“ออสเตรเลียไทด์” สลัดทะเลผู้ลอบขโมยทรัพย์สมบัตินับหมื่นชิ้นใต้ทะเลอ่าวไทย

สมบัติใต้ท้องทะเลเป็นของที่ไม่มีเจ้าของรึเปล่า? ใครต่อใครคิดจะไปแสวงหาแย่งชิงสิ่งที่อยู่ใต้ทะเลที่ไม่มีใครครอบครองก็ได้อย่างนั้นหรือ? ถ้าเป็นอย่างนั้น ทะเลและมหาสมุทรก็คงเป็นเหมือนแดนเถื่อนที่ใครคิดจะทำอะไรก็ได้ นั่นคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ แต่เขตอำนาจบนท้องทะเลเป็นเรื่องที่ทั้งซับซ้อน และทับซ้อนเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีระบบกฎเกณฑ์หลายขั้นหลายตอน ไม่เหมือนกับเขตอำนาจบนผืนแผ่นดินที่มีความชัดเจนแน่นอนกว่า

ด้วยเหตุนี้จึงมักจะมีพวกหัวหมอพยายามใช้ช่องว่างของกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาแสวงหาประโยชน์ใต้ท้องทะเลในพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงการลอบขโมยโบราณวัตถุทั้งหลายที่จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งนับเป็นทรัพย์สมบัติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และศึกษาเพื่อประโยชน์สาธาณะ มากกว่าที่จะปล่อยให้คนบางกลุ่มมาชุบมือเปิบไป

ไหหลายร้อยหลายพันใบที่ยึดได้จากออสเตรเลียไทด์

ตัวอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเราก็คือ เหตุการณ์เมื่อปี 2535 กรณี “ออสเตรเลียไทด์” เรือต่างชาติที่อำพรางสัญชาติไว้หลายซับหลายซ้อน และได้ลอบเข้ามาขนสมบัติใต้ทะเลอ่าวไทยไปนับหมื่นชิ้น แต่ทางการไทยสามารถเข้าสกัดเอาไว้ได้ทัน ซึ่งคุณขรรค์ชัย บุนปาน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นเอาไว้ว่า

“ในฐานะสื่อมวลชนเล็กๆ ตัวหนึ่งก็ขอชมเชยกองบังคับการตำรวจน้ำ, กองทัพเรือ และกรมศิลปากรที่ร่วมมือกันทำงานโดยมีกองทัพเรือเป็นพระเอก สามารถใช้ไม้นวมเจรจากับเรือออสเตรเลียไทด์ที่ชักธงปานามาถึง 3 วัน 3 คืน จนเอาโบราณวัตถุทั้งหมดกลับคืนมาได้โดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อ แถมยังนิ่มนวลอีกต่างหาก”

ตุ๊กตารูปม้า ประติมากรรมรูปม้า มีคนขี่ พร้อมด้วยทหารอยู่ที่เท้าทั้ง 4 สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นเครื่องประดับ หรือก็อาจจะใช้เป็นตะเกียง ผลิตจากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 ตุ๊กตารูปม้าเป็นลักษณะที่เด่นของเตาเมืองศรีสัชนาลัย ถ้าสังเกตเนื้อดินแม้ว่าจะไม่เห็นชัด เนื่องจากมีเปลือกหอยเกาะคลุมอยู่ เนื้อดินจะมีสีเทา และมีเม็ดสีดำเล็กๆ ป่นอยู่ในเนื้อดิน

แต่ก็ใช่ว่า ฝรั่งหัวหมอจะยอมกันได้ง่ายๆ คุณขรรค์ชัย เล่าต่อไปว่า “อีตอนเจรจากันยังไม่ตกลง ไอ้เรือลำนี้ก็ประหลาด ชื่อออสเตรเลียไทด์ ชักธงปานามา ผ่ายังมีอังกฤษเป็นเจ้าของซ้ำแม่นกฎหมายน่านน้ำระหว่างประเทศเป็นบ้า อ้างสัญญาเจนีวา อ้างเศรษฐกิจจำเพาะได้คล่องแคล่ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมงานมาเป็นอย่างดี”

ชุดตุ๊กตาจีน
-ตุ๊กตาดินเคลือบรูปคนอุ้มปลา (ตัวกลาง) จากรูปแบบที่พบเห็นทั่วไปน่าที่จะเคลือบ 2 สี สันนิษฐานว่า น่าที่จะเป็นรูปเคารพ ซึ่งสังเกตได้จากการแต่งกายเหมือนกับเทพของจีนองค์หนึ่ง
-ตุ๊กตารูปหญิงเปลือยอก มือขวาทูนหม้อน้ำไว้บนไหล่ อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ผลงานตุ๊กตานี้ได้มาจากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย สันนิษฐานว่า รูปแบบลวดลายที่ปรากฏในตุ๊กตาจีนนั้น ได้อิทธิพลมาจากศิลปะจีน มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21

คุณประโชติ สังขนุกิจ ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผอ.กองโบราณคดีบอกกับ ศิลปวัฒนธรรม (เผยแพร่ในฉบับเมษายน 2535) ว่า การยึดโบราณวัตถุจากเรือออสเตรเลียไทด์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2535 นั้น สามารถยึดของกลางมาได้ถึง 10,287 ชิ้น

“เครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่ก็ได้มาจากแหล่งเตาเผาในจังหวัดสิงห์บุรีจำนวนกว่า 3,000 ชิ่น และเครื่องสังคโลกจากแหล่งเตาเผาในศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จำนวน 6,500 ชิ้น เครื่องถ้วยเวียดนามประมาณ 300 กว่าชิ้น และเครื่องถ้วยจีน 5 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีหุ่นกลองทำด้วยไม้ลักษณะของกลองนั้นจะเป็นกลอง 2 หน้า และเตาเชิงกราน 2 เตา และปืนประจำเรือ 2 กระบอก”

คุณประโชติ บอกว่า เมื่อพิจารณาจากรูปแบบและลวดลายแล้วเครื่องถ้วยที่ยึดได้ส่วนใหญ่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งน่าจะได้มาจากเรือที่ออกจากไทยเพื่อไปค้าขายยังต่างประเทศ แต่เคราะห์ร้ายเกิดจมลงเสียก่อน

การยึดโบราณวัตถุครั้งนั้นจึงถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในด้านโบราณคดีที่เดียว เพราะคงมีไม่บ่อยนักที่เราจะสามารถยึดโบราณวัตถุของกลางได้คราวหนึ่งเป็นหมื่นๆ ชิ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเราจะโชคดี (หรือโชคร้าย?) เช่นนี้ได้บ่อยๆ หรือไม่ แต่เชื่อแน่ว่าทางการไทยของเรากำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติเอาไว้ (การซื้อเรือดำน้ำมาสักสองสามลำอาจจะช่วยได้ ?)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : ภาพประกอบจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2535, คำบรรยายภาพเรียบเรียงโดย คุณปริวรรต ธรรมปรีชากร ภัณฑารักษ์ แห่งพิพิธภัณฑ์โอสถสภา


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2560