ภาษากรุงเทพฯ เหมาะสำหรับใช้กับใคร?

ไทดำบ้านไทรงาม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

ภาษากรุงเทพฯ ภาษาพูดแบบกรุงเทพฯ เป็นภาษาที่คนไทยทั่วไปในประเทศไทยใช้สื่อสารกับทุกท้องถิ่นได้ทั่วประเทศจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภาษากลาง

การใช้ ภาษากรุงเทพฯ กับใครก็ตาม นับไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนไทยในประเทศไทย เพราะถือเป็นกลางดังกล่าว แต่สำหรับบางท้องถิ่น ภาษากรุงเทพฯ ถูกนำไปใช้ในสถานการณ์ที่เราๆ ท่านๆ คาดคิดไม่ถึงก็มี

เรื่องนี้จะได้เห็นกันต่อไป

กลุ่มคนพื้นเมืองลำพูน เชียงใหม่ หรือเชียงราย ที่อู้คำเมืองมาแต่อ้อนแต่ออกโตขึ้นไม่ได้ไปร่ำเรียนหรือไปทำงานที่ไหน อยู่แต่กับบ้าน บางคนอาจแทบพูดภาษากรุงเทพฯ ไม่ได้เลย เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนกลุ่มนี้จะใช้ภาษาไทยท้องถิ่นที่เรียกว่า “คำเมือง” กับคนในหมู่บ้านกับคนแปลกหน้า และกับทุกๆ คนในทุกสถานการณ์เพราะพูดภาษากรุงเทพฯ ไม่เป็น เรื่องราวทำนองนี้ปรากฏอยู่ทั่วไป ไม่ว่าในภาคเหนือ อีสาน หรือปักษ์ใต้

แต่…สำหรับชุมชนที่ใช้ภาษาไทยหลายภาษา มีแนวทางการเลือกใช้ภาษาไทยสำเนียงต่างๆ อย่างไร?

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือชาว “โซ่ง” หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่า “ไทดำ” ซึ่งอพยพไปอยู่ดินแดนที่มีภาษาถิ่น ผู้คนกลุ่มนี้จะสามารถพูดได้หลายภาษา

ภาษาโซ่งแตกต่างจากภาษาไทยกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก รวมทั้งการใช้ภาษาด้วย ตัวอย่างเช่น การเรียกคนที่อยู่ในฐานะเป็นพ่อเป็นแม่ คือมีลูกแล้ว เป็นต้น

ในภาษาโซ่ง “อ้าย” แปลว่า พ่อ และ “เอม” แปลว่าแม่

ลูกๆ จะเรียกพ่อว่า “อ้าย” และเรียกแม่ว่า “เอม”

เมื่อหญิงชายแต่งงานกันและมีลูกแล้ว คนอื่นมักจะไม่เรียกชื่อตัวของทั้งสองคน แต่จะเรียกหญิงชายคู่นั้นโดยใช้ชื่อลูกคนโตเป็นหลัก เช่นสมมติว่าหญิงกับชายคู่หนึ่ง แต่งงานกันแล้วมีลูกคนโตชื่อ “ชู” เพื่อนบ้านจะเรียกผู้เป็นพ่อว่า “อ้ายชู” และเรียกผู้เป็นแม่ว่า “เอมชู” เป็นต้น

ซึ่งทำให้เห็นเป็นที่แปลกประหลาดสำหรับชาวพื้นเมืองไทยภาคกลางทั่วไปที่ใช้ภาษากรุงเทพฯ

อย่างน้อยที่สุด พี่นาคและพี่รัก คล้านอ้น บ้านหนองหูช้าง อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ก็เคยปรารภถึงความแปลกประหลาดนี้ไว้ เมื่อ 31 พฤษภาคน 2543 จากประสบการณ์ที่ได้คบหากับชาวไทดำซึ่งพูดภาษาโซ่งกันเป็นไฟอยู่แถวบ้านหนองหูช้างนั้น

ณ วันนี้ ชาวไทดำหลายท้องถิ่น ยังใช้ภาษาไทดำหรือภาษาโซ่งเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวันกันอยู่มากมายเหมือนภาษาถิ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหนองปรง บ้านหนองเข้ บ้านหนองจิก อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นบริเวณต้นตอของไทดำในประเทศไทยส่วนใหญ่ เลยไปถึงบ้านห้วยห้าง อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร [1] และไทดำหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอโพธิ์ประทับช้างจังหวัดเดียวกัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใช้ภาษาโซ่งในชีวิตประจำวัน และพูดภาษากลางได้ [2]

หันไปมองบ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ก็เห็นยังใช้ภาษาโซ่งเป้นภาษาพูดอยู่อย่างเต็มที่เช่นกัน

ชาวไทดำบ้านนาป่าหนาด มีความเป็นมาแตกต่างจากไทดำแถบอื่นๆ ในประเทศไทย เพราะมาจากทุ่งเชียงคำ ประเทศลาว มิได้ไปจากเพชรบุรี

ที่น่าสนใจในแง่ภาษาสำหรับบ้านนาป่าหนาดคือ คุณน้าอุ่น สิมมา นักทอผ้าประจำหมู่บ้านคนหนึ่งแจ้งว่า เป็นหมู่บ้านไทดำที่ยังใช้ภาษาโซ่งกันอยู่อย่างแน่นเหนียว เด็กๆ บ้านนาป่าหนาดทุกคนใช้ภาษาโซ่งเป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวัน การที่เป็นดังนี้น่าจะเนื่องจากเป็นหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลจากหมู่บ้านอื่นๆ ทำให้อิทธิพลของภาษาไทยถิ่นอื่นเข้าไปแทรกแซงแทบไม่ได้เลย

แต่ในหมู่บ้านไทดำหลายแห่ง เกิดปรากฏการณ์ด้านการใช้ภาษาโซ่งที่คลี่คลายไปกว่านี้

คุณพี่พรหม ออมสิน ไทดำบ้านห้วยกระได อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ประมาณว่าถึง พ.ศ. 2543 ไทดำบ้านห้วงกระไดเหลือราวร้อยละ 80 ที่ยังใช้ภาษาโซ่งเป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวัน และถัดลงมาที่บรรพตพิสัย นครสวรรค์ เด็กๆ ชาวไทดำพูดภาษาไทดำไม่ค่อยได้เสียแล้ว [3]

ในระยะเวลาเดียวกัน สำหรับไทดำบ้านห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ป้าทอน ย้อมสี รายงานว่า รุ่นพ่อแม่ที่อพยพครอบครัวไปจากเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ. 2500 และรุ่นลูก ยังพูดภาษาโซ่งในชีวิตประจำวันส่วนรุ่นหลานพูดไม่ได้แต่ฟังเข้าใจ ขณะที่คุณน้าเชย ขวัญเมือง จากบ้านห้วยไผ่ อันอยู่ในอำเภอทับสะแก เหมือนกันนั้น บอกว่าไทดำบ้านห้วยไผ่รุ่นลูกยังพูดภาษาโซ่งกันอยู่ แต่ในรุ่นหลานไม่ยอมพูดภาษาโซ่งเพราะอายที่จะพูด

ลักษณะคล้ายคลึงกันนี้มีอีกที่บ้านโคกตาหอม อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ป้าม๊อก จรุมเครือ ชาวโคกตาหอม (ใกล้กับที่จะสร้างโรงไฟฟ้าบ้านกรูด) สรุปว่า สำหรับไทดำรุ่นซึ่งอพยพไปตั้งหมู่บ้านนี้เมื่อราว พ.ศ. 2500 นั้น ในชีวิตประจำวันยังพูดกันด้วยภาษาโซ่ง ขณะที่รอบๆ หมู่บ้านเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาใต้บ้าง ภาษากลางแบบกรุงเทพฯ บ้าง และไม่มีหมู่บ้านอื่นแถบใกล้เคียงที่เป็นไทดำ เด็กๆ รุ่นลูกรุ่นหลานจึงพูดภาษาโซ่งไม่ได้ แต่ฟังภาษาโซ่งรู้เรื่อง

ถึง พ.ศ. 2543 บ้านหนองตลาด ซึ่งเป็นชุมชนไทดำขนาดใหญ่อยู่ในอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ใช้ภาษาโซ่งผสมกับภาษาไทยกลาง โดยเฉพาะเด็กๆ จะเป็นกันมาก แม้เด็กบางคนจะยังเรียกพ่อแม่ด้วยศัพท์ภาษาโซ่งว่า “อ้าย” และ “เอม” แต่ส่วนใหญ่ใช้คำว่า “พ่อ” และ “แม่” เหมือนไทยภาคกลางทั่วไป [4]

เรื่องน่าเสียดายสำหรับผู้นิยมความหลากหลายทางภาษาคือ เรื่องของบ้านท่าช้าง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นหมู่บ้านใหม่ ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2518 คุณพี่สวน และคุณพี่แล สุขประเสริฐ สองตายายไทดำปรารภไว้เมื่อปลายเดือน 6 ปีมะโรง พุทธศักราช 2543 ว่าไทดำที่อพยพจากหมู่บ้านไทดำเก่าๆ ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่ท่าช้างนี้ ยังพูดกันเองด้วยภาษาโซ่ง แต่ต้องพูดกับหลานด้วยภาษากลาง เด็กๆ พูดภาษาโซ่งไม่ได้เสียแล้ว…เศร้า

ไทดำบ้านทุ่งเกวียน อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องใช้ภาษาพูดถึง 3 ภาษา และน่าทึ่งที่แม้แต่คนซึ่งอพยพไปจากภาคกลาง เช่น ป้าเสียบ เบียดกระสินธุ์ ผู้อพยพไปจากเพชรบุรีตั้งแต่ยังสาว ก็พูดได้ทั้ง 3 ภาษา คือ ภาษาโซ่ง ภาษากรุงเทพฯ และภาษาใต้

สำหรับบ้านสะพานสอง อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็คล้ายคลึงกัน คือเมื่ออยู่บ้านจะใช้ภาษาโซ่ง เมื่อพบคนใต้ก็จะพูดภาษาใต้ เมื่อพบคนกรุงเทพฯ ก็พูดภาษากรุงเทพฯ แต่สำหรับชาวไทดำรุ่นแรกของหมู่บ้านนี้ซึ่งอพยพไปจากภาคกลาง ส่วนใหญ่จะพูดภาษาใต้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ยังพูดภาษาโซ่งได้ ยังเรียกพ่อว่า “อ้าย” เรียกแม่ว่า “เอม” ตามภาษาโซ่ง แต่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับประเพณีไทดำต่างๆ [5]

บ้านไทรงามและบ้านท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับว่าเป็นถิ่นที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในเรื่องภาษา เพราะใช้ภาษาพูดถึง 3 ภาษาเหมือนกัน คือเมื่ออยู่ในบ้านจะใช้ภาษาโซ่ง เมื่อติดต่อราชการทั่วไปจะใช้ภาษากรุงเทพฯ และเมื่อพบกับชาวพื้นเมืองจากหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งเป็นคนใต้ก็จะพูดภาษาใต้

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การใช้ภาษากรุงเทพฯ ดูจะเป็นเครื่องแสดงความรู้สึกไม่เป็นกันเอง ให้ความรู้สึกเป็นคนละพวก

คุณป้าสมใจ บัวแก้ว และคุณพี่สังวาลย์ ถ้อยทัด ไทดำบ้านไทรงามให้ข้อมูลอันสรุปได้ว่า สำหรับชาวไทรงามและท่าสะท้อนแล้ว แม้จะพูดได้ทั้งภาษาโซ่ง ภาษาใต้และภาษากรุงเทพฯ แต่ถนัดที่จะใช้ภาษากรุงเทพฯ ในสามกรณีต่อไปนี้

1. พูดกับคนแปลกหน้า

2. พูดกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

3. พูดกับสัตว์เลี้ยง เช่น หมู หรือสุนัข!

คงจะเป็นภาพที่สนุกจริงๆ ถ้าคุณพ่อไทดำบ้านไทรงามกำลังอยู่บนเรือน คุณแม่กำลังกำราบสุนัขอยู่ใต้ถุนและมีแขกชาวไทยใต้จากหมู่บ้านใกล้ๆ มาเยี่ยม คุณแม่คงจะทักทายผู้มาเยือนด้วยภาษาใต้สองสามประโยค จากนั้นจึงร้องบอกสามีให้ลงมาหาแขกเป็นภาษาโซ่ง…

แล้วก็หันไปไล่หมาเป็นภาษากรุงเทพฯ!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] สัมภาษณ์ หม่อม ปานทอง บ้านห้วยห้าง อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร 25 เมษายน 2543

[2] สัมภาษณ์ รอด ให้สุข บ้านหนองไม้แดง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร 26 เมษายน 2543

[3] สัมภาษณ์ สำราญ สินแต่ง และฮอง สินแต่ง บ้านแหลมย้อย อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ 31 พฤษภาคม 2543

[4] สัมภาษณ์ แอ ดำดิน และศิริพร พันแพน บ้านหนองตลาด อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ 21 เมษายน 2543

[5] สัมภาษณ์ แอ บุญมี พันแอ่งสาย และนิด บุญมี บ้านสะพานสอง อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 19 เมษายน 2543


ปรับปรุงแก้ไขล่าสุดเมื่อ 27 กรกฎาคม 2562