พระพุทธสำคัญของล้านช้าง? ที่สยามเชิญมาประดิษฐานในประเทศ

พระพุทธรูปล้านช้าง พระแซกคำ พระแสน (เมืองมหาชัย) พระฉันสมอ
(จากซ้าย) พระแซกคำ, พระแสน (เมืองมหาชัย), พระฉันสมอ

พระพุทธรูปสำคัญในไทย จำนวนหนึ่งเชิญมาแต่เขตล้านช้างคือเมืองเวียงจันท์ และเมืองอื่นทางตะวันออกหลายองค์ เป็นพระพุทธรูปสร้างที่อื่น ตกไปอยู่ในอาณาเขตล้านช้างโดยประวัติบ้าง สร้างขึ้นในเขตล้านช้างแต่เมื่อยังเป็นประเทศศรีสัตนาคนหุตบ้าง ซึ่งพระพุทธรูปที่สร้างทางเขตล้านช้าง หรือ พระพุทธรูปล้านช้าง มักเรียกกันว่าฝีมือช่างลาวพุงขาว

นอกจาก พระแก้วมรกต (เดิมประดิษฐานอยู่ล้านนา ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญไปล้านช้าง) และ พระบาง (ภายหลังเชิญกลับล้านช้าง) ที่เชิญมาสยามในสมัยกรุงธนบุรีแล้ว ช่วงรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ยังเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากล้านช้างอีกหลายองค์มาประดิษฐานในไทย ดังนี้

พระเสริม พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของเมืองเวียงจันท์ คราวปราบกบฏเวียงจันท์สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำลายเมืองเวียงจันท์เสีย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ ซึ่งเสด็จเป็นจอมพลขึ้นไปในคราวนั้น จึงโปรดเชิญพระเสริมมาไว้ที่วัดโพธิชัย แขวงเมืองหนองคาย ซึ่งตั้งเป็นเมืองใหญ่แทนเมืองเวียงจันท์

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเชิญพระเสริมลงมาอยู่เทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เดิมทรงจะให้ประดิษฐานเป็นพระประธานวัดบวรสุทธาวาส แต่เมื่อทอดพระเนตรพระเนตรเห็นโปรดพระลักษณะ ให้ประดิษฐานไว้บนพระแท่นเศวตฉัตรในท้องพระโรง เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญพระเสริมไปตั้งเป็นพระประธานในวิหารวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ

พระแซกคำ พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชล้านนา อัญเชิญมาเวียงจันท์ พร้อมกับพระฉันสมอและพระบาง เมื่อคราวสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ขึ้นไปปราบกบฏ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 100 องค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระยาราชมนตรี (ภู่) ไปตั้งเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดคฤหบดี กรุงเทพฯ

พระฉันสมอ พระพุทธรูปศิลปะจีน สร้างเป็นปางฉันสมอตามพุทธประวัติ เชิญมาจากเวียงจันท์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้เจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) เพื่อนำไปประดิษฐานในพระมณฑปวัดอัปสรสวรรค์ กรุงเทพฯ

พระใส พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ตามตำนานว่าสร้างพร้อมกับพระเสริมและพระสุก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญจากเมืองหนองคาย มาประดิษฐานที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2401

พระแสน (เมืองมหาชัย) เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์บูชาขอฝนได้ เชิญมาจากถ้ำในแขวงเมืองมหาชัย เมืองเวียงจันท์ ในคราวเดียวกับที่เชิญพระใสกับพระเสริมลงมา โปรดให้ประดิษฐานร่วมกับพระเสริมและพระใส ที่วัดปทุมวนาราม มาจนปัจจุบัน

พระแสน (เมืองเชียงแตง) พระพุทธรูปสำคัญที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์เชิญมาจากเมืองเชียงแตง เวียงจันท์ คราวไปปราบกบฏ ประดิษฐานอยู่ที่บุษบกเบื้องหน้าพระพุทธปฏิมากรพระประธาน ในพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม กรุงเทพฯ

พระอินทรแปลง หรือพระอินแปง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันท์ เมื่อ พ.ศ. 2041 เดิมทรงพระราชดำริจะเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม แต่ภายหลังโปรดให้เชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดเสนาสน์ พระนครศรีอยุธยา

พระอรุณ หรือพระแจ้ง เชิญมาจากเมืองเวียงจันท์เมื่อ ปีมะเมีย พ.ศ. 2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระนามพ้องกับวัดนั้น

“พระพุทธรูปล้านช้าง” ส่วนใหญ่มักพระราชทานแยกย้ายไปประดิษฐานไว้ตามพระอารามต่างๆ มักอยู่นอกกำแพงพระนคร ด้วยขณะนั้นผู้คนยังกังวลกับรังเกียจตามคติชาวล้านช้าง เช่น ปีใดฝนแล้ง ก็มักโทษกันว่าเพราะเชิญพระล้านช้างเข้ามาเป็นต้น

อ่านเพิ่ม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตํานานพระพุทธรูปสําคัญ, วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ถวายเป็นมุทิตาสักการะ ในวโรกาสพระราชพิธีศุภมงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564