ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2556 |
---|---|
ผู้เขียน | ปฐมพงษ์ สุขเล็ก |
เผยแพร่ |
“พระบาง” จากลาวสู่สยาม อัญเชิญมาเพราะ “การเมือง” ส่งกลับเพราะ “ความเชื่อ”
บทนํา
จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับต่าง ๆ โดยเฉพาะสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ที่กล่าวถึงการศึกสงครามระหว่างราชสํานักไทยและอาณาจักรใกล้เคียง มักกล่าวถึงฝ่ายที่มีชัยชนะได้ขนย้ายทรัพย์สินมีค่า แผ้วถางทําลายเมืองกวาดต้อนไพร่พลรวมถึงเหล่าเจ้านายเชื้อพระวงศ์กลับสู่เมืองของตน หรือในสมัยนี้อาจจะเรียกว่า “ค่าปฏิกรรมสงคราม” เป็นค่าชดเชยความเสียหายที่ผู้ชนะเรียกร้องจากผู้พ่ายแพ้ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงอํานาจที่เหนือกว่า อีกทั้งเป็นนัยสําคัญที่การขนย้าย หรือทําลายสิ่งของบางอย่าง เป็นไปเพื่อ “ทําลายขวัญ” อันเป็นหลักชัยของอาณาจักรนั้น ๆ ขวัญกําลังใจสิ่งหนึ่งคือ “พระพุทธรูป”
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ถือว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ใต้อํานาจของพม่าโดยสิ้นเชิง พม่าได้กวาดต้อนไพร่พล เชื้อพระวงศ์ ขนย้ายสิ่งของมีค่ารวมถึงบุกทําลายพระนคร โดยเฉพาะการเผาทําลายพระศรีสรรเพชญดาญาณอันเป็นพระพุทธรูปสําคัญที่ประดิษฐานในพระอารามพระบรมมหาราชวัง แม้อาจสันนิษฐานได้ว่าการทําลายด้วยการสุมเพลิงครั้งนั้นเพราะเพียงต้องการทองคําจากองค์พระศรีสรรเพชญดาญาณ แต่ไม่อาจมองข้ามได้ว่านี่คือการทําลายขวัญของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา
หรือในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนําทัพตีเมืองเวียงจันทน์ พระองค์ก็นําพระแก้วมรกตและพระบางอันเป็นพระพุทธรูปสําคัญของเวียงจันทน์กลับสู่กรุงธนบุรีในฐานะฝ่ายที่มีชัยชนะเช่นกัน (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้นําพระบางกลับคืนล้านช้าง) และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดียกทัพไปปราบ เมื่อปราบกบฏได้เรียบร้อยแล้วพระยาราชสุภาวดีได้อัญเชิญพระบางกลับสู่กรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้งในฐานะฝ่ายที่มีชัยชนะ ด้วยความชอบนี้จึงได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่สมุหนายกในที่สุด
การอัญเชิญพระบางมาสู่ราชสํานักไทยเป็นครั้งที่ 2 ของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงเป็นนัยสําคัญของ “พระบาง” ทั้งที่สมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ส่งคืนกลับไปแล้ว และท้ายที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็โปรดเกล้าฯ ส่งคืนกลับไปอีกเช่นกัน โดยทั้ง 2 วาระนั้นเป็นช่วงเวลาที่ราชสํานักไทยยังคงมีอํานาจเหนือล้านช้าง หลังจากนั้นพระบางก็ไม่เคยอัญเชิญมาไทยอีกเลย
พระบาง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตามตํานาน
ตํานานการสร้างพระบางปรากฏในพงศาวดารหลวงพระบาง ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุนกล่าวว่าพระ อรหันต์ชื่อจุลนาคเถรได้สร้างพระบางขึ้นในศักราช 236 ที่เมืองลังกา และได้อธิษฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 พระองค์ ไว้ภายในพระบาง ดังนี้
มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อพระจุลนาคเถรอยู่เมืองลังกาทวีป ประกอบด้วยพระไตรปิฎกคิดจะให้พระพุทธ ศาสนารุ่งเรืองไปตราบเท่าถ้วนถึง 5000 พระวัสสา พระองค์จึงพิเคราะห์ด้วยเหตุจะสร้างรูปพระปฏิมากร จึงให้คนไปป่าวร้องชาวเมืองลังกาทวีปให้มาพร้อมกันแล้ว ให้ช่างปั้นรูปพระพุทธเจ้ายกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นห้าม เมื่อพระยากบิลพัสดุ์ พระยาโกลียยกไพร่พลมารบกันริมน้ำโรทินี ครั้นปั้นเสร็จแล้วคนทั้งหลายก็เอาเงินและทองคํา ทองแดง ทองเหลืองมาให้พระจุลนาคเถรหล่อรูปพระปฏิมากร แล้วชาวเมืองลังกาก็พากันทําสักการะบูชาต่าง ๆ
พระจุลนาคเถร พระยาลังกาพร้อมกันยกเอาพระปฏิมากรขึ้นตั้งไว้ในปราสาท ขนานนามตั้งว่าพระบาง แล้วพระจุลนาคเถรจึงอัญเชิญพระบรมธาตุ 5 พระองค์ ใส่ผอบแก้วขึ้นตั้งไว้บนอาสนะทองตรงพระพักตร์พระบาง อธิษฐานว่าพระบางองค์ฃนี้จะได้เป็นที่ไหว้ที่บูชาแก่เทพยาดามนุษย์ทั้งปวงถาวรสืบไปถึง 5000 พระวัสสา ก็ขอให้พระบรมธาตุ 5 พระองค์ เสด็จเข้าสถิตอยู่ในรูปพระบางนั้น แล้วพระบรมธาตุเสด็จเข้าอยู่ที่พระนลาตองค์ 1 อยู่ที่พระหนุองค์ 1 อยู่ที่พระอุระองค์ 1 อยู่พระหัตถ์เบื้องขวาองค์ 1 อยู่พระหัตถ์เบื้องซ้ายองค์ 1 แล้วพระบางก็ทําปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ต่าง ๆ ได้มีการสมโภช 7 วัน 7 คืน [1]
ในกาลต่อมาพระยาศรีจุลราชได้ขออัญเชิญพระบางจากพระยาสุบินราชเจ้าแผ่นดินเมืองลังกามาประดิษฐานเมืองอินทปัตนคร (กรุงกัมพูชา) ต่อมาพระเจ้าฟ้างุ้มผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวผู้เป็นลูกเขยจึงขออัญเชิญพระบางไปยังเมืองของตน ครั้นเมื่อเดินทางถึงนครเวียงคํา พระยาเวียงคําขออัญเชิญพระบางไว้ทําสักการบูชาก่อน พระเจ้าฟ้าจุ้มจึงพาไพร่พลไปเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว
ในศักราช 834 (พ.ศ. 2015) สมัยพระยาล่าน้ำแสนไทไตรภูวนารถเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ให้ท้าวพระยาไปอัญเชิญพระบางจากเมืองเวียงคํามาไว้ที่วัดเชียงกลางเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว (เมืองหลวงพระบาง) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่พระบางได้ประดิษฐานในอาณาจักรล้านช้าง เหตุการณ์หลังจากนี้เป็นการเล่าพระราชพงศาวดาร รวมถึงการกล่าวถึงการอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานยังพระอารามต่าง ๆ ที่กษัตริย์ล้านช้างมีพระราชศรัทธาสร้างขึ้น
ในศักราช 921 (พ.ศ. 2102) สมัยพระไชยเชษฐาธิราชลงมาตั้งเมืองเวียงจันท์ มีชื่อว่าเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แต่พระบางยังอยู่เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว จึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลวงพระบางราชธานีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ตามชื่อของพระบาง และในศักราช 1043 (พ.ศ. 2224) ท้าวนองอัญเชิญพระบางลงมาเมืองเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว (เมืองเวียงจันทน์) จนกระทั่งถูกอัญเชิญไปกรุงธนบุรี
จากตํานานหรือพระราชพงศาวดารหลวงพระบางข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสําคัญของพระบางทั้งใน ด้านความศักดิ์สิทธิ์ และระยะเวลานับร้อยปีที่พระบางประดิษฐานในอาณาจักรล้านช้างที่มีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์สําคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนชื่อเมืองตามนามของพระบาง หรือการอัญเชิญพระบางไปพร้อมกับการย้ายเมือง แสดงให้เห็นถึงฐานะของพระบางที่เป็นพระพุทธรูปสําคัญอันมีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นตัวแทนหลักชัยของอาณาจักรด้วย
อัญเชิญพระบางมาไทยถึง 2 ครั้ง
การอัญเชิญพระบางมาสู่ราชสํานักไทยทั้ง 2 ครั้ง ล้วนแต่เกิดจากการขนย้ายทรัพย์สินไพร่พลในฐานะฝ่ายที่มีชัยชนะทั้งสิ้น ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2322 สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบกบฏเมืองเวียงจันทน์ เมื่อปราบกบฏเรียบร้อยแล้วได้ขนย้ายกวาดต้อนบรรดาเชื้อพระวงศ์ ทรัพย์สินมีค่าต่าง ๆ รวมถึงพระบาง ดังนี้
กองทัพไทยก็เข้าเมืองได้จับได้ตัวเจ้าอุปฮาด เจ้านันทเสน และราชบุตรบุตรีวงศานุวงศ์ชะแม่สนมกํานัลและขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงกับทรัพย์สินสิ่งของและเครื่องสรรพศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้กวาดขนข้ามมาไว้ ณ เมืองพานพร้าวฟากตะวันตกกับท้องครอบครัวลาวชาวเมืองทั้งปวง แล้วให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตและพระบางซึ่งสถิตอยู่ ณ พระวิหารในวังพระเจ้าล้านช้างนั้น อาราธนาลงเรือข้ามฟากมาประดิษฐานไว้ ณ เมืองพานพร้าวด้วย [2]
ทางกรุงธนบุรีเมื่อทราบว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับกรุงธนบุรีพร้อมด้วยพระบาง (และ พระแก้วมรกต) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้จัดแต่งสถานที่ และการมหรสพในการสมโภชรวมถึงเสด็จพระราชดําเนินไปรับพระบาง (และพระแก้วมรกต) ด้วยพระองค์เอง ดังนี้
กองทัพถึงเมืองสระบุรีในเดือนยี่ ปีกุน เอกศก ศักราช 1141 จึงบอกลงมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดํารัสให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงให้ขึ้นไปรับพระพุทธรูปปฏิมากรแก้วมรกตถึงเมืองสระบุรี แล้วให้แต่งเรือชัยกิ่งขึ้นไปรับพระพุทธรูปด้วย ครั้นมาถึงตําบลบางธรณี จึงเสด็จพระราชดําเนินขึ้นไปรับโดยทางชลมารค พร้อมด้วยกระบวนนาวาพยุหแห่ลงมาตราบเท่าถึงพระนคร แล้วให้ปลูกโรงรับเสด็จพระพุทธปฏิมากรพระแก้วพระบางอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ โรงข้างพระอุโบสถวัดแจ้งภายในพระราชวัง ตั้งเครื่องสักการบูชามโหฬาราธิการโดยยิ่ง แล้วมีงานมหรสพถวายพุทธสมโภชครบสามวัน [3]
การประดิษฐานพระบางในสมัยกรุงธนบุรีหลังจากเหตุการณ์การสมโภชพระบางข้างต้นแล้วไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงพระบางอีกเลยตลอดสมัยกรุงธนบุรี แต่ได้มีการกล่าวถึงพระบางอีกครั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบางคืนให้เจ้านันทเสน เพื่ออัญเชิญกลับไปล้านช้าง ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงมีพระราชดํารัสโปรดให้เจ้านันทเสน ราชบุตรนั้นกลับขึ้นไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุตสืบต่อไป แล้วเจ้านันทเสนจึงกราบทูลขอพระบางกลับคืนไปด้วย [4]
การที่เจ้านันทเสนทูลขอพระบางกลับคืนไปสู่ล้านช้างอาจไม่ใช่ข้อที่น่าสังเกตมากนัก เพราะพระบางเดิมเคยประดิษฐานในล้านช้างอยู่เก่าก่อน เพียงฉงนใจว่าเหตุใดเจ้านันทเสนจึงกล้าทูลขอพระราชทานพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นผู้อัญเชิญมาในฐานะเครื่องหมายแห่งชัยชนะจากการปราบกบฏล้านช้าง แต่สิ่งที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือเหตุใดพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานคืนกลับไปโดยง่าย เพราะดังที่กล่าวไปแล้วว่า พระบางเป็นสัญญะของอํานาจเหนือล้านช้างของพระองค์
สาเหตุของการพระราชทานพระบางกลับคืนล้านช้าง โดยง่ายน่าจะมีสาเหตุมาจากความเชื่อเรื่องผีรักษาพระพุทธรูปที่เจ้านันทเสนกราบทูลต่อพระองค์ ดังนี้
พระแก้วกับพระบางมีปิศาจที่รักษาพระพุทธรูปไม่ชอบกัน ถ้าอยู่ด้วยกันเมืองใดก็ไม่มีความสบายที่เมืองนั้น การเห็นเป็นอย่างมา 3 ครั้ง แล้วคือ
แต่เมื่อครั้งพระแก้วมรกตอยู่เมืองเชียงใหม่ กรุงศรีสุตนาคนหุตก็อยู่เย็นเป็นสุข ครั้งพระเจ้าไชยเชษฐาเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปไว้ด้วยกับพระบางที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีสุตนาคนหุต แล้วพม่ามาเบียดเบียนจนต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งอยู่ ณ นครเวียงจันทน์ ครั้นอัญเชิญพระบางลงมาไว้นครเวียงจันทน์กับพระแก้วมรกตด้วยกันอีก ก็เกิดเหตุจลาจลต่าง ๆ บ้านเมืองไม่ปกติจนเสียนครเวียงจันทน์ให้กับกรุงธนบุรี ครั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาไว้ด้วยกันในกรุงธนบุรี ไม่ช้าก็เกิดเหตุจลาจล ขออย่าให้ทรงประดิษฐานพระบางกับพระแก้วมรกตไว้ด้วยกัน [5]
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษก และสร้างพระนครรวมถึงวัดพระศรีรัตนศาสดารามเรียบร้อยแล้ว เอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับต่าง ๆ ได้กล่าวถึงแต่เพียงพระแก้วมรกตในการอัญเชิญมาสู่พระนครแห่งใหม่ว่า “การก่อสร้างอารามสําเร็จในปีมะโรง ฉศก จุลศักราช 1146 (พ.ศ. 2327) ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน 4 แรม 14 ค่ำ จึงโปรดให้เชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตจากโรงในพระราชวังเดิมฟากตะวันตกลงเรือพระที่นั่งกิ่งมีเรือแห่เป็นกระบวนข้ามมายังพระอารามที่สร้างใหม่” [6] คือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แต่สําหรับพระบางนั้นผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะอัญเชิญจากโรงพระราชวังเดิมมาพร้อมกัน หากไม่นํามาประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็น่าจะต้องอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง เพราะเป็นพระพุทธรูปสําคัญทั้ง 2 องค์ ที่พระองค์เองเป็นผู้อัญเชิญมาจากล้านช้าง
ดังนั้น เหตุผลเรื่องความเชื่อของผีรักษาพระแก้วมรกตและผีรักษาพระบางไม่ถูกกันจนทําให้บ้านเมืองทั้ง 3 แห่งที่อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ไว้ด้วยกันเกิดเหตุร้ายจนถึงขั้นเสียบ้านเสียเมือง อีกทั้งในขณะกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ในช่วงเวลาเริ่มก่อร่างสร้างเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงพระราชทานพระบางกลับคืนสู่ล้านช้าง จึงสอดคล้องกับเจ้านันทเสนกล้ากราบทูลขอพระราชทานพระบางกลับคืนสู่ล้านช้าง เพราะเจ้านันทเสนเองเป็นผู้ที่แจ้งเรื่องผีที่รักษาพระพุทธรูปทั้งสอง
พระบางถูกอัญเชิญมาสู่ไทยเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุเจ้าอนุวงศ์ เป็นกบฏ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา) ยกทัพไปปราบ
เมื่อปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้นําพระบางกลับลงมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ด้วย จึงมีประเด็นที่น่าสนใจว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา “รู้” หรือ “ไม่รู้” เรื่องผีรักษาพระบาง เพราะหากรู้เรื่องผีรักษาพระบางแล้วเหตุใดเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงนําพระบางกลับมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์อีก
เจ้าพระยาบดินทรเดชา “รู้” หรือ “ไม่รู้” เรื่องผีรักษาพระบาง
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นบุตรคน ที่ 4 ของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กําเนิดแต่คุณหญิงฟัก เมื่อปีระกา พ.ศ. 2320 ตรงกับปลายรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานคืนพระบางกลับสู่ล้านช้าง เพราะเหตุผลในเรื่องผีรักษาพระแก้วมรกตและผีรักษาพระบางไม่ถูกกันน่าจะเกิดประมาณปี พ.ศ. 2327 อันเป็นปีที่อัญเชิญพระแก้วมรกตจากโรงในพระราชวังเดิม มาประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง
ดังนั้น เหตุการณ์จึงเกิดช่วงเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มีอายุประมาณ 2 ปี ต่อมาเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) ผู้เป็นบิดาได้นําตัวนายสิงห์เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร คือพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชสมภพ พ.ศ. 2310 เมื่อเทียบเหตุการณ์การพระราชทานพระบางกลับคืนล้านช้าง ช่วงเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรจะมี พระชนมายุ 16 พรรษา หากเมื่อพิจารณาถึงเรื่องพระชนมายุ และการสนองงานในราชสํานักจึงน่าเป็นไปได้ว่า พระองค์ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีรักษาพระแก้วและพระบางไม่ถูกกัน
รวมถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอันเป็นสมัยที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อัญเชิญพระบางมาสู่พระนคร พระองค์ได้รับรู้เรื่องผีรักษาพระแก้วและพระบางจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อัญเชิญไปไว้วัดจักรวรรดิราชาวาส เพราะเป็นพระอารามที่อยู่นอกพระนคร เพื่อไม่ให้ใกล้ชิดกับพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ปรากฏหลักฐานดังนี้
ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว… จึงทรงพระราชศรัทธาให้เชิญพระบาง พระแฑรกคํา พระฉันสมอ ไว้ในหอพระนาค วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้นภายหลังได้ทรงสดับการแต่หลังมา จึงทรงดําริว่า จะขัดแก่การซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้ทรงบังคับมาแต่ก่อน เพื่อจะให้เป็นมงคลแก่พระนครหาควรไม่ ควรจะให้พระมีชื่อซึ่งลาวนับถือว่ามีปิศาจสิง 3 พระองค์ให้ไปอยู่ภายนอกพระนคร
จึ่งพระราชทานพระบางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเชิญไปไว้วัดกระวัดราชาวาศ พระราชทานพระฉันสมอ ให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ไปไว้วัดอับษรสวรรค์ พระราชทานพระแฑรกคําให้พระยาราชมนตรี (ภู่) ไปไว้วัดคฤหบดี เป็นภายนอกพระนครทั้งสามพระองค์ [7]
จากเหตุผลข้างต้นจึงน่าจะเชื่อได้ว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รับรู้เรื่องความเชื่อเรื่องผีรักษาพระแก้วและพระบางไม่ถูกกันจากคําบอกเล่าของผู้คนในราชสํานัก หรือคําเล่าของบิดาก็เป็นได้
เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุผลที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อัญเชิญพระบางกลับมาสู่ราชสํานักไทยเป็นครั้งที่ 2 จึงน่าจะเป็นการแสดงถึงแสนยานุภาพของฝ่ายที่มีชัยชนะเหนือศัตรู “พระบางจึงเป็นสัญญะแห่งอํานาจเหนือล้านช้าง”
อัญเชิญมา “เพราะการเมือง” ส่งคืนกลับ “เพราะความเชื่อ”
การอัญเชิญพระบางจากล้านช้างมาสู่ราชสํานักไทย ทั้งในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการสู้รบที่ฝ่ายไทยได้รับชัยชนะทั้งสิ้น การอัญเชิญพระบางมาพร้อมกับทรัพย์สินมีค่าจึงอาจแสดงได้ว่า การอัญเชิญพระบางมาสู่ราชสํานักไทยเป็นเหตุผลทางการเมือง ทั้งเพื่อแสดงถึงอํานาจที่มีเหนือกว่า รวมถึงการทําลายขวัญอันเป็นหลักชัยของบ้านเมืองเพื่อไม่ให้มีใจคิดแข็งเมืองขึ้นมาอีก
การอัญเชิญพระบางจากราชสํานักไทยกลับสู่ล้านช้างในครั้งที่ 1 เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเชื่อถือเรื่องผีรักษาพระแก้วมรกตและผีรักษาพระบางไม่ถูกกันจึงพระราชทานคืนให้กับเจ้านันทเสนตามที่เจ้านันทเสนทูลขอพระราชทานนํากลับไปล้านช้างดังเดิม
การอัญเชิญพระบางจากราชสํานักไทยกลับสู่ล้านช้างในครั้งที่ 2 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2409 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางอัญเชิญพระบางกลับสู่ล้านช้าง (หลวงพระบาง) เช่นเดิม ดังนี้
ครั้นมาถึงปีอัฐศก เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รับพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้เมืองหลวงพระบางตามเดิม เจ้าอุปฮาดราชวงษได้เชิญเสด็จพระบางออกจากวัดจักรวัดิราชาวาศ ณ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ เวลาเพลแล้ว โปรดให้ไปประทับไว้ที่พระตําหนักน้ำ ทําการสมโภชอยู่ 3 วัน แล้วบอกบุญพระราชาคณะเปรียญการสัตบุรุษแห่ขึ้นไปส่งเพียงปากเกรด [8]
เหตุผลในการพระราชทานพระบางคืนกลับไปสู่ล้านช้างในครั้งที่ 2 ไม่ต่างกับเหตุผลครั้งแรก คือการเชื่อถือว่าผีรักษาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ เมื่ออยู่เมืองใดเมืองนั้นย่อมประสบความเดือดร้อน
กล่าวคือ ความเชื่อเรื่องนี้ปรากฏครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานคืนพระบางกลับสู่ล้านช้าง และในการอัญเชิญพระบางมาสู่ราชสํานักไทยครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อัญเชิญพระบางไปยังพระอารามนอกพระนคร เพราะไม่ต้องการให้พระบางอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังอันเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบหลักฐานว่า “เสนาบดีเข้าชื่อกันทําเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราษฎรกล่าวว่าพระบาง พระพุทธรูปทําให้ฝนแล้ง” โจษจันกันทั่วพระนครถึงเรื่องผีรักษาพระแก้วมรกตและพระบาง ดังนี้
แลเมื่อปีชวดฉศก [9] เกิดฝนแล้งข้าวแพงท่านเสนาบดีเข้าชื่อกันทําเรื่องราวทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายว่า ด้วยได้ยินราษฎรชายหญิงหลายพวกหลายเหล่าบ่นซุบซิบกันอยู่เนือง ๆ มานานแล้วว่า ครั้นตั้งแต่พระเดิมเมืองเวียงจัน ซึ่งมาอยู่เมืองหนองคาย เชิญลงมาไว้ในกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปีมะเส็งนพศก [10] แลพระสัยเมืองเวียงจัน ซึ่งมาอยู่ด้วยพระเสิม ณ เมืองหนองคาย แลพระแสนเมืองมหาไชยเชิญมาไว้ ณ วัดประทุมวนาราม
เมื่อปลายปีมะเมียสัมฤทธิศก [11] นั้นมา ฝนในแขวงกรุงเทพมหานครน้อยไปกว่าแต่ก่อนทุกปี ต้องบ่นว่าฝนแล้งทุกปี ลางพวกก็ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนของแพงที่นั่น แลว่าของลาวเขาถือว่าพระพุทธรูปของบ้านร้างเมืองเสีย ปิศาจมักสิงสู่ ลาวเรียกว่า พุทธยักษ รังเกียจนัก ไม่ให้เข้าบ้านเข้าเมือง
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังเนือง ๆ จึงได้ปรึกษากัน รําพึงถึงกาลเก่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เป็นแม่ทัพเสด็จขึ้นไปตีเมืองเวียงจันครั้งก่อน ก็ได้พระพุทธรูปมีชื่อทั้งปวงในเมืองนั้นมาอยู่ในอํานาจ แต่ทรงเลือกให้เชิญลงมากรุงธนบุรีแต่พระแก้วมรกฏกับพระบาง 2 พระองค์ พระพุทธรูปมีชื่อนอกนั้น โปรดให้คงอยู่เมืองเวียงจัน
ครั้นได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงจัดการแผ่นดิน และสร้างพระนครพระราชวังใหม่ เจ้านันทเสน แลเจ้าเขียวค่อมท้ายสวน กราบพระกรุณาว่า พระแก้วกับพระบางมีปิศาจที่รักษาพระพุทธรูปไม่ชอบกัน ถ้าอยู่ด้วยกันเมืองใดก็ไม่มีความสบายที่เมืองนั้น การเห็นเป็นอย่างมา 3 ครั้งแล้ว…
…ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า จะขอรับพระราชทานพระพุทธรูปที่ลาวนับถือ คือพระเสิม พระสัย พระแสน ฤาพระบาง พระแฑรกคํา พระฉันสมอ พระมีชื่ออื่น ๆ ด้วย พระราชทานคืนให้เจ้าเมืองหัวเมืองลาวที่เดิม ฤาเมืองอื่นที่นับถือรับไปไว้ทําบูชา ฤาถ้าทรงดําริเห็นว่า ได้เชิญมาแล้ว จะคืนไปเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ก็ขอพระราชทานพระบางไปเมืองหลวงพระบาง ให้ได้ประดิษฐานอยู่ตามชื่อเมืองเดิม ก็จะเป็นพระเกียรติยศมากด้วยทําให้เมืองนั้นซึ่งเป็นข้าของขัณฑเสมาคงชื่อเดิม…
ควรมิควรสุดแล้วแต่จะพระกรุณาโปรด [12]
การเข้าชื่อของเสนาบดีกราบทูลเหตุการณ์ราษฎรโจษจันเรื่องผีรักษาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ ไม่ถูกกันจึง เกิดเหตุเดือดร้อน “ไม่มีความสบายที่เมืองนั้น” ใน พ.ศ. 2407 เหตุการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องผีรักษาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ ที่ร่ำลือตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นที่รับรู้สืบต่อมาทั้งในส่วนราชสํานักและราษฎร
หลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบางคืนกลับไปสู่เมืองหลวงพระบาง ตามแต่ครั้งเมื่อพระบางประดิษฐานที่ล้านช้างเป็นครั้งแรก
ด้วยเหตุนี้จึงทําให้น่าเชื่อว่าการพระราชทานคืนพระบางกลับสู่ล้านช้างของราชสํานักไทยทั้ง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาที่ราชสํานักไทยยังคงมีอํานาจเหนือล้านช้างมาจาก เหตุผลเรื่องความเชื่อในผีรักษาพระแก้วมรกตและพระบางไม่ถูกกันเป็นสําคัญ
บทสรุป
“พระบาง” อาจไม่ใช่พระพุทธรูปสําคัญในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีความพิเศษกว่าพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ เพราะเป็นพระพุทธรูปต่างบ้านต่างเมืองที่ถูกอัญเชิญมาสู่ราชสํานักไทยถึง 2 ครั้ง ในฐานะที่ฝ่ายราชสํานักไทยทําศึกมีชัยชนะ เป็นสิ่งแสดงถึงวีรกรรมของแม่ทัพและอํานาจที่เหนือกว่าล้านช้าง แต่สุดท้ายต้องส่งคืนกลับไปยังเมืองที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทั้ง 2 ครั้ง เช่นกัน
การอัญเชิญพระบางมาสู่ราชสํานักไทยทั้ง 2 ครั้ง เป็นการกระทําเพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะการอัญเชิญพระบางในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รับรู้ถึงผีรักษาพระแก้วมรกตและพระบางแต่ยังคงอัญเชิญพระบางกลับสู่พระนคร จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า “พระบางคือสัญญะแห่งอํานาจเหนือล้านช้าง” แต่การอัญเชิญพระบางกลับสู่ล้านช้างทั้ง 2 ครั้ง เป็นผลมาจากความเชื่อถือเรื่องผีรักษาพระพุทธรูปทั้งสองไม่ถูกกัน จะบันดาลให้เกิดเหตุร้ายในบ้านเมือง
การตอกย้ำถึงเรื่องการเมืองในการอัญเชิญพระบางมาสู่ราชสํานักไทย อันเป็นสัญญะแห่งอํานาจเหนือล้านช้างได้ปรากฏแฝงในถ้อยคําเสนอแนะของเสนาบดีที่เข้าชื่อกันทําเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราษฎรกล่าวว่าพระบางเป็นพระพุทธรูปที่ทําให้ฝนแล้งถึงการแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า
“ฤาถ้าทรงดําริเห็นว่า ได้เชิญมาแล้ว จะคืนไปเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ก็ขอพระราชทานพระบางไปเมืองหลวงพระบาง ให้ได้ประดิษฐานอยู่ตามชื่อเมืองเดิม ก็จะเป็นพระเกียรติยศมากด้วยทําให้เมืองนั้น ซึ่งเป็นข้าของขัณฑเสมาคงชื่อเดิม”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[1] ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 9, (2545), น. 56
[2] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, (2535), น. 222
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 222
[4] เรื่องเดียวกัน, น. 238
[5] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค), (2548), น. 284-285.
[6] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค), (2531), น. 24.
[7] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค), น. 285-287.
[8] เรื่องเดียวกัน, น. 288
[9] พ.ศ. 2407
[10] พ.ศ. 2400
[11] พ.ศ. 2401
[12] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค), น. 284-288.
บรรณานุกรม :
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, (2552), พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจําของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา
ปฐมพงษ์ สุขเล็ก. (2555), สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : เรื่องเล่าและการประกอบสร้างความหมาย. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. (ภาษาไทย), กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ถ่ายเอกสาร
ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 9, (2545), กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
ปรามินทร์ เครือทอง. “พุทธคุณพระแก้วมรกต,” ใน ศิลปวัฒนธรรมปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2551), น. 72-83.
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงตรวจชําระและทรงนิพนธ์อธิบาย, (2531). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขบุนนาค), (2548), พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จํากัด
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, (2535) พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
ภาสกร วงศ์ตาวัน. เจ้าอนุวงศ์กบฏหรือวีรบุรุษ. (2553). กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป.
ศานติ ภักดีคํา “พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนฯลงลืมใน “สังคีติยวงศ์”,” ใน ศิลป วัฒนธรรม, ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2553), น. 110-119.
สมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช. (2535?). ม.ป.ท.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2562