เอื้องแซะ บรรณาการชั้นสูงและภักดีที่เมืองต่างๆ ถวายเจ้าหลวงเชียงใหม่

เอื้องแซะหลวง หรือเอื้องแซะ (ภาพจาก กระดานข่าวงานวิจัยใช้ได้จริง: พืชอาหาร พืชสมุนไพร กลุ่มวิจัยพฤษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร)

“เอื้องแซะ” หรือชื่อเต็มที่เรียกกันว่า “เอื้องแซะหลวง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium scabrilingue Lindl. เอื้องแซะเป็นกล้วยไม้ชนิดที่เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้ชนิดหนึ่ง ขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000-3,000 ฟุต ในเขตดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเทือกเขาตะนาวศรี เรื่อยไปจนเหนือสุดของประเทศไทย

เอื้องแซะ ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม โดยออกเป็นช่อตามข้อ ด้านปลายยอดหนึ่งจะมีดอก 2-3 ดอก ดอกมีกลิ่นหอม สารหอมของเอื้องแซะมีการนำไปสกัดเพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอม

ชาวเหนือนิยมปลูกเอื้องแซะใส่กระถางแขวนไว้ตามชายคาบ้าน ผู้หญิงสมัยก่อนชอบเด็ดดอกเอื้องแซะมาแซมผม มีเรื่องเล่าและตำนานเอื้องแซะกับความรักหลายเรื่อง เช่น ถ้าเอื้องแซะบ้านใดออกดอกเดือนเมษายน (ปกติออกดอกเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และอาจมีดอกประปรายในเดือนมีนาคม) ลูกสาวบ้านนั้นจะพบความรัก

หรือเรื่อง ขุนหลวงวิรังคะ หัวหน้าฝ่ายละว้า แห่งเมืองเชียงใหม่ ที่มีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระนางจามเทวีแห่งหริภุญชัย ส่งคนมาสู่ขอ แต่ถูกปฏิเสธและเกิดเป็นศึกสู้รบกัน ขุนหลวงวิรังคะแพ้ และถูกทำให้เวทมนตร์เสื่อมจึงหลบหนีเข้าไปป่าดง ปฏิเสธที่จะกลับเข้ามาอยู่ในเมืองอีก และได้เปรียบว่า ตนเองเสมือนเอื้องแซะซึ่งจะงดงามเมื่ออยู่ในที่อันควรของตนเท่านั้น

ในทางประวัติศาสตร์เจ้าเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ เช่น เมืองงาย, เมืองยวม (แม่สะเรียง) เมื่อถึงฤดูที่เอื้องแซะออกดอก จะเก็บดอกมาเป็นเครื่องบรรณาการแก่เจ้าหลวงเชียงใหม่เสมอ เพื่อแสดงความจงรักภักดี นอกจากนี้ในราชสำนักพม่าและมอญสมัยโบราณก็ถือว่าดอกเอื้องแซะเป็นเครื่องสักการบูชาสูงส่งเช่นกัน

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. 2469 ก็มีชาวละว้านำดอกเอื้องแซะมาถวายเป็นบรรณาการ ดังตอนหนึ่งของคำกราบบังคมทูลถวายพระพรของพวกละว้า ที่พันตำรวจเอก เจ้าชัยสงคราม แปลสำเนากราบบังคมทูลว่า

“…ตั้งแต่พ่อเถ้าเหมาะแม่เถ้าหม่อนคนแต่ก่อนเล่าสืบกันมา ว่าพระมหากษัตราธิราชเจ้ายังบ่อเคยเสด็จเข้ามาเมืองเชียงใหม่สักต๋นเตื่อ

เพราะฉะนั้น พวกข้าพเจ้าซึ่งเป็นข้าอยู่ในใต้ฝ่าละอองพระบาท จึงได้พร้อมใจกันหาดอกเอื้องแซะและผ้าต้วยผ้าแดง ดอกฝ้ายปลายงา กับเบ้ายากับเรียวยาเขียวเจริญมาถวายพระมหากษัตริย์เจ้า ตามประเพณีที่เคยนำเอาถวายเจ้าเมืองเชียงใหม่ทุกๆ ปี

ตั้งแต่พวกข้าพระบาทเจ้าทั้งหลายได้เสียเงินค่ารัชชูปการมาได้ประมาณ 10 ปีกว่า เจ้าพวกเจ้าตอก็บ่อไปว่าประการใด ชะรอยท่านจะอินดูกรุณาในพวกข้าพระบาทเจ้าเสียเงินค่ารัชชูปการแล้ว จะหอส่งสานอันอื่นแถมเล่าก็เกรงว่า พวกข้าพระบาทเจ้าจะได้รับหาบหนัก 2 บ่าพา 2 ถง ก็เลยเลิกบ่งส่วนดอกเอื้องแซะไว้… ”

รัชกาลที่ 7 ดำรัสตอบขอบใจพวกละว้า พวกละว้าก็นำของบรรณาการ คือ ดอกเอื้องแซะ, ยาเส้น, กล้องไม้ไผ่, ผ้าห่มนอน ฯลฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายบนพลับพลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช 2469, สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่สมกับสถาบันพระเกล้า จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติและสนองพระมาหกรุณาธิคุณในวาระครบ 120 ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพ, พฤษภาคม 2558

ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. “เอื้องแซะ” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคเหนือ, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เรื่องใน พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564