สงคราม “อาเจะห์-ดัตช์” ชนพื้นเมืองไม่ยอมจำนน สู่ความขื่นขมของนักล่าอาณานิคม

ทหารดัตช์ในสงครามสู้รบกับอาณาจักรอาเจะห์ครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1873

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 อาเจะห์ได้เป็นหนึ่งในห้ามหาอำนาจมุสลิม ซึ่งประกอบด้วย โมร็อกโก ตุรกี อิหร่าน อินเดีย และอาเจะห์…

อาเจะห์ได้รับการพิจารณาว่าเป็นแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลกอิสลาม และได้รับการยอมรับมาโดยตลอดว่า คอลีฟะห์ (Caliphate) เป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในบรรดารัฐอิสลามทั้งหลายทางบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มเกาะมลายู อาเจะห์ได้ก้าวขึ้นสู่ความมีอำนาจและกลายเป็นรัฐที่มีอำนาจและมีความมั่งคั่งรุ่งเรืองที่สุดในภูมิภาคนี้

Advertisement

การรุกรานของฮอลันดาครั้งแรกใน ค.ศ. 1873

สามร้อยปีที่ฮอลันดาตั้งตนเป็นมหาอำนาจล่าอาณานิคมตามเกาะชวา และกลุ่มเกาะมลายู…ก่อนหน้านั้นอาณาจักรอาเจะห์ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นรัฐอิสระ ที่มีอำนาจอธิปไตยและมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ ในโลก นักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งได้บันทึกไว้ว่า “อาเจะห์มีอำนาจเข้มแข็งและรุ่งเรือง จนกระทั่งฮอลันดาไม่อาจจะปล่อยให้เป็นรัฐอิสระอีกต่อไปได้”

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1873 ฮอลันดายื่นคำขาดไปยังอาณาจักรอาเจะห์ มีข้อความสำคัญด้วยกัน 5 ข้อ ในจำนวนหัวข้อนี้มีน่าสนใจอยู่สองข้อคือ

ข้อหนึ่ง ให้อาณาจักรอาเจะห์เปลี่ยนธงอิสลาม ซึ่งเป็นรูปดาวเดือนให้เป็นธงสามสีของฮอลันดา

ข้อสอง ให้อาเจะห์เลิกขึ้นตรงต่อคอลีฟะห์ที่กรุงอิสตันบูล และเปลี่ยนไปขึ้นตรงต่อกษัตริย์แห่งฮอลันดาแทน

ส่วนอีกสามข้อคือ ฮอลันดาเรียกร้องในทำนองเยาะเย้ยให้อาเจะห์หยุดการค้าทาส ซึ่งเป็นความพยายามอย่างชัดเจนว่าต้องการให้การรุกรานของฮอลันดาดูมีความชอบธรรมหรือเป็นเรื่องของมนุษยธรรม แต่ความจริงไม่มีการค้าทาสอยู่เลย อีกข้อหนึ่งคือมอบดินแดนของอาณาจักรอาเจะห์ในสุมาตราทั้งหมดให้ฮอลันดา ข้อสุดท้ายคืออาณาจักรอาเจะห์ต้องยอมจำนนต่อฮอลันดาโดยปราศจากการต่อต้าน

อาณาจักรอาเจะห์ตอบปฏิเสธการเรียกร้องของฮอลันดาทั้งหมด ดังนั้นฮอลันดาจึงประกาศสงครามกับอาเจะห์ทันที โดยเริ่มต้นด้วยการส่งกองทัพมีทหารจำนวน 10,000 คนจากฮอลันดา นำโดยนายพลโคย์เลอร์ (Kohler) เผชิญหน้ากับกองทัพแห่งอาณาจักรอาเจะห์ในสมรภูมิที่บันดาร์อาเจะห์ (Bandar Acheh) เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1873

ผู้รุกรานชาวฮอลันดาพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ในการรบครั้งนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือนายพลโคฮ์เลอร์ถูกจับและถูกประหารชีวิตในสมรภูมิในฐานะอาชญากรสงคราม ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่มหาอำนาจยุโรปต้องมาพ่ายแพ้อย่างสิ้นเกียรติยศและน่าอับอายเช่นนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังสือพิมพ์ไทม์ (Time) ในลอนดอน…ได้รายงานการศึกที่บันดาร์อาเจะห์ว่า

“เราได้รับรายงานจากกลุ่มเกาะอินเดียตะวันออกว่า กองทัพของชาวยุโรปที่เข้มแข็งพ่ายแพ้ต่อกองทัพของรัฐพื้นเมือง รัฐอาเจะห์ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ศัตรูของอาเจะห์ไม่เพียงแต่พ่ายแพ้เท่านั้น แต่ถูกบังคับให้ถอนทัพกลับอีกด้วย”

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส (The New York Times) ได้เสนอข่าวในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1873 ว่า “การรบอย่างนองเลือดได้เกิดขึ้นที่อาเจะห์ ราชอาณาจักรพื้นเมืองทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ชาวฮอลันดาได้ส่งกองทัพเข้าจู่โจมทำลายหลายครั้ง ขณะนี้เราได้รับรายงานรายละเอียดและผลของสงครามแล้ว การบุกโจมตีของฮอลันดาถูกตอบโต้จากอาเจะห์จนได้รับความเสียหาย ทหารล้มตายจำนวนมาก นายพลฮอลันดาถูกประหารชีวิต และทหารประสบความหายนะหนีเตลิดถูกสังหารและกองทัพเสียหายยับเยิน”

นักประวัติศาสตร์บันทึกว่า “การขยายตัวของนักล่าเมืองขึ้นได้ถูกขัดขวางและตอบโต้กลับ อาเจะห์มีความมั่งคั่ง มีจิตใจแน่วแน่ มีระเบียบ มีทหารที่ดีที่สุดและรบดุเดือดที่สุด”

ในช่วงระยะที่ฮอลันดารุกรานอาณาจักรอาเจะห์นั้น อาเจะห์ได้ทำสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกับอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. 1819 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้ในขณะนั้น แต่อังกฤษไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาซึ่งถือว่าเป็นผู้บิดพลิ้ว ทั้งนี้เนื่องจากฮอลันดาได้เสนอข้อแลกเปลี่ยนในลักษณะติดสินบนอังกฤษโดยยกโกลด์โคสต์ (Gold Coast) ปัจจุบันคือประเทศกานา ซึ่งเป็นดินแดนในแอฟริกาให้อังกฤษเป็นการแลกเปลี่ยนที่อังกฤษไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ทำไว้กับอาเจะห์

สื่อมวลชนในอังกฤษได้ประณามรัฐบาลของพวกเขาที่บิดพลิ้วสัญญา ลอร์ดสแตนเลย์แห่งอัลเดอร์ลีได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาอภิปรายในสภาขุนนาง ประณามรัฐบาลที่ไม่ยอมรับผิดชอบต่อสนธิสัญญาที่กระทำไว้ อังกฤษควรที่จะเข้าช่วยอาเจะห์ต่อสู้กับฮอลันดา การอภิปรายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1873 ได้ถูกบันทึกไว้โดยสรุปดังนี้

“ฮอลันดาไม่มีสิทธิที่จะโจมตีอาเจะห์ ไม่มีสิทธิที่จะสร้างความเจ็บปวดให้อาเจะห์ ฮอลันดาโจมตีอาเจะห์แต่ก็ล้มเหลวในที่สุด เราไม่ควรลืมว่าอาเจะห์เป็นรัฐอิสระมาช้านาน มีประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรือง อาเจะห์เป็นรัฐอิสระมาตั้งแต่ฮอลันดายังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสเปน”

คำกล่าวนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ที่มิอาจปฏิเสธหรือโต้แย้งได้เลยว่า อาเจะห์มีสถานภาพเป็นรัฐที่มีอิสรภาพ มีอธิปไตยเหนือดินแดนของตนและนานาชาติให้การรับรอง แม้แต่ยูลิซิส เอส. แกรนท์ (Ulysses S. Grant) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาก็ยังประกาศอย่างเป็นทางการว่า “สหรัฐอเมริกาขอประกาศตนเป็นกลาง” ในสงครามระหว่างฮอลันดากับอาเจะห์ และยังได้ยืนยันความเป็นจริงในสถานภาพของอาเจะห์ในกรณีขัดแย้งกับฮอลันดาว่า อาเจะห์เป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนซึ่งนานาชาติในโลกยอมรับ

การรุกรานอาเจะห์ของฮอลันดาครั้งนั้น ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงอิสตันบูล (Istanbul) ในสมัยนั้นอิสตันบูลเป็นศูนย์กลางของโลกมุสลิมที่คอลีฟะห์พำนักอยู่ อาเจะห์ยอมรับอำนาจของคอลีฟะห์ว่าเป็นผู้นำของประเทศมุสลิมและอาเจะห์มีสำนักงานของตนอยู่ที่กรุงอิสตันบูล อาณาจักรออตโตมานต้องการเข้าแทรกแซงโดยตรงเพื่อต่อต้านฮอลันดา แต่บรรดาทูตของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปพยายามสร้างแรงกดดันบีบบังคับไม่ให้ออตโตมานช่วยเหลืออาเจะห์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรวมตัวของประเทศมุสลิม หนังสือโต้ตอบทางการทูตเป็นหลักฐานยืนยันได้ และหนังสือพิมพ์ของตุรกี เช่น หนังสือพิมพ์ Basirat, Jevaib และ La Turgui ก็ลงข้อเขียนบทบรรณาธิการสนับสนุนการต่อสู้ของอาเจะห์

อาณาจักรอาเจะห์ใน ค.ศ. 1874 ภายหลังดัตช์เข้ายึดครองพื้นที่เมือง

ฮอลันดารบอาเจะห์ “สงครามร้อยปี”

การพ่ายแพ้ของฮอลันดาในสงครามบันดาร์อาเจะห์นั้นสร้างความอัปยศอดสูแก่ฮอลันดาอย่างมาก เป็นเหตุให้ฮอลันดาต้องพยายามแก้หน้าด้วยการทำสงครามรุกรานอาเจะห์อีกเป็นครั้งที่สอง สาม สี่ ห้า และหก แต่ก็ไม่ประสบชัยชนะขั้นเด็ดขาด สงครามระหว่างฮอลันดากับอาเจะห์นั้นกินเวลาเกือบศตวรรษ ใช้กำลังทหารและเล่ห์เหลี่ยมโดยส่งคนของฮอลันดาเข้ามาบ่อนทำลายอาเจะห์

นิตยสารฮาร์เปอร์ (Harper’s Magazine) ตั้งชื่อสงครามระหว่างฮอลันดากับอาเจะห์ว่า “สงครามร้อยปี” อาเจะห์ไม่เคยยอมจำนน ไม่เคยทำสัญญาสงบศึกกับฮอลันดา ฮอลันดาพ่ายแพ้ครั้งแรกในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1873 และถูกขับไล่ออกไปในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1942 มีการรบหลายครั้ง ชาวอาเจะห์ได้พลีชีพจำนวนมากมาย เมืองถูกเผา ถูกทำลาย แต่ชาวอาเจะห์ไม่เคยก้มหัวยอมจำนนต่อฮอลันดา ถึงแม้ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ด้อยกว่า ทันทีที่ผู้นำคนหนึ่งของอาเจะห์ถูกสังหาร ผู้นำอีกคนหนึ่งก็ขึ้นมาแทนที่ โดยไม่หวั่นเกรงความตาย

หนังสือพิมพ์ลอนดอนมอร์นิ่งโพสต์ (The London Morning Post) ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1874 ระบุว่า “มีหลักฐานยืนยันว่า ชาวอาเจะห์เป็นชนชาติที่ไม่ถูกครอบครองได้โดยง่ายและพวกเขายืนหยัดต่อต้านผู้รุกรานประเทศอย่างเข้มแข็งจนไม่มีใครเทียบได้ ข่าวล่าสุดจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขายืนหยัดต่อสู้อย่างเพียรพยายาม พวกเขาจะปรากฏตัวอย่างไม่คาดฝันในสถานที่ที่พวกเขาเคยพ่ายแพ้มาก่อน การแสดงให้ปรากฏเช่นนี้ได้เปลี่ยนทัศนะของนายพลแวน สวีเทน (Van Swieten) เกี่ยวกับจิตใจของชาวอาเจะห์ ชาติที่ต่อสู้ในสงครามอย่างมีจิตใจแน่วแน่เช่นนี้ ไม่ใช่ชาติที่จะเลิกทำสงครามง่าย ๆ และมีหลักฐานว่า ฮอลันดาประกาศยุติสงคราม ก่อนที่ชาวอาเจะห์จะยอมจำนน

ความเพียรพยายามของชาวอาเจะห์ทำให้เราต้องให้ความนับถือ และมีบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับจิตใจของผู้คนดี ๆ เช่นนี้ ผู้คนซึ่งเขาปฏิเสธที่จะยอมรับความด้อยกว่าต่อผู้รุกราน ซ่อมกำแพงที่พังทลายลงครั้งแล้วครั้งเล่า หรือสร้างขึ้นมาใหม่ในที่ที่เคยถูกทำลายลงแล้ว และการรบเป็นคำตอบจากพวกเขาแม้ว่าอำนาจการยิงไม่มีประสิทธิภาพ มันน่าประหลาดใจ และน่าสงสัยในความสำเร็จของฮอลันดา ในเมื่อใดก็ตามที่มีการเขียนประวัติศาสตร์สงครามระหว่างฮอลันดากับอาเจะห์ เราคิดว่าคงไม่อาจเขียนได้ว่าฮอลันดาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่”

เป็นที่แน่นอนว่า เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว มีหนังสือประมาณ 500 เล่ม และยังมีนักเขียนชาวฮอลันดาเขียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นักเขียนเหล่านี้ประกอบด้วยนักข่าว นักวิชาการ ตีพิมพ์ในฮอลันดาเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมของฮอลันดาในการทำสงครามกับรัฐอิสระเช่นอาเจะห์ ไม่ปรากฏว่าชาวฮอลันดาเป็นผู้ที่มีคุณภาพสูงสุดทางด้านศีลธรรมหรือทางทหาร ชาวอาเจะห์ต่างหากที่สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะทางศีลธรรมและความรุ่งโรจน์ทางทหาร และสมควรได้รับอิสรเสรี

แม้แต่นายพลแวน สวีเทน ผู้ที่อ้างมาข้างต้นโดยหนังสือพิมพ์ลอนดอนมอร์นิ่งโพสต์ ก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสงครามในอาเจะห์ เขาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพฮอลันดาในการรุกรานอาเจะห์ครั้งที่สอง หลังจากล้มเหลวในอาเจะห์ และต่อมาเมื่อเขาได้ปลดเกษียณแล้วเขาได้พิมพ์บันทึกความทรงจำของเขาที่มีชื่อว่า “ข้อเท็จเกี่ยวกับการครอบครองอาเจะห์”

เขาได้เขียนว่า จากประสบการณ์ของเขา เขาไม่สามารถเอาชนะชาวอาเจะห์ในสงครามได้ การอ้างว่าฮอลันดาได้ครอบครองอาเจะห์นั้นเป็นนิยายปรัมปรา ฮอลันดาล้มเหลวในการยึดพื้นที่ในอาเจะห์ ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือระหว่างที่เขาเป็นทหารหรือหลังจากเขาปลดเกษียณแล้วก็ตาม ตามความคิดของเขา สิ่งหนึ่งที่อาจกล่าวได้ก็คือ ฮอลันดาควรถอนตัวออกจากอาเจะห์และเจรจาอย่างสันติกับรัฐบาลอาเจะห์ สงครามเป็นสิ่งที่ผิดพลาด สิ่งที่ตามมาคือฮอลันดาสูญเสียอาณานิคมในอินเดียตะวันออก ที่เรียกว่าอินโดนีเซีย

แวน สวีเทน มีความเชื่อมั่นว่า การวิเคราะห์สถานการณ์ของเขาถูกต้องแน่นอน เขาจึงจัดให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลฮอลันดายุติสงครามในอาเจะห์และดำเนินการทางสันติวิธีให้เป็นผล ความเคลื่อนไหวของเขาในเรื่องนี้ก่อให้เกิดความอัปยศอดสูต่อชาวฮอลันดาขณะนั้น เพราะว่าเขาได้รับการประกาศยกย่องเกียรติคุณก่อนที่เขาเกษียณว่าเป็น “ผู้ยึดครองอาเจะห์”

แวน สวีเทน ขออภัยในการที่เขามิอาจยอมรับตำแหน่งดังกล่าวซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในขณะนั้นได้ เขาประกาศว่า เขาไม่สามารถยึดครองอาเจะห์ได้เลย ความพยายามของเขาไม่เคยประสบผล แต่รัฐบาลฮอลันดาก็ไม่ยอมรับฟังคำแนะนำของเขา ดังนั้นสงครามจึงดำเนินต่อไป

ทหารดัตช์ในอาเจะห์ เมื่อ ค.ศ. 1901 ที่ยังมีการสู้รบอย่างต่อเนื่องนับแต่ ค.ศ. 1873 เรื่อยมา

ความพ่ายแพ้ครั้งสุดท้ายของฮอลันดา ค.ศ. 1942

ศาสตราจารย์ เอ็ม. ซี. ริคเลฟซ์ (Professor M. C, Ricklets) กล่าวว่า “สงครามอาเจะห์เป็นสงครามที่ยาวนาน และเป็นการต่อสู้ที่ขมขื่น” ขณะที่ฮอลันดารุกรบและยิ่งถล่มเผาหมู่บ้าน ประชาชนก็หนีไปบนภูเขา และดำเนินการต่อต้านต่อไป ใน ค.ศ. 1881 ฮอลันดาประกาศว่าสงครามได้ยุติแล้ว ซึ่งเป็นการประกาศที่สวยหรูของนักล่าอาณานิคม แต่ผู้นำทางศาสนาก็เข้ามาเป็นผู้นำในการต่อต้าน เต็งกู ตัจฮิค ดิติโร่ (engku Tjhik Ditiro ค.ศ. 1836-ค.ศ. 1891) เป็นหนึ่งในบรรดาอุลามา (Ulama) ที่ประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์ระหว่างมุสลิมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ฮอลันดาจึงไม่สามารถเอาชนะได้ ยกเว้นในพื้นที่ซึ่งกองทหารยึดครองได้บางส่วน แต่ก็สูญเสียมหาศาล ระหว่าง ค.ศ. 1884-1885 ชาวอาเจะห์ยังคงควบคุมพื้นที่ชนบทไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ฮอลันดาไม่ยอมถอนตัวออกจากอาเจะห์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เนื่องจากฮอลันดาถือว่าเรื่องอาเจะห์เป็นเรื่องเกี่ยวกับศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติ ฮอลันดาต้องการกู้ชื่อเสียงที่เคยพ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1873 ถ้าหากถอนตัวออกก็เท่ากับว่าฮอลันดาต้องพ่ายแพ้สงครามอีก

เมื่อสงครามดำเนินต่อไป ความเสียหายก็เพิ่มขึ้นทวีคูณ ในที่สุดเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันยึดครองฮอลันดาจึงทำให้ชาวอาเจะห์ได้หยุดพัก ฮอลันดาเสียขวัญมากเมื่อเยอรมันสามารถเอาชนะได้โดยใช้เวลาเพียงสองสามวัน ชาวอาเจะห์ถือโอกาสขับไล่ฮอลันดาออกจากอาเจะห์ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1942 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกเข้ามาในสุมาตรา พอล แวน เวียร์ (Paul Van’t Veer) นักประวัติศาสตร์ชาวฮอลันดาได้สรุปเหตุการณ์เกี่ยวกับสงครามระหว่างฮอลันดากับอาเจะห์ว่า

“ฮอลันดาไม่เคยทำสงครามที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าที่ทำกับอาเจะห์ ไม่ว่าจะพิจารณาในด้านระยะเวลา สงครามนี่กินเวลา 80 ปี ในด้านความเสียหาย ทหารชาวฮอลันดาเสียชีวิตกว่าหนึ่งแสนคน เป็นเหตุการณ์ทางทหารซึ่งไม่อาจจะเอาเหตุการณ์อื่นมาเทียบเคียงได้ในประวัติศาสตร์ของมาตุภูมิของเรา การทำสงครามกับอาเจะห์สำหรับฮอลันดาแล้วมันยิ่งกว่าความขัดแย้งทางทหาร มันเป็นจุดด่างในประวัติศาสตร์นับเป็นเวลาหนึ่งศตวรรษในเรื่องของชาติ อาณานิคมและการเมืองระหว่างประเทศ”

อาเจะห์ไม่ใช่ชวา และเป็นความจริงที่เห็นได้ชัดว่า ในภูมิภาคที่เรียกกันอย่างผิด ๆ ว่า “อินเดียตะวันออกของฮอลันดา” หรือ “อินโดนีเซีย” นั้น ไม่มีราชอาณาจักรใดเทียบเคียงอาเจะห์ได้ เรารับรู้ว่าสงครามที่กินเวลานานมากกว่าครึ่งศตวรรษ ผู้คนตายมากกว่าหนึ่งแสนคน สูญเสียเงินห้าร้อยล้านเหรียญ คิดตามค่าของเงินในศตวรรษที่ 19 สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ เรารับรู้ได้ในขณะนี้ แต่ว่าใน ค.ศ. 1873 ผู้คนในฮอลันดา หรือแม้แต่ในชวามีความคิดหรือรู้หรือไม่ว่า ชาวอาเจะห์เป็นคนเช่นไร

พอล แวน เวียร์ได้เทียบเหตุการณ์สำคัญ ๆ และการรบที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ ระหว่าง ค.ศ. 1873 กับ ค.ศ. 1942 เมื่อฮอลันดาถูกขับออกจากอาเจะห์เป็นครั้งสุดท้าย เขาสรุปว่า “อาเจะห์เป็นรัฐสุดท้ายที่เข้าโจมตี และเป็นรัฐแรกที่ได้เสรีภาพ” เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฮอลันดากลับมาโดยได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะเข้าครอบครองอีกครั้งหนึ่งในฐานะเจ้าอาณานิคม ครั้งนี้ตั้งชื่อใหม่ว่า “อินโดนีเซีย” เพื่อหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยอาณานิคมและการแบ่งดินแดนซึ่งเป็นสิทธิของชนพื้นเมือง ฮอลันดาไม่กล้ากลับเข้าไปยังอาเจะห์อีก…

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อส่วนหนึ่งจากบทความ “รัฐอาเจะห์แห่งสุมาตรา กับลัทธิอาณานิคม” เขียนโดย เต็งกู ฮาซัน เอม ดิติโร่ แปลโดย มนัส เกียรติธารัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2565