เปิดเส้นทาง พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ กว่าจะมาเป็นผู้ร่วมจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ (โห้ กาฬดิษย์)
พระยาเทพศาสตร์สถิตย์

พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ (โห้ กาฬดิษย์) ผู้ร่วมจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ (โห้ กาฬดิษย์) เกิด พ.ศ. 2423 เสียชีวิต พ.ศ. 2472 เป็นบุตรร้อยเอก หลวงครรชิตสรกรรม (เจริญ กาฬดิษย์) กับนางครรชิตสรกรรม (เอี่ยม กาฬดิษย์) เป็นผู้มีปัญญาความรู้ และประพฤติดี หลังจบการศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์แล้ว กระทรวงธรรมการจึงคัดเลือกส่งออกไปศึกษาวิชากสิกรรมในมหาวิทยาลัยเรดดิง ประเทศอังกฤษ

ด้วยความชื่นชอบในวิชาการกสิกรรม เมื่อจะต้องกลับเมืองไทย สิ่งของที่นักเรียนนอกอย่างพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ นำกลับจึงแปลกแตกต่างจากไปคนอื่นๆ ตาสอดคล้องกับวิชาที่เรียน นั่นก็คือ “ลูกวัวพันธุ์” ที่ชนะรางวัลในประเทศอังกฤษ กลับมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน

เมื่อแรกกลับจากอังกฤษ พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ก็ดำรงตำแหน่งครูในกรมศึกษาธิการ แล้วย้ายไปเป็นอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็ก และก้าวหน้าในหน้าที่การงานไปโดยลำดับ ซึ่งงานสำคัญของพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ พอสรุปได้ดังนี้

ใน พ.ศ. 2459 เมื่อทางการกำลังจะตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 เพื่อให้เด็กทั่วประเทศเรียนหนังสือแล้ว ก็คิดว่าทำอย่างไร เด็กจะทิ้งไร่ทิ้งนา ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของบรรพชนมาทำราชการที่กำลังนิยมเสียหมด เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีนำปัญหาดังกล่าวไปปรึกษากับพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ ที่ขณะนั้นเป็นอาจารย์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนหอวัง (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา) ซึ่งเสนอวิธีแก้ปัญหา ด้วยการสอนและฝึกหัดให้นักเรียนประถมศึกษาทำงานด้วยมือ (หัตถศึกษา) และมีนิสัยปัจจัยในงานเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพของครอบครัว

พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ (โห้ กาฬดิษย์)

แต่ครูในเวลานั้นเกือบทั้งหมดเป็นครูที่สอนวิชาสามัญ ใน พ.ศ. 2460 จึงจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) ที่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ (ภายหลังมีการที่อยู่หลายต่อหล่ายครั้ง) ที่นอกจากจะเรียนวิชาสามัญต่างๆ และวิชาครูแล้ว ยังเรียนวิชากสิกรรมและฝึกหัดกสิกรรม เพื่อไปเป็นครูสอนเด็กให้มีความรู้ทางกสิกรรมแผนใหม่ โดยพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ จะนำครูและนักเรียน จับขวานจอบ ขุดตอไม้, ยกแปลง, ลอกท้องร่อง ฯลฯ ซึ่งเป็นของแปลกสำหรับประชาชน เพราะข้าราชการเวลานั้นไม่ค่อยทำงานลักษณะดังกล่าวกัน

ต่อมาใน พ.ศ. 2477 โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม และระบบการศึกษาทางกสิกรรมของโรงเรียนประชาบาลของกระทรวงศึกษาธิการได้เลิกล้มไป บรรดาอาจารย์กสิกรรมทั้งหลายจึงย้ายมาสังกัดกระทรวงเกษตร ที่กำลังทำงานส่งเสริมการเกษตรของประเทศเป็นงานใหญ่ แต่ด้วยนิสัยที่เคยเป็นครู พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ จึงได้ร่วมมือกับนักวิชาการจัดตั้งวิทยาเกษตรศาสตร์ (ในเวลาต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486)

ที่สำคัญคือ งานหลายอย่างที่โรงเรียนฝึกครูประถมกสิกรรม ไม่ได้ยังประโยชน์แก่นักเรียนประถมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนทำให้เกิดการกินดีอยู่ดีในประชาชนอีกด้วย เช่น พันธุ์ผักต่างๆ ที่พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ นำมาปลูกในเวลานั้น เช่น กะหล่ำปลี, กะหล่ำดอก, มะเขือเทศ ฯลฯ ก่อนหน้านั้นเมืองไทยไม่ค่อยมีกิน ส่วนมากต้องซื้อจากประเทศอื่น บัดนี้ (พ.ศ. 2503) ได้กลายเป็นพืชผักธรรมดา การเลี้ยงไก่ในโรงเรียนฝึกครูประถมกสิกรรม ก็เป็นอาชีพใหม่ของเกษตรกรไทยในเวลาต่อมา

(ภาพจาก : ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ kukr.lib.ku.ac.th)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ. “พระยาเทพศาสตร์” ใน, ประวัติครู, โรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ. 2503


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2564