมกุฎราชกุมารอเล็กซี่ จะเป็นช่องทางที่ชักนำชายคนหนึ่งมาสู่ราชสำนักรัสเซีย บุคคลผู้นี้มีชื่อว่า เกรกอรี่ รัสปูติน (Gregory Rasputin) เขาเป็นนักบวชจากไซบีเรีย มีประวัติที่กักขฬะและคลั่งไคล้ในกามราคะ แต่ความสามารถพิเศษของรัสปูตินในเรื่องการสะกดจิตทำให้ผู้แนะนำราชสำนักว่าเขาอาจจะรักษาอาการประชวรของอเล็กซี่ได้ รัสปูตินก้าวเข้ามาในชีวิตของพระราชวงศ์และได้สร้างความประหลาดใจให้ทุกคนเห็น จนอาการประชวรของอเล็กซี่ทุเลาลงและมีสุขภาพดีขึ้น

ซารีนาทรงมอบบำเหน็จความชอบทุกอย่างที่รัสปูตินต้องการโดยเฉพาะสิทธิพิเศษในราชสำนัก ผลร้ายที่ตามมาคืออิทธิพลของซารีนาต่อซาร์พลอยทำให้องค์เหนือหัวตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสปูตินไปด้วย

ซาร์และซารีนาทรงเชื่อว่ารัสปูตินเป็นคนของพระเจ้าที่สามารถแสดงปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอำนาจวิเศษในการรักษาโรคร้ายของอเล็กซี่ ทั้ง 2 พระองค์จึงทรงปฏิเสธที่จะรับฟังการตักเตือนเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของรัสปูตินในราชสำนัก [1]

อันที่จริงซารีนาอเล็กซานดราก็เป็นพระมเหสีที่ไม่ได้รับความนิยมเอาเลยในสายตาของชาวรัสเซียตั้งแต่แรก และโดยเฉพาะเมื่อสมเด็จพระพันปี (ซารีนามาเรีย) ซึ่งเป็นจักรพรรดินีองค์ก่อนเป็นที่รักและชื่นชมยกย่องของราษฎร ทำให้มีข้อเปรียบเทียบอยู่เสมอในสายตาคนภายนอก [10]

ซารีนาทรงขัดแย้งกับสมเด็จพระพันปีเริ่มตั้งแต่ทรงเร่งรัดให้มีการอภิเษกสมรสกับซาร์ในขณะไว้ทุกข์งานพระบรมศพของพระบรมราชชนก นอกจากนี้ ทั้ง 2 พระองค์มีพระอุปนิสัยและทัศนคติแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ซารีนามาเรียโปรดเข้างานสังคม การเต้นรำและงานรื่นเริงของสังคมชั้นสูง ในขณะที่ซารีนาอเล็กซานดราทรงเก็บเนื้อเก็บตัว ตรัสน้อยและทรงขี้อายเป็นที่สุด

ประทับนิ่งเงียบและมีพระอุปลิกลักษณะเย็นชาต่อผู้อยู่รอบข้าง เรียกได้ว่าทรงขาดมนุษยสัมพันธ์จนดูบึ้งตึง และเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณของชาวรัสเซียที่ชอบงานพิธีใหญ่โต มีสีสันและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา [4]

ความทุพพลภาพและโรคร้ายของอเล็กซี่กดดันให้ราชสำนักของซาร์แปรพระราชฐานจากพระราชวังฤดูหนาวกลางกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่มากด้วยงานพระราชพิธีใหญ่โตออกไปประทับอย่างถาวรนอกเมืองที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ ณ ซาร์สโกเยเซโล (Tsarskoe Selo) ประดุจพระราชวังไกลกังวลที่เงียบสงบและห่างไกลความวุ่นวายของสังคมเมืองหลวง และเพื่อเก็บตัวอยู่แต่กับการสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้าให้อเล็กซี่ทรงหายประชวร

แต่สิ่งที่ตามมาคือการปิดตัวของราชสำนักต่อโลกภายนอก แม้นว่าซาร์และพระเหสีจะทรงใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น แต่กลับทำให้ซาร์ทรงปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะน้อยลง ทรงกลายเป็นคนอมทุกข์และเย็นชาไปด้วย ที่ร้ายแรงคือทรงตัดขาดจากสังคมชาวรัสเซียซึ่งต้องการความเห็นใจและเมตตาจากองค์เหนือหัวโดยเฉพาะในยามอดอยากและสงคราม

สถานการณ์เลวร้ายลงอีกใน ค.ศ. 1915 หลังจากกองทัพรัสเซียเริ่มเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามกับเยอรมนี และซาร์ทรงเห็นความจำเป็นต้องเสด็จฯ ไปบัญชาการรบที่แนวหน้าทั้งที่ไม่มีความจำเป็นเลย [1]

การที่ซารีนาทรงเป็นเจ้าหญิงเยอรมันมาแต่เดิม ทำให้คนเชื่อว่าทรงเป็นสายลับให้กับฝ่ายเยอรมนี อันเป็นปัจจัยด้านลบเรื่องใหม่ที่โจมตีความน่าเชื่อถือในตัวซาร์ ยิ่งเมื่อซาร์ทรงมอบอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินไว้กับซารีนาเมื่อเสด็จฯ ไปยังแนวหน้า ทำให้พระนางหันไปฟังคำแนะนำจากรัสปูตินจนราชการแผ่นดินตกอยู่ในสภาวะชะงักงันและเสื่อมทรามลงอย่างหนักจนเกิดการลุกฮือของประชาชนที่เรียกการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 ล้มล้างอำนาจของซาร์ในที่สุด [2]

ปัญหาของซาร์นิโคลาสที่ 2 ในระยะราชวงศ์โรมานอฟตกอับจึงเป็นปัญหาที่สะสมมานานอันเกิดจากการตัดสินพระราชหฤทัยผิดพลาด การก้าวก่ายพระราชอำนาจของบุคคลรอบข้าง ปัญหาเกี่ยวกับองค์รัชทายาท และเคราะห์กรรมอันเลวร้ายในช่วงปลายรัชกาลประดังเข้ามาพร้อมกัน [1]

การหายตัวไปของซาร์นิโคลาสที่ 2

หลักฐานใหม่ๆ ที่ผู้เขียนได้มาจากทวีปยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ยืนยันเหตุการณ์และเรื่องราวบางอย่างที่หนังสือประวัติศาสตร์รัสเซียในยุคปลายรัชกาลปิดบังไว้

เหตุการณ์อันเหลือเชื่อซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีมาแล้วอาจไม่ได้รับการยืนยันโดยรัฐบาลเฉพาะกาลของคณะปฏิวัติในรัสเซียสมัยปี 1917 แต่มิได้หลุดพ้นจากการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวตะวันตกที่ฝังตัวอยู่ในกรุงเปโตรกราด เช่น สถานภาพที่แท้จริงของรัสปูตินและจุดเปลี่ยนของระบอบซาร์ในวันสุดท้ายล้วนมีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยหลังของเรา [9]

การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ โดยผู้ใช้แรงงานและราษฎรระดับรากหญ้า ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ 1. การต่อต้านสงครามกับเยอรมนี และ 2. ความอดอยากเพราะขาดแคลนอาหาร เกิดการเดินขบวนแสดงพลังครั้งใหญ่ของผู้ประท้วงกว่า 200,000 คน ในกรุงเปโตรกราด[7]

การประท้วงที่สงบในตอนแรกเริ่มอลหม่านขึ้นเมื่อมีเสียงตะโกนโหวกเหวกว่า “ขนมปังหมดแล้ว!” จากแถวอันยาวเหยียดของคนที่เข้าคิวซื้อขนมปังอันเป็นอาหารหลักในยามยาก [7]

ขบวนประท้วงแตกฮือจากความตื่นตูมเป็นการก่อจลาจลและการปล้นสะดมร้านค้าและความโกลาหลทั่วไปจนรัฐบาลต้องหันมาใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม

ในขณะที่ประชาชนลุกฮือจนกลายเป็นจลาจลทั่วเมืองนั้น รัฐสภาดูมาพยายามแก้ไขสถานการณ์ให้สงบลงโดยเร็วที่สุด ในการนี้นายร็อดเซียงโก (Rodzianko) ประธานสภาได้เรียกประชุมวาระฉุกเฉิน และได้ส่งโทรเลขด่วนไปยังซาร์ที่แนวหน้าเพื่อทรงทราบสถานการณ์และทรงจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เพื่อคลี่คลายปัญหาของประเทศเป็นการด่วน

ซาร์ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯ กลับกรุงเปโตรกราดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ด้วยพระองค์เอง แต่เส้นทางรถไฟสู่เมืองหลวงก็ถูกตัดขาดเสียแล้ว ทำให้พระองค์ต้องทรงเปลี่ยนเส้นทางมุ่งไปยังเมืองปสคอฟ (Pskov) ในวันที่ 1 มีนาคม 1917 [3]

ในวันเดียวกันนั้นเองสภาดูมาก็มีโทรเลขด่วนอีกฉบับหนึ่งไปยังซาร์ว่ารัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในเมืองหลวงได้ และแนะนำให้พระองค์ทรงหาทางออกด้วยการสละราชสมบัติทันทีซึ่งอาจจะช่วยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้ [7]

ทรงพิจารณาอย่างรีบด่วนบนรถไฟพระที่นั่งในวันที่ 1 มีนาคมนั้นเอง แล้วก็ทรงสละราชสมบัติหากเป็นหนทางเดียวที่จะกอบกู้ประเทศชาติไว้ได้ เมื่อสภาดูมาและสภาปฏิวัติโซเวียตทราบถึงการตัดสินพระราชหฤทัยแล้วจึงได้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นปกครองประเทศทันที โดยให้นายเคเรนสกี (Kerenski) ผู้นำฝ่ายค้านเป็นหัวหน้ารัฐบาลคนใหม่

หลังจากนั้นรถไฟขบวนด้วยคำสั่งใหม่ของรัฐบาลเฉพาะกาลก็นำซาร์เสด็จฯ กลับไปยังเมืองโมกิเลียฟ (Mokiliev) ที่แนวหน้าและให้ประทับอยู่ที่นั่นต่ออีก 1 สัปดาห์ รอการตัดสินใจของพวกนักปฏิวัติ

จากนั้นในวันที่ 9 มีนาคม ทหารกลุ่มหนึ่งก็ได้นำพระองค์โดยรถไฟมายังพระราชวังอเล็กซานเดอร์ที่ประทับของพระราชวงศ์องค์อื่นๆ ทรงถูกถอดยศจากพระจักรพรรดิเป็นเพียง “นายนิโคลาส โรมานอฟ” อย่างน่าเศร้าใจ นับจากนี้ทุกวันก็ได้มีผู้คนจากเมืองหลวงมายืนเกาะรั้วด่าทอพระราชวงศ์อย่างน่าอเนจอนาถใจ [2]

และเพื่อความปลอดภัยของพระองค์ รัฐบาลเฉพาะกาลจึงได้เคลื่อนย้ายพระราชวงศ์ทั้ง 7 พระองค์ (ซาร์/ซารีนา/พระราชโอรสธิดาทั้งห้า) ไปควบคุมตัวที่เมืองโทบอลสค์ (Tobolsk) ในเขตไซบีเรียตะวันออก เสมือนให้ตัดขาดจากโลกภายนอกและไม่ให้ใครได้พบเห็นพระองค์อีกต่อไป

นับจากนี้ทั้งซาร์และพระบรมวงศ์ก็หายหน้าไปจากการรับรู้ของประชาชนและสังคมโลก โดยทรงถูกเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งเพื่อใช้เป็นตัวประกันและเครื่องต่อรองกับพวกรัสเซียขาวซึ่งยังสนับสนุนระบอบซาร์และหวังจะช่วยเหลือพระองค์ [8]…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] ไกรฤกษ์ นานา. “หลักฐานในหลุมศพ ‘ฟ้อง’ กรณีราชวงศ์โรมานอฟ ‘ข้อยุติ’ หรือ ‘อำพรางคดี’,” ใน สยามกู้อิสรภาพตนเอง ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน. สำนักพิมพ์มติชน, 2550.

[2] Alexandrov, Victor. The End of the Romanovs. USSR : Hutchinson Co., 1966.

[3] Halliday, E. M. Russia in Revolution. U.S.A. : Harper & Row, 1967.

[4] Massie, Robert K. The Romanovs : The Final Chapter. U.S.A. : Random House, 1995.

[5] O’Conor, John F. The Sokolov Investigation. United Kingdom : Souvenir Press, 1971.

[6] Ramer, Carole J. The Final Photo of the Romanovs : This same night God left Russia. U.S.A. : Aarenssen Publishing Company, 1998.

[7] Rappaport, Helen. Caught in the Revolution. United Kingdom : Windmill Books, 2016.

[8] Summers, Anthony. The File on the Tsar. United Kingdom : Vector Gollancz Ltd., 1976.

[9] THE ILLUSTRATED LONDON NEWS, รวมเล่มทุกฉบับประจำ ค.ศ. 1917, United Kingdom, 1917.

[10] Van der Kiste, John. Once A Grand Duchess : Xenia, Sister of Nicholas II. United Kingdom : Sutton Publishing, 2002.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “100 ปีที่ไร้ซาร์ ตอนที่ 2 ‘ภาพพระบรมศพที่หายไป’ ของซาร์นิโคลาสที่ 2” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2565