“ออกขุนชำนาญ” ทูตพระนารายณ์ กับการผจญภัยในแหลมกู๊ดโฮป (หลังเรือแตกปางตาย)

ภาพเขียนสมัยศตวรรษที่ 17 ของออกขุนชำนาญ, (ฉากหลัง) แผนที่แอฟริกาเขียนขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 17 (G. and I. Blaeu)

การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในสมัยก่อนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หลายครั้งผู้เดินทางต้องชีวิตตั้งแต่ยังไม่ถึงที่หมาย เมื่อต้องเผชิญกับความแปรปรวนของธรรมชาติ รวมถึงภัยจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง แม้กระทั่งขุนนางชั้นสูง อย่าง “ออกขุนชำนาญ” ทูตในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์หลายท่านก็ยังต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากการเดินทางอันยากลำบาก เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการเชื่อมสัมพันธ์กับอาณาจักรอยุธยา กับอาณาจักรในดินแดนไกลโพ้นในทวีปยุโรป

คณะทูตที่ต้องประสบเคราะห์กรรมไปไม่ถึงที่หมายจะมีมากน้อยเท่าใดคงยากจะบอกได้ เพราะส่วนใหญ่บันทึกราชการจะบอกเล่าแต่การเดินทางที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น เหมือนเช่นคณะของท่านโกษาปาน

แต่ทูตบางท่านที่เคยเดินทางการไปประสบเคราะห์กรรมอยู่ต่างแดน แล้วยังสามารถฝ่าฟันภยันอันตรายกลับมาได้ยังพอมี และทูตท่านนี้ก็ได้มาบอกเล่าประสบการณ์ของตนให้กับบาทหลวงฝรั่งเศสที่เดินทางมายังราชอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ฟัง ซึ่งบาทหลวงท่านนี้ก็ได้บันทึกปากคำของทูตผู้รอดชีวิตเอาไว้ในบันทึกการเดินทางของท่านโดยละเอียดอีกด้วย

ทูตท่านนี้ก็คือ ออกขุนชำนาญ ซึ่งได้เล่าเหตุการณ์การผจญภัยของท่านในทวีปแอฟริกาให้กับบาทหลวงตาชาร์ดฟัง โดยครั้งนั้นท่านและคณะได้ถูกส่งให้เดินทางไปยังโปรตุเกส เริ่มออกเดินทางจากสยามราวสิ้นเดือนมีนาคม 2227 โดยสำเภาหลวง ใช้เวลา 5 เดือนจึงไปถึงเมืองกัว แล้วต้องรอเรืออยู่นานหลายเดือนจึงจะได้ขึ้นเรือรบของพระเจ้ากรุงโปรตุเกสออกเดินทางอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม 2229

ออกขุนชํานาญใจจง ภาพนี้วาดโดยจิตรกร ซึ่งมีชื่อเสียงสมัยนั้น คือ คาร์โล มาเรตตา (Carlo Maratta)

ออกจากเมืองกัวมาได้ราว 3 เดือนเรือที่ท่านขุนทั้งหลายร่วมเดินทางมาด้วยก็เกิดอับปางลงที่แหลมแดส์ เอกียส์ แหลมที่อยู่ทางปลายสุดของทวีปแอฟริกาห่างจากแหลมกู๊ดโฮปประมาณ 100 ไมล์ หลังกระแทกเข้ากับโขดหินจนเรือแตก ท่านขุนชำนาญบอกว่า เหตุครั้งนั้นช่างชุลมุนวุ่นวาย เสบียงและข้าวของมากมายต้องสูญหายไปกับกระแสคลื่นอันบ้าคลั่ง ส่วนลูกเรือที่สูญหายไปมีอยู่ราว 7-8 คน

เบื้องต้นกัปตันบอกกับบรรดาลูกเรือว่า พวกเขาอยู่ไม่ไกลจากแหลมกู๊ดโฮปซึ่งมีชุมชนชาวฮอลันดาอยู่ เพียงเดินเท้าราว 2 วันก็คงถึง ชาวคณะผู้ร่วมทางจึงพากันทิ้งข้าวของที่หลงเหลือติดตัวทิ้งเพื่อจะช่วยให้เดินทางเร็วขึ้น แต่เดินมา 3 วันแล้วก็ยังไม่ถึงสักที ท่านราชทูตจึงขอให้คณะทูตสยามเดินทางล่วงหน้าไปกับชาวโปรตุเกส ส่วนตัวราชทูตจะขอพักกลางทางนี้เนื่องจากไปต่อไม่ไหว

เดินต่อไปได้ 5 วัน พวกเขาก็เห็นเงาคนตะคุ่มๆ ของคนสองสามคน ก็ดีใจนึกว่าจะได้เจอชุมชนชาวฮอลันดาเข้าแล้ว แต่เมื่อเข้าไปใกล้จึงได้รู้ว่าเป็นชนพื้นเมือง โอตังโตต์ (Hottentot) ชาวป่าจึงได้ชวนคณะเรือแตกไปที่หมู่บ้าน แต่พวกเขาก็มิได้ให้ความช่วยเหลือฟรีๆ ต้องเอาของมีค่าไปแลกมา ซึ่งก็ช่วยให้คณะเรือแตกมีอาหารกินกันตาย ก่อนออกเดินทางไปยังแหลมกู๊ดโฮปต่อไป

ภาพเขียนชาวโอตังโตต์ในศตวรรษที่ 18

ผ่านมาได้ราวอาทิตย์หนึ่ง กัปตันที่เคยบอกว่าเดินสักสองวันก็คงถึง ก็ได้ยอมรับกับคณะเรือแตกว่า เราหลงทางแล้ว ไม่รู้ว่าหมู่บ้านฮอลันดาอยู่ไหน และไม่รู้ว่าต้องเดินอีกกี่วันจึงจะถึง ทุกคนจึงตัดสินใจเดินทางเลียบชายฝั่ง เพราะอย่างน้อยก็น่าจะยังพอหาอาหารกินได้

9 วันผ่านไป ชาวคณะต้องเจอกับความยากลำบากกับการหาอาหารมาก คณะทูตสยามต้องเสียขุนนางไปรายหนึ่ง เนื่องจากขุนนางท่านนี้ไม่ยอมกินต้นไม้ใบหญ้าเหมือนคนอื่นๆ หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน กลุ่มชาวโปรตุเกสก็ลอบเดินทางหนีไป ทิ้งให้คณะทูตสยามเอาตัวรอดท่ามกลางความยากลำบากแต่ลำพัง

คณะทูตสยามซึ่งมีอุปทูตเป็นผู้นำยังพยายามปลุกใจให้ทุกคนมีกำลังใจในการทำหน้าที่ และพยายามตามร่องรอยของชาวโปรตุเกสต่อไป ความหิวโหย และเหนื่อยล้าระหว่างการเดินทาง ทำให้ขุนชำนาญถึงกับยอมถอดรองเท้ามาย่างไฟกิน! (ประเด็นนี้มีผู้ตั้งข้อสงสัยในบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ดด้วยเหมือนกันว่า ขุนนางสยามใส่รองเท้าด้วยหรือ? แล้วถ้าใส่ รองเท้าที่ใส่ทำจากหนังสัตว์ที่กินได้ด้วยหรือไม่?) และเมื่อยิ่งเดินก็ยิ่งสิ้นหวัง คณะทูตจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปหาหมู่บ้านคนป่าพื้นเมืองโอตังโตต์เพื่อขอเป็นข้ารับใช้ดีกว่าอดตาย

คณะทูตสยามได้เจอกับคณะของชาวโอตังโตต์ 3 คน ระหว่างหาปลา คณะทูตเห็นกล้องยาสูบของคนป่าก็รู้แน่ว่า คนป่ากลุ่มนี้น่าจะเคยติดต่อกับชาวตะวันตก ทั้งสองฝ่ายพยายามสื่อสารกันแต่ก็ไม่ได้ความมากนัก เมื่อชาวป่าตะโกนขึ้นมาว่า “ฮอลันดา ฮอลันดา” คณะทูตจึงได้เข้าใจว่า ชาวโอตังโตต์พยายามจะบอกว่า หมู่บ้านฮอลันดาอยู่ห่างออกไปเพียง 6 วัน ซึ่งชาวโอตังโตต์ก็ยอมนำทางพาคณะทูตสยามไปยังหมู่บ้านแห่งนี้ด้วย

แต่อุปสรรคระหว่างทางก็ยังมีอยู่ เพราะคณะทูตมิได้ชำนาญการเดินป่าเหมือนกับชาวโอตังโตต์ การเดินทางที่เชื่องช้าจึงสร้างความรำคาญให้กับผู้นำทาง ชาวคณะจึงตัดสินใจทิ้งให้คนอ่อนแอไว้กลางทาง ไว้ถึงที่หมายแล้วค่อยกลับมาช่วยเหลืออีกที

นอกจากนี้คณะทูตสยามก็ไม่ค่อยไว้ใจชนพื้นเมืองเท่าใดนัก เมื่อเดินทางมาเกิน 6 วันแล้วยังไม่ถึงก็พากันกลัวว่าจะถูกหลอกหรือไม่ แต่สุดท้ายหลังผ่านการเดินทางมานานนับเดือน พวกเขาก็เดินทางมาถึงแหลมกู๊ดโฮป และได้ร้องขอให้ชาวฮอลันดาออกเดินทางไปรับคณะทูตที่ตกค้างระหว่างทาง หลังจากนั้นชาวฮอลันดาก็ได้จัดพิธีต้อนรับคณะทูตสยามอย่างสมเกียรติ ก่อนส่งใบเสร็จมาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากราชสำนักสยาม เป็นหลักฐานว่า คณะทูตกลุ่มนี้เคยมาประสบภัยในบริเวณแหลมกู๊ดโฮปจริง

คณะทูตสยามได้พักอยู่แหลมกู๊ดโฮปราวสองเดือน จึงได้เดินทางกลับสยามโดยสวัสดิภาพ ด้านขุนชำนาญเมื่อกลับมาพักฟื้นที่สยามได้ราว 6 เดือน ก็ต้องออกเดินทางไปยังฝรั่งเศส ซึ่งระหว่างการเดินทางกับคณะชาวฝรั่งเศสในครั้งนี้นี่เองที่ท่านได้ถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยของตนให้บาทหลวงตาชาร์ดฟัง ซึ่งท่านตาชาร์ดก็ “อาจจะ” ใส่สีตีไข่ในเรื่องราวดังกล่าวลงไปบ้าง หรือตีความปากคำของทูตไทยผิดไปบ้าง จึงทำให้มีคนตั้งข้อสงสัยในบันทึกของท่านอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็มีหลักฐานอื่นช่วยยืนยันได้ว่า

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจริง (บันทึกค่าธรรมเนียมบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา) มิได้เป็นเรื่องกุขึ้น (ทั้งหมด) ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างที่ท่านว่าไว้หรือไม่นั้น คงหาหลักฐานอื่นมายืนยันได้ยาก ท่านผู้อ่านจงใช้วิจารญาณของท่านพิจารณาเอาเองเถิด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปรามินทร์ เครือทอง. “ทูตเรือแตกที่แหลมกู๊ดโฮปสมัยพระนารายณ์ วีรวิบากกรรมปางตายของ ออกขุนชำนาญ”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 22 ฉบับที่ 5, มีนาคม 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 22 เมษายน 2561