เมื่อ “แหม่มแอนนา” เล่นบทนักเจรจาความเมือง บ่นทำงานหนัก แต่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน

แอนนา เลียวโนเวนส์

ภาพลักษณ์ของแอนนาถูกมองเฉพาะในฐานะ “ครูฝรั่งวังหลวง” มีหน้าที่ในการถวายพระอักษรภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรส พระราชธิดา และเจ้าจอมหม่อมห้าม ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมาย แต่ยังมีงานรองอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นบทบาทที่ได้รับการกล่าวถึงน้อย และถูกมองข้ามไป

แม้แต่ในหนังสือของแอนนาเองก็ไม่ได้กล่าวถึงหน้าที่สำคัญในฐานะเลขานุการส่วนพระองค์มากนัก จนเมื่อมีการอ้างถึง “การเข้านอกออกใน” ผิดวิสัยของ “ครู” จึงทำให้แอนนาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ซุกซน” หรือ “จุ้นจ้าน”

แต่ความ “จุ้นจ้าน” นี้กลับปรากฏหลักฐานชัดเจนในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงใช้สอยให้แอนนาปฏิบัติภารกิจสำคัญของบ้านเมืองจนเกินงามของผู้หญิงในสมัยนั้น โดยเฉพาะบุคคลที่แอนนาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมายนั้น ล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีอำนาจอิทธิพลต่อความเป็นไปของสยามประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกงสุลอังกฤษ โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลฝรั่งเศส กาเบรียล โอบาเรต์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หมอบรัดเลย์ นักหนังสือพิมพ์ ผู้ที่มักจะได้รับข่าวสารลับ ๆ อย่างน่าสงสัย รวมไปถึงพระสหายเก่าอย่างเซอร์จอห์น เบาริ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งแอนนาเคย “วิ่งเต้น” ให้ทรงแต่งตั้งเป็นราชทูตไปเจรจาความเมืองกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แต่ทรงคัดค้านด้วยเหตุที่ว่า เป็นกิจการของสยามเอง ไม่น่าจะวางใจให้ฝรั่งต่างชาติดำเนินการ และเบาริ่งแก่เกินไป

(ภาพประกอบเนื้อหา) สมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้แต่งทูตมาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อ พ.ศ. 2406 และได้ทูลเกล้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลยอง ดอนเนอร์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2410 เพื่อทรงรับราชทูตฝรั่งเศสอีกคณะหนึ่ง จึงทรงสายสะพายเลยอง ดอนเนอร์พร้อมดารา เพื่อเป็นเกียรติยศแด่ชาวฝรั่งเศส (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพเหตุการณ์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์)

ในสำเนาพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 90 และ 96 ที่นำมาตีพิมพ์ในครั้งนี้ ได้เปิดเผยบทบาทของแอนนาอย่างชัดเจนอีกครั้ง ในฐานะผู้นำสาร และนักเจรจาประจำราชสำนัก ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบันเลยทีเดียว

ข้อความในฉบับที่ 90 ที่ว่า “ท่านเจ้าคุณรู้สึกขอบใจเธอมากที่เธอได้ช่วยเหลือเป็นอย่างดีเกี่ยวกับเรื่องมิสเตอร์น็อกซ์” หรือข้อความในฉบับที่ 96 ที่ว่า “เซอร์จอห์นเข้ามาไกล่เกลี่ยด้วยดีตามที่เธอวิ่งเต้นช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว” ทำให้นึกย้อนไปถึงบางฉากบางตอนใน The King and ที่แอนนาต่อปากต่อคำกับ “นายจ้าง” ของเธอ แม้เนื้อหาสาระอาจจะไม่ยึดข้อเท็จจริงเนื่องเพราะเป็นเพียงบทภาพยนตร์ แต่บรรยากาศและความรู้สึกคงเข้าใกล้ความจริงไปได้มากทีเดียว เมื่อพิจารณาจากหลักฐานพระราชหัตถเลขาที่ปรากฏนี้

สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในขณะนั้นอยู่ในภาวะล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีกงสุลฝรั่งเศสคนใหม่คือ กาเบรียล โอบาเรต์ (M. Gabriel Aubaret) ที่มีนโยบายข่มขู่คุกคามรัฐบาลสยามตลอดเวลา ด้วยแสนยานุภาพของเรือปืน “มิตราย” (Mitraile) เมื่อแรกเข้าสู่สยามก็เปิดช่องปืนใหญ่ข้างเรือพร้อมยิง อันเป็นการจงใจฝ่าฝืนธรรมเนียมสากลอย่างยิ่ง

ภารกิจของโอบาเรต์คือการแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ เพื่อยึดเขมรไปจากสยาม รวมไปถึงลาวถ้าเป็นไปได้ ซึ่งฝรั่งเศสได้วาดฝันไว้ว่านั่นคือเส้นทางเข้าสู่จีนทางตอนใต้ แน่นอนว่าทางฝ่ายอังกฤษซึ่งขณะนั้นครอบครองจีนทางตะวันออกไว้แล้ว ย่อมเห็นถึงภัยในครั้งนี้ จึงต้องขัดขวางด้วยการช่วยเหลือให้คำปรึกษาฝ่ายสยามอย่างลับ ๆ ด้วยคำแนะนำว่า กรณีเขมรนั้นควรให้มีเอกราชสมบูรณ์ มีการกำหนดเขตแดนชัดเจน ซึ่งเป็นการ “ตีกัน” ฝรั่งเศสอย่างชัดเจน

เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอความช่วยเหลือจากอังกฤษในกรณีฝรั่งเศสนี้ โดยผ่านกงสุลน็อกซ์ ซึ่งกงสุลน็อกซ์ก็ทราบดีว่าความเคลื่อนไหวใด ๆ ของตน ล้วนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในฐานะตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งโดยไม่จำเป็นระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง กงสุลน็อกซ์เลือกที่จะให้คำปรึกษากับทางสยามโดยไม่เคลื่อนไหวใด ๆ มากไปกว่านี้ และเสนอให้ฝ่ายสยาม “มิให้ยินยอมต่อการแก้ไขใด ๆ”

สำเนาพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 90 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบขอบใจกงสุลน็อกซ์ในเรื่องนี้หลายครั้ง และยังมีเรื่อง “เหล้านอก” ที่กงสุลโอบาเรต์ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับรัฐบาลสยามไว้ ซึ่งได้ทรงขอบใจกงสุลน็อกซ์ที่ช่วยเหลือรัฐบาลสยามในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

“ข้าพเจ้าขอขอบใจอย่างยิ่งในการที่ท่านได้แนะนำช่วยเหลือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ สมุหพระกลาโหม ในเรื่องสุราเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส..”

ความวุ่นวายเรื่อง “เหล้านอก” นี้ เดิมรัฐบาลสยามถือเป็นสินค้าต้องห้าม แต่ปรากฏว่ากงสุลโอบาเรต์ได้ทำสัญญาขึ้นลับ ๆ กับหลวงบริบูรณสุรา โดยมีสาระสำคัญในการเปิดเสรี “เหล้าฝรั่งเศส” ขึ้น อันเป็นสิทธิ์ขาดที่กงสุลฝรั่งเศสสามารถขายได้ตามอำเภอใจ

เรื่องนี้หมอบรัดเลย์สืบรู้เข้า จึงนำสัญญานั้นมาเปิดเผยต่อสาธารณะอันเป็นการประจานกงสุลฝรั่งเศสอย่างไม่ไว้หน้าในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2408 ซึ่งมีข้อความดังนี้ “ข้อที่ 1 ว่า, เล่าฝรั่งเศศขายได้ไม่มีคัดขวางอะไร, คนที่รับพนักงานขายนั้น, อากรสุราไม่ห้ามปราม ต้องให้ขายได้ตามอำเภอใจ.”

ภายหลังรัฐบาลสยามจึงมีการคัดค้านเรื่องนี้ขึ้นด้วยความช่วยเหลือของหลาย ๆ ฝ่าย แน่นอนว่าสัญญาฉบับนี้ทำให้ประเทศต่าง ๆ เสียเปรียบในทางการค้ากับสยาม เพราะสนธิสัญญานั้นจำเป็นต้องเท่าเทียมกันทุกประเทศ อังกฤษซึ่งเป็นผู้เปิดการค้าเสรีในสยามเป็นรายแรก จึงยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ รวมไปถึงหมอบรัดเลย์ ชาวอเมริกันผู้คัดค้านการดื่มสุราอย่างแข็งขัน และที่ขาดไม่ได้คือแอนนา เลขานุการส่วนพระองค์ ซึ่ง “วิ่งเต้นช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว”

ภายหลังจึงเกิดอนุสัญญากรุงปารีส วันที่ 7 สิงหาคม 2410 เกี่ยวกับ “เหล้านอก” ดังนี้

มาตรา 1 ว่าด้วยเสรีภาพในการนำเข้าและขายเหล้าองุ่นกับเครื่องดื่มหมักเช่นเดียวกับเครื่องดื่มกลั่นภายในประเทศ ซึ่งจะต้องจ่ายภาษีเข้าเฉลี่ยร้อยละ 3

มาตรา 2 การขายปลีกเหล้าองุ่นและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เจือปน จะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อทางการไทยออกใบอนุญาตให้แล้ว ซึ่งทางการไทยไม่มีวันปฏิเสธได้

การได้สนธิสัญญาฉบับนี้มาต้องถือว่า “ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย” เพราะภาษีเหล้านอกอันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ถูกเรียกเก็บภาษีเพียงร้อยละ 3 ทั้งที่ควรจะมากกว่านี้อีกหลายเท่า และที่สำคัญเบื้องหลังสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นจากการเจรจาต่อรองกันที่กรุงปารีสว่า สยามต้องยกเขมรบางส่วนให้ฝรั่งเศส จึงจะมีการแก้ไขสัญญาเรื่อง “เหล้านอก” ใหม่ คือสนธิสัญญาฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2410 สยามต้องยกดินแดนเขมรส่วนใหญ่ให้ฝรั่งเศส เป็นพื้นที่มากกว่า 124,000 ตารางกิโลเมตร

สำเนาพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 96 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547)

เหตุการณ์นี้ไม่ต่างจากเหตุการณ์การเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 5 มากนัก คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกที่จะ “ใช้สมอง” มากกว่า “ใช้กำลัง” ยอมเสียส่วนน้อยรักษาส่วนใหญ่ เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปต่อกรกับประเทศมหาอำนาจ ดังความในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งว่า

“ในเมื่อสยามถูกรังควานโดยฝรั่งเศสด้านหนึ่ง โดยอาณานิคมอังกฤษอีกด้านหนึ่ง เราต้องตัดสินใจว่าเราจะทำอย่างไร จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อทำตัวเป็นมิตรกับจระเข้ หรือว่ายออกทะเลไปเกาะปลาวาฬไว้ ถ้าหากเราพบบ่อทองในประเทศเรา พอที่จะใช้ชื่อเรือรบและอาวุธจากประเทศเหล่านี้ พวกนี้จะหยุดขายให้เราเมื่อไรก็ได้ อาวุธชนิดเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคตก็คือ วาจาและหัวใจของเราอันกอปรด้วยสติและปัญญา…”

นี่เองที่ทรงใช้สอยครูแหม่มหลายครั้งหลายหนในการเจรจาผ่อนปรน เข้าทางโน้นออกทางนี้ ซึ่งไม่ใช่งานที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงกระทำด้วยพระองค์เอง บทบาทของแอนนาจึงไม่ใช่เพียงแค่เป็นครูฝรั่งวังหลวง หรือเลขานุการคอยแก้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษให้เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทแฝงเร้นอีกนั่นคือ เป็นผู้นำสาร เป็นนักเจรจา และที่ทรงเคยกล่าวไว้คือเป็นสายลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการด้านต่างประเทศ ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

ดังนั้นในระยะปีหลัง ๆ ที่แอนนาอยู่ในพระราชวัง จึงมักจะเกิดข้อโต้แย้งกับ “นายจ้าง” อยู่บ่อยครั้ง ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ซึ่งแอนนาได้ “บ่น” เรื่องเหล่านี้ไว้ในหนังสือของตัวเองคือ The English Governess at the Siamese Court โดยเฉพาะในบทที่ 27 เรื่อง My Retirement from the Palace

เนื้อความในบทนี้แอนนาบ่นถึงการที่ทำงานอย่างหนัก แต่ไม่ได้เงินเดือนขึ้น รวมไปถึงพระอารมณ์ที่แปรปรวนตลอดเวลาของ “นายจ้าง”

“ข้าพเจ้าต้องพยายามอย่างมากที่จะทำงานมากมายให้ลุล่วงไป ตั้งแต่มาถึงสยาม, แต่ไม่เคยต้องใช้พลังแห่งความอดกลั้นมากมายเท่ากับงานที่ต้องทำอยู่เดี๋ยวนี้เลย, คืองานสอนหนังสือ และเป็นเลขานุการส่วนพระองค์ พระอารมณ์ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ และไม่ยุติธรรม…”

แอนนา เลียวโนเวนส์ ในวัยสาว เมื่อครั้งที่เข้ามาเป็นครูในราชสำนักสยาม
แอนนา เลียวโนเวนส์ ในวัยสาว เมื่อครั้งที่เข้ามาเป็นครูในราชสำนักสยาม

นอกจากจะบ่นเรื่องงานหนักกับ “นายจ้าง” แล้ว แอนนายังบ่นเรื่องความไม่ปลอดภัยอีกในบางตอน รวมไปถึงสุขภาพที่เริ่มไม่ค่อยดีเนื่องจากต้องทำงานอยู่ดึก ๆ ทำให้แอนนาตัดสินใจลาออก และเดินทางออกจากสยามไปในวันที่ 15 กรกฎาคม 2410 โดยไม่เคยย้อนกลับมาอีกเลย ทิ้งปริศนามากมายไว้เบื้องหลังมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้แอนนาต้องลาออก และเดินทางออกจากสยามไป จะเป็นอย่างที่แอนนาแถลงไว้ในหนังสือหรือจะมีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ วันนี้ยังไม่มีใครทราบ นอกจากคำพูดปริศนาที่แอนนาเขียนถึงหมอบรัดเลย์สหายเก่าว่า “คำว่าบางกอกเป็นคำที่น่าขยะแขยงที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเขียนถึงหรือกล่าวถึง”

แอนนาจบชีวิตลงที่ประเทศแคนาดา ด้วยอายุ 81 ปี พร้อมกับคำจารึกบนหลุมศพว่า

แอนนา แฮเรียต เลียวโนเวนส์ เมียอันเป็นที่รักยิ่งของนายพันตรีโทมัส โลร์น เลียวโนเวนส์ 1834-1915

หน้าที่คือเข็มทิศชี้ทางชีวิต และความรักแห่งดวงใจของเธอ สำหรับเธอ, ชีวิตย่อมงดงามและดีงาม เธอคือพรสำหรับทุกคนที่รู้จัก

เป็นลมหายใจแห่งพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “จดหมาย ‘คิงมงกุฎ’ ถึง ‘แอนนา’ เมื่อครูแหม่มเล่นบทนักเจรจาความเมือง” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2565