ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | พานิชย์ ยศปัญญา |
เผยแพร่ |
ไก่เป็นสัตว์ปีก มีญาติที่ใกล้ชิดกันคือนก เดิมทีหากต้องการนำไก่มาเป็นอาหาร ก็ออกไปล่า โดยมีวิธีการหลายอย่าง ที่นิยมมากคือการต่อไก่ ระยะหลังไก่มีความสำคัญ จึงเลี้ยงไว้เป็นอาหาร
ไก่เริ่มเป็นสัตว์เลี้ยงของคนมาสัก 5,000 ปีนี่เอง ในประเทศจีนเลี้ยงไก่มาประมาณ 3,300 ปีแล้ว ได้มีผู้นำไก่จากอินเดียไปเลี้ยงในกรุงบาบิโลนเมื่อราว 2,500 ปีล่วงมาแล้ว ราว 100 ปีต่อมา ก็แพร่พันธุ์ไปในประเทศกรีซ ในกรุงโรมมีการเลี้ยงไก่มาก่อนคริสต์ศักราช แต่การเลี้ยงไก่เป็นลํ่าเป็นสันจริง ๆ เพิ่งมีมาได้สัก 100 กว่าปีเท่านั้น
สิ่งที่ช่วยให้การเลี้ยงไก่แพร่หลายในสมัยก่อนคือ การชนไก่ ซึ่งเป็นทั้งกีฬาและการพนัน
เนื้อไก่และไข่ไก่ มีรสชาติและมีประโยชน์สูงทางอาหาร
สำหรับในเมืองไทย งานเลี้ยงไก่ยุคแรก ๆ เป็นการเลี้ยงไว้รอบ ๆ บ้าน วัตถุประสงค์เพื่อนำเนื้อและไข่มาบริโภค เนื้อไก่ที่ได้รสชาติดี เพราะใช้เวลาเลี้ยงนาน หาอาหารตามธรรมชาติ ต่อมาไก่ที่เลี้ยงในลักษณะอย่างนี้เรียกกันว่า “ไก่บ้าน”
ระยะหลัง ๆ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคมีเพิ่มขึ้น ระบบการเลี้ยงจึงเข้าสู่อุตสาหกรรม ใช้เวลาเลี้ยงราวเดือนเดียวก็จำหน่ายได้ เรียกไก่ที่เลี้ยงแบบนี้ว่า “ไก่เนื้อหรือไก่กระทง” โครงสร้างของเนื้อสู้ไก่บ้านไม่ได้
เมืองไทยมีการเลี้ยงไก่เป็นการค้าครั้งแรกที่ฟาร์มบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เป็นผู้ทรงดำเนินการ จากนั้นก็เข้าสู่ระบบสถาบันทางการศึกษา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นผู้ดำเนินการเมื่อปี 2500
……..
งานพัฒนาการเลี้ยงไก่เนื้อในประเทศไทยก้าวหน้าไปมาก นวัตกรรมต่าง ๆ ถูกวิจัยเพื่อนำมาใช้ ตั้งแต่พันธุ์ไก่ โรงเรือน อาหาร การแปรรูป รวมทั้งการตลาด
ตลาดไก่เนื้อ นอกจากบริโภคในประเทศ ยังส่งออกไปต่างประเทศ
ขณะที่ไก่เนื้อพัฒนาไปไกล หันมามองงานเลี้ยงไก่บ้าน ยังมีการเลี้ยงอยู่ แต่ปริมาณมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค สนนราคาบางช่วงแพงกว่าไก่เนื้อถึงเท่าตัว
หน่วยงานที่มีหน้าที่วิจัย ได้พัฒนางานเลี้ยงไก่บ้านให้ก้าวหน้า ที่ได้รับความสนใจไม่น้อย คือการปรับปรุงไก่พันธุ์ 3 สายเลือด
ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ เป็นงานหนึ่งของความพยายามพัฒนาเลี้ยงไก่บ้าน แต่ให้ได้จำนวนตามที่ตลาดต้องการ
ไก่ตะเภาทอง เป็นที่รู้จักในหมู่เกษตรกรไทยมานานกว่า 200 ปีแล้ว
โดยไก่พันธุ์นี้มีบรรพบุรุษมาจาก “ไก่พันธุ์เซี่ยงไฮ้” ซึ่งเป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองของจีน คาดว่าพ่อค้าจีนเลี้ยงไก่พันธุ์นี้ไว้บนเรือสำเภาเพื่อเป็นอาหารระหว่างการเดินทางมาค้าขายกับประเทศไทย ต่อมามีการกระจายพันธุ์ไก่สู่เกษตรกรไทยที่พักอาศัยแถบชายฝั่งทะเล โดยเกษตรกรไทยเรียกไก่กันติดปากว่า “ไก่ตะเภา”
ลักษณะตามธรรมชาติของ “ไก่เซี่ยงไฮ้” มีหงอนจักร ตัวใหญ่ ขนฟู ต่อมาเกิดการผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมืองของไทยหลายชั่วรุ่น จนเกิดการพัฒนาสายพันธุ์แท้ขึ้นมา โดยมีลักษณะหงอนหินเหมือนกับไก่พื้นเมืองของไทย และมีตัวใหญ่ อกกว้าง ปริมาณเนื้อมาก ขนมีสีสันที่หลากหลายเช่นเดียวกับไก่พื้นเมืองทั่วไป ต่อมาได้มีการคัดเลือกไก่ที่มีลักษณะดีและสีเหลืองทองทั้งตัวไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ “ไก่ตะเภาทอง” ซึ่งไก่พันธุ์นี้เป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน เพราะมีสีทอง เป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง และร่ำรวย เข้าข่าย “ไก่มงคล”
……..
อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ และคณะนักวิจัยภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมมือกันพัฒนาไก่สายพันธุ์นี้ โดยนำไก่ตะเภาทองไปผสมข้ามพันธุ์กับไก่สามเหลือง (ซาอึ้ง) ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองจีน จนได้ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ซึ่งเป็นไก่ลูกผสม 2 สายพันธุ์
ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ มีรูปร่างสมส่วนสวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีหงอนแบบจักรและหงอนหินแบบไก่พื้นเมือง ขนสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง หนังเหลืองเรียบเนียน เลี้ยงง่าย แข็งแรง ทนโรคเช่นเดียวกับไก่พื้นเมืองของไทย และมีเนื้อนุ่ม รสหวาน มีกลิ่นหอม เป็นเอกลักษณ์ประจำพันธุ์…
คุณ ณ นพชัย ผิวเกลี้ยง บัณฑิตหนุ่มจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาเขตหันตรา เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการนำไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์มาเลี้ยงในระบบฟาร์ม…เป็นเกษตรกรที่เล็งเห็นถึงคุณสมบัติพิเศษของไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้เขาสนใจนำมาทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ…
“งานเลี้ยงไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ไม่ได้ตัดปาก เพราะต้องการให้กินอาหารที่หาได้จากธรรมชาติ ที่ฟาร์มนำข้าวเปลือกมาแช่ให้รากงอก เมื่อนำให้ไก่กินได้คุณค่าทางอาหารสูง อาหารอย่างหนึ่งที่ต้นทุนต่ำคือการนำต้นกล้วยมาสับละเอียดหมักกับน้ำตาล ไก่ชอบมาก พืชหลายชนิดไก่ชอบกินอย่างกระถิน กล้วยน้ำว้า หญ้าทุกชนิดเขาชอบ การให้อาหารที่นี่ผสมผสาน มีอาหารเม็ดบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นของที่เป็นผลพลอยได้จากการเกษตร”
……..
เดิมทีคนรู้จักไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ไม่มากนัก ปัจจุบันเริ่มมีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ส่วนการปรุงอาหารทำได้ทุกอย่าง แต่ที่ฮิตมาก ๆ คือ นึ่ง ต้มยำ อบโอ่ง
โดยเฉพาะการอบโอ่ง ทำให้มูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้น เป็นงานที่เหมาะสำหรับทำกันในท้องถิ่น
งานวิจัยและพัฒนาจนได้มาซึ่งไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ เป็นการได้ของเก่า ๆ กลับมา นั่นก็คือเนื้อไก่ที่โครงสร้างดี กินแล้วเหมือนไก่บ้าน ขณะเดียวกันสามารถเลี้ยงในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ เพื่อให้ได้แบบเก่า” เขียนโดย พานิชย์ ยศปัญญา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2564