“หมูใจเพชร” หมูทรหดที่รอดตายจากแผ่นดินไหวที่เสฉวน ปี 2008

เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังค้นหาผู้รอดชีวิตจากซากปรักหักพังที่เมือง Hanwang ในมณฑลเสฉวน หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) (Photo by MARK RALSTON / AFP)

เหตุการณ์ แผ่นดินไหว ที่เสฉวน ปี 2008 ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง แต่ในเหตุการณ์ กลับมี “หมูใจเพชร” หมูทรหดที่รอดตายจากการติดในซากนานถึง 36 วัน

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 (พ.ศ. 2551) เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน และมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกนับพันครั้ง ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิต 14,866 คน คาดว่ายังมีผู้ติดอยู่ใต้ซากสิ่งปรักหักพังต่างๆ อีก 26,000 คน ขณะที่ถนน, สะพานหลายแห่งเสียหายทำให้การคมนาคมหลายพื้นที่ถูกตัดขาด บ้านเรือนประชาชนกว่า 3.5 ล้านหลังได้รับความเสียหาย

การตรวจสอบเบื้องต้นที่อำเภอเวิ่นชวน มณฑลเสฉวน ศูนย์กลางแผ่นดินไหว พบว่าที่ตำบลอิ่งซิว ได้รับความเสียหาอย่างรุนแรง ประชาชนเสียชีวิตถึง 8,000 คน มีผู้รอดชีวิต 2,000 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 1,000 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 10,000 คน

แต่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่ได้ 36 วัน กำลังทหารจากวิทยาลัยการบินแห่งเมืองเฉิงตู ที่เข้ามาทำความสะอาดเก็บกวาดซากปรักหักพังหลังจากแผ่นดินไหว ได้พบและช่วยเหลือหมูตัวหนึ่งจากคอกที่พังทลายจากบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านหลงเหมินชั้นเจิ้นถวน ตำบลเผิงโจว อำเภอเวิ่นชวน

ตามหลักแล้วหมูที่ต้องอดอาหารและน้ำติดต่อกัน 5 วัน มันจะต้องเสียชีวิต แต่หมูตัวนี้กลับสามารถยืนหยัดอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายมากนานถึง 36 วัน ถือว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ของพลังชีวิตโดยแท้ หมูตัวนี้ถูกตั้งชื่อว่า “หมูใจเพชร-猪坚强

เรื่องราวของหมูตัวนี้แพร่สะพัดออกไปตามสื่อต่างๆ สิ่งที่คนพูดกันมากที่สุดคือ ทำไมมันรอดชีวิตมาได้

คำตอบที่ผู้คนพอจะนึกได้ ก็คือ เมื่อบ้านช่องพังลงมา ไม้กระดานได้ไปคาไว้ตรงผนังเกิดช่องว่างราวครึ่งตารางเมตร ซึ่งกว้างพอที่ช่วยให้มันหายใจได้ ขณะเดียวกันพื้นที่ขนาดเล็กนี้ก็จำกัดการเคลื่อนไหวของมัน ทำให้ไม่ต้องสูญเสียพลังงานมากนัก แค่มันแทะกินถ่านและเศษไม้เป็นอาหาร กินน้ำฝนที่ไหลเข้ามาเป็นการดับกระหาย น้ำหนักตัวเกือบร้อยกิโลกรัมที่ส่วนใหญ่เป็นไขมันนั้นได้ทยอยส่งพลังงานให้มันอยู่ได้ จนกระทั่งมีคนไปช่วยออกมา

แต่สิ่งที่ผู้คนสนใจมากกว่านั้นก็คือ ปณิธานอันแรงกล้าที่จะมีชีวิตของมัน

สัตวแพทย์ท่านหนึ่งวิเคราะห์ว่า ปณิธานอันแรงกล้าที่จะมีชีวิตของมัน ซึ่งแม้จะเป็นความหวังอันน้อยนิดแต่ก็ช่วยให้มันเกิดพลังชีวิตที่ยามปกติจะไม่มี ทำให้อดทนต่อความยากลำบากได้นานถึงปานนั้น แทนที่จะตายเหมือนเหยื่อแผ่นดินไหวทั่วไป ภัยพิบัติกลับช่วยยกระดับกำลังใจและเป้าหมายชีวิตให้สูงขึ้น สิ่งนี้น่าจะเป็นพลังอันใหม่ที่เกิดขึ้นในตัวหมูใจเพชรตัวนี้

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เวิ่นชวนได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย อาคารบ้านช่องพังทลายเป็นพันๆ หลังในชั่วพริบตา ผู้คนท้อแท้สิ้นหวัง แต่ข่าวของหมูใจเพชรตัวนี้ ทำให้ผู้คนได้ “กลิ่นอายแห่งพลังชีวิต” หมูตัวนี้กลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ของผู้คนจำนวนไม่น้อยไปทันที ในเว็บไซต์ประเทศจีนกล่าวถึงหมูตัวนี้อย่างชื่นชมยิ่ง แนะนำให้ผู้คนดูมันเป็นตัวอย่าง อย่าท้อถอย สิ้นหวัง

พิพิธภัณฑ์เจี้ยนชวนได้ซื้อหมูตัวนั้นไปในราคา 3,000 หยวน และตัดสินใจจะเลี้ยงดูมันอย่างดี มีคนมาจัดงานวันเกิดให้มัน มีแพทย์มาตรวจสุขภาพของมันเป็นระยะๆ นักข่าวมาทำข่าวแล้ว 20 กว่าครั้ง หากมีนักท่องเที่ยวหรือแขกมาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คำถามแรกก็คือ “หมูใจเพชรตัวนั้นอยู่ที่ไหน”

ส่วนพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพแผ่นดินไหวในปีนั้น ก็มีห้องพิเศษห้องหนึ่ง ที่จัดแสดงรูปภาพของหมูใจเพชรตัวนี้อีกจำนวนมาก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและความเป็นอยู่ของหมูตัวนี้ โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงความมีมานะในการเผชิญภัยร้ายได้อย่างอาจหาญจนกว่ามันจะแก่ความตายตามธรรมชาติ

 


ข้อมูลจาก

“หนุ่มไทยหายในเฉงตู 3 วัน-โผล่ จีนป่วนอีก-เขื่อนปริ” ใน, หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม 2551, น.1-14

โจวเซี่ยวเทียน เขียน, อาทร ฟุ้งธรรมสาร แปล. เปิดตำนาน 12 นักษัตรจีน, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ตุลาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2565