เปิดบันทึกหายากของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่าเหตุระทึกกรณีเรือแมนฮัตตัน

จอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังเดิน ไปสู่ เรือแมนฮัตตัน ในวันเกิดเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับผู้แทน E.C.A. กำลังเดินไปสู่มณฑลพิธีมอบเรือแมนฮัตตัน เมื่อ29 มิถุนายน 2494

กิจกรรมการเมืองของไทยที่ทำกันบ่อยที่สุด นอกจาก “การเลือกตั้ง” รองลงมาก็คงเป็น “การรัฐประหาร” ในการรัฐประหารหลายครั้ง ครั้งหนึ่งที่ตื่นเต้นระทึกขวัญอย่างยิ่งก็คือ “กบฏแมนฮัตตัน” เดือนมิถุนายน 2494 เพราะครั้งนั้นมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัวประกัน ขณะยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นจุดจบไม่เฉพาะแต่การลดบทบาทกองกำลังทหารเรือ ทั้งยังนับเป็นบทอวสานของคณะผู้ก่อการคณะราษฎรสายทหารเรือที่ยังคงอำนาจอยู่ขณะนั้นด้วย

รายละเอียดของเหตุการณ์ครั้งนั้น นริศ จรัสจรรยาวงศ์ รวบรวมข้อมูลต่างๆ เป็นคำตอบไว้ใน “บันทึก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ‘กรณีแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494’ เมื่อนายกรัฐมนตรีถูกจี้เป็นตัวประกัน” ที่เผยแพร่ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเรานำข้อมูลบางส่วนมาเสนอในที่นี้

Advertisement

เริ่มจากคณะผู้ก่อการ หรือ “คณะกู้ชาติ” นำโดย นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา-ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบร่วมทหารเรือ, นาวาตรี มนัส จารุภา-ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ร่วมกับทหารเรือรุ่นหนุ่มจำนวนหนึ่งและแนวร่วมคนสำคัญ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน

ขณะที่ “ตัวประกัน” เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ขึ้นทำเนียบ “คนดวงแข็ง” ที่สุดคนหนึ่ง ที่ก่อนหน้านั้นเคยถูกลอบสังหารถึง 3 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลอบยิง (พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2481) หรือวางยาพิษ (พ.ศ. 2481) รวมทั้งการรัฐประหารครั้งนี้ แม้แต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังยอมรับว่า จอมพล ป. ผู้นี้มีพระดีประจำตัวที่เรียกว่า “พระหลวงตาแปลก” คุ้มภัย

สำหรับสาเหตุหลักของปฏิบัติการครั้งนี้ เกิดจากความไม่พอใจเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มตำรวจของ เผ่า ศรียานนท์

เช่นนี้จึงเกิดการวางแผนตระเตรียมการ แต่กว่าจะลงมือทำได้จริงก็ต้องเลื่อน เลื่อน และเลื่อน ถึง 5 ครั้ง ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2493-มิถุนายน พ.ศ. 2494 กว่าจะได้ลงมือในวันที่ 29 มิถุนายน 2494

เรือ แมนฮัตตัน ที่ ท่าราชวรดิษฐ์
เรือขุดสันดอน “แมนฮัตตัน” ที่ E.C.A. มอบให้แก่ไทย ณ ท่าราชวรดิษฐ์

วันที่ 29 มิถุนายน 2494 ที่ท่าราชวรดิฐในพิธีมอบเรือขุดสันดอนชื่อแมนฮัตตันจากรัฐบาลอเมริกา ท่ามกลางทูตานุทูตและชาวต่างประเทศที่เป็นแขกของรัฐบาล หลังเสร็จพิธีสงฆ์ นาวาตรี มนัสอาศัยจังหวะเข้าจี้ตัว จอมพล ป. และนำตัวลงเรือเปิดหัวมุ่งหน้าสู่เรือหลวงศรีอยุธยา

เมื่อจับกุม จอมพล ป. มาเป็นตัวประกันบนเรือหลวงศรีอยุธยาแล้ว ตามแผนที่วางไว้ จะต้องล่องเรือหลวงศรีอยุธยาลงสู่ฐานทัพเรือบางนา แต่แผนที่ตกลงไว้กลับไม่เป็นไปตามนั้น  เพราะสมาชิกบางส่วนไม่มาตามนัด จึงทำให้คณะกู้ชาติเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ เมื่อไม่สามารถเปิดสะพานพุทธให้เรือลอดไปได้ จักรกลในตัวเรือเองก็ประสบปัญหาขัดข้อง ทำได้เพียงทอดสมอลอยแช่เป็นเป้านิ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าป้อมวิไชยประสิทธิ์

ภาพ ขณะ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกคุมตัวลงจากเรือแมนฮัตตัน ใน กบฏแมนฮัตตัน
ภาพขณะ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกคุมตัวลงจากเรือแมนฮัตตันเพื่อนำตัวไปไว้ในเรือหลวงศรีอยุธยา

นั่นคือข้อมูลพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ “กรณีแมนฮัตตัน”

แต่จากการค้นคว้าของ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ข้อมูลจาก “ตำรวจ ฉบับพิเศษ ธรรมาธรรมะสงคราม (กบฏบนเรือแมนฮัตตัน)” ที่มี พล.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้อำนวยการ กล่าวถึงเอกสารหลายฉบับที่เป็นการโต้ตอบไปมาระหว่างรัฐบาลและคณะกู้ชาติ และต้องการส่งสารไปยัง จอมพล ป. ในเวลาเดียวด้วย ก่อนที่จะทิ้งระเบิดว่า “…ขอ พณฯ ท่านได้เสียสละเพื่อกฎหมายของประเทศชาติและบ้านเมือง…ทั้งนี้ ขอ ฯพณฯ ท่านได้ยอมเสียสละเพื่อปราบผู้กบฏต่อบ้านเมือง [ย้ำถึง 2 ครั้ง – นริศ]

อันเป็นการยืนยันว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดขณะนั้นตัดสิน “เท” จอมพล ป. แล้ว

ที่สำคัญคือเอกสารหนึ่งที่นริศค้นคว้านำเสนอในบทความของเขาคราวนี้ก็คือ บันทึกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัวประกันกิตติมศักดิ์ ที่เคยเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2499 จากนั้นก็แทบจะไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะอีกเลย บางตอนของบันทึกดังกล่าวระบุว่า

“เรื่องโดยละเอียดพอจะเล่าให้ทราบได้คือ เหตุการณ์ที่ทหารเรือจะทำเช่นนี้ มีมาหลายครั้งแล้ว ฝ่ายเราก็ได้พยายามป้องกันหาทางแก้ไข ได้เรียกประชุมนายทหารผู้ใหญ่มีหลวงสินธุ์ [สินธุ์ กมลนาวิน – นริศ] ด้วย คิดว่าจะตกลงได้ แต่ก็ไม่หยุดยั้ง ครั้นเรือแมนฮัตตันมา หลวงเดชสหกรณ์ หัวหน้าติดต่อกับ E.C.A. ฝ่ายไทยก็กะการรับมอบเรือที่ท่าราชวรดิษฐ ทาง E.C.A. ก็ได้จัดของที่ให้ตั้งแสดงมากมายรอบๆ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ตกลงทำในวันที่ 29 มิถุนายน บ่าย 3 โมงเชิญทูตและแขกเป็นจำนวนมาก พวกทูตมาเกือบหมด เว้นอังกฤษไม่มาเลย

เมื่อพูดรับมอบกันเสร็จแล้ว โดยมีการกระจายเสียง ก็ไปทำพิธีเจิมหัวเรือโดยมีหุ่นตั้งขึ้นเสร็จแล้วก็ขึ้นบนเรือพร้อมด้วยแขก ทูต ฯลฯ หลวงสินธุ์ หลวงนาวา [ผัน นาวาวิจิต – นริศ] ก็อยู่ด้วย ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปบนเรือพร้อมกับสิงห์โต คุณสนิทติดตามไป พอคล้องพวงมาลัยหัวเรือเสร็จ พวกอเมริกัน E.C.A. ก็นำจะไปดูเรือพร้อมกับแขกอื่นๆ

พอเดินมาจวนจะถึงบันไดลงท่าราชวรดิษฐทางฝั่งพระนคร มีนายทหารเรือคนหนึ่ง (ภายหลังทราบว่าเป็น น.ต. มานัส ลูกพระยาปรีชากลยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือคนแรก เมื่อเปลี่ยนการปกครอง 2475) วิ่งผ่านข้าพเจ้า ไปหาสิงห์โต ปลดอาวุธในมือปืนกลมือกับปืนพก 1 กระบอก แล้วก็วิ่งไปทางใต้ห่างบันไดลงราว 3 ม. จ้องปืนมายังข้าพเจ้า เรียกข้าพเจ้าให้มาและลงบันได พวก E.C.A. ชื่อ Bisgood ได้เข้าบังตัวข้าพเจ้าไว้ มานัสก็ขู่ว่าอย่ายุ่งจะยิง แกเลยหลบไป ข้าพเจ้าก็เลยเห็นท่าไม่ดี ถ้าเกิดยิงกันพวกทูตคงบาดเจ็บมาก ก็เดี๋ยวปืนลั่นถูกคนตาย เขาเลยบอกว่าให้ลงบันได เอาปืนกลจี้หลังไป

ข้าพเจ้าเลยเดินลงบันไดเลี้ยวขวา เลียบเขื่อนไป ลงเรือเปิดหัวที่หน้ากองเรือกลเก่าทางใต้ พร้อมกับสิงห์โตและสนิท แต่งกายสากล เขาให้ลงเรือแล้ว ก็เดินเครื่องออกไปทางเหนือผ่านเรือแมนฮัตตัน พวกในเรือมาโบกมือ ข้าพเจ้าก็โบกมือตอบ น.ต. มานัสเอาปืนขู่จะยิงพวกในเรือ ทุกคนหมอบกันเรียบยังกราบเรือ มานัสเอาปืนคุมไปคนเดียว พร้อมกับลูกเรือ 3-4 คน พวกเราคิดจะแย่งปืน แต่ก็เห็นไม่มีประโยชน์ และพวกเขาคงมีทางฝั่งอีกมาก ตายเปล่า เลยคิดไปดูเอาข้างหน้า เขาพาไปขึ้นเรือปืนศรีอยุธยา เป็นลำที่รับเสด็จในหลวง คราวเสด็จกลับ เป็นเรือปืนลำเดียวที่ใหญ่และใช้ได้ มีปืน 8 นิ้วหัวเรือ 2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน 20 ม.ม. 75 ม.ม. หลายกระบอก พอขึ้นเรือแล้ว เขาให้ไปพักในห้องกินข้าว มีโต๊ะยาวและเก้าอี้นวมรอบๆ นั่งคนเดียว มียามถือปืนกลมือจ้อง สรวมหมวกเหล็ก.

เมื่อเดินทางไป ผ่านเรือรบที่จอดเขาก็โบกมือให้สัญญา และให้สัญญารับกัน แล้วก็ปลดผ้าใบเตรียมรบทุกลำ เมื่อพักในห้องประเดี๋ยว น.อ.อานนท์ ปุณฑริก ฯลฯ มาหาและมากราบที่เข่า จะให้การปกครอง เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องการให้ใคร มาเป็นพวกปกครองและพวกรัฐประหารเสวยเอกสิทธิ์ ค้าฝิ่น ค้าไม้ ฯลฯ ร่ำรวยกัน ใช้ไม่ได้ ค่าครองชีพก็แพง ทนไม่ไหว รวมความว่า พูดอย่างพวกฝ่ายค้านและคอมมิวนิสต์นั่นเอง คงเอาตามหนังสือพิมพ์ ของพระองค์ภาณุ (ประชาธิปไตย, เกียรติศักดิ์, สยามรัฐของคึกฤทธิ์)

ข้าพเจ้าก็เลยตอบว่าคุณฟังให้ดีทำไปเชื่อพวกยุแหย่ อย่าไปเชื่อหนังสือพิมพ์ ถ้าคนเรามั่งมีก็จะปลูกบ้านปลูกช่อง ใช้ฟุ่มเฟือยหรือฝากแบงค์ เราอาจค้นได้ ผมก็ได้สอบสวนดูแล้ว ไม่ปรากฏว่าใครมั่งมี พล.อ.ผิน ก็อยู่บ้านเดิม พล.ท.สฤษดิ์ ก็อยู่บ้านหลวง พวกรัฐมนตรีก็ไม่เห็นใครมีบ้านช่องผิดปกติอย่างไร คุณควรจะสอบให้ดี ขออย่าให้รบกัน ขอให้เจรจากันดีกว่า ข้าพเจ้าบอกว่าจะช่วยให้เข้าใจกัน โดยไม่รบกัน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะคุณเอามาขังไว้ ขาดการติดต่อหมด พูดเพียงนี้ น.อ.อานนท์ ก็ลาไปบอกว่า แล้วผมจะมาพูดใหม่ ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะพบกับนายปรีดีเป็นแน่…” [จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน]

ที่ยกมานี้ก็แค่ส่วนหนึ่งของบันทึกที่ จอมพล ป. เขียน และเป็นแค่ส่วนหนึ่งของบทความที่นริศเขียน ไว้ “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคม 2564 เพราะแม้หลายท่านจะทราบอยู่แล้วว่าตอนจบของคณะกู้ชาติถูกเปลี่ยนชื่อเป็น  “กบฏแมนฮัตตัน” แต่เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความมุทะลุของทหารเรือรุ่นหนุ่ม, เพราะดอกประดู่คนละต้นจึงบานไม่พร้อมกัน ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2564