“การปรับตัวของเจ้า” : การทรงเจ้าของชุมชนบ้านหนองขาว อ.ท่าม่วง กาญจนบุรี

ศาลเจ้าพ่อแม่ บ้านหนองขาว อ.ท่าม่วง กาญจนบุรี (ภาพจาก ธนพล หยิบจันทร์)

ชุมชนหนองขาวหรือบ้านหนองขาวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ปัจจุบันสภาพสังคมของบ้านหนองขาวกำลังเปลี่ยนไปตามสังคมสมัยใหม่ แต่ชาวบ้านยังคงสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ไว้ได้อย่างมาก หนึ่งในพิธีที่ยังคงดำรงอยู่ได้คือประเพณี “การทรงเจ้า” โดยที่ปราณี วงษ์เทศ ได้วิเคราะห์ถึงพิธีกรรมได้อย่างน่าสนใจไว้ว่านับเป็นการแสดงออกของสังคมในการสร้างความสัมพันธ์ในระดับมนุษย์ด้วยกันเอง ในระดับมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และในระดับมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อที่จะถ่ายทอดค่านิยม อุดมการณ์ร่วมกันในชุมชนเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อไป1

การที่ประเพณีความเชื่อเหนือธรรมชาติยังคงดำรงอยู่ได้อาจจะต้องพิจารณาถึงสภาพสังคมของชุมชนหนองขาว โดยหลักฐานตั้งแต่อดีตพบว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพสำคัญของบ้านหนองขาวเพราะสภาพภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ พื้นดินอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกข้าวได้ผลดี ชุมชนแห่งนี้จึงเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรีมาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏหลักฐานในตามเสด็จไทรโยค พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ชุมชนรอบ ๆ ต้องซื้อข้าวจากบ้านหนองขาว

จนหมากพลูอยู่ข้างจะขัดสน       แม่กลองต้องทนส่งมาถึงนี่
นาเข้าทาไม่ใคร่จะได้ดี              กินเข้าที่หนองขาวแลบ้านน้อย
มักวิบัติขัดข้องด้วยน้าท่า           เข้าปลาบ่ใคร่ดีมีบ่อยบ่อย
ต้องกินเข้าต่างเมืองฝืดเคืองคอย  เข้านับร้อยเกวียนมีที่เข้ามา
2

ด้วยเหตุที่ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านหนองขาวประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูกข้าวนั้น จึงเป็นผลให้ชาวบ้านต้องพึ่งพิงกับธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และการที่ธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถกำหนดดิน ฟ้า อากาศ ได้หรือควบคุมได้ไม่หมด ซึ่งปัจจัยทางธรรมชาติเหล่านี้มีผลต่อปากท้องและการผลิต ฉะนั้นชาวบ้านจึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้นคือ “ผี” หรือว่า “เจ้า” ที่คุ้มครองหมู่บ้านหนองขาวอยู่ซึ่งพบว่ามีศาลประจำหมู่บ้านทั่วชุมชนหนองขาว ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของ “เจ้า” กับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

“การทรงเจ้า” หมายถึงการที่เทวดา ผี หรือเจ้านั้นได้เลือกคนในชุมชนเป็นตัวแทนในการเป็นคนประกอบพิธีกรรม โดย “เจ้า” จะมาประทับร่างในงานประจำปีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “งานเจ้า” โดยเฉพาะงานประจำปีของศาลประจำหมู่บ้านเช่น ศาลพ่อแม่ ศาลเจ้าพ่อโรงหนัง ศาลเจ้าพ่อลมบน เป็นต้น ซึ่งแต่ละศาลนั้นยังประกอบด้วยศาลบริวารที่เป็นเครือญาติที่อาจมีที่ตั้งที่เดียวกันหรือคนละที่แต่ในวันงานประจำปีร่างทรงของเจ้าที่เป็นเครือญาติกันก็จะมาชุมนุมประกอบพิธีด้วยกันเป็นจำนวนมาก อาทิ เจ้าพ่องานแซงเป็นเครือญาติของศาลพ่อแม่ ศาลเจ้าพ่อลมบน ศาลเจ้าพ่อโรงหนัง ร่างทรงก็จะไปร่วมงานประจำปีศาลนั้น ๆ ซึ่งงานประจำปีนั้นสัมพันธ์กับผีของบรรพบุรุษประจำบ้านกับ “เจ้า” ดูแลหมู่บ้านของชาวหนองขาว

“การตั้งศาล” พิธีการตั้งศาลเป็นการสืบทอดมาเป็นรุ่น ๆ เริ่มจากครอบครัวใหญ่ที่มีการนับถือ
“หม้อยาย” (มีลักษณะเป็นเหมือนหม้อดินเผา) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงบรรพบุรุษของชาวหนองขาวที่ล่วงลับไปแล้ว และได้บอกต่อ ๆ กันมาว่าลูกหลานจะต้องไปตั้ง “สำรับ” (อุปกรณ์ที่ใช้ในการตั้งศาลของชุมชนหนองขาว) เพื่อเคารพบูชา “เจ้า” ที่คุ้มครองบ้านหนองขาว ซึ่ง”สำรับ” ประกอบไปด้วย บายศรีปากชาม ขนมต้มแดงต้มขาวหรือขนมเปียกปูน น้ำเปล่า ถาด โดยแต่ละบ้านก็จะตั้ง “สำรับ” ไม่เท่ากันแล้วแต่บรรพบุรุษของแต่ละบ้านบอกกล่าวกันต่อ ๆ มา3 ซึ่งเมื่อมีคนในบ้านแต่งงานหรือย้ายบ้านก็ต้องรับ “หมอย้าย” ไปอยู่ด้วยนั่นหมายความว่าจะมี “สำรับ” เพิ่มมากยิ่งขึ้นเพราะมีครอบครัวเกิดขึ้นมาใหม่และถ้าไม่ไปตั้งสำรับก็จะทำให้เกิดสิ่งผิดปกติหรือความเจ็บป่วยได้ สะท้อนให้เห็นการพยายามยึดโยงอุดมคติความเป็นเครือญาติของคนในชุมชนโดยผ่านพิธีกรรม

การทรงเจ้าของบ้านหนองขาวยังคงดำเนินต่อไปตามพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของหมู่บ้าน งานของเบญจรัชต์ เมืองไทย ได้อธิบายไว้ว่าพิธีทรงเจ้าที่หนองขาวมีบทบาทและความสำคัญทั้งในระดับปัจเจก
กลุ่มและชุมชนที่ต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยแบ่งออกเป็นบทบาทในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจและการตอบสนองความต้องการทางสังคม กล่าวคือ การตอบสนองความต้องการทางจิตใจ พิธีกรรมมีความสำคัญในการให้ความมั่นคงทางจิตใจและการแสวงหาความหมายให้กับโลกและชีวิต ตามแบบสังคมชาวนาที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในการดำรงชีพ ทั้งยังเป็นกลไกในการตอกย้ำการรวมกลุ่ม การระบายความขัดแย้งและความไม่พึงพอใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเผชิญกับชีวิตในโลกที่เป็นจริงต่อไปได้ รวมทั้งยังเป็นการตอบสนองความต้องการทางสังคม พิธีกรรมมีความสำคัญในการสร้างสำนึกร่วมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชนภายใต้ตำนานความเชื่อ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และการเป็นเชื้อสายเดียวกัน การประกอบพิธีกรรมแต่ละระดับยังเป็นการยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจก เครือญาติ กลุ่มพรรคพวกและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม4

สังคมเปลี่ยนไป “เจ้า” ปรับตัวไหม? แต่เดิมชุมชนหนองขาวปัญหาสำคัญในการดำรงชีพ คือความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง การต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่มากมายในป่ารกชัฏ ตลอดจนอันตรายจากโจรผู้ร้ายซึ่งมักเข้ามาปล้นชิงทรัพย์สิน วัว ควาย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการทำนาอยู่เนือง ๆ เจ้าจึงเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญเมื่อชาวบ้านต้องเดินทางไปค้าขายทั้งทางใกล้และทางไกล หรือเดินทางเข้าไปในป่ารกชัฏ จึงต้องทำพิธีเซ่นสรวงบูชาเพื่อให้เกิดความมั่นใจ หรือบอกกล่าวแก่เจ้าที่ตนนับถือให้คุ้มครองความปลอดภัยให้เสมอ การเซ่นสรวงบูชาในแต่ละปียังเกี่ยวข้องกับการขอฝนและความอุดมสมบูรณ์ในการผลิต การสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาให้กับคนในครอบครัวและสมาชิกในสังคมทั้งหมด เจ้าบางองค์ยังมีความสามารถในการรักษาความเจ็บป่วย หาของหายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัว ควายในหมู่บ้าน5

ปัจจุบันความมั่นคงความปลอดภัยในชีวิตได้แปรสภาพไปพร้อมกับการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ซึ่งประเทศไทยได้พยายามผลักดันให้ไทยในช่วงนั้นมีการเจริญเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นยุคทองทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่โดดเด่นที่สุดของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ คือ นโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า ซึ่งนโยบายดังกล่าว เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ที่สร้างความมั่นใจให้ต่างชาติเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยได้รับความสำเร็จอย่างสูง จนได้รับการกล่าวขานว่า “ไทยกำลังจะก้าวสู่ความเป็น NIC” เป็นการเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด6 ทำให้จากเดิมที่ชาวบ้านมุ่งแต่ทำเกษตรกรรมหันไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองหรือต่างจังหวัดมากขึ้นเพราะได้เงินเดือนดีกว่า7 และเกิดกิจการใหม่ ๆ ขึ้นอย่างมากมาย อาทิ ร้านขายของชำ เป็นต้น

สภาพการณ์เช่นนี้จึงทำให้ชุมชนหนองขาวแต่เดิมที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสู่อาชีพใหม่ ๆ คนเริ่มขยับออกจากตัวชุมชนสู่การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ หรือปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบเดิมมาสู่การปรับให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ขยายตัว ตัวอย่างเช่น แต่เดิมในการทำนาจำเป็นต้องใช้กำลังคนในขั้นตอนต่าง ๆ บ้านหนองขาวจึง มีธรรมเนียมการช่วยเหลือกันในหมู่ญาติมิตร เรียกว่า “การเอาแรง” กล่าวคือ เมื่อมีชาวบ้านจะเกี่ยวข้าวคนในครอบครัวนั้นจะเดินไป “ขอแรง” จากครอบครัวอื่น ภายหลังเมื่อบ้านที่เคยมาเอาแรงไว้จะเกี่ยวข้าวบ้าง บ้านที่ไปขอแรงในตอนแรกก็จะไปช่วยเหลือเป็นการตอบแทนน้ำใจกัน ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้ธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมาก็ค่อย ๆ หายไป และนำมาสู่ธรรมเนียมใหม่ ๆ ที่เริ่มมีความเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น เช่น เจ้าของนาจะติดต่อจ้างคนที่มีรถไถและรถเกี่ยวข้าวไว้ เมื่อถึงเวลาไถพลิกหน้าดินหรือหว่านเมล็ดข้าว เจ้าของนาเพียงอยู่เฝ้า คนที่มารับจ้างในระหว่างทำนาเท่านั้น เป็นต้น เพื่อตอบสนองกับเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้คนในชุมชนเริ่มมีความปัจเจกมากขึ้น แต่ชาวบ้านก็ยังคงต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางจิตใจจากภาระ และปัญหาในการประกอบอาชีพและความเจ็บป่วยอื่น ๆ การขอความคุ้มครองช่วยเหลือจากเจ้าจึงยังมีคงอยู่ต่อเนื่องและแปลงไปสู่การตอบสนองความการเป็นปัจเจก ฉะนั้น “เจ้า” จึงได้มีการปรับตัวเพื่อตอบสนองกับบริบทของสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปของชุมชนหนองขาว เช่นสามารถขอให้เจ้าช่วยในการเข้าเรียนต่อ ขอให้ได้งานทำ ขอให้ประสบความสำเร็จและรุ่งเรืองในการค้า เป็นต้น สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของเจ้าในการเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคมจากรูปแบบที่เป็นส่วนรวมสู่การให้พรที่มีลักษณะเป็นปัจเจกขึ้นเรื่อย ๆ ของชาวบ้านหนองขาว

การรักษาโรคของชุมชนบ้านหนองขาวแต่เดิมรักษาเริ่มต้นจากการพึ่งพาตนเองในครัวเรือนก่อนด้วยสมุนไพรต่าง ๆ รวมไปถึง “ยาผีบอก” หมายถึง ยาที่ได้จากการฝันหรือเข้าทรง กล่าวคือเมื่อรักษาไม่หายจะไปหา “เจ้า” เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แต่ต่อมาการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มมีบทบาทจริงจังก็ต่อเมื่อมีการขยายระบบสาธารณสุขจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคทำให้คนชุมชนหนองขาวหันมารักษาแพทย์แผนปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น  ประมาณช่วง พ.ศ. 2490-2520 ชาวบ้านหนองขาวเริ่มหันมาสนใจยาแผนปัจจุบันใช้แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากมี “หนังขายยา” หรือบริษัทยามาเร่จำหน่ายยาพร้อมเปิดฉายภาพยนตร์ในหมู่บ้าน บริษัทยาที่ชาวบ้านยังจำชื่อได้ เช่น โอสถตรามือ เจดีย์ห้าชั้น โอสถสภา เป็นต้น ยาส่วนใหญ่ที่นำมาขายมียาหม่อง ยาแก้ไข้ และยาแก้ปวดเป็นหลัก สถานที่ฉายภาพยนตร์จะอยู่ภายในวัดอินทาราม ก่อนฉายหนังแต่ละครั้งจะมีรถมาขับตระเวนประชาสัมพันธ์รอบ ๆ หมู่บ้านช่วงกลางวัน พอตกเย็น ชาวบ้านที่สนใจก็จะไปรวมกันที่วัด8 เพื่อการแพทย์สมัยใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาท “เจ้า” เองก็ปรับตัวโดยการรักษาแบบพิธีกรรมดังเดิมและแนะนำให้กินยาแผนปัจจุบันควบคู่กันไปด้วย

“งานเจ้า” ในงานประจำปีเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมบางอย่างก็ได้รับอนุญาตจาก “ร่างทรง” ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม อย่างเช่น สำรับ ของที่อยู่ในสำรับ เมื่อก่อนเป็นขนมต้มแดงต้มขาว ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์ ขนมเปียกปูน ดอกไม้อะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นดอกเฟื่องฟ้า น้ำเปล่าใส่กระทง บายศรีปากชามเล็ก สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือแต่เดิมคนนิยมนำขนมต้มแดงต้มขาวและขนมเปียกปูนน้อยในการนำมาไหว้ แต่ในปัจจุบันกลับพบขนมตามร้านค้าและตลาด เช่น ขนมยี่ห้อต่าง ๆ เป็นต้น เนื่องจากสะดวกไม่ต้องเสียเวลาในการทำซื้อได้ง่ายตามร้านค้า สะท้อนให้เห็นถึงการบริโภคของคนในชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป และการปรับตัวของเจ้าที่เมื่อก่อนจะรับเครื่องบูชาจากขนมต้มแดงต้มขาวและขนมเปียกปูนน้อยมาสู่ขนมอื่น ๆ ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายอย่างไม่เคอะเขิน

ของแก้บนที่ชาวบ้านนำมาแก้บนในงาน ได้แก่ เงิน ชาวบ้านที่นำเงินมาแก้บนอาจจะนำมาให้เจ้าในงานปี ซึ่งพี่เลี้ยงจะเป็นคนคอยเก็บเงินไว้เพื่อเอาไว้ใช้เกี่ยวกับการทรงเจ้า เช่น ซื้อของประดับหิ้งเจ้า เสื้อผ้า ซ่อมบำรุงศาลและนำเงินเหล่านี้มาเลี้ยงคนที่มาในงานปี เช่น ซื้อน้ำดื่ม นอกจากเงินชาวบ้านก็ยังนิยมนำผ้า วงดนตรี ลิเก หนัง อาหาร เป็นต้น สิ่งที่เปลี่ยนไปคือในเรื่องของอาหาร เมื่อก่อนใช้เหล้าหมัก ซึ่งชาวบ้านจะทำกันเอง แต่ปัจจุบันนี้ของที่นำมาแก้บนเปลี่ยนมาเป็นเหล้าแม่โขง เบียร์สิงห์ บุหรี่ยี่ห้อต่าง ๆ โค้ก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นกระแสบริโภคนิยมอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกัน “เจ้า” เองก็ต้องปรับตัวไปตามกระแสของสังคมด้วยโดยการใช้ ดื่ม กินของทุกอย่างที่มีชาวบ้านนำมาแก้บน รวมทั้งดนตรีที่นำมาแก้บน “เจ้า”ได้ปรับตัวสามารถรำเพลงในยุคปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน

กล่าวโดยสรุปคือจะเห็นได้ว่าเมื่อบริบททางสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้วิถีชีวิตและค่านิยมของชุมชนชาวหนองขาวนั้นเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เป็นผลให้ “เจ้า”ในชุมชนหนองขาวต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคมเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการแบบใหม่ที่กำลังทะลักเข้ามาอย่างมากมายเพื่อที่จะดำรงต่อไปในชุมชนบ้านหนองขาว

 


เชิงอรรถ :

1 ปราณี วงษ์เทศ. (2540). “การรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : การรวบรวมข้อมูลด้านพิธีกรรม”. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย. เอกสารประกอบสัมมนาวิชาการ 23-24 พฤศจิกายน 2539. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปกร. หน้า 35.

2 จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ พระ. (2511). กลอนไดอรีซึมทราบ ตามเสด็จไทรโยค โคลงนิราศท้าวสุภักติการภักดี และกลอนนารีภิรมย์. พระนคร: จันหว่า. หน้า 62.

3 นงนุช กระต่าย (2562, 20  สิงหาคม). สัมภาษณ์.

4 ดูรายละเอียดใน เบญจรัชต์ เมืองไทย. (2543). พิธีทรงเจ้า:พิธีกรรมกับโครงสร้างสังคมที่หนองขาว. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาศิลปกร.

5 ดูรายละเอียดในบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, อุไรรัตน์ ไพบูลย์วัฒนกิจและวิวรรธน์ นาคสุข. (2543). การเข้าทรงของหมู่บ้านหนองขาว ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, 19-20(3), 257-341

6 ดูรายละเอียดใน จารวี โกมลดิษฐ์. (2544). บทบาทผู้นำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของ : พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ระหว่าง พ.ศ. 2531-2534). ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

7 นงนุช กระต่าย (2562, 20 สิงหาคม). สัมภาษณ์.

8 ดูรายละเอียดในปานวาด มากนวล. (2554). บทบาทและการสืบทอดคาถาและพิธีกรรมของหมอพื้นบ้านในการรักษาโรคที่บ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี. อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาไทย,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


อ้างอิง :

ปราณี วงษ์เทศ. (2540). “การรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : การรวบรวมข้อมูลด้านพิธีกรรม”. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย. เอกสารประกอบสัมมนาวิชาการ 23-24 พฤศจิกายน 2539. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปกร.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ พระ. (2511). กลอนไดอรีซึมทราบ ตามเสด็จไทรโยค โคลงนิราศท้าวสุภักติการภักดี และกลอนนารีภิรมย์. พระนคร : จันหว่า.

นงนุช กระต่าย (2562, 20 สิงหาคม). สัมภาษณ์.

เบญจรัชต์ เมืองไทย. (2543). พิธีทรงเจ้า:พิธีกรรมกับโครงสร้างสังคมที่หนองขาว. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาศิลปกร.

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, อุไรรัตน์ ไพบูลย์วัฒนกิจและวิวรรธน์ นาคสุข. (2543). การเข้าทรงของหมู่บ้านหนองขาว ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, 19-20(3), 257-341

จารวี โกมลดิษฐ์. (2544). บทบาทผู้นำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของ : พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ระหว่าง พ.ศ. 2531-2534). ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ปานวาด มากนวล. (2554). บทบาทและการสืบทอดคาถาและพิธีกรรมของหมอพื้นบ้านในการรักษาโรคที่บ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี. อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2562