เผยแพร่ |
---|
เดือนกันยายน ค.ศ. 1982 มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรี “หญิงเหล็ก” ของอังกฤษเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดำเนินการเจรจากับจีนเรื่องเกาะฮ่องกง การเจรจาครั้งนั้นเป็นที่ถูกกล่าวขานกันหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลีลาทางการทูตของเติ้ง เสี่ยวผิง ประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือเรื่องบทบาทและท่าทีของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นอกจากนี้แล้วยังมีอีกแง่มุมที่อยู่หลังฉากและมักไม่ค่อยถูกพูดถึงในสื่อตะวันตก นั่นคือภาพของนายกรัฐมนตรีอังกฤษสะดุดล้มหน้ามหาศาลาประชาคม (Great Hall of the People)
ในยุค 80s ความนิยมของแธตเชอร์ และรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมพุ่งสูงขึ้นภายหลังอังกฤษทำการรบมีชัยเหนืออาร์เจนตินาจากกรณีสงครามหมู่เกะฟอล์กแลนด์ในปี 1982 แม้ว่าฝ่ายแธตเชอร์ จะพกพาความมั่นใจและศึกษาประวัติศาสตร์และสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับจีนและฮ่องกงมาอย่างดี แต่เมื่อมาพบกับท่าทีและแนวทางของเติ้ง เสี่ยวผิง กลับพบว่าเป็นที่เหนือความคาดหมาย
การเจรจาหารือเมื่อวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1982 เป็นวาระประวัติศาสตร์หลายประการ ภาพถ่ายในการเจรจาครั้งนั้นยังเป็นภาพข่าวที่บ่งบอกถึงเรื่องราวในอดีตได้มากมาย การเจรจาครั้งนั้น เมื่อแธตเชอร์ พบว่า เติ้ง เสี่ยวผิง ไม่สนข้อเสนอของแธตเชอร์ และยืนยันจะประกาศเอกราชของเกาะฮ่องกงใน ค.ศ. 1997 ในรายงานของสื่อจีน แธตเชอร์ ถึงกับมีอาการที่ใช้คำกันง่ายๆ ว่า “ช็อก”
ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นเพียงอีกบทหนึ่งของการเจรจาหาข้อสรุปและต่อรองกันไปมาอีกยาวนาจนกระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันในภายหลังเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึง ค.ศ. 1984
หากฟังข้อมูลจากปากคำของสื่อจีนแล้ว ท่าทีของเติ้งเสี่ยวผิงในครั้งนั้นถึงกับ “ส่งผล” ต่อแธตเชอร์ อย่างใหญ่หลวง ผลพวงที่เห็นได้คือแธตเชอร์ ถึงกับสะดุดล้มขณะเดินออกไปด้านนอกมหาศาลาประชาคม (Great Hall of the People)
สื่อ Southern Metropolis Daily และอีกหลายเจ้าเคยเล่าย้อนเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า
“หลังการพูดคุย นางแธตเชอร์ ตกอยู่ในสภาวะขาดสมาธิอย่างแจ่มแจ้งสืบเนื่องมาจากอาการตกตะลึงกับท่าทีหนักแน่นและวาจาที่ฟังดูเคร่งครัดของเติ้ง เสี่ยวผิง และไปสะดุดล้มด้านนอกมหาศาลาประชาคม”
ด้าน Ta Kung Pao หนังสือพิมพ์ที่หนุนหลังฝ่ายปักกิ่งถึงกับรายงานว่า “หญิงเหล็กจำนนต่อเติ้ง ผู้เป็นคู่ปรับซึ่งแข็งแกร่งยิ่งกว่าเหล็ก”
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า “หญิงเหล็ก” จะพลาดล้มเพราะด้วยเหตุผลประการใด สื่อหลายแห่งยังไม่ลืมจะรำลึกถึงบทบาทของแธตเชอร์ ที่มีต่อกระบวนการเจรจาและเปลี่ยนผ่านเกาะฮ่องกงอย่างราบรื่น และต่างเห็นว่าเส้นทางในชีวิตของแธตเชอร์ ควรถูกประเมินและมองย้อนกลับไปอย่างเป็นธรรมโดยรอบด้านเช่นกัน
- อังกฤษไม่เคย “เช่า” เกาะฮ่องกง 99 ปี แต่ (ใจดี?) ยกคืนให้จีนเอง
- ย้อนเส้นทาง มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ จากผู้ขโมยนมเด็ก สู่นายกหญิงเหล็กแห่งอังกฤษ
- ย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์ “ฮ่องกง” เมื่อเกาะฮ่องกงผงาด ถิ่นโขดหินที่เคยถูกเมิน ทำไมเป็นแดนการค้าสำคัญได้
อ้างอิง :
“China media: Remembering Margaret Thatcher”. BBC. Online. Published 9 APR 2013. Access 29 OCT 2021. <https://www.bbc.com/news/world-asia-china-22075415>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2564