ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | สาโรจน์ มณีรัตน์ |
เผยแพร่ |
เบื้องหลัง กำเนิด นิตยสาร ต่วย’ตูน วาทิน ปิ่นเฉลียว ผู้ก่อตั้ง เล่า เขียนเยอะถึงขั้นหมดไอเดีย
หากนับเนื่องเอาเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 คือเดือนแห่งการก่อกำเนิดนิตยสาร ต่วย’ตูน คงไม่ผิดนัก เพราะก่อนหน้านั้นนิตยสารต่วย’ตูน ออกรายสะดวกมาก่อน
ระหว่าง พ.ศ. 2509-2510 ไม่เพียง “ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ” และ “วาทิน ปิ่นเฉลียว” ต่างมีความคิดที่จะทําสำนักพิมพ์ ชื่อสำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทิน
ไม่เพียงคนหนึ่งคือ “ประเสริฐ” จะใช้ความเป็นนักเขียนมืออาชีพ ที่เขียนลงในนิตยสารชาวกรุงมาบรรเลงเพลงการเขียน ส่วน “วาทิน” เลือกที่จะใช้ความสามารถจากการเขียนการ์ตูนล้อ ที่เขียนลงในนิตยสารชาวกรุง มาวาดเส้นสายลายเส้น
มองเผิน ๆ เหมือนสำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทินน่าจะนำจุดแข็งทั้ง 2 อย่างมาพิมพ์เป็นหนังสือก่อน แต่สำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทิน กลับเลือกที่จะพิมพ์เรื่องสั้น ด้วยการไปขอต้นฉบับจากบรรดาเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เป็นนักเขียนสมัยนั้น อาทิ รัตนะ ยาวะประภาษ, นพพร บุญยฤทธิ์ และวสิษฐ เดชกุญชร รวมถึงนักเขียนอื่น ๆ อีกมาก ที่ล้วนเป็นต้นฉบับฟรีทั้งสิ้น!
นัยว่างานนี้นอกจากจะได้เรื่องฟรี ค่าเรื่องยังไม่ต้องจ่าย ที่สำคัญ เมื่อหนังสือออกมา คงน่าจะทำให้เขาทั้ง 2 คนมีเงินกินเหล้าเสียหลายวัน กระนั้น ในความเป็นนักเขียน และการ์ตูนิสต์ ก็ทำให้เขาทั้ง 2 คน คิดที่จะเขียนหนังสือออกมาด้วย เพราะขณะนั้นเรื่องสั้นของ “ประเสริฐ” มีแฟนานุแฟนอยู่มากมาย ขณะที่เส้นสายลายเส้นของ “วาทิน” ก็ไม่ใช่ย่อย เพราะมีแฟนานุแฟนติดตามอ่านกันมาก
แต่เมื่อความล่วงรู้ถึง “เฮียชิว” (สุพล เตชะธาดา) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสวนอักษรประพันธ์สาส์น จึงได้บอกเขาทั้ง 2 คนอย่างตรงไปตรงมาว่า “เฮ้ย…มึงไม่ต้องไปทำขายใครหรอก มาขายกูนี่แหละ พวกเอ็งสตุ้งสตางค์ยิ่งไม่มีอยู่ พิมพ์มาเท่าไหร่ กูให้เล่มละบาท ถึงพิมพ์ 3,000 เล่ม ก็ได้ 3,000 บาท”
แทนที่ “ประเสริฐ” และ “วาทิน” จะปฏิเสธ เขาทั้งคู่กลับตอบรับอย่างยินดี จากนั้นเขาทั้งสองจึงรวบรวมเรื่องการ์ตูนต่วยจากชาวกรุงพิมพ์ออกมาเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก
“ปรากฏว่าขายได้ตั้ง 3,000 เล่ม” “วาทิน” หรือ “ลุงต่วย” เล่าอย่างอารมณ์ดี “เลยติดใจพิมพ์ออกมาอีก 2-3 หน จนเป็นหมื่นเล่มเลย ที่นี้ได้ใจ พิมพ์ออกมาเป็นชุด ๆ ทั้งหมด 4-5 ชุด ทั้งของเก่าและของใหม่ ตอนหลังไอเดียหมด ไม่รู้จะเขียนอะไรแล้ว ไอ้เสริฐเลยบอก เอ็งอย่าไปเขียนคนเดียวซิวะ ตั้ง 200 กว่าหน้า งั้นข้าช่วยเขียนด้วย”
“ปรากฏว่าไงรู้ไหม ไอ้เสริฐมันเขียนไม่ไหว เลยบอกว่า งั้นไปขอเรื่องจากนักเขียนดัง ๆ ดีกว่า จะได้ไม่ต้องเขียน เลยไปขอเรื่องจากนักเขียนผู้ใหญ่ที่สนิท ๆ กัน พูดง่าย ๆ ไปไถเขามาน่ะแหละ ก็มีครูอบ ไชยวสุ, นพพร บุญยฤทธิ์, ประมูล อุณหธูป, ประหยัด ศ. นาคะนาท ท่านก็ให้นะ เพราะท่านเมตตาพวกเรา”
“จึงเอามารวมกับการ์ตูนผม และใช้ชื่อเรื่องว่ารวมการ์ตูนต่วย และเรื่องขำขันจากชาวกรุง และไม่ได้ทำแค่เล่มสองเล่มเท่านั้นนะ ทำออกมาจนถึงเล่ม 16”
ทว่าเล่มที่ 13-14 เริ่มถูกทางร้านหนังสือต่อว่า เพราะเวลาลูกค้ามาหาซื้อหนังสือ ต้องพูดชื่อเสียยืดยาว…ทำไปทำมา “วาทิน” จึงตัดเหลือแต่คำว่า “ต่วย’ตูน” เพียงอย่างเดียว เป็น “ต่วย’ตูน” ที่ไม่เพียงเริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 ที่ผ่านมา
หากยังเป็นต่วย’ตูนที่มีนักเขียนในยุคแรก ๆ อย่างทองคำเปลว (ประมูล อุณหธูป), หลวงเมือง, กระจกฝ้า, อ.ลาวัลย์ โชตามระ (จอหงวน, อัมพร หาญนภา), รงค์ วงษ์สวรรค์, ระวี พรเลิศ, และชิน ดนุชา มาช่วยกันเขียน แถมบางครั้งยังมีนักเขียนชั้นครูอย่างครูอบ ไชยวสุ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพลอากาศเอกหะริน หงสกุล มาร่วมแจมด้วย
เหตุที่นักเขียนเหล่านี้มาเขียนให้ “ลุงต่วย” มองเป็นเรื่องคุณูปการทั้งสิ้น แม้ในช่วงหลัง ๆ จะเริ่มมีนักเขียนอย่างปัญญา ฤกษ์อุไร, ชาตรี อนุเธียร, ประเทือง ศรีสุข, วิชัย สนธิชัย, ประจักษ์ ประภาวิทยากร, นายหนหวย, สายชม (ซูม), เพลย์บอย (โกวิท สีตลายัน) หรือแม้แต่ชัยชนะ โพธิวาระ, ฉุ่ย มาลี, พัฒนพงศ์ พ่วงลาภ และนักเขียนอื่น ๆ อีกมาก ที่มาเขียนให้ “วาทิน” ก็ยังมองว่าเป็นคุณูปการทั้งสิ้นเช่นกัน
แต่ลึกลงไปในใจ “วาทิน” ทราบดีว่า…ต่วย’ตูนเดินทางมานานแล้ว จะมาหยุดอยู่แค่นักเขียนรุ่นเก่าอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนด้วย เพราะนักเขียนรุ่นเก่ารังแต่จะตายจากไป แต่สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่กำลังจะเบ่งบาน ฉะนั้น ทางเดียวที่จะทำให้นิตยสารต่วย’ตูนอยู่ยืนยาวตลอดกาล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ให้ได้!
“เชื่อไหม แม้ผมจะอายุขนาดนี้ ผมยังอ่านงานของนักเขียนรุ่นใหม่อยู่เลย อ่านแล้วก็เกิดความฟิต อ่านแล้วทำให้ตัวเองมีแรงทำงานอีกเยอะ จนบางครั้งนึกไปถึงนักเขียนรุ่นเก่า ๆ ที่ส่งเรื่องมาให้ ผมอยากให้เขาเขียนเรื่องแบบนักเขียนรุ่นใหม่บ้าง”
เพราะโลกทุกวันนี้มันพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ!
“เราในฐานะบรรณาธิการ จึงต้องพัฒนาตัวเองเช่นกัน หาไม่ เราจะกลายเป็นคนแก่ที่ตกสมัย ที่เอาแต่เรื่องเก่า ๆ มาบอกเล่าให้ผู้อ่านฟัง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว เรื่องใหม่สำหรับพวกนักเขียนใหม่ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ดี หลายเรื่อง เราต้องหัดฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่บ้าง ไม่เช่นนั้น เราจะเป็นบรรณาธิการที่ไม่มีประโยชน์อันใดเลย”
คงจะจริง แม้ทุกวันนี้ [พ.ศ. 2549 – กองบก.ออนไลน์] “วาทิน” หรือ “ลุงต่วย” จะอายุล่วงเข้าปัจฉิมวัยที่ 75 ปี แต่ยังเป็น 75 ปี ที่ยังทำหน้าที่บรรณาธิการ คอยอ่านต้นฉบับ ตอบจดหมาย และคัดสรรเรื่องลงในนิตยสารต่วย’ตูนอยู่เสมอ
เพราะเขาคิดว่าชีวิตเขาเติบโต มีชื่อเสียง เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ทุกวันนี้ เพราะตัวหนังสือ ฉะนั้น ตัวหนังสือจึงมีบุญคุณสำหรับเขามาก
แล้วเรื่องอะไรเขาจะกล้าเนรคุณกับตัวหนังสือ เพราะตัวหนังสือทำให้เขาเป็นเขามาทุกวันนี้?
อ่านเพิ่มเติม :
- “ผีกินหัว” การ์ตูนเล่มละบาท เรื่องสวาทถึงศิลป์ในการ์ตูนผี-ผัวเมีย ถูกตีตรา “การ์ตูนไพร่”
- รู้จักครูผู้ตี “พระองค์เจ้า” ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตอาจารย์ใหญ่สมัยก่อน 2475
- เส้นทางสู่จุดกำเนิด “ดิสนีย์” นักวาดการ์ตูน(เคย)ไส้แห้ง ปั้นโลกบันเทิงอมตะจนยิ่งใหญ่
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “35 ปี ต่วย’ตูน 75 ปี วาทิน ปิ่นเฉลียว ‘ผมจะไม่เนรคุณตัวหนังสือ'” เขียนโดย สาโรจน์ มณีรัตน์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2565