ทรงเจ้า-ร่างทรง ของชาวจีนในสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ศักดิ์สิทธิ์หรือหาผลประโยชน์?

ย่านชุมชนการค้าของชาวจีนบริเวณสะพานหัน-สำเพ็ง เมื่อ ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491 (ภาพจาก UWMLibraries)

ในสังคมไทย ชาวจีนเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในสังคมมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยอยุธยา คนจีนเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมการทรงเจ้าตามลัทธิเต๋า การทรงเจ้าเป็นเรื่องที่แพร่หลายในชุมชนชาวจีนมากอย่างน้อยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเกิดปัญหาขึ้นจนต้องปราบปรามเช่นกัน ปรากฏการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เช่นกัน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนในพระนครได้ทรงเจ้าแล้วมีการทำนายว่าจะเกิดไฟไหม้ ปรากฏว่าไฟไหม้จริง ทางการจึงสั่งห้ามการทรงเจ้า เพราะคิดว่าเป็นการแอบวางเพลิง แต่ก็ไม่ค่อยมีคนเชื่อ เพราะยังไปแอบทรงเจ้ากันอยู่ มีการทำนายไฟไหม้อีก และก็ไหม้จริงที่บางรัก

ในเวลานั้นรัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงออกประกาศใน ร.ศ. 109 โดยให้เหตุผลว่า “…น่าสงไสยพวกคนทรงที่ทรงเจ้าแลสมักพรรคพวก จะคิดอ่านให้คนนับถือบนบานเพื่อจะหาผลประโยชน ส่วนคนพาลอื่น ๆ เหนเปนช่องโอกาศที่จะขู่กรรโชกราษฎรให้ตกใจ ด้วยจะคิดหาผลประโยชนอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พลอยทำการโกหกว่า เจ้าลงทรงตัวบอกข่าวคราวราษฎรไปต่าง ๆ เมื่อกลัวจะมิสมคำดังว่า ก็คิดอ่านการทุจริตทิ้งไฟประกอบเหตุ ตัวอย่างเหตุการเช่นนี้ได้มีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง โปรดให้พิจารณาหาตัวผู้ทิ้งไฟ ประกอบคำเจ้าที่เข้าทรงบอก ได้ตัวพิจารณาเปนสัตย ได้ให้ไปประหารชีวิตรเสียเปนตัวอย่างมีมาแล้ว…”

อีก 1 ปีให้หลัง จึงได้มีการสั่งเป็นประกาศกรมพระนครบาล ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 110 ความตอนหนึ่งที่น่าสนใจคือ “…มีราษฎรไทยจีนที่ยังคบคิดกันลอบลักเข้าทรงลงเจ้าในหลังบ้านเรือนมีอยู่เนือง ๆ คนทรงนั้นแจ้งเหตุล่อลวงทำให้คนตื่นอย่างเช่นครั้งก่อนนั้นอีก แลการที่ราษฎรบางคนยังขืนประพฤติล่วงประกาศนี้ ก็เปนไปด้วยมีสันดานเขลาเบาความคิด หลงเชื่อถือคนทรงมีอยู่มาก..”

ดังนั้น เพื่อเป็นการปราบปรามในประกาศเดียวกันนั้นจึงเขียนด้วยว่า “(หาก) มีผู้นำเหตุมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานกรมพระนครบาลพิจารณาสอบสวนได้ความสมจริงแล้ว ผู้เปนคนทรงลงเจ้านั้นจะลงพระราชอาญาตามประกาศ…แลจะปรับเจ้าของตึกเจ้าของเรือนเจ้าของโรงผู้เปนเจ้าของที่ให้ทรงเจ้าเปนเงิน 20 บาท พระราชทานเปนรางวัลแก่ผู้มาแจ้งเหตุกึ่งหนึ่ง เปนพินัยหลวงกึ่งหนึ่ง ถ้าผู้ที่แจ้งเหตุนำเจ้าพนักงานเกาะตัวผู้เข้าทรงเจ้าได้ในขณะเข้าทรงลงเจ้านั้น จะพระราชทานเงินที่ปรับเจ้าของตึกเจ้าของเรือนเจ้าของโรง 20 บาทเปนรางวัลจงเต็ม”

ถ้าเราตัดประเด็นปัญหาเรื่องการลอบวางเพลิงออกไป ก็แสดงว่าการเข้าทรงในแบบที่เป็น “ตำหนัก” หรืออยู่ตามบ้านเรือนในปัจจุบันนั้นคงเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หรือก่อนหน้านั้นแล้ว และดูแนวโน้มจะเป็นธุรกิจแบบหนึ่งที่คนทรงเจ้าหากินกับชาวบ้านไทย-จีน ซึ่งก็คล้าย ๆ กับปรากฏการณ์ในปัจจุบัน แต่อาจต่างกันตรงที่เจ้าที่ลงก็คงจะเป็นเทพเจ้าจีน หรือเป็นผี ไม่ใช่ตัวละครในวรรณคดี หรือกษัตริย์จากประวัติศาสตร์ชาติ เพราะตอนนั้นยังไม่ซึมลึกในระดับจิตสำนึกทางสังคม

อย่างไรก็ตาม จะสังเกตได้ว่าโลกทรรศน์ของชนชั้นนำสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมานั้น สามารถแยกระหว่าง “ความจริง” กับ “ความงมงาย” ออกจากกันได้ และเมื่อพบว่าเป็นเรื่องของการหลอกลวง ก็ใช้อำนาจรัฐที่เด็ดขาดจัดการกับปัญหามากกว่าจะปล่อยให้ประชาชนต้องหลงงมงายกันต่อไป…

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “รัฐประหาร-ร่างทรง ถึงวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ไทย” เขียนโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2559

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2564