ตามรอย “เครา” เด็กหญิงจากสยาม มนุษย์ประหลาดในคณะละครสัตว์ที่อเมริกา

(ซ้าย) เครา ฟารินี ภาพถ่ายเมื่อโตแล้ว (ขวา) เครา ฟารินี และวิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ ภาพถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1883

เครา ฟารินี (Krao Farini) หญิงสาวจากสยาม ผู้มีเส้นขนดกปกคลุมทั่วทั้งตัว เธอกลายเป็น “มนุษย์ประหลาด” ถูกนำไปโชว์ตัวทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

เคราเป็นที่ฮือฮาของชาวตะวันตกอย่างมาก เพราะมีการนำเอาลักษณะผิดปกติของเธอไปเป็นข้อพิสูจน์ทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ดังที่ เฟรดเดอริค ดริมเมอร์ (Frederick Drimmer) เขียนถึงเคราเอาไว้ในหนังสือ Very Special People ดังนี้

เครา : ข้อพิสูจน์ทฤษฎีของดาร์วิน

เครา…ถูกนำมาออกแสดงให้ชมเป็นครั้งแรกเมื่อต้นศตวรรษที่ 80 ของปี 1800 (ประมาณปี พ.ศ. 2423 – ผู้แปล) หลังจากถูกนำมาจากประเทศสยาม ขณะนั้นเธอมีอายุราว 6 ขวบ ต่อมา เธอถูกพาไปยังสหรัฐอเมริกา โดยการจัดการของฟารินี นักจัดการแสดงผู้มีชื่อเสียงของลอนดอน

เอช. เคาลิทซ์-จาร์โลว์ สมาชิกสถาบันชาติพันธุ์วิทยา ได้พรรณาลักษณะทาง “วิทยาศาสตร์” ของเคราเมื่ออายุ 6 ขวบ เอาไว้ นับเป็นสิ่งวิเศษสุดของการโต้แย้งเกี่ยวกับทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ว่ามนุษย์สืบเชื้อสายมาจากสัตว์โลกคล้ายลิง (ดาร์วินไม่เคยกล่าวว่ามนุษย์สืบเชื้อสายมาจากลิง) และผู้ที่เชื่อตามทฤษฎีเขา ก็หวังอยู่เสมอที่จะพบสัตว์โลกที่อยู่ตรงกลางระหว่างมนุษย์กับลิง สำหรับบางคน เคราดูเหมือนจะเป็นอะไรที่พวกเขากำลังแสวงหาอยู่พอดี

เครา ฟารินี ภาพถ่ายราวทศวรรษ 1890

ในคำพรรณนาของเขา คาลิทซ์-จาร์โลว์ หยิบยกลักษณะเด่นของเคราที่เขาลงความเห็นว่ามีลักษณะเหมือนกับลิงเป็นพิเศษ เขากล่าวว่า “ผมนุ่ม ดำสนิทดกหนาปกคลุมศีรษะของเธอไปจรดหลัง ที่ด้านหลังของคอมีลักษณะเหมือนขนแผงคอจริง ๆ ขนคิ้วนุ่มเป็นมันแผงใหญ่บังดวงตาของเธอเอาไว้ ตาดำของเธอดำและเป็นประกายแวววาว” เขาสังเกตไว้ว่าเส้นผม (ขน? – ฝรั่งใช้คำเดียวกัน – ผู้แปล) ปกคลุมร่างกายของเธอจากศีรษะจรดเท้า เขายังชี้ให้เห็นรายละเอียดต่อไปอีกว่า โครงสร้างใบหน้าของเธอคล้ายคลึงกับโครงสร้างใบหน้าของลิงกอริลลาอย่างไรบ้าง

คาลิทซ์-จาร์โลว์ รายงานว่า เคราน้อยผู้นี้มีนิสัยน่ารัก เธอมีท่าทางรื่นเริงเอาใจง่าย เธอชอบเล่น และเมื่อมีผู้ใดให้ความสนใจแก่เธอ เธอจะรู้สึกขอบคุณ เขากล่าวว่า “ถ้าเธอรู้สึกรำคาญ ธรรมชาติดิบของเธอจะปรากฏให้เห็นทันที เธอจะทุ่มตัวลงกับพื้นร้องกรีด เตะถีบ และระบายความโกรธด้วยการทึ้งผมตัวเองในลักษณะที่แปลกมาก” เป็นไปได้ว่า อาการเหล่านี้จัดเป็นลักษณะแบบลิงเหมือนกัน ในอเมริกา กูลด์ และไพล์ นักฟิสิกส์และผู้รู้แห่งยุคสองคน รายงานไว้ในหนังสือของเขาชื่อ “สิ่งวิปริตและสิ่งผิดประหลาดทางการแพทย์” ว่า เท้าและริมฝีปากของเครา มีพลังยึดมากอย่างผิดปกติ

แม้ว่าคำพรรณนาเหล่านี้จะแปลกประหลาดอย่างไร เคราก็เป็นเพียงหนึ่งของมนุษย์ผม (ขน) ดก รูปถ่ายของเธอเมื่ออายุได้ 16 ปี เป็นรูปเธอมีผมยาว ขนยาวตามขาแขน และมีหนวดเครา แต่นอกเหนือจากลักษณะประหลาดเหล่านี้ เธอก็คือมนุษย์ผู้หญิงคนหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย ในฐานะที่เป็นคนที่ได้อ่านหนังสือมามาก และสามารถพูดได้หลายภาษา เคราเป็นดาวดวงเด่นดวงหนึ่งของคณะละครสัตว์ริงกลิงบราเดอร์ส และบาร์นัมกับไบเลย์ เธอเสียชีวิตที่นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469 ต้นสมัย ร. 7 – ผู้แปล) เมื่ออายุได้ 49 ปี

เครา ฟารินี ภาพถ่ายราวทศวรรษ 1890

ประวัติของเครานั้น เธอเกิดในดินแดนลาวทางตอนเหนือของประเทศสยาม ซึ่งในที่นี้หมายถึงลาวล้านนา เธอถูกจับพร้อมพ่อและแม่ ภายหลังพ่อเสียชีวิต ส่วนเคราถูกพรากจากแม่ คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจนำตัวเธอลงมายังกรุงเทพฯ ก่อนที่จะส่งเธอให้กับ วิลเลียม ลีโอนาร์ด ฮันต์ (William Leonard Hunt) หรือที่รู้จักกันในนาม “The Great Farini” (เป็นที่มาของนามสกุล “ฟารินี” ของเครา) ไปยังประเทศอังกฤษเพื่อทำการแสดง

การปรากฏตัวของเคราทำให้ชาวตะวันตกตื่นเต้น มองว่าเป็นมนุษย์ประหลาดจากดินแดนอันห่างไกล และยังนำไปเชื่อมโยงเข้ากับทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน เพื่อชี้ว่ามนุษย์และลิงมีความเชื่อมโยงกัน โดยในช่วงแรกเคราทำการแสดงที่ London Aquarium ในประเทศอังกฤษ ซึ่งดึงดูดฝูงชนจำนวนมาก ผู้คนนับร้อยนับพันยินดีจ่ายเงินเพื่อดู “สิ่งมีชีวิต” ที่อาจเป็นข้อพิสูจน์ถึงการเชื่อมโยงระหว่างสัตว์อย่างลิงกับมนุษย์ ต่อมา เคราเดินทางไปทำการแสดงกับคณะละครสัตว์ในสหรัฐอเมริกา ร่วมงานกับคณะ Ringling Bros. and Barnum & Bailey Circus

“Congress of Freaks” ของคณะ Ringling Bros. and Barnum & Bailey Circus ในปี ค.ศ. 1924 (เคราอยู่แถวหน้า ที่สามจากซ้าย)

ในช่วงชีวิตของเครา ในยุควิกตอเรียนเป็นยุคสมัยที่ชาวตะวันตกตื่นตาตื่นใจกับของแปลก และการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ เคราซึ่งถูกมองว่าเป็นมนุษย์ประหลาดก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ชาวตะวันตกให้ความสนใจใคร่รู้มาก หากแต่วิทยาศาสตร์ในยุคหลังสามารถอธิบายในสิ่งที่เคราเป็นอยู่นั้น คือ Hypertrichosis หรือที่บางคนเรียกว่า โรคมนุษย์หมาป่า เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้มีขนยาวปกคลุมทั่วทั้งตัว

เคราจึงไม่ต่างจากมนุษย์ประหลาดอื่น ๆ ในสมัยนั้น ทั้งมนุษย์หน้าหมา มนุษย์แคระ มนุษย์อ้วน มนุษย์ผอม มนุษย์แก้มยืด มนุษย์สองเพศ มนุษย์ 3 ขา ฯลฯ หรือแม้แต่ ฝาแฝดสยาม อิน-จัน ที่ถูกนำไปเร่ขายความแปลก (Freak Show) ทำการแสดงทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

เคราใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการทำการแสดง โดยในห้วง 20 ปีท้ายของชีวิต เธออาศัยอยู่ในย่าน Upper East Side ในแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก และเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2469

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอนก นาวิกมูล. (กันยายน, 2527). “เครา” เด็กประหลาดจากสยาม สมัย ร. 5 ในอเมริกา. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 : ฉบับที่ 11.

Gawked, Tortured and Mocked: The Tragic Lives of 5 Victims of the Freak Show Phenomena. (2021). Access 23 February 2022, from https://historyofyesterday.com/gawked-tortured-and-mocked-the-tragic-lives-of-5-victims-of-the-freak-show-phenomena-639e18236aa1

KRAO FARINI, AMERICAN SIDESHOW PERFORMER. (2022). Access 23 February 2022, from https://www.sciencesource.com/archive/Image/Krao-Farini–American-Sideshow-Performer-SS2872479.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565