ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เคยสงสัยกันไหมว่าก่อนหน้าที่ “กรุงเทพฯ” จะมีสภาพความหลากหลายทางวัฒนธรรมแบบที่เป็นในทุกวันนี้ เมื่อแรกสถาปนากรุงเทพฯ สภาพความหลากหลายทางชาติพันธุ์ กลุ่มคนเชื้อชาติต่าง ๆ เป็นใคร มาจากไหนกันบ้าง
หลังการศึกสงครามทำให้บ้านเมืองต้องเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่กรุงศรีอยุธยา มาตั้งมั่นที่เมืองธนบุรี สถาปนาเป็นกรุงธนบุรี ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นปฐมบรมราชวงศ์จักรี กรุงเทพฯ ไม่ได้สร้างเสร็จในแผ่นดินเดียวในสมัยรัชกาลที่ 1 เนื่องจากมีศึกติดพันต่อเนื่อง ในความเห็นของสุจิตต์ วงษ์เทศ “ความเป็นกรุงเทพฯ” อย่างแท้จริง มีขึ้นชัดเจนในแผ่นดินรัชกาลที่ 3
แต่เมื่อมาถึงข้อคำถามในเชิงประชากรศาสตร์ว่าด้วยคนกรุงเทพฯ ในยุคตั้งต้นว่าคนกลุ่มนี้เป็นใคร หรือมีจำนวนเท่าไหร่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียนหนังสือ “กรุงเทพฯ มาจากไหน” อธิบายว่า กรุงเทพฯ ยุคแรก คนทั้งหมดไม่ได้เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน และยังไม่มีสำนึก “คนไทย” ดังเช่นที่เป็นในปัจจุบัน
คนกรุงเทพฯ ยุคแรกสามารถจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่แบบกว้าง ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ คนพื้นเมืองดั้งเดิม, คนต่างชาติภาษา “นานาประเทศ” และคนสยาม
คนพื้นเมืองดั้งเดิมใน กรุงเทพฯ
สำหรับกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมนั้น สุจิตต์ อธิบายว่า ในกลุ่มนี้ยังไม่รู้ชื่อเรียกตัวเองว่าอะไรบ้าง แต่มีร่องรอยทางวัฒนธรรมซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มนี้มีหลายตระกูลภาษาปะปนกัน เช่น มาเลย์-จาม และ/หรือชวา-มลายู ตระกูลมอญ-เขมร ตระกูลลาว-ไทย ภายหลังยังมีตระกูลจีน-ทิเบตเข้ามาผสมด้วย
คนพื้นเมืองดั้งเดิมนี้ถูกคนอยุธยายุคนั้นเรียกชื่อ (ในกฎมนเทียรบาล) ว่า “แขกขอมลาวพม่าเมงมอญมสุมแสงจีนจามชวา…”
ชื่อต่าง ๆ ที่พบในกฎมนเทียรบาลนี้ถูกเรียกรวมว่าเป็น “ชาวสยาม” แต่ถ้าแยกออกเป็นชื่อ จะมีดังนี้
แขก คำเรียกรวม ๆ ที่หมายถึงคนที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับอิสลาม แต่ความหมายในที่นี้เป็นพวกมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม มีทั้งมาเลย์-จาม หรือชวา-มลายู อาหรับ-เปอร์เซีย
ขอม คำเรียกรวม ๆ ที่หมายถึงชาติพันธุ์อะไรก็ได้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับพุทธมหายาน ในละแวกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากเมืองละโว้มาถึงพระนครในเขมร ต่อมาจึงหมายถึงพวกเขมรทั้งหมด
ลาว มี 2 พวก อยู่ทางเหนือคือพวกล้านนา-โยนก มีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางพวกหนึ่ง กับทางตะวันออกเฉียงเหนือรวมสองฝั่งโขง คือภาคอีสานกับประเทศลาวทุกวันนี้อีกพวกหนึ่ง
พม่า ตระกูลทิเบต-พม่า หรือจีน-ทิเบต มีชื่อเก่าว่า พยู
เมง คำเดียวกับมอญที่กร่อนจากคำรามัญ แต่หมายถึงเฉพาะพวกที่อยู่หริภุญไชย (ลำพูน)
มอญ หมายถึงพวกรามัญจากเมืองหงสาวดี
มสุมแสง ในหนังสือโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า ยังไม่สามารถหาร่องรอยว่าเป็นพวกใด คาดคะเนจากสำเนียงแล้วไปทางตระกูล “ข่า” หรือ “เงาะ” ก็เป็นได้
จีน พวกฮั่นหรือจีนแท้ก็เป็นได้ หมายถึงคนพื้นเมืองทางใต้ของจีนก็ได้เช่นกัน
จาม เป็นพวกตระกูลมาเลย์-จาม อยู่ในเวียดนามและเขมร แต่เดิมนับถือพุทธ และเปลี่ยนไปนับถืออิสลาม ชำนาญการเดินทางทะเลเลียบชายฝั่งก่อนชาติพันธุ์อื่น พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาจัดให้เป็นกองทัพเรือ เรียกว่า “อาษาจาม”
ชวา หมายถึงชาวชวาจากเกาะชวาในอินโดนีเซีย
คนต่างชาติภาษา “นานาประเทศ”
สุจิตต์ อธิบายว่า คนกลุ่มนี้ทับซ้อนกัน 2 กลุ่ม มีทั้งกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่ห่างไกล กับกลุ่มที่มาจากที่อื่น เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรป ฯลฯ รวมถึงหมู่เกาะ เช่น ญี่ปุ่น ฯลฯ ยกตัวอย่างหลักฐานจากหมายรับสั่งเสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตสมัยปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก เมื่อแห่กลับมาถึงกรุงธนบุรี ยังให้เล่นฉลองอีกนาน การละเล่นเหล่านั้นมีชื่อเป็นของชาติภาษาต่าง ๆ ที่มีหลักแหล่งในกรุง
“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์รามัญ แลมโหรีไทย มโหรีแขกฝรั่ง มโหรีจีนญวน มโหรีมอญเขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช 2 เดือน 12 วัน…”
แม้คนพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่สำเนียงต่างกัน เนื่องจากหลักแหล่งห่างไกลกันจึงถูกจัดให้เป็นคนต่างชาติภาษา โดยการแบ่งคนแบบกว้างๆ ใช้เกณฑ์เรื่อง “ภาษาพูด” ฉะนั้น ตระกูลลาว-ไทยด้วยกันก็ถูกแบ่งเป็นคนต่างชาติต่างภาษาได้ หากพูด-สื่อสารกันแล้วไม่รู้เรื่อง
ผู้เขียนหนังสือ “กรุงเทพฯ มาจากไหน” ยกหลักฐานจากหนังสือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนยุคต้นกรุงเทพฯ เข้าใจว่านอกจาก “ไทย” แล้ว ก็ยังมีคนชาติภาษาลาว ซึ่งสามารถแบ่งภาษาลาวเป็นอีกหลายชาติภาษา เช่น ลาวน้ำหมึก ลาวเงี้ยว ลาวทรงขาว
นอกจากนี้ ยังมีโคลงภาพคนต่างภาษา ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดให้แต่งแล้ววาดภาพประกอบติดในศาลารายรอบกำแพงวัดพระเชตุพน มีชื่อของสิงหฬ, ไทย, กะเหรี่ยง, แอฟริกัน, ดอดชิ (Dutch), อิตาเลียน, ฝรั่งเศส, อาหรับ, แขกปะถ่าน (Pathan), แขกจุเหลี่ย, มอญ, หรูชปีตะสบาก (Russian Petersburg) ฯลฯ
คนไทยสยาม
สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า คนกลุ่มนี้ก็ยังทับซ้อนกับคนพื้นเมืองดั้งเดิม และคนต่างชาติภาษา “นานาประเทศ” อีก โดยคำว่า “ไทยสยาม” หมายถึง คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “ไทย” มีหลักแหล่งบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ที่ต้องเรียก “ไทยสยาม” เนื่องจากแยก “คนไทย” ออกจาก “คนสยาม” ไม่ได้
ผู้เขียนหนังสืออธิบายต่อว่า คนพื้นเมืองดั้งเดิม กับคนต่างชาติภาษาบางพวก แต่เดิมก็ได้ชื่อว่า “คนสยาม” ทั้งหมด เมื่อเวลาผ่านไปก็ปรับตัวเองเป็น “คนไทย” สืบสายตระกูลจนเข้ารับราชการมียศสูงส่งเป็น “ผู้ดี” แต่ส่วนใหญ่แล้ว เป็นไพร่บ้านพลเมืองกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงแตก พ.ศ. 2310 ก็กระจัดกระจายย้ายแหล่งมาอยู่ที่เมืองบางกอก ธนบุรี นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลากหลายที่เข้ามาสวามิภักดิ์กับที่ถูกกวาดต้อนจากบ้านเมืองอื่น ซึ่งไม่สามารถจำแนกแยกแยะออกได้
แต่ที่สามารถยืนยันชัดเจนคือ พวกนี้เป็นคนไทยสยามจากที่อื่น ทยอยเข้ามาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี แล้วตั้งหลักถาวรกลายเป็นประชากรกรุงเทพฯ เต็มตัว
ตัวอย่างของคนไทยสยามในกรุงเทพฯ ที่เห็นชัด อาทิ ตระกูลจีน (พระเจ้าตาก) ตระกูลเปอร์เซียมุสลิม (บุนนาค) ล้วนเป็นคนสยามในพระนครศรีอยุธยามาก่อน เมื่อถึงยุคกรุงเทพฯ ก็เป็นคนไทยสยามอย่างสมบูรณ์
ส่วนข้อคำถามเรื่องจำนวนประชาชนในกรุงเทพฯ ยุคแรกสถาปนา เมื่อพ.ศ. 2325 มีเท่าไหร่นั้น ยังไม่สามารถตรวจสอบแน่ชัดได้ แต่คาดคะเนจากตัวเลขโดยประมาณของเซอร์ จอห์น เบาว์ริง ที่เข้ามาถึงเมืองบางกอกในรัชกาลที่ 4 หลังสถาปนากรุงเทพฯ ประมาณ 73 ปี จำนวนประชากรทั่วราชอาณาจักรสยามมีไม่เกิน 5 ล้านคน เป็นประชากรกรุงเทพฯ ไม่เกิน 3 แสนคน ทำให้คาดคะเนได้ว่า ยุคกรุงธนบุรีกับต้นกรุงเทพฯ ต้องมีน้อยกว่านั้น อาจมีเพียง 1 แสน หรือ 2 แสนคน
อ่านเพิ่มเติม :
- ความเป็นกรุงเทพฯ ที่แท้จริง เริ่มสมัย “รัชกาลที่ 3”
- สำเนียงคน “กรุงเทพฯ” (บางกอก) เคยถูกเหยียดว่า “บ้านนอก” สมัยนี้เหยียดสำเนียงอื่นแทน
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน BANGKOK : THE HISTORICAL BACKGROUND. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2562