เกร็ดสถานีรถไฟกรุงเทพ​ (หัวลำโพง) ที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน

สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) (ภาพจาก ห้องสมุดภาพ มติชน, สงวนลิขสิทธิ์)

“หัวลำโพง” ชื่อเรียกติดปากของสถานีกรุงเทพ หัวใจหลักของการคมนาคมทางรางของประเทศไทยมานับร้อยปี สถานีรถไฟแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งด้านสังคม วิถีชีวิตของผู้คน การคมนาคมขนส่ง เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรม ฯลฯ

ในที่นี้จะพาไปทำความเข้าใจกับ “เกร็ด” ความรู้จากสถานีกรุงเทพที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน

ที่ตั้งสถานีกรุงเทพ

เดิมสถานีกรุงเทพตั้งอยู่ ณ จุดที่มีพิธีเปิดการก่อสร้างบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้กับวัดเทพศิรินทร์ ตรงกับตึกบัญชาการการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน เลยขึ้นไปทางทิศเหนือของสถานีปัจจุบันราว 500 เมตร โดยตัวสถานีจะหันหน้าสู่คลองผดุงกรุงเกษม รับกับแนวเส้นตรงออกมาจากพระนครทางทิศตะวันตก ภายหลังเห็นว่าสถานที่คับแคบ และไม่สะดวกต่อการเชื่อมต่อการคมนาคม จึงย้ายโครงการมายังพื้นที่สถานีกรุงเทพในปัจจุบัน

สถานีกรุงเทพไม่ใช่สถานีหัวลำโพง

การย้ายสถานีกรุงเทพมายังพื้นที่ในปัจจุบันทำให้มีอาณาบริเวณใกล้กับสถานีหัวลำโพง อันเป็นจุดตั้งต้นของทางรถไฟสายปากน้ำ ทางรถไฟสายแรกของสยาม โดยมีทางรถไฟขนานเลียบกับคลองถนนตรง ด้วยเหตุที่สถานีรถไฟทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกันมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้คนเรียกสถานีกรุงเทพว่าสถานีหัวลำโพงกันจนติดปาก แต่ในความเป็นจริงแล้วเดิมเป็นคนละสถานีกัน ภายหลังเลิกกิจการรถไฟสายปากน้ำจึงได้มีการรื้อถอนสถานีหัวลำโพงและทางรถไฟสายปากน้ำออกไป และถมคลองถนนตรงกลายเป็นถนนพระรามที่ 4

สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) (ภาพจาก ห้องสมุดภาพ มติชน)

หัวลำโพงหรือวัวลำพอง

แต่เดิมมีความเชื่อกันว่า บริเวณสถานีหัวลำโพงเคยเป็นทุ่งเลี้ยงวัวมาก่อน จึงเรียกย่านนี้ว่า “ทุ่งวัวลำพอง” ภายหลังจึงเรียกเพี้ยนเป็น “หัวลำโพง” บ้างว่าละแวกนี้มีต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ต้นลำโพง ขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเรียกย่านนี้ว่า “ทุ่งวัวลำพอง”

อย่างไรก็ตาม จากพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม ร.ศ. 129 เรื่องการใช้ศัพท์ไทย ศัพท์ฝรั่ง ทรงกล่าวถึงชื่อของ หัวลำโพง-วัวลำพอง ไว้ว่า “…การเช่นนี้มีจนกระทั่งในกรุงเทพฯ เช่น หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยเราพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง นี่เป็นเรื่องที่ควรจะฟาดเคราะห์จริง ๆ…” 

สะท้อนให้เห็นว่า บริเวณแห่งนี้มีชื่อว่า “หัวลำโพง” มาตั้งแต่แรก ไม่ได้เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “วัวลำพอง” แต่อย่างใด ส่วนนาม “หัวลำโพง” มีที่มาจากไหน คงต้องสืบหากันต่อไป

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565