รู้จักครูผู้ตี “พระองค์เจ้า” ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตอาจารย์ใหญ่สมัยก่อน 2475

ครูอบ ไชยวสุ อาจารย์ และนักเขียนผู้ท้วงติงการใช้ภาษาไทย
ครูอบ ไชยวสุ อาจารย์ และนักเขียนผู้ท้วงติงการใช้ภาษาไทย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2526 ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพประกอบเนื้อหา ภาพถ่ายห้องนั่งเล่น )

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้ จัดทำขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ศิลปวัฒนธรรม” ซึ่งได้ไปขอความเมตตาจากครูอบ ไชยวสุ หลายครั้งที่บ้านบางขุนนนท์ ครั้งสุดท้ายครูอบได้ตรวจต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในนิตยสารด้วยตัวท่านเองด้วย

เนื้อหาส่วนนี้เรียบเรียงใหม่โดยคัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ครูอบ ไชยวสุ ‘ฮิวเมอริสต์’ ‘ผมเจ็บใจภาษาไทย'” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2526

Advertisement

ประวัติครูอบ 

ครูอบ เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2444 ที่ตำบลคลองสำเหร่ ธนบุรี สอบไล่ได้ชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ชาย (สอบ ม. 8 พ.ศ. 2462) พ.ศ. 2463 บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร

สอบวิชาครูชุด ป.ม. ได้ แล้วย้ายไปสอนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2465

พ.ศ. 2468 ถูกสั่งไม่ให้สอนประจำชั้น เนื่องจากทำโทษองค์ชายองค์หนึ่งเข้า

พ.ศ. 2469 ย้ายจากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ไปสอนที่โรงเรียนสตรีเบญจมราชาลัย สอนวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมปีที่ 7 และ 8

พ.ศ. 2472 ย้ายจากโรงเรียนสตรีเบญจมราชาลัย ไปสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์

พ.ศ. 2474 มีครูสตรีจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แทนได้ จึงย้ายไปสอนที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

พ.ศ. 2475 ลาออกจากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เนื่องจากครูใหญ่ให้สอนวิชาภาษาไทย ซึ่งตนเองไม่ถนัด ครูอบเกรงว่านักเรียนจะสอบตก เพราะมีเวลาสอนเพียง 3 เดือนก็จะถึงเวลาสอบไล่ และการสอบไล่มัธยม 8 ขณะนั้นถือคะแนนวิชาภาษาไทยเป็นสำคัญ ถ้าภาษาไทยสอบไม่ได้คะแนนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ตรวจวิชาอื่น ถือเป็นสอบตกหมด

พ.ศ. 2477 เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ โดยคุณมานิตย์ วสุวัต เป็นผู้ชักชวนและคลุกคลีอยู่กับวงการหนังสือพิมพ์มาโดยตลอด ไม่กลับไปสอนหนังสืออีกเลย ต่อมามีเหตุต้องย้ายจากหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ไปอยู่ค่ายสีลมและบางขุนพรหมตามลำดับ จนกระทั่งได้ทำหนังสือพิมพ์สยามรัฐรุ่นบุกเบิก ในคณะ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายวิลาศ มณีวัต, นายรำคาญ (ประหยัด ศ. นาคะนาถ) ฯลฯ โดยมีคุณสละ ลิขิตกุล เป็นบรรณาธิการ

ภาพถ่าย ครูอบ ไชยวสุ อาจารย์ และนักเขียนผู้ท้วงติงการใช้ภาษาไทย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2526)

ชีวิตการเป็นครู

…ในชีวิตตอนเป็นครูของครูอบ ไชยวสุ นี้ ครูอบเล่าว่า “ครั้นผมย้ายมาอยู่โรงเรียนแห่งที่สอง ผมสอนชั้นมัธยมหนึ่ง มีพระองค์เจ้า, หม่อมเจ้า, หม่อมราชวงศ์, หม่อมหลวง เรียนอยู่หลายองค์ชาย หลายท่านชาย หลายคุณชาย

ครั้งหนึ่งมีงานทำบุญอายุของเสด็จพ่อมีแจกของชำร่วยเป็นตลับบรรทัดเมตร ซึ่งตัวบรรทัดทำด้วยเหล็กพืดบางอย่างลานนาฬิกา พอกดปุ่มก็พุ่งปร๊าดออกมาเอง พระองค์เจ้าองค์นั้นทรงเอามาเล่นในเวลาเรียน ห้ามเท่าไรก็ไม่ทรงเชื่อ จะเรียกมาตีพระหัตถ์ก็เป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะอาจารย์ใหญ่สั่งไว้ว่า

จะตีลูกเจ้านายต้องขออนุญาตก่อน ถ้าเป็นลูกคนธรรมดาสามัญละก้อว่าไปเถอะ

ที่เล่าเช่นนี้มิได้เป็นการล่วงเกินท่านอาจารย์ที่เคารพ เพราะท่านทำถูกแล้ว โดยในเวลานั้นเป็นสมัยราชาธิปไตย ครั้นผมมีเรื่องจะต้องลงโทษลูกเจ้านาย นำความไปขออนุญาตอาจารย์ใหญ่ก็ขอต่อรองลดจำนวนทีที่จะตีลงมา จนกระทั่งที่สุดไม่ได้ตี

โดยอาจารย์ใหญ่ว่า ท่านคงทรงกลับพระทัยหายดื้อเลิกขัดคำสั่งแล้วล่ะ

ผมจึงปล่อยให้ทรงเล่นตลับบรรทัดเมตรนั้นต่อไป ประเดี๋ยวเดียวก็ได้เรื่อง บรรทัดเหล็กลานพุ่งปร๊าดเฉี่ยวเอาพระปราง (แก้ม) พระองค์เจ้าเข้า เลือดออกเป็นสีแดง แต่ท่านก็พระทัยเด็ด ไม่ยกทรงโศกาดูรแต่ประการใด เพียงแต่ทรงขออนุญาตออกไปนอกห้อง ตรงไปหาอาจารย์ใหญ่เลย

อาจารย์ใหญ่รีบรุดมาเอ็ดตะโรเอาผมเข้า ปรับเอาเป็นความผิดของผมที่ไม่ดูแลให้เหล็กลานพุ่งห่างห่างปรางพระองค์เจ้าหน่อย แล้วพาพระองค์ท่านลิ่วไปส่งที่วังทันที

อาจารย์ใหญ่จะไปทูลเสด็จพ่อของพระองค์เจ้ายังไงไม่รู้ ที่วังให้รถยนต์มารับตัวผมไปเฝ้า ผมก็กราบทูลเหตุการณ์ว่า องค์ชายเอาออกมาเล่นในเวลาเรียน ห้ามเท่าไรก็ไม่ทรงเชื่อฟัง เสด็จพ่อขององค์ชายรับสั่งว่า ทำไมไม่ตีเข้าล่ะ

ผมกราบทูลตอบว่า ‘ท่านอาจารย์ใหญ่สั่งไม่ให้ดี’ เสด็จพ่อขององค์ชายรับสั่งไว้ว่า

‘ทีนี้ถ้าซน ไม่ตั้งใจเรียน ถ้าไม่เชื่อฟังให้ลงโทษทันที’

ผมก็เลยกลายเป็นวีรบุรุษที่ตีพระองค์เจ้าองค์นั้นได้โดยไม่ต้องขออนุญาตอาจารย์ใหญ่ เจ้านายองค์อื่นเห็นเช่นนั้นก็เลยชักเกรงปฏิบัติองค์ทรงเชื่อฟังดีขึ้น

อาจารย์ใหญ่เห็นท่าจะไม่เข้าที ครูคนอื่นจะพลอยเอาอย่างผมไปด้วย ก็เลยปลดผมออกจากชั้น มอบงานธุรการอื่นในโรงเรียนให้ทำแทนการสอนประจำชั้นเสียเลย”

“เจ็บใจภาษาไทย ผมก็ลาออกเท่านั้นเอง”

โดยความเป็นจริงแล้วครูอบต้องการเป็นครูมากกว่าการประกอบอาชีพอื่น แต่เมื่อเหตุการณ์บังคับก็ต้องผันชีวิตมาสู่อีกรูปแบบหนึ่ง คือเขียนหนังสือ โดยเฉพาะเขียนเรื่องทักท้วงเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ครูอบเล่าถึงช่วงหลัง ๆ ของการเป็นครูก่อนที่จะลาออกมาเขียนหนังสือว่า

“ต่อมาผมถูกย้ายไปอยู่โรงเรียนผู้หญิง เหตุการณ์ในโรงเรียนผู้หญิงไม่ค่อยจะมีอะไรโลดโผน เพราะนักเรียนหญิงไม่ค่อยจะมีฤทธิ์ ถ้าจะมีบ้างก็นิยมไปแผลงกับครูผู้หญิงด้วยกันเอง ครูผู้ชายไม่ได้เห็นฤทธิ์

ผมสอนคำนวณชั้นเจ็ด, ชั้นแปด อยู่แปดปี พอมหาวิทยาลัยผลิตครูผู้หญิงที่จะสอนคำนวณออกมาได้ ผมก็ถูกย้ายไปอยู่โรงเรียนผู้ชาย ซึ่งเป็นโรงเรียนสุดท้ายในการมีอาชีพเป็นครูของผม

ผมย้ายไปในตอนต้นเทอมที่สามของปี พอรายงานตัวกับอาจารย์ใหญ่โรงเรียนแห่งใหม่ อาจารย์ใหญ่ก็จัดให้ผมไปสอนภาษาไทยชั้นแปดทันที ผมบอกว่า

ขอสอนคำนวณ เพราะได้สอนอยู่แล้วถึงแปดปี ถ้าจะให้สอนภาษาไทย ก็ขอให้เป็นต้นปีหน้าเถิด เพื่อเตรียมการสอนให้พร้อมก่อน ถ้าให้สอนต้นเทอมที่สาม ยังไม่กล้าจะรับทำได้ กลัวเด็กจะสอบตก…”

เพราะภาษาไทยชั้นแปดขณะนั้นถือเป็นคะแนนสำคัญ ถ้าตกภาษาไทยก็นับเป็นตกหมด อาจารย์ใหญ่ว่า ครูคำนวณมีแยะแล้ว ประจำกันแขนงละคนอยู่ทีเดียว จะหาแขนงที่ห้ามาให้สอนก็ไม่มีในหลักสูตร

ก็เห็นแต่งหนังสือลงพิมพ์อยู่ ทำไมถึงจะสอนภาษาไทยไม่ได้

ผมเรียนอาจารย์ใหญ่ว่า ไม่เหมือนกัน การแต่งหนังสือลงหนังสือพิมพ์กับการสอนภาษาไทย ไม่ใช่อย่างเดียวกัน เป็นแต่อาจจะสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันได้บ้างนิดหน่อยเท่านั้น

อาจารย์ใหญ่บอกว่า ถ้าคุณสอนภาษาไทยไม่ได้ ผมก็ไม่มีอะไรให้คุณทำ ผมตรวจดูภาวะความเป็นไปของตัวเองเห็นว่า อาจารย์ใหญ่ไม่มีอะไรให้ทำนั้น แล้วเฉยเฉยเสียให้เรานั่งกินเงินเดือนอยู่เปล่าเปล่าก็ดีเหมือนกัน เกรงแต่ว่าอาจารย์ใหญ่จะไม่ทำเหมือนใจเรา ประเดี๋ยวก็จะไปบอกกระทรวง ๆ ว่าเราทำอะไรไม่เป็นเรื่องก็จะไปกันใหญ่

ผมจึงเรียนว่า ถ้าไม่มีอะไรให้ผมทำ ผมก็ขอลาออก เท่านั้นเอง แล้วผมก็กระโจนออกมาจากความเป็นครู มาเขียนหนังสือขาย”

ส่วนสาเหตุที่ครูอบต้องมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทย ทักท้วงเรื่องการใช้ภาษาไทยนั้น ครูอบ เล่าว่า “ก็ผมเจ็บใจภาษาไทย ที่ทำให้ผมต้องลาออกจากครู เมื่อมาเขียนหนังสือก็จึงต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทย เพื่อให้คนใช้ให้ถูกต้อง ก็เท่านั้นเอง…”

ผลงานและนามปากกา

นอกจากงานหนังสือพิมพ์แล้ว ก็มีบทความ เรื่องสั้นนับจำนวนไม่ถ้วน เขียนเรื่องยาวไว้เรื่องหนึ่งชื่อไอ้เปียด้วน และผลงานที่ภูมิใจมากคือเรื่อง การสะกดให้ถูกต้องตามพจนานุกรม ซึ่งรวมเล่มและตีพิมพ์แล้วหลายครั้ง

งานเขียนส่วนใหญ่ใช้นามปากกาว่า ฮิวเมอริสต์ ซึ่งเป็นนามปากกาที่ใช้มาตั้งแต่สมัยหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ โดยคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา เป็นคนเสนอให้ใช้นามปากกานี้

ส่วนอีกนามปากกาหนึ่ง ใช้ว่า L.ก.ฮ. ซึ่งใช้มาตั้งแต่หนังสือพิมพ์สยามสมัย เมื่อ พ.ศ. 2495

พ.ศ. 2526 ยังเขียนหนังสือลงพิมพ์ในลลนา รายปักษ์ และลงในหนังสือ ต่วย’ตูน รายเดือนอีกด้วย

คลิกอ่านเพิ่มเติม : รู้จัก “มอรันต์” บัณฑิตจากออกซฟอร์ด “ครูฝรั่ง” ของเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2562