“อยุธยา” ที่ไม่ใช่ราชธานี แต่เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

วัดพระศรีสรรเพชญ์ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลก" (ภาพจากเพจ: สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา)

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียใน พ.ศ. 2310 แม้บ้านเมืองจะถูกทำลายเสียหาย, ชาวเมืองอพยพหนีภัยสงคราม หรือถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย และสิ้นฐานะ “ราชธานี” อายุกว่า 400 ปี แต่อยุธยาก็ไม่ได้กลายเป็นเมืองร้าง ในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงยกอยุธยา หรือเมืองกรุงเก่า เป็นเมืองจัตวา และแต่งตั้งผู้รักษากรุงเก่ามีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา โดยมีพัฒนาการเรื่อยมา ดังนี้

พ.ศ. 2326 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์จดว่า โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลังและเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนคร ทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล

พ.ศ. 2377 ปาเลอกัวซ์ บาทหลวงฝรั่งเศส กล่าวถึงอยุธยาว่า ในบริเวณพระราชวังโบราณและวัดในพื้นที่ใกล้เคียงยังเป็นป่ารก แต่ราษฎรรวมกันอยู่รอบๆ เมืองเดิมมีประชากรถึง 40,000 คน ประกอบด้วยคนไทย จีน ลาว มลายู

พ.ศ. 2401 รัชกาลที่ 4 เสด็จประพาส “เกาะบางปะอิน” ทางชลมารคผ่านเกาะบางปะอิน ที่ถูกทิ้งร้างมากว่า 80 ปี นับตั้งแต่เสียกรุง และโปรดให้สร้างพระราชวังบางปะอิน

พ.ศ. 2438 จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่างๆ ดังนี้ กรุงเก่าหรืออยุธยา อ่างทอง สระบุรี พระพุทธบาท ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรี

ในปีเดียว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำริว่าแขวงต่างๆ มีพลเมืองมากท้องที่กว้างขวางอาจดูแลไม่ทั่วถึง จึงให้แบ่งเขตการปกครองใหม่ โดยแบ่งแขวงเสนาใหญ่ออกเป็นอำเภอเสนาใหญ่ (พ.ศ. 2460 เปลี่ยนเป็นอำเภอผักไห่ ตามชื่อที่ตั้งตำบลผักไห่) และอำเภอเสนากลาง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเสนา) แบ่งแขวงเสนาน้อยตอนเหนือออกเป็นอำเภอเสนาใน (พ.ศ. 2453 เปลี่ยนเป็นอำเภอบางบาล) และแขวงเสนาน้อยตอนใต้ เป็นอำเภอเสนาน้อย (พ.ศ. 2466 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอราชคราม, พ.ศ. 2482 เปลี่ยนเป็นอำเภอบางไทร)

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งเขต “อำเภอนครหลวงน้อย” มาเป็น “อำเภอนครหลวง”

พ.ศ. 2400 ย้ายที่ทำการ “อำเภอนครหลวงใน” เดิมอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำลพบุรี ริมคลองบางนางร้า ลึกเข้าไปจากฝั่งแม่น้ำลพบุรีประมาณ 1 กิโลเมตร มาอยู่ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำลพบุรี เพื่อความสะดวกในการเดินทาง (พ.ศ. 2459 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภาบางปะหัน”)

พ.ศ. 2443 เปลี่ยนชื่อ “แขวงอุทัยน้อย” เป็น “อำเภอพระราชวัง” (พ.ศ. 2458 ย้ายที่ทำการมาตั้งที่บ้านเลนจนถึงปัจจุบัน และได้ชื่อเป็น “อำเภอบางปะอิน” ตามชื่อเกาะบางปะอิน

พ.ศ. 2449 จากการสำรวจพื้นที่ทำนาของกระทรวงมหาดไทย ปรากฏว่า มณฑลอยุธยามีพื้นที่ทำนามากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีพื้นที่ทำนากว่า 1.8 ล้านไร่

พ.ศ. 2450 พื้นที่ “ทุ่งหลวงรังสิต” ที่มีช้าง, จระเข้, กวาง ฯลฯ มีพื้นที่กว้าง การคมนาคมไม่สะดวก จึงแยก “ทุ่งรังสิต” ยกเป็น “อำเภออุทัยน้อย” (ถึง พ.ศ. 2460 เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอวังน้อย”)

พ.ศ. 2457 เปลี่ยนชื่อ “อำเภอรอบกรุง” เป็น “อำเภอกรุงเก่า” (ต่อมา พ.ศ. 2500 เปลี่ยนเป็น “อำเภอพระนครศรีอยุธยา”)

เปลี่ยน “แขวงนครใหญ่” เป็น “อำเภอนครใหญ่” ภายหลังเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “อำเภอมหาราช”

พ.ศ. 2459 เปลี่ยนชื่อ “อำเภอนครน้อย” เป็น “อำเภอท่าเรือ” เพื่อรักษาประวัติของท้องที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือที่สะดวกที่สุดในการไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่สระบุรี ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และเปลี่ยนชื่อ “อำเภออุทัยใหม่” เป็น “อำเภออุทัย” ตามประวัติที่ว่า กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลังชนะศึกพม่าเดินทัพมาถึงท้องที่นี้เห็นแสงแดดยามแรกเช้าพอดี

พ.ศ. 2462-2473 อยุธยามีจำนวนโรงสีข้าว 62 แห่ง เป็นรองแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น

พ.ศ. 2469 เปลี่ยนชื่อมณฑลกรุงเก่าเป็น มณฑลอยุธยา

พ.ศ. 2475 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง “อยุธยา” เปลี่ยนฐานะเป็น “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2480 ยกฐานะ “กิ่งอำเภอลาดหลวง” เป็น “อำเภอลาดบัวหลวง”

พ.ศ. 2484 รัชกาลที่ 8 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 100,000 ให้แก่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย (เดิมชื่อ โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า) เพื่อใช้สร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม

พ.ศ. 2488 “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา”ก่อตั้งสำนักงานใหญ่แห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 27 มกราคม 2488

พ.ศ. 2496 ยกฐานะ “กิ่งอำเภอภาชี” เป็น “อำเภอภาชี”

พ.ศ. 2498 นายอูนุ นายกรัฐมนตรีประเทศพม่า เดินทางมาเยือนประเทศไทย ได้มอบเงิน 200,000 บาท เพื่อปฏิสังขรณ์วัดมงคลบพิตร ด้วยขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายบูรณะโบราณสถานในเมืองอยุธยาเพื่อเป็นการฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ

พ.ศ. 2534 ยูเนสโก มีมติให้ขึ้นทะเบียน “นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร” เป็น “มรดกโลก”

พ.ศ. 2502 กิ่งอำเภอบางซ้าย (เดิมเป็นพื้นที่ในอำเภอเสนา) ยกฐานะเป็น “อำเภอบางซ้าย” ในปีเดียวกัน กิ่งอำเภอบางแพรก (เดิมเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอมหาราช) ก็ยกฐานะเป็น “อำเภอบางแพรก”

ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประกอบด้วย 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา, อำเภอท่าเรือ, อำเภอนครหลวง, อำเภอบางไทร, อำเภอบางบาล, อำเภอบางปะอิน, อำเภอบางปะหัน, อำเภอผักไห่, อำเภอภาชี, อำเภอลาดบัวหลวง, อำเภอวังน้อย, อำเภอเสนา, อำเภอบางซ้าย, อำเภออุทัย, อำเภอมหาราช  และอำเภอบ้านแพรก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2548

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

ธิดารัตน์ ติยะวงศ์มานะ. “พระราชวังบางปะอิน: พระราชวังโรแมนติคแบบสยามในรัชกาลที่ 5” ใน, วารสาร Veridian E-Journal มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 8 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2565