“ผีกินหัว” การ์ตูนเล่มละบาท เรื่องสวาทถึงศิลป์ในการ์ตูนผี-ผัวเมีย ถูกตีตรา “การ์ตูนไพร่”

การ์ตูนเล่มละบาท เรื่อง ผีกินหัว โดย โต้ด โกสุมพิสัย สำนักพิมพ์สามดาว
ภาพปกหลัง การ์ตูนเรื่อง "ผีกินหัว" โดยสำนักพิมพ์สามดาว (ภาพจาก "การ์ตูนแห่งชาติ ชนชั้น ชีวิต)

การ์ตูน เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสิ่งพิมพ์หรือภาพเคลื่อนไหว และคงปฏิเสธได้ยากยิ่งว่า ผลงานการ์ตูนที่เป็นเอกลักษณ์ในดินแดนขวานทองนั้น ต้องมีชื่อ “การ์ตูนเล่มละบาท” (สมัยต่อมาเป็น 5 บาท+) หรือการ์ตูนที่เล่าเรื่องผีซึ่งเคยรุ่งเรือง มีเรื่องดังคือ “ผีกินหัว” ถึงกับกล่าวกันว่า ในช่วงที่ได้รับความนิยม การ์ตูนเหล่านี้วางแผงกันรวมแล้วเป็นหลักล้านเล่มต่อเดือน

ก่อนจะกล่าวถึงการ์ตูนกลุ่มนี้ อาจต้องเกริ่นถึงบริบทสภาพแวดล้อมของการ์ตูนในภาพรวมก่อน ว่ากันว่า ภาพร่างอย่างคร่าวๆ หรือที่เรียกกันว่าภาพสเก๊ตช์ (Sketch) วาดแล้วนำไปเป็นแบบแกะลายไม้ก่อนขึ้นแท่นพิมพ์ปรากฏขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1721 ก่อนที่จะถูกตั้งชื่อว่าเป็น รูป “การ์ตูน” กล่าวได้ว่า “รูปการ์ตูน” มีอายุยาวนานกว่า 300 ปีแล้ว

“การ์ตูน” ในช่วงแรกเริ่มไม่ได้ถูกใช้งานสำหรับเป็นสื่อสำหรับเด็กหรือเยาวชน ดังเช่นการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมองกัน แต่การ์ตูนถูกใช้เป็นรูปในจินตนาการที่เรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ ด้วยการสมมติคนให้เป็นตุ๊กตาที่เคลื่อนไหวได้ ก่อนการวาดรูปเหมือนคนจริงๆ จะเกิดขึ้นภายหลัง (ไกรฤกษ์ นานา, 2561)

ความเป็นจริงแล้ว การ์ตูนเป็นเหมือนสื่อหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มงานศิลปะที่เป็นสากล ไม่ผูกกับชนชาติ ชนชั้น หรือลักษณะทางประชากรอื่นๆ แต่บริบทอื่นๆ กลายเป็นสิ่งที่กำหนดมุมมองและการบริโภคการ์ตูนไป ดังเช่น การ์ตูนเล่มละบาทในไทยซึ่งเมื่อพิจารณาจาก “ราคา” และลักษณะ “เนื้อเรื่อง”

คนจำนวนไม่น้อยจึงมักโจมตีว่าเป็น “ศิลปะราคาถูก” หรือข้อหารุนแรงถึงขั้น “ศิลปะราคาถูกของศิลปินชั้นต่ำ” ทั้งยังตีตราว่าเป็น “การ์ตูนไพร่”

หากจะกล่าวย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดการ์ตูนเล่มละ 1-5 บาท ขนาดกะทัดรัด จับถนัดมือ ลายเส้นง่ายๆ และมักเล่าเรื่องผีๆ หรือผัวๆ เมียๆ นิรวาณ คุระทอง ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติย่อการ์ตูนไทย” บรรยายว่า การ์ตูนที่วางขายเล่มละบาทถูกพบเห็นบนแผงหนังสือในไทยก่อน พ.ศ. 2520 ไม่นานนัก แต่ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะระบุว่า สำนักพิมพ์แห่งใดเป็นผู้เริ่มต้นกระทำขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม ยังพอจะบอกได้ว่าผลงานของสำนักพิมพ์ไหนได้รับความนิยม

“การ์ตูนเล่มละบาทของสำนักพิมพ์บางกอกสาส์นดูจะโดดเด่น แซงหน้าเล่มละบาทจากสำนักพิมพ์คู่แข่งเจ้าอื่นๆ ในยุคเดียวกัน ว่ากันว่าในยุครุ่งโรจน์แล้ว เดือนนึงมีการ์ตูนเล่มละบาทจากหลายๆ เจ้า วางแผงนับล้านเล่มเลยทีเดียว”

ด้วยลักษณะราคาและผลงานลายเส้นที่เรียบง่ายเฉพาะตัว นั่นจึงทำให้คนชนชั้นแรงงานเข้าถึงได้ง่าย และกลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผลงานชนิดนี้ เมื่อพวกเขาสามารถหยิบจ่ายเงินเท่าที่รับได้แลกกับความบันเทิงจากการ์ตูนกลุ่มนี้ แทนที่การ์ตูนจากต่างประเทศที่ราคาขายแพงกว่าหลายเท่า

เมื่อพิจารณาจากลักษณะผลงานในเล่มที่มักเล่าเรื่องผี หรือเรื่องรักใคร่แบบผัวเมียในครัวเรือนชาวบ้าน ภาพวาดด้วยลายเส้นที่เฉพาะตัว (หากพูดตรงไปตรงมา มีเสียงวิจารณ์เสมอว่า “ลายเส้นอุบาทว์”) ผลงานการ์ตูนกลุ่มนี้จึงมักถูกวิจารณ์สบประมาทว่าไม่มีสาระ เนื้อหาตื้นเขิน

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ศึกษาและวิจารณ์ผลงานการ์ตูนจากทั่วโลก และผู้เขียนหนังสือ “การ์ตูนแห่งชาติ ชนชั้น ชีวิต” แสดงความคิดเห็นว่า คำวิจารณ์เหล่านี้ไม่ได้ตรงกับความเป็นจริงเสียทั้งหมด การ์ตูนเล่มละห้าบาทช่วงหลังก็มีลายเส้นที่น่าสนใจ ยิ่งเมื่อมีกระแสนิยมของโบราณ การ์ตูนไทยโบราณกลุ่มเล่มละบาทก็กลายเป็นว่า เป็นของมีรสนิยมมากขึ้น

สำหรับเนื้อหาในการ์ตูนนั้น นายแพทย์ประเสริฐ มองว่า ผลงานที่เล่าแบบเล่มเดียวจบจะพบว่า เนื้อเรื่องไม่ถึงกับตื้นเขิน แต่เล่าแบบมีผูกปมยอกย้อนบ้าง แล้วคลี่คลายอย่างรวดเร็ว ให้จบได้แบบกระชับ เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้อ่านที่เข้าถึงแล้ว ย่อมสมเหตุสมผลว่า กลุ่มแรงงานก็ไม่ได้มีเวลาระหว่างวันมากเหมือนชนชั้นกลาง การใช้เวลา “อ่าน” เพื่อความบันเทิงด้วยการเปิดการ์ตูนเล่มละห้าบาทก็ถือว่าสอดคล้องกับพฤติกรรมและบริบทของชนกลุ่มนี้ ขณะที่แก่นของเนื้อหาก็เน้นไปที่ “ความสนุก” มากเป็นพิเศษ

เนื้อหาที่อาจพอยกเป็นตัวแทนการ์ตูนเล่มละห้าบาทได้เล่มหนึ่ง ในที่นี้ขอหยิบยกเรื่องที่นายแพทย์ประเสริฐ ใช้เล่าเป็นเล่มแรก นั่นคือเรื่อง “ผีกินหัว” โดย โต้ด โกสุมพิสัย สำนักพิมพ์สามดาว

“เรื่องนี้เล่าเรื่องแก๊งตัดเศียรพระไปขายพ่อค้าชาวต่างประเทศ พลันที่เศียรพระหลุดออก ผีร้ายลายเส้นการ์ตูนฝรั่งก็ออกอาละวาดทันที ดูขันตาไม่ไปด้วยกันกับลายเส้นชาวบ้านไทยในชนบทยิ่งนัก

จึงว่าอ่านแล้วสนุกได้ทุกครั้ง

ผีร้ายที่หลุดออกมาจากเศียรพระไล่กินหัวคนตามชื่อเรื่อง มันสิงร่างของโจรตัดเศียรพระนั่นเอง เมื่อโจรตัดเศียรพระกลับบ้านไปหาเมีย มันให้ใช้เมียหลอกล่อเหยื่อมาให้กินหัวอีก เหยื่อรายหนึ่งกลับเป็นตำรวจที่กำลังทำคดีฆาตกรรมตัดหัวในวัด อีกทั้งยังเคยมีสัมพันธ์สวาทกับเมียโจรอีกต่างหาก เมียโจรจึงต้องต่อสู้ครั้งสุดท้ายเพื่อตัดสินชะตาเฟมินิสต์ (Feminist-สตรีนิยม) ระดับชาวบ้าน”

เมื่ออ่านคำบรรยายพล็อตเรื่อง “ผีกินหัว” โดยนายแพทย์ประเสริฐแล้ว คอหนังอาจยิ้มมุมปากแล้วคิดว่านี่เป็นพล็อตหนัง “คัลท์” เรตอาร์ หรือหนังสยองขวัญที่แสบสันใช่เล่นเลย ยิ่งเมื่อบรรยายถึงลายเส้นที่พูดถึงกรรมวิธีเลื่อยเศียรพระจนขาดอีก ในสมัยนี้วงการแผ่นฟิล์มในตะวันตกมีกลุ่มแฟนที่ชื่นชอบผลงานลักษณะนี้เป็นล่ำเป็นสัน น่าจะได้รับความสนใจไม่น้อย

ภายหลัง การ์ตูนเล่มละบาท อาจต้องปรับตัวกันบ้าง เมื่อดูจากบริบททางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว ชนชั้นแรงงานสมัยนี้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัย ทั้งโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ ที่สามารถรับข่าวสารและสื่อบันเทิงได้แบบที่ชนชั้นกลางเข้าถึง

ในทางสังคมและการเมืองก็ต่างรู้ดีว่า พวกเขารับรู้เรื่องราวในสังคมมากกว่ายุคก่อนหน้านี้ การสร้างผลงานบันเทิงหรือศิลปะเพื่อขายกลุ่มเป้าหมายนี้ก็ต้องพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. “ประวัติ และอิทธิพล ของรูปล้อการเมืองสมัยรัชกาลที่ 5” ใน, ศิลปวัฒนธรรม .ปีที่ 39 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2561

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. การ์ตูนแห่งชาติ ชนชั้น ชีวิต. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2562