จิม ทอมป์สัน คนอเมริกันที่ได้ฉายาว่า “ราชาไหมไทย”

จิม ทอมป์สัน-ราชาไหมไทย

ก่อนที่ผ้าไหมไทยจะเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลกเหมือนทุกวันนี้นั้น ผ้าไหมไทยอยู่ในสภาพที่ถูกลืมไปแล้ว คงเหลือแต่การทอเพื่อใช้เองในครอบครัว ช่างทอส่วนใหญ่มีอาชีพหลักทางการเกษตร เมื่อว่างจากฤดูเก็บเกี่ยวแล้วจึงหันมาทอผ้าใช้ ส่วนที่จะยึดการทอผ้าเพื่อเลี้ยงชีพนั้นคงไม่มีใครทำกัน เพราะเกือบทุกบ้านก็มีกี่ทอผ้าใช้เองอยู่แล้ว ทั้งราคานั้นผ้าไหมก็แพงกว่าผ้าฝ้ายมาก การดูแลรักษาก็ยากกว่า ดังนั้นความนิยมในการใช้ผ้าไหมจึงลดน้อยลงเรื่อยๆ

ส่วนชาวต่างประเทศเองรู้จักผ้าไหมในนามของ “ผ้าที่มาจากประเทศจีน”

อย่างไรก็ตาม ผ้าไหมยังคงมีความหมายและความสําคัญในระดับท้องถิ่น เพราะยังปรากฏว่าในภาคอีสาน เหนือ หรือในท้องถิ่นที่มีชุมชนลาว และเขมรตั้งบ้านเรือนอยู่ มักจะเห็นกี่ทอผ้าที่ใต้ถุนบ้าน อยู่ทุกครัวเรือน ดังนั้นผลงานทอผ้าของชาวบ้านมักจะมีความงดงามเป็นพิเศษ เพราะทอด้วยความประณีตสำหรับใช้เอง และใช้ในพิธีกรรม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงระหว่างปี 2440-2444 ปรากฎหลักฐานว่า ประเทศสยามได้สั่งซื้อเครื่องแพรไหมจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 6 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงได้มีพระราชดำริให้ทำการส่งเสริมการเลี้ยงไหมอย่างจริงจังในปี 2444

ในการนี้ กระทรวงเกษตราธิการได้จ้างผู้เชี่ยวชาญในการทำไหมชาวญี่ปุ่น โดยมีศาสตราจารย์ โทยาม่า เป็นหัวหน้า เพื่อทำการสํารวจ และทดลองการเลี้ยงไหม มีสถานีทดลองอยู่ที่ ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพฯ ทำการทดลองปลูกต้นหม่อนเลี้ยงไหม และหาวิธีป้องกันแมลง

ส่วนในการทดลองสาวไหม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงในสมเด็จพระพันปีหลวงฝึกหัดใช้เครื่องสาวไหมของญี่ปุ่นชนิดหมุนด้วยมือ และใช้เท้าเหยียบ โดยจ้างหญิงชาวญี่ปุ่นมาเป็นครูสอน

ต่อมาปลายปี 2446 จึงได้ยกฐานะแผนกไหมขึ้นเป็นกรมช่างไหม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิชัยมหิตโรดม เป็นอธิบดี

ปีต่อมา กรมช่างไหม ได้ตั้งสาขาขึ้นที่นครราชสีมา รับสมัครผู้ชายให้มาทำสวนหม่อนเลี้ยงไหม ส่วนผู้หญิงให้ฝึกหัดสาวไหม โดยมีจุดมุ่งหมายว่า เมื่อคนเหล่านี้ได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ แล้วจะนำไปเผยแพร่กับชุมชนของตนต่อไป โรงเรียนสอนวิชาการทำไหมได้ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มีการเปิดสาขาไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะทางแถบภาคอีสาน ส่วนพันธุ์ไหมก็ได้รับการปรับปรุงใหม่เป็นพันธุ์ไหมผสมไทย-ญี่ปุ่น

แม้การส่งเสริมในครั้งนั้นจะมีการแจกจ่ายเครื่องทอผ้าแบบใหม่ พันธุ์ไหมสายพันธุ์ใหม่ แต่ทางการกลับไม่ได้ศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านควบคู่ไปด้วย มุ่งแต่จะส่งเสริมให้การทำไหมกลายเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว งบประมาณจำนวนมากจึงสูญเปล่า เมื่อชาวบ้านไม่ยอมรับวิธีการใหม่ๆ “ที่ไม่ถนัด” ยังคงยึดติดอยู่กับวิธีการดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่สำคัญคือชาวบ้านไม่ยอมรับว่าการทอผ้าคืออาชีพ เนื่องจากอาชีพดั้งเดิมคือการทำเกษตร ส่วนการทอผ้านั้นเป็นงานที่ทำในยามว่างเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ทำให้การส่งเสริมการทำไหมของรัฐบาลต้องล้มเหลว และยกเลิกไปในปี 2455 รวมระยะเวลาในการดำเนินงานเพียง 9 ปีเท่านั้น

จนกระทั่งปี 2479 รัฐบาลได้มีความคิดที่จะส่งเสริม “อาชีพการทำไหม” ขึ้นมาอีกครั้ง โดยจัดตั้งโรงงานสาวไหมขึ้นที่โคราช แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนครั้งก่อน เพราะไม่มีรังไหมป้อนสู่โรงงาน เนื่องจากชาวบ้านเลี้ยงไหมไว้ใช้เองจึงมีจำนวนไม่มาก ไม่มีใครนำรังไหมไปขายให้กับโรงงาน โรงงานนี้ต้องล้มเลิกไปในที่สุด ด้วยเครื่องจักรที่นำเข้ามาจากเมืองนอก แต่ปัญหาก็คือเส้นไหมของไทยเป็นเส้นสั้นและขาดง่าย ผลก็คือเส้นไหมเสียหาย ไม่เหมาะที่จะสาวไหมด้วยเครื่องจักร

จากประวัติความเป็นมาในความพยายามทำให้ผ้าไหมเป็น “สินค้า” จะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยนั้นต้องประสบกับความล้มเหลวเรื่อยมาก็เพราะการไม่พยายามทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทำให้การพัฒนาผิดหลักการทางธรรมชาติพื้นฐาน ทั้งธรรมชาติของช่างทอ และธรรมชาติของเส้นใย

แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือ ผ้าไหมไทยได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศในเวลาต่อมา ด้วยความเพียรพยายาม และความเข้าอกเข้าใจต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน ผสมผสานกับมุมมองทางด้านธุรกิจของฝรั่งคนหนึ่งเท่านั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน ผ้าไหมไทยกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งด้วยฝีมือและความเพียรพยายามของ “จิม ทอมป์สัน” ผู้ที่กล้าประกาศว่า ต่อไปนี้ผ้าไหม ไม่ได้หมายถึงประเทศจีนอีกต่อไป

จิม ทอมป์สัน ไม่ใช่แค่คนที่ทำให้ผ้าไหมไทยฟื้นคืนชีพมาอีกเท่านั้น แต่ยังทำให้ผ้าไหมจากทั่วโลก กลับมาคึกคักอีกครั้ง แหล่งผลิตผ้าไหมทั่วเอเชีย มีชีวิตชีวาขึ้นอย่างมาก ร้านผ้าไหมเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มากกว่า 80 ร้านในช่วงหลังปี 2500 ส่วนมากเกิดขึ้นจากบรรดา “ไฮโซ” ที่พยายามเดินตามเส้นทางที่ จิม ทอมป์สัน ได้วางไว้

จิม ทอมป์สัน เริ่มธุรกิจด้วยการ “เร่ขาย” ผ้าไหม โดยการพาดผ้าไหมไว้กับท่อนแขนเพื่อแสดงให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เข้ามาพักในโรงแรมโอเรียนเต็ลดูสินค้าอย่างใกล้ชิด

หลายคนพูดถึงเทคนิคการขายของ จิม ทอมป์สัน ว่าเป็นนักขายชั้นยอด ครั้งแรกอาจจะไม่อยากซื้อ แต่ถ้าได้ฟัง จิม ทอมป์สัน บรรยายสรรพคุณแล้วมักอดซื้อไม่ได้ ธุรกิจผ้าไหมดีเกินคาด จิม ทอมป์สัน เองก็นึกไม่ถึง ชาวต่างประเทศให้ความสนใจกับผ้าไหมไทยมากขึ้นทุกที เวลานี้ผ้าไหมไทย เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างแล้ว

จิม ทอมป์สัน เปิดตลาดใหม่โดยการจัดนิทรรศการตามที่ต่างๆ ทั่วโลก และได้รับความสนใจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักออกแบบเสื้อผ้าชั้นนำ นิตยสารแฟชั่นชั้นแนวหน้าของโลกอย่าง โวค นำแฟชั่นผ้าไหมของ จิม ทอมป์สัน ขึ้นปก ผู้สื่อข่าวจากหนังสือดังๆ เช่น นิวยอร์ก ไทม์, รีดเดอร์ ไดเจส, ไลฟ์ และอื่นๆ นัดสัมภาษณ์อยู่ตลอดเวลา ขณะนี้ความโด่งดังของ จิม ทอมป์สัน และผ้าไหมไทย แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว

เมื่อความต้องการผ้าไหมมากขึ้น จิม ทอมป์สัน จำเป็นต้องเดินทางเพื่อตระเวนซื้อผ้าไหมจากแหล่งต่างๆ มากขึ้น ไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งการเติบโตของธุรกิจไหมไทยไปได้ จิม ทอมป์สัน เปิดร้านผ้าไหมร่วมกับคนไทยในชื่อ ลาวัณย์ (La One) เพื่อให้เป็นร้านขายผ้าไหมอย่างถาวร ลูกค้าประจำนอกจากจะเป็นชาวต่างชาติแล้ว ยังมีชนชั้นสูงชาวไทย ลูกค้าประจำที่ จิม ทอมป์สัน พูดถึงอย่างชื่นชมบ่อยครั้ง คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

ปลายปี 2491 จิม ทอมป์สัน ได้ก่อตั้งบริษัทอุตสาหกรรม ไหมไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ร่วมหุ้นกับคนไทยเป็นส่วนใหญ่ มีทุนจดทะเบียน 500,000 บาท จำนวนหุ้น 500 หุ้น ราคาหุ้นละ 1,000 บาท จิม ทอมป์สัน ถือหุ้นอยู่จำนวน 90 หุ้น ได้รับเงินเดือนในฐานะผู้บริหารเดือนละ 5,000 บาท ทั้งนี้ตามกฎหมายไทย บริษัทจดทะเบียนจะต้องมีคนไทยถือหุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมด

รายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทส่วนใหญ่เป็นบุคคลชั้นสูงของไทย คือ 1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร 2. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล 3. หม่อมเจ้าวัฒยากร เกษมศรี 4. หม่อมเจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ 5. นายเจมส์ แฮริสัน วิลสัน ทอมป์สัน 6. นายแพง ชนะนิกร 7. นายโทคี แซ่เอี๊ยว

กิจการผ้าไหมดีขึ้นเป็นลำดับ มูลค่าหุ้น และเงินปันผลเพิ่มขึ้น ทุกๆ ปี ยอดขายจากเดือนละ 40,000-80,000 บาท จนมาถึงในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพิ่มเป็นวันละ 40,000-80,000 บาท เมื่อเทียบกับอัตราทองคำบาทละ 400 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 25 สตางค์ นับว่าเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้ จิม ทอมป์สัน ยังได้เปิดร้านสาขาในนิวยอร์กชื่อร้าน ไทยบอก (Thaibok) ซึ่งเป็นร้านที่ทำรายได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวแทนจำหน่ายยังมีอีกที่ สิงค์โปร์ ปีนัง ฮอนโนลูลู สถานภาพของผ้าไหมไทยเมื่อมาถึงตรงนี้เท่ากับว่าได้แจ้งเกิดในตลาดโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผ้าไหมไทยดังเป็นพลุแตกอีกครั้ง เมื่อละครบรอดเวย์เรื่อง The King and I ติดต่อมาเพื่อให้ จิม ทอมป์สัน จัดผ้าไหม สำหรับชุดนักแสดง ทำให้ จิม ทอมป์สัน จำเป็นต้องเดินทางซื้อผ้าไหมที่มีอยู่ในลาว อีสาน และบ้านครัว รวมมูลค่าที่ขายให้กับคณะละครประมาณ 7,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 140,000 บาท

ผ้าไหมไทยจากร้าน จิม ทอมป์สัน ยังเข้าสู่วงการฮอลลีวูดอีกด้วย โดยเป็นเสื้อผ้าของตัวแสดงในเรื่อง Ben Hur การได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับวงการภาพยนตร์ระดับโลกเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจผ้าไหมยิ่งได้รับการตอบรับมากยิ่งขึ้น

และที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ร้าน จิม ทอมป์สัน คือเมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเลือกผ้าไหมจากร้านนี้ ในการตัดฉลองพระองค์ ทั้งสำหรับพระองค์เอง และสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสที่เสด็จเยือนอเมริกา และยุโรปอย่างเป็นทางการในปี 2503 โดยมี ปิแอร์ บัลแมง นักออกแบบเสื้อชั้นนำของโลก ชาวฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งของ จิม ทอมป์สัน เป็นผู้ออกแบบ และตัดถวาย

นั่นทำให้เมื่อ จิม ทอมป์สัน หนังสือพิมพ์ไทย และต่างประเทศ ต่างเรียกเขาว่า “ราชาไหมไทย”

คลิกอ่านเพิ่ม: สฤษดิ์พยายามประจบอะไร? รัชกาลที่ 9 จึงรับสั่งเป็นเรื่องเล็กที่วังจัดการได้เอง

 


บทความนี้คัดย่อจาก ปรามินทร์ เครือทอง. “จิม ทอมป์สัน ‘ราชาไหมไทย’ หรือ ‘สายลับ’”, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2544


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ 14 กุมภาพันธ์ 2565