นายทองคำ “มนุษย์ประหลาดชาติไทย” ผจญภัยต่างแดน ร.6 ทรงสงสาร ชวนกลับก็ไม่ยอม

นายทองคำ ถ่าย กับ นาย ต.เง๊กชวน
นายทองคำ (นั่ง) ถ่ายกับนาย ต.เง๊กชวน (ยืน) เมื่อกลับจากอเมริกาไม่นาน ในพ.ศ. 2468 ภาพโดยความเอื้อเฟื้อจากคุณไพบูลย์ ธันวารชร

เขาควรเป็นมนุษย์ประหลาดชาติไทยจริง ๆ นายทองคำ … เพราะเขาเป็นคนไทยเมื่อเกือบร้อยปี เป็นเด็กบ้านนอกธรรมดา ๆ แต่รักการผจญภัยยิ่งนัก ได้หนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อออกไปใช้ชีวิตเผชิญโชคถึงยุโรป อเมริกาด้วยตัวคนเดียว

ด้วยความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว หาคนไทยคนไหนในยุคนั้นมาทัดเทียมได้ และจนถึงปัจจุบันก็เถอะ (พ.ศ. 2527)

นายทองคำ เป็นชาวเพชรบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2425 …

อายุ 16 ปี หนีออกจากบ้านไปสมัครเป็นกลาสีเรือเดินสมุทรทั้ง ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศใดๆ ไม่ได้สักคำเดียว โชคดีกลาสีคนหนึ่งลาออกกะทันหัน กัปตันนอร์เวย์เลยรับเข้าทำงาน ต้องตักน้ำล้างเรือวันหนึ่งเป็นพันถัง

ข้ามไปอังกฤษ ไปเป็นลูกจ้างญี่ปุ่นนักกายกรรม เลยฝึกกายกรรมเป็นความรู้ด้วย และด้วยวิชานี้ เขาได้อาศัยเป็นเครื่องยังชีพอยู่นาน

อายุประมาณ 18 ปี ข้ามไปอเมริกาไปอยู่กับลูกชายหมอบรัดเลย์ ได้เข้าเฝ้า ร.6 ขณะเป็นมกุฎราชกุมาร

ร.6 ทรงสงสาร ชวนให้กลับเมืองไทยก็ขอไม่กลับ จะผจญภัยต่อ ร.6 พระราชทานเงินก้นถุงให้ด้วยความเมตตา และพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ให้อีกด้วย ภายหลังแผ่นดินไหวแรง (ในซานฟรานซิสโก พ.ศ. 2449) พระบรมฉายาลักษณ์ที่เขาหวงแหนนั้นต้องพลอยจมหายไปในแผ่นดิน

นายทองคำ เป็นกรรมกร เป็นลูกจ้างแล้วไปเป็นนักกายกรรม สามารถเล่นกายกรรมจนมีชื่อเสียงในนาม “ตอมคูมา” คราวนี้เป็นยุครุ่งเรือง เนื้อหอมมาก

ชีวิตของเขาในต่างประเทศ 25 ปีเต็มไปด้วยความตื่นเต้น สนุกสนาน และพร้อมกันนั้น ก็ฉาบด้วยความรัก ความเศร้าราวกับนิยาย บางตอนในชีวิตของเขาเศร้าจนเราต้องถอนหายใจพลอยซึมโศกไปกับเขาด้วย

แต่ยามสนุกสิ ลีลาชีวิตของเขาทำให้เราได้หัวเราะอย่างเต็มที่ทดแทนความโศกได้พอกัน

นายทองคำ กลับมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2468 ปลายสมัย ร.6 ขณะนั้นเขาพูดภาษาไทยแทบไม่รู้เรื่องเลย เมื่อกลับมาแล้ว เขาได้เข้าร่วมกับคณะละครไทยตระเวนไปตามที่ต่าง ๆ โดยทำหน้าที่เล่าเรื่องการผจญภัยต่างๆ ของเขาให้คนฟัง

“ทิดเขียว” นักพากย์หนังคนแรกของไทย ได้ให้สัมภาษณ์ชีวิตของ “นายทองคำ” มาเขียนลงพิมพ์ในหนังสือข่าวภาพยนตร์ และได้พิมพ์บทสัมภาษณ์แยกออกไปเป็นเล่มต่างหาก โดยมีนาย ต. เง๊กชวน เจ้าของห้างแผ่นเสียงเป็นผู้จัดพิมพ์ ราคาขายเล่มละ 20 สตางค์

เข้าใจว่าจะชื่อ “สนทนากับนายทองคำ” หรือไม่ก็ “มนุษย์ปลาดชาติไทย”

ชีวิตของนายทองคำที่ลงในข่าวภาพยนตร์ เราได้พบแล้ว และนำมาตีพิมพ์ใหม่แล้ว (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ. 2526)

แต่หนังสือเล่มเล็กที่นาย ต. เง๊กชวน พิมพ์ เรายังหาไม่พบเลยแม้แต่เล่มเดียว (พ.ศ. 2527)

หนังสือเล่มนี้ผู้ใหญ่ที่เกิดทันสมัย ร.6 ยืนยันว่ามีจริง และตัวเองเคยอ่าน

โฆษณาหนังสือ “มนุษย์ปลาดชาติไทย” ในข่าวภาพยนตร์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 สังเกตคำว่า พิมพ์ครั้งที่ 2

ทางสงขลาก็เคยอ่าน ทางเพชรบุรีก็เคยอ่าน ทางฉะเชิงเทราหรือกรุงเทพฯ ก็ยืนยันพ้องกันว่าเคยอ่าน (เนื้อความเห็นกล่าวว่ามีต่างไปจากที่ลงในข่าวภาพยนตร์บ้าง) แต่เชื่อไหมว่า เราไม่สามารถหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้แม้แต่เล่มเดียว

คุณพันคำ ลูกชายของ “ทิดเขียว” บอกว่า เคยมี แต่เนื่องจากบ้านถูกไฟไหม้ ทุกอย่างจึงไม่เหลือหรอ!

ร้าน ต. เง๊กชวน บางลำภู เคยพิมพ์ เคยจำหน่าย เคยมีจริง แต่ไม่รู้หายไปไหนหมด!! เหลือแต่รูปถ่ายนาย ต.เง๊กชวน ถ่ายคู่กับนายทองคำดังที่นำมาลงให้ดูนี้ โดยความเอื้อเฟื้อของคุณไพบูลย์ ธันวารชร ผู้เป็นเหลนของนาย ต.

ลูกหลานของนายทองคำ ได้ไปสืบหา และพบตัวแล้ว เคยอ่าน แต่…ไม่มีเหมือนกัน!!

เมืองเพชรบุรี หรือชาติไทย ควรภูมิใจกับนักเผชิญโชคชาวไทยคนนี้ ควรยกย่องสรรเสริญ และยกเป็นแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นปัจจุบันได้รู้จัก เพราะเขาเป็นสุภาพบุรุษ เป็น “นกนางนวล” ผู้แสวงหา เป็นผู้มีน้ำใจพร้อมมูล

รู้จักตัวเขาเถิด เราจะนับถือเขา และอยากให้ชาติของเรามีคนอย่างนี้บ้าง เพราะเราไม่เคยมีคนอย่างโคลัมบัส, อย่างกัปตัน คุก อย่างอังรี มูโอ ฯลฯ เลย

เรามีแต่คนผู้นิ่งอยู่กับที่ หรือไม่ก็เป็นจำพวก “เกาะขาเก้าอี้” ไม่ยอมไปไหนมากเกินไป

นอนแบ็บอยู่กับบ้านท่าเดียว บ้านเมืองอื่นเขาไปถึงไหนกันแล้วไม่รู้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “ยังไม่พบหนังสือมนุษย์ปลาดชาติไทย 20 สตางค์” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2527


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2562