
เผยแพร่ |
---|
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระนามเดิม พระเทียรราชา) สมาชิกของราชวงศ์สุพรรณภูมิ แห่งกรุงศรีอยุธยา แม้พระองค์ไม่ใช่กษัตริย์นักรบ แต่ก็ทรงขยันขันแข็งในการปรับปรุงกฎหมาย ทรงมีพระราชกรณียกิจทางศาสนาที่ดีหลายประการ โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อพวกพราหมณ์และคนจน ทรงได้รับการยกย่องว่ามีบุญญาธิการมาก เพราะทรงมีช้างเผือกในครอบครองถึง 7 ช้าง จึงมีพระสมัญญาว่า พระเจ้าช้างเผือก
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อภิเษกสมรสกับพระสุริโยทัย และมีพระราชโอรสธิดา 5 พระองค์ ซึ่งทรงพระทานพระราชธิดา คือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ ให้กับ ออกญาพิษณุโลก (หรือ พระมหาธรรมราชา แห่งราชวงศ์สุโขทัย ในเวลาต่อมา) อันเป็นเหตุให้พระองค์กริ้ว “ลูกเขย” ผู้นี้อย่างมาก
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต ตอนหนึ่งบันทึกว่า
“พระเทียรราชาได้พระราชทานพระธิดาให้อภิเษกกับออกญาพิษณุโลก (Oja Poucelouck) แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองมีความแตกต่างกันมาก ชีวิตสมรสจึงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้งและไม่ลงรอยกัน
ในการทะเลาะครั้งหนึ่งออกญาพิษณุโลกได้ตีพระเศียรพระธิดาแตก พระราชธิดาจึงใช้ผ้าซับพระพักตร์เช็ดพระโลหิต ใส่ถ้วยทอง ส่งไปถวายพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งมีพระราชสาส์นทูลฟ้องว่าถูกพระสวามีทารุณเพียงใด
ด้วยเหตุนี้พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงพิโรธพระราชบุตรเขยเป็นอย่างมาก มีรับสั่งให้ทหารยกกำลังไปฆ่าออกญาพิษณุโลก ออกญาพิษณุโลกได้ทราบข่าวก็ไม่รอให้กองทัพจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ทิ้งบ้านเมือง รีบหนีไปยังเมืองพะโค
พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคทรงทราบข่าวว่าออกญาพิษณุโลกหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารก็ทรงต้อนรับอย่างดี เมื่อออกญาพิษณุโลกเห็นเช่นนั้นก็ได้ใจ ขอร้องให้พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโค ยกทัพไปทำสงครามกับสยาม” [จัดย่อหน้าใหม่ และขีดเส้นใต้โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
ส่วนเรื่องความไม่ลงรอยกันระหว่าง พระวิสุทธิกษัตรีย์-พระมหาธรรมราชา หลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและหลักฐานพม่า ก็สะท้อนถึงความแตกแยกระหว่างพระมหาธรรมราชากับบุคคลในครัวเรือนของพระวิสุทธิกษัตรีย์ นับแต่สิ้นสงครามช้างเผือกใน พ.ศ. 2106 เป็นอย่างช้า
- พงศาวดาร “วัน วลิต” ระบุ พระมหาธรรมราชา ตีหัวพระวิสุทธิกษัตรีย์ แต่ “พลอต” คล้ายประวัติศาสตร์พม่า?
- “กูไม่กลัว” สาสน์จากพระมหาจักรพรรดิถึงพระเจ้าบุเรงนอง สงครามการทูตหงสาวดี-อยุธยา
ข้อมูลจาก :
ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์. “ขัตติยนารี แห่งราชอาณาจักรสยาม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564