พม่า Shutdown กรุงศรีอยุธยา ใครหนี ใครสู้?

ชาวบ้าน อยุธยา ต่อสู้ กับ ทหาร พม่า
ราษฎรกรุงศรีอยุธยา ต่อสู้กับทหารพม่า ที่เข้ามาปล้นฆ่า (ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)

พม่า Shutdown กรุงศรีอยุธยา ใครหนี ใครสู้?

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เป็นบทเรียนสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ให้แง่คิดมุมมองมากมายหลายด้าน ไม่เพียงแต่ด้านการเมือง การสงครามเท่านั้น ยังทำให้เราเห็นว่า เมื่อครั้งที่บ้านเมืองมีศึกติดพัน ถึงคราววิบัติบ้านแตกสาแหรกขาดชนิด “ล่มสลาย” จริงๆ นั้น ใครมีบทบาทอย่างไร ใครคิดสู้ปกป้องบ้านเมือง ท้องถิ่น ใครถอดใจหนีเอาตัวรอด ใครรักษาหน้าที่ของตนจนถึงที่สุดในยามวิกฤต

“ในปีวอก ฉศกนั้น ฝ่ายพุกามประเทศ พระเจ้าอังวะมังระ ให้เกณฑ์พลฉกรรจ์ลำเครื่องสองหมื่นห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพศัตราวุธให้พร้อมไว้ คิดจะยกมาตีพระนครศรีอยุธยาอีก” [1]

สงครามเสียกรุงคราวนี้ เริ่มต้นที่เมืองทวาย เพียงแค่เดือนเดียว กองทัพพม่าก็บุกทะลุถึงเมืองเพชรบุรี แต่ยั้งทัพรอต่อเรือรบจนเข้าปีระกา ก่อนจะบุกเข้าประชิดกรุงในเวลาต่อมา

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาก็ระดมพลหัวเมือง ใช้ยุทธวิธี “ตั้งรับ” รอบๆ เมือง

“พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสสั่งเสนาบดีให้จัดแจงเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปากใต้
ทั้งปวง และให้ทัพบกยกไปตั้งค่ายรับข้าศึกอยู่ตำบลบำหรุใต้เมืองราชบุรี ให้ทัพเรือไปตั้งอยู่หัวเมืองตำบลบางกุ้ง และให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตะวันออก ตะวันตก เข้ามาช่วยการสงครามป้องกันพระนคร

ให้ทัพเมืองพระพิษณุโลกมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดภูเขาทอง ให้ทัพเมืองนครราชสีมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดพระเจดีย์แดง แล้วให้พระยารัตนาธิเบศคุมกองทัพเมืองนครราชสีมา ยกมาตั้งรักษาเมืองธนบุรี ให้พระยายมราชเกณฑ์กองทัพหัวเมืองอื่นยกลงมาตั้งรักษาเมืองนนทบุรี และทัพหัวเมืองนอกกว่านั้นให้เกณฑ์เข้ามาบรรจบกับพลชาวพระนคร ขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ สรรพด้วยปืนใหญ่น้อยเครื่องสรรพาวุธพร้อม แล้วให้กวาดครอบครัวพลเมืองชาวเมืองและเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร” [2]

แต่ตลอดรายทางก่อนจะปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้นั้น มีรายงานชัดเจนว่า หัวเมืองต่างๆ ยอมแพ้ต่อกองทัพพม่า ทั้งแบบต่อต้านเพียงเล็กน้อย จนถึงขั้นทิ้งเมืองหนีเลยก็มี

ทำให้กองทัพพม่าสามารถปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาได้แบบไม่ยากเย็นนัก ก่อนจะทำสงครามขั้นสุดท้ายปิดบัญชีกรุงศรีอยุธยา

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ บ้านเมืองถึงคราววิบัติ “ล่มสลาย” บ้านแตกสาแหรกขาด ภาพนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

Shutdown กรุงศรี

นับตั้งแต่ปีระกา พุทธศักราช 2308 กองทัพพม่าก็เริ่มไล่ตีรุกคืบกินหัวเมืองรอบนอกกรุงศรีอยุธยาไว้แบบไม่ยากเย็นนัก

รุ่งขึ้นปีจอ พม่าซึ่งแต่เดิมมีนายทัพใหญ่ 2 คน คือ เนเมียวมหาเสนาบดีนำทัพบุกทางเหนือ กับมังมหานรธานำทัพบุกทางตะวันตก ตามยุทธวิธี “คีมหนีบ” (pincers movement) [3] แต่มังมหานรธาเสียชีวิตลงกลางศึก จึงเหลือเนเมียวมหาเสนาบดีเป็นนายทัพใหญ่เพียงคนเดียว เนเมียวมหาเสนาบดีสั่งนำทัพยกประชิดกำแพงพระนครโดยรอบเป็นการปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาอย่างสิ้นเชิง

โดยกองทัพพม่าตั้งค่ายใหญ่ที่ตำบลโพธิ์สามต้น แล้วกระจายออกตั้งค่ายที่วัดภูเขาทอง วัดการ้อง แล้วสั่ง
นายทัพนายกองเติมเข้าไปทางวัดกระช้าย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ ทางด้านตะวันตกทั้งหมด

อย่างไรก็ดี เวลานั้นกองทัพกรุงศรีอยุธยายังคงยึดพื้นที่นอกกำแพงเมืองบางส่วนไว้ได้ คือด้านเหนือที่เพนียด ด้านตะวันออกที่วัดพิชัย วัดเกาะแก้ว ด้านใต้มีกลุ่มคนจีนโดยหลวงพิพัฒน์คุมอยู่ที่คลองสวนพลู ด้านตะวันตกที่วัดไชยวัฒนาราม เป็นต้น

ต่อมากองทัพพม่าได้ขยายวงล้อมมาทางทิศเหนือ ตั้งค่ายที่วัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร วัดมณฑป
วัดกระโจม วัดนางชี วัดนางปลื้ม วัดศรีโพธิ์ แต่ละค่ายให้พูนดินปลูกหอสูงตั้งปืนใหญ่ไว้ยิงถล่มกรุง

แต่ในที่สุดค่ายใหญ่น้อยต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาที่อยู่รอบนอกพระนคร ก็ไม่สามารถจะยันพม่าไว้ได้

“ค่ายไทยซึ่งออกมาตั้งรบอยู่นอกพระนครนั้น ก็เสียแก่พม่าในเดือน 3 ปีจอ อัฐศกนั้นทั้งสิ้น” [4]

เท่ากับว่ากองทัพพม่าได้ Shutdown กรุงศรีอยุธยาได้อย่างเบ็ดเสร็จก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกไม่น้อยกว่า 2 เดือน แต่ว่าก่อนหน้านั้น กรุงศรีอยุธยาก็ถูกปิดล้อมทั้งหัวเมืองใกล้เคียงและชานพระนครไว้ก่อนแล้ว

กระบวนทัพพม่า ตั้งทัพเป็นริ้วขบวนรูปแบบต่างๆ ภาพจิตรกรรมจาก “ตำราพิชัยสงคราม (พม่า) ยุทธศาสตร์” (ภาพจากหนังสือกระบวนพยุหยาตรา ประวัตและพระราชพิธี, ๒๕๑๓)

กองทัพพม่าไม่เพียงแต่ตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้แบบชั่วคราวเท่านั้น แต่ได้ “สร้างเมือง” ก่อกำแพงสูง โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ปักหลักพักค้าง” น้ำมาไม่หนี อยู่กันข้ามปีถึงขนาดว่าจะล้อมไว้นานเท่าไรก็ได้ “ถึงแม้ว่าเราจะต้องล้อม 10 ปี เราก็จะล้อมไว้กว่าจะได้” [5]

เมื่อพม่าตั้งค่ายตามวัด ก็ใช้อิฐวัดก่อกำแพงเมือง “พม่าล้วนแต่มีใจหยาบช้ามิได้ละอายแก่บาป ให้รี้พล
ไปรื้อเอาอิฐ โบสถ์วิหารวัดน้อยใหญ่ทั้งปวง มาก่อกำแพงล้อมเป็นค่ายทั้งสองตำบล” [6] นี่เองทำให้กรุงศรีอยุธยาหลังสงคราม “หมดสภาพ” ที่จะฟื้นคืนให้ดีดังเก่าได้

“เมือง” หรือค่ายของกองทัพพม่ามั่นคงแข็งแรง สร้างด้วยอิฐจากวัดต่างๆ มีอยู่ถึง ๒๗ เมือง รายรอบ
กรุงศรีอยุธยา

“ได้สร้างเมืองรอบพระนครทั้ง 4 ด้าน สร้างด้วยอิฐทั้งสิ้น 27 เมืองๆ นี้ได้ก่อสร้างป้อม คู ประตู หอรบ ไว้ทั้งสิ้น ดุจเทวดาลงมานฤมิตร แล้วจัดให้พลทหารเอาปืนใหญ่น้อยสาตราวุธทั้งปวงขนขึ้นรักษาตามป้อมแลหอรบบนเชีงกำแพงโดยแน่นหนา

ครั้นจัดเสร็จแล้วแม่ทัพทั้ง 2 ก็สั่งให้พลทหารเอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในกำแพงกรุงศรีอยุทธยาดุจฝน
แสนห่า มิได้ขาดเสียงปืน” [7]

การ Shutdown กรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น เป็นการปิดล้อมเชิงยุทธวิธีแล้ว เพื่อตัดการส่งเสบียงอาวุธ เสบียงอาหาร ไม่ให้กรุงศรีอยุธยาได้รับการสนับสนุนใดๆ จากภายนอกได้อีก แล้วยังสามารถจัดการพื้นที่เพื่อสนับสนุนเสบียงให้กับ “เมือง” ที่กองทัพพม่าตั้งขึ้นรอบๆ พระนครอีกทางหนึ่ง

“เพราะฉะนั้นพวกเราจงแย่งชิงโคกระบือของพลเมืองอยุทธยาทั้งปวง เมื่อได้แล้วก็ไปทำนาตามนาพลเมืองแลนาหลวงอยุทธยาให้มีกำลังแก่เรา แลอย่าให้พลเมืองอยุทธยาทำไร่ทำนาได้” [8]

กระบวนทัพพม่าเคลื่อนทัพเป็นริ้วขบวนรูปแบบต่างๆ ภาพจิตรกรรมจาก “ตำราพิชัยสงคราม (พม่า) ยุทธศาสตร์” (ภาพจากหนังสือกระบวนพยุหยาตรา ประวัตและพระราชพิธี, ๒๕๑๓)

การปิดล้อมแบบปิดตายครั้งนี้ส่งผลให้ภายในพระนครระส่ำระสายอย่างหนัก

“ฝ่ายข้างในกรุงฯ ก็เกิดโจรผู้ร้ายปล้นกันเนืองๆ มิได้ขาดและผู้คนอดอยากซูบผอมป่วยไข้ล้มตายนั้นก็มาก ที่หนีออกไปหาพม่านั้นก็เนืองๆ” [9]

ผลการรบที่กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสมอ ทำให้บาทหลวงชาวฝรั่งเศสถึงกับกล่าวว่าไทยไม่คิดสู้ ซึ่งไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

“ฝ่ายพม่าข้าศึกก็ยกทัพเข้ามาทีละน้อย หวังจะให้ขาดเสบียงในกรุง เพราะพวกพม่าได้ทำลายทุ่งนาบ้านเรือนโดยรอบกรุง ถ้าไทยจะคิดตัดเสบียงพวกข้าศึกแล้วก็จะทำได้ง่ายที่สุด แต่ก็ไม่เห็นไทยคิดจะจัดการอย่างใดเลย” [10]

ศึกใน ไส้ศึก

กองทัพพม่าที่ยกมาคราวนั้น มีหลักฐานบันทึกจำนวนไว้ต่างกันออกไป พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่ามีราว 25,000 นาย หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ว่ามีประมาณ 80,000 นาย หนังสือมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ว่ามีราว 73,000 นาย

ด้านกองทัพกรุงศรีอยุธยาฝ่ายตั้งรับ หนังสือคำให้การฯ ว่ามีราว 60,000 นาย ใกล้เคียงกับหนังสือมหาราชวงษ์ฯ ว่ามีราว 50,000 ไม่รวมช้าง ม้า ปืนใหญ่ อีกหลักพัน

จำนวนทหารที่ปรากฏในบันทึกอาจจะไม่มีความแน่นอนนัก อย่างไรก็ดี ตามหลักยุทธศาสตร์การรบ ฝ่ายตั้งรับคือฝ่ายที่ได้เปรียบกว่า แต่ในกรณีนี้พม่าใช้ยุทธวิธีปิดล้อมยืดเยื้อ ผลการรบส่วนใหญ่พม่าจึงเป็นฝ่ายมีชัยเหนือกรุงศรีอยุธยาเกือบทุกสมรภูมิ

ความพ่ายแพ้ อดอยาก ยิ่งทำให้ทั้งทหาร ราษฎร ในพระนครหนีออกไปมอบตัวกับกองทัพพม่ามากยิ่งขึ้น “การข่าว” ของพม่าก็ยิ่งแม่นยำขึ้นมากเช่นเดียวกัน

“พวกพลทหารพลเมืองอยุทธยาทั้งปวงก็ได้รับความคับแค้นอดหยากคับแค้นอยู่ทุกผู้ทุกคนแล้วจึงได้เข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ที่กองทัพเราทุกวันมิได้ขาด เราก็ได้ทราบกิจราชการของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาหมดแล้ว” [11]

นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานเป็นบันทึกของชาวต่างชาติที่ “บันทึกเรื่องราวของผู้เห็นเหตุการณ์” ไว้ว่า
กรุงศรีอยุธยามี “ไส้ศึก” ของกองทัพพม่าอยู่ภายในตัวเมือง คอยช่วยเหลือกองทัพใหญ่นอกเมืองอีกด้วย

“ในการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ ทัพพม่าได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากชาวพม่าด้วยกันจำนวนประมาณ 500 คน ที่อยู่ในตัวเมือง (ชาวพม่าเหล่านี้ถูกกองทัพไทยจับไว้ได้ในครั้งก่อนๆ) และได้ติดต่อกับกองทัพพม่าที่ยกเข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยา” [12]

น่าเสียดายที่บันทึกเรื่องนี้ไม่สามารถยืนยันได้จากเอกสารฝ่ายพม่าและฝ่ายไทย

อย่างไรก็ดี คำให้การชาวกรุงเก่า ได้เอ่ยถึงเรื่อง “ไส้ศึก” ไว้เหมือนกัน

“พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเห็นนายทัพนายกองแตกพ่ายมาดังนั้น ก็ให้ปิดประตูให้ทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินมั่นไว้มิให้ออกรบ

ครานั้นพระยาพลเทพข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกหาก ลอบส่งเครื่องศัสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาจะเปิดประตูคอยรับ” [13]

แม้ว่าเรื่องนี้จะเชื่อถือได้ยาก เพราะในกรุงศรีอยุธยาเองก็ขาดแคลนทั้งเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมาก จะมีปัญญาส่งเสียให้กับกองทัพพม่าได้อย่างไร

แต่ข้อเท็จจริงบางประการที่มีหลักฐานยืนยันตรงกันก็คือ “กองทัพพม่าเต็มไปด้วยคนไทย” [14] จะเป็นการแปรพักตร์หรือถูกกวาดต้อนให้ร่วมรบก็ตาม ย่อมมีผลในการ “เติม” กำลังพลให้กับฝ่ายพม่า ในขณะเดียวกันก็ “ลด” กำลังทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไปไม่น้อย

การที่มีคนคิดสู้ และผู้ที่คิดหนี ในเวลาเช่นนี้ ย่อมมีผลอย่างสูงในเวลาที่บ้านเมืองระส่ำระสาย และหากผู้ที่คิดหนีเป็นขุนทหารไม่ใช่ราษฎรที่เป็นเด็ก ผู้หญิง หรือคนชรา ย่อมมีผลต่ออำนาจในการป้องกันตัวของกรุงศรีอยุธยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่าเรื่องของนักสู้ และผู้ถอยหนี มีบันทึกไว้ไม่น้อยในประวัติศาสตร์หน้านี้

เช็คชื่อ ใครสู้ ใครถอย ใครหนี

ปกติการรบย่อมมีรุกมีรับ แต่ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยานั้น ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายถอยหนีมากกว่ารุกคืบ การที่กรุงศรีอยุธยาเน้นยุทธวิธีตั้งรับมากกว่ารุกไล่ หรือป้องกันข้าศึกตั้งแต่แนวชายแดน ทำให้ข้าศึกรุกคืบถึงพระนครได้โดยง่าย และมีโอกาส “รุกฆาต” เมื่อใดก็ได้

อย่างไรก็ดี การที่กรุงศรีอยุธยาสามารถตั้งรับได้นานนับปี อาจแสดงว่าประสิทธิภาพในการป้องกันตัว ยังใช้ได้ดีพอสมควร ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะทหารในพระนครสู้รบอย่างเต็มที่เนื่องจากเป็นปราการด่านสุดท้าย หรืออาจเป็นเพราะ “กรุงศรีอยุทธยานี้เปนกรุงใหญ่โตมั่นคง แลคูเมืองกว้างน้ำก็ลึกกับได้ก่อสร้าง 50 ป้อม ค่ายคูประตูหอรบขึ้นไว้ใหม่”  ทำให้กองทัพพม่าต้องหายุทธวิธีฝ่าด่านสุดท้ายนี้ให้ได้ คือการขุด
อุโมงค์เผารากกำแพงเมือง แล้วเข้าตีพร้อมกันทุกด้าน จนสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในที่สุด

หากไล่เรียงความพ่ายแพ้นับตั้งแต่เริ่มเกิดศึก ก็จะเห็นได้ว่า กรุงศรีอยุธยาเสียทีตั้งแต่เริ่มศึก และไม่มีโอกาสกลับมาเป็นผู้ชนะได้ เนื่องจากตลอดเส้นทางการรบกรุงศรีอยุธยารบพลางถอยพลางอยู่ตลอดเวลา

นับตั้งแต่เดือน 6 ปีวอก พุทธศักราช 2307 กองทัพพม่าได้ไล่ล่า “หุยตองจา” เจ้าเมืองทวาย ซึ่งหนีตายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พม่าจึงตามตีไล่ล่าหุยตองจา ตั้งแต่เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี เลยมาถึงเมืองกระบุรี ชุมพร ปทิว เมืองกุย เมืองปราณ ก่อนจะยกทัพกลับไปตั้งหลักที่เมืองทวาย หลังจากไม่ได้ตัวหุยตองจาดังที่หวัง เพราะรัฐบาลกรุงศรีอยุธยาได้ส่งตัวหุยตองจาไปลี้ภัยที่เมืองชลบุรี

หลังจากได้หยั่งเชิงดูแล้ว เห็นว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยานั้นอยู่ในสภาพอ่อนแอ พม่าก็ตัดสินใจที่จะตีกรุงศรีอยุธยาสิ้นสภาพในคราวนี้ จึงส่งกองทัพบุกทางเหนือหนึ่งกองทัพ ทางใต้อีกหนึ่งกองทัพ บุกตะลุยฝ่าด่านหัวเมืองต่างๆ มาเรื่อยๆ

เดือน 4 ปีวอก เมืองกำแพงเพชร ไม่มีใครสู้รบ

เดือน 7 ปีวอก พระพิเรนทรออกรับศึกเมืองกาญจนบุรี แตกพ่าย

ราชบุรี เพชรบุรี มิได้มีผู้ใดต่อรบ ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น [15]

ปีระกา ให้พระพิษณุโลกไปตั้งรับที่วัดภูเขาทอง พระพิษณุโลกถวายบังคมลาไปปลงศพมารดา

เดือน 11 ปีระกา พระยาสุโขทัย และพระยาสวรรคโลกพาครอบครัวพลเมืองหนีเข้าป่า

พวกไทยบางกุ้งแตกพ่ายหนี

พระยารัตนาธิเบศ ตั้งรับอยู่เมืองธนบุรี หนีกลับขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา มิได้สู้รบ

พระยายมราช ตั้งรับอยู่เมืองนนทบุรี เลิกทัพหนี มิได้ตั้งอยู่ต่อรบพม่า

บรรดาประชาชนชาวหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง ยกครอบครัวหนีเข้าป่า

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ผนวชอยู่วัดประดู่ หาได้ลาผนวชออกไม่

เดือนอ้าย ปีจอ พระยาแพร่ ซึ่งร่วมรบกับกองทัพพม่ามาตลอดทาง รวมทั้งร่วมเข้าตีค่ายบางระจัน เกิดเปลี่ยนใจไม่อยู่ฝ่ายพม่าอีกต่อไปเพราะ “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อยู่รบกรุงเทพมหานครด้วยพม่าแล้ว จะกลับไปเมืองของตน”

เดือนยี่ ปีจอ พระยาตาก “จัดแจงกันคิดจะยกทัพหนีไปทางตะวันออก”

(ซ้าย) ภาพลายเส้นฝีมือชาวตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงความรกร้างของวัดวาอารามในพระนครศรีอยุธยา หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก (ภาพจากหนังสือ Travels in Siam Cambodia and Laos 1858-1860 โดย Henri Mouhot)
(ขวา) พระยาตากพารี้พลหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

พลเรือน ทหาร ข้าราชการ ที่ “หนี” เหล่านี้ เฉพาะที่ปรากฏชื่อ เรื่องราวในพระราชพงศาวดารเท่านั้น ในเหตุการณ์จริงคงจะมีนายทัพนายกองอีกมากที่ทำในสิ่งเดียวกัน นอกจากหนีแล้วหนังสือมหาราชวงษ์ฯ ยังได้กล่าวอ้างถึงการยอมสวามิภักดิ์ของเจ้าเมืองฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไว้หลายเมือง เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เป็นต้น

“ฝ่ายผู้รักษาเมืองราชบุรีเห็นว่าเมืองเพ็ชร์บุรีเสียแก่มหานรทา ก็มีความกลัวเกรงไม่อาจจะต่อสู้รบ แล้วผู้รักษาเมืองราชบุรีก็เอาเครื่องราชบรรณาการเปนอันมากออกมาสวามิภักดิ์ยอมเข้าเปนข้ามหานรทาแม่ทัพ แล้วมหานรทาแม่ทัพก็ตั้งให้ผู้รักษาเมืองราชบุรีกับตั้งให้นายทหารเอกอยุทธยากำกับรักษาเมืองราชบุรีต่อไป แล้วให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาด้วย” [16]

แน่นอนว่าการศึกครั้งนี้ มิใช่จะมีแต่การ “หนี” เพียงอย่างเดียว

ในศึก “ป้องกันตัว” กรุงศรีอยุธยายังมีผู้ที่สู้ตายถวายชีวิตอีกมาก เพียงแต่ว่าการเสียสละเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้ผลการรบเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

ราวเดือน 12 ปีระกา พ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ ปอเน นำเรือเข้ามาขายสินค้าในกรุงศรีอยุธยาในระหว่างเกิดสงครามพอดี

“โกษาธิบดีให้ล่ามถามแก่นายกำปั่นว่า ถ้าพม่าจะเข้ามารบเอาเมืองธนบุรีอีก นายกำปั่นจะอยู่ช่วยรบหรือจะไปเสีย นายกำปั่นว่าจะอยู่ช่วยรบ” [17]

พวกปอเนยิงต่อสู้กับพม่าที่ป้อมเมืองธนบุรีได้ระยะหนึ่ง ก็ขอปืนใหญ่ กระสุนดินปืนเพิ่มอีก “ไทยยอมจัดปืนให้แต่ไม่ครบจำนวน” [18] สุดท้ายปอเนจึงถอนสมอออกไป “มิได้อยู่รบพม่า”

เดือน 3 ปีระกา เกิด “ศึกบางระจัน” ชาวบ้านร่วมมือกันต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างดุเดือด และสามารถรักษาบางระจันไว้ได้นานถึง 5 เดือน ก่อนจะแตกพ่ายไปในเดือน 8 เสียชาวบ้านไป 1,000 กว่าคน พม่าตายไป 3,000 เศษ พวกที่รอดตายก็ถูกจับเป็นเชลยโดยมาก

กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่รวบรวมผู้คนทางหัวเมืองตะวันออกได้หลายพันคน คิดจะยกกลับมากู้กรุงศรีอยุธยา แต่แผนแตกเสียก่อน พม่ายกกองทัพมาตีจนแตกพ่าย กรมหมื่นเทพพิพิธหนีไปเมืองนครราชสีมา

นายเริก ทหารในกองเรือที่กำลังจะยกเข้าตีค่ายพม่าที่วัดการ้อง ถูกปืนยิงขณะรำดาบสองมืออยู่หน้าเรือ “ตกน้ำลง” ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นหรือตาย แต่เห็นจะมีวิชาดีอยู่จึงกล้ารำดาบท้าพม่าอยู่หน้าเรือได้

เดือน 12 ปีระกา พระยาเพชรบุรีเป็น “กองหน้า” นำกองเรือเข้าตะลุมบอนกับพม่ากลางทุ่งวัดสังฆวาส พม่าเอาหม้อดินดำติดเพลิงโยนเข้าในเรือพระยาเพชรบุรี สุดท้ายจับพระยาเพชรบุรีได้ แต่พระยาเพชรบุรีเป็นคนมีวิชา ฟันแทงไม่เข้า “จึงเอาไม้หลาวเสียบแทงทางทวารหนักถึงแก่ความตาย”

ในกองเรือนี้มีพระยาตาก “นายกองเรือ” และหลวงศรเสนี “กองหนุน” แต่ทั้งสอง “จอดรอดูเสีย หาเข้าช่วยอุดหนุนกันไม่”

นอกจากนี้ยังมีชาวจีนคลองสวนพลูนำโดยหลวงพิพัฒน์ นำจีน 2,000 คน ตั้งค่ายรบอยู่ที่คลองสวนพลู (เอกสารบาทหลวงว่าตั้งอยู่ที่ค่ายฮอลันดา) ค่ายนี้รบกับพม่าอยู่ครึ่งเดือนถึงเสียค่าย

ค่ายทหารกรุงศรีอยุธยาที่วัดไชยวัฒนาราม ก็ต่อสู้พม่าอยู่แปดเก้าวัน จึงพ่ายแพ้

นอกจากนี้ยังมีวีรบุรุษอีกมากที่สู้ตายถวายชีวิตในศึกครั้งนี้ บ้างก็อาจมีชื่ออยู่ในพระราชพงศาวดาร บ้างก็มีชื่ออยู่ในตำนานท้องถิ่น บ้างก็เป็นวีรบุรุษนิรนามไป

ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารกล่าวว่า ในศึกครั้งนี้กรุงศรีอยุธยามีผู้เสียชีวิต ทั้งด้วยอาวุธ ป่วยไข้ และอดตาย ประมาณได้ 200,000 คน ถูกจับเป็นเชลยราว 30,000 คน รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรอดีตพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาก็ถูกจับเป็นเชลยอีกพระองค์หนึ่งด้วย

แต่ก็ยังมีผู้ที่หลบหนีพม่าและรอดจากสงครามคราวนี้ จนต่อมาได้เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ถึง 2 คน

3 กษัตริย์ “หนี” ในศึกกรุงแตก

พระเจ้าแผ่นดินพระองค์สุดท้ายในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาคือพระเจ้าเอกทัศน์ พระราชพงศาวดารบันทึกพระราชประวัติในช่วง “หนี” พม่าไว้ว่า

“พระเจ้าแผ่นดินนั้นหนีออกจากเมือง ลงเรือน้อยไปกับมหาดเล็กสองคน ไปเร้นซ่อนอยู่ในสุมทุมไม้ใกล้บ้านจิกข้างวัดสังฆาวาส มหาดเล็กนั้นก็ทิ้งเสียหนีไปอื่น อดอาหารอยู่แต่พระองค์เดียว พม่าหาจับได้ไม่”  [19]

แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับพระพนรัตน์ บันทึกไว้ต่างกันคือ “หนีออกไปจากพระนครองค์เดียว ได้ความทุกข์ลำบากก็ถึงพิราลัยไปสู่ปรโลก” คล้ายกับ คำให้การชาวกรุงเก่า ที่ว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต” ส่วนบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสว่า “ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามซึ่งเป็นพระโรคเรื้อนนั้น ก็หนีข้าศึกไป และไปสวรรคตที่โพธิ์สามต้น”

บันทึกทั้งหมดนั้นต่างจากพงศาวดารพม่าอย่างสิ้นเชิง พงศาวดารพม่ากล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าแผ่นดินสยามว่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ปลอมพระองค์หนีไปกับพระมเหสีเล็ดลอดปะปนไปกับราษฎร แต่ทรงถูกปืนซึ่งพม่ายิงเข้าใส่ฝูงชนเมื่อบุกเข้าเมืองมา “พระศพพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาถูกอาวุธล้มสวรรคตอยู่ที่ประตูเมืองฝั่งตวันตกกรุงศรีอยุธยา”

เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา

แต่ก่อนที่จะสิ้นวงศ์อยุธยา มีบุคคลสำคัญ 2 ท่าน ที่หนีศึกในสงครามกรุงแตก และภายหลังได้กลับมาเป็นผู้ที่สถาปนาราชอาณาจักรและพระราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ สืบต่อจากวงศ์อยุธยา

พระบรมรูปพระเจ้าตาก ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หนึ่งในนั้นคือ พระยาตาก ที่พารี้พลหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ก่อนกรุงจะแตก 3 เดือน ภายหลังจึงวกกลับมาขับไล่พม่า “ฟื้น” ราชอาณาจักรขึ้นมาใหม่มีราชธานีอยู่ที่ “กรุงธนบุรี”

อีกท่านหนึ่งคือ หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เมืองราชบุรี

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ณ สวนสาธารณะจักรีอนุสรณ์สถาน บริเวณเชิงเขาแก่นจันทร์ จังหวัดราชบุรี (ภาพจาก www.amazingratchaburi.com)

เมื่อครั้งพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น นายสุดจินดา (บุญมา) หนีพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งหน้าไปหาพี่ชายคือหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เมืองราชบุรี ที่อัมพวา หมายจะชักชวนกันไปเฝ้าหาพระยาตากแถบเมืองชลบุรี เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันกู้กรุงศรีอยุธยา

“เมื่อถึงราชบุรีแล้วจึงเสด็จไปที่บ้านอำพะวา ก็หาพบพระเชษฐาไม่ สืบความทราบมาแต่พระสงฆ์บางองค์
ที่กล้าอยู่ บอกว่าพระเชษฐาท่านพาพระชายาแลพระญาติหนีพม่าในป่าข้างทิศเหนือ

ขณะนั้นกรมพระราชวังท่านก็ตามไปในป่าหลายวัน จึงพบพระเชษฐา” [20]

พระราชานุสาวรีย์พระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ณ ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี (ภาพจาก www.9artybatt.net)

หากย้อนกลับไปตรวจสอบวันที่มังมหานรธาบุกเมืองราชบุรี คือเดือน 7 ปีวอก ซึ่งเวลานั้นพงศาวดารกล่าวไว้แตกต่างกันคือ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า “มิได้มีผู้ใดต่อรบ ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น” ส่วนฉบับพระพนรัตน์กล่าวว่า “รบพุ่งกันอยู่หลายวัน” ในขณะที่พงศาวดารพม่าบันทึกว่าผู้รักษาเมืองราชบุรี “ออกมาสวามิภักดิ์ยอมเข้าเปนข้ามหานรทา”

ไม่ว่าสถานการณ์การรบจะเป็นอย่างไร บทสรุปที่แน่นอนก็คือราชบุรีเสียให้แก่พม่าตั้งแต่เดือน ๗ ปีวอก ในขณะที่ราษฎร ทหาร บางส่วนย่อมหลบหนี “เข้าป่าไปสิ้น” ซึ่งก็น่าจะเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่หลวงยกกระบัตรพาครอบครัวหลบหนีเข้าป่า

ถ้าเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับว่าหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี หนีเข้าป่าก่อนกรุงแตกเกือบ 2 ปีเต็ม

จนกระทั่งนายสุดจินดาน้องชายไปชวนให้เข้าร่วมรบกับพระยาตาก กู้กรุงศรีอยุธยา แต่หลวงยกกระบัตร
ราชบุรีเวลานั้น “ไม่สะดวก” เนื่องจากเมียและพี่สาวตั้งครรภ์อยู่ และยังต้องคอยตามหาพ่อตาแม่ยายที่พลัดพรากจากกันไปอีกด้วย

“อยู่ที่ตำบลนี้ก็พอจะซ่อนตัวได้ เมื่อเสบียงอาหารหมดลงก็จะเอาที่เราฝังไว้ในบ้านมากิน อีกประการหนึ่งเงินทองก็ฝังไว้เหล่านี้ทั้งสิ้น จะทิ้งไปเสียกระไรได้ ต้องอยู่ดูแลระวังรักษาบ้าง” [21]

อีกราว 15 ปีต่อมา หลวงยกกระบัตรราชบุรีท่านนี้ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อจากกรุงธนบุรี

สรุปบทเรียนของนายสุดจินดา

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น ภายหลังถูกตีแผ่ด้วยเพลงยาวนิราศของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งเดิมคือนายสุดจินดา “ประจักษ์พยาน” ที่ฝ่าด่านพม่าไปทางเรือ เพื่อหวังจะ “สู้” กู้กรุงศรีอยุธยา

อันจะเป็นเสนาบดี

ควรที่จะพิทักษ์อุปถัมภ์

ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น

ป้องกันปัจจาอย่าให้มี

นี่ทำหาเป็นเช่นนั้นไม่

เหมือนไพร่ชาติชั่วช้ากระทาสี

เหตุภัยใกล้กรายร้ายดี

ไม่มีที่จะรู้สักประการ

ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที

มิได้มีเหตุเสียจึงแตกฉาน

ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน

เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป

ถึงเพียงนี้ละไม่มีที่กริ่งเลย

ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้

ศึกมาชิงล่าเลิกกลับไป

มิได้เห็นจะฝืนคืนมา

จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่

ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา

ครั้นทัพเขากลับยกมา

จะองอาจอาสาก็ไม่มี

แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ

จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่

ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี

เมืองยับอัปรีย์จนทุกวัน ฯ[22]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 270.

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 272.

[3] ขจร สุขพานิช. อยุธยาคดี. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2530), น. 293.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 296.

[5] นายต่อ (แปล). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 243.

[6] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 277.

[7] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 252.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 243.

[9] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 294.

[10] ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 9, (กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, 2507), น. 410.

[11] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 264.

[12] แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี, ปีที่ 2 เล่ม 2, 2511, น. 23.

[13] คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพงศาวดารกรุงเก่าฯ, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2515), น. 174.

[14] ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 9, น. 412.

[15] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 271. อย่างไรก็ดี พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ กล่าวถึงการรบที่เมืองราชบุรีไว้อีกอย่างหนึ่งคือ ศึกที่เมืองราชบุรีนี้รบพุ่งกันอยู่หลายวัน “เหลือกำลังแล้ว เพลาวันหนึ่งจึ่งคิดกันเอาสุรากรอกช้าง แลคนรับประทานเหลือกำลัง ก็รบพุ่งฟั่นเฟือนซวนเซ พม่าก็ตีได้เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี” (พระราชพงษาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2505), น. 645.)

[16] มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า, น. 225.

[17] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 275.

[18] ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 9, น. 413.

[19] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 297.

[20] บุญเตือน ศรีวรพจน์ (ชำระต้นฉบับ). อภินิหารบรรพบุรุษ และปฐมวงศ์. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 33.

[21] เรื่องเดียวกัน, น. 34.

[22] ประชุมเพลงยาวฉบับหอสมุดแห่งชาติ, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2507), น. 34.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2561