ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หอมหวล นาคศิริ (พ.ศ. 2442-2521) ซึ่งปั้นปลายชีวิตอุปสมบทและได้เป็น พระอธิการหอมหวล คนฺธสิริ เจ้าอาวาสวัดป่าเรไร จังหวัดนนทบุรี หอมหวลเป็นคนอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการยกย่องเป็นปรมาจารย์ลิเกลูกบท มีลิเกทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่จำนวนมากเป็นลูกศิษย์ ซึ่งบางส่วนเป็นลูกหลานของหอมหวลโดยตรง
ด้วยความนิยมและการยอมรับในฝีมือของ หอมหวล นาคศิริ ลิกเกที่ร่ำเรียนไปจากหอมหวลจำนวนไม่น้อยจึงมักตั้งชื่อคณะโดยลงท้ายว่า “ศิษย์หอมหวล” เช่น บรรหาร ศิษย์หอมหวล เจ้าของฉายาลิเกคนจนเงินล้าน อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงของหอมหวลไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการลิเก เรื่องนี้ ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์ อธิบายไว้ใน “วัฒนธรรมบันเทิงในชาติ” (สนพ.มติชน, มกราคม 2550) พอสรุปได้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]
หอมหวล นาคศิริ มีภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าสู่วงการลิเกเพราะติดใจการแสดงลิเกของคณะดอกดิน เสือสง่า ลิเกทรงเครื่องผู้โด่งดัง เนื่องจากพ่อแม่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าสู่อาชีพลิเก จึงหนีตามคณะลิเกมากรุงเทพฯ หวังจะได้อยู่กับคณะดอกดิน เสือสง่า
ในช่วงแรกแม้ไม่ได้อยู่กับคณะดอกดินแต่ก็มีโอกาสอยู่กับคณะละคร และลิเกหลายคณะ…ภายหลังจากออกบวช ฝากตัวเป็นศิษย์และร่วมแสดงกับคณะดอกดิน เสือสง่า ระยะหนึ่ง แล้วกลับมาตั้งคณะลิเกแสดงประจำอยู่ที่วิกจังหวัดลพบุรี เป็นเวลา 10 ปี และย้ายมาประจำอยู่กรุงเทพฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2…
ทศวรรษ 2490 นับเป็นยุคเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมความบันเทิงแบบเก่ากับวัฒนธรรมความบันเทิงแบบตะวันตก ลิเกลูกบทแบบใหม่ซึ่งหอมหวลคิดขึ้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จึงได้รับความนิยมและมีส่วนสำคัญทำให้ลิเกยังคงเป็นวัฒนธรรมความบันเทิงที่มีพลวัตท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง การเป็นผู้นำในการปรับปรุงลิเกและความสามารถในการแสดงทำให้หอมหวลมีทั้งฐานะและบทบาทในวงการลิเก
พ.ศ. 2493 หอมหวลมีลูกน้องไม่ต่ำกว่า 300 คน มีวิกลิเกและสาขาที่ตนเองเป็นผู้ควบคุม 7 แห่ง ทองใบ รุ่งเรือง เล่าว่าเฉพาะคณะลิเกหอมหวล 1 เพียงโรงเดียวมีรายได้ 1,700-2,000 บาท ต่อคืน (โฆษณาสาร, 8 สิงหาคม 2494)
ฐานะและชื่อเสียงของหอมหวลทำให้หอมหวลเข้าสู่วงการเมือง นับตั้งแต่ นายสังข์ พัธโนทัย และนายฉาย วิโรจนศิริ เลขาส่วนตัวของจอมพล ป. นำหอมหวลเข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล ป. พิบูลสงคราม สนับสนุนให้หอมหวลลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่จังหวัดอ่างทองในปี พ.ศ. 2500 แต่ปัญหาทางการเมืองทำให้พรรคมนังคศิลาส่งผู้สมัครคนอื่นแทน (เจนภพ จบกระบวนวรรณ, 2524 : 76, 83)
อย่างไรก็ตาม การที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้หอมหวลลงรับสมัครเลือกตั้ง สะท้อนถึงชื่อเสียง และความศรัทธาที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีต่อหอมหวล
ความสำเร็จในการแสดงลิเก ทำให้มีผู้สมัครเข้าเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก เพราะนอกจากหอมหวลจะเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาลิเกลูกบทเป็นที่ยอมรับของประชาชนแล้ว วิธีการถ่ายทอดของหอมหวลยังทำให้ผู้ที่เข้ามาศึกษามีโอกาสพัฒนาความสามารถ อันนำไปสู่การตั้งคณะลิเกของตนเอง ทองใบ เรืองนนท์ (สัมภาษณ์, 7 ตุลาคม 2547) เล่าถึงเรื่องนี้ว่า “หอมหวลจะให้ลูกน้องหรือลูกศิษย์คิดการแสดง คิดกลอนเองแล้วมาร้องให้ฟัง หอมหวลก็จะแนะนำแก้ไขติชม เพราะมีความสามารถจริงๆ”
ความสามารถเฉพาะตัวของหอมหวลดังกล่าว ทำให้ลิเกสมัยหลังส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์ของหอมหวลที่แยกย้ายไปตั้งคณะลิเกของตนเอง เจนภพ จบกระบวนวรรณ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“…ลิเกทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ต่างต้องเคยผ่านสถาบันนี้ทั้งนั้น ในวงการลิเกเรารู้จักทองใบ รุ่งเรือง, บุญส่ง จารุวิจิตร, เสน่ห์ โกมารชุน, สอิ้ง ธรรมากูล, สำเภา ศรีทอง, จันทร์แรม, สมาน, สวอง, ขุนแผน กุมมารักษ์, ถนอม นวลอนันต์, ตาล กิ่งเพชร, ระเบียบ จิตรอารี, บานเย็น ดวงระยศ ฯลฯ ต่างเคยเป็นศิษย์หรือล้วนเคยผ่านคณะหอมหวลมาทั้งสิ้น คณะลิเกหอมหวลแตกแขนงออกไปมากมายเหลือคณานับไล่ชื่อกัน 3 วัน 3 คืน ก็ไม่หมด…” (2524 : 97)
กล่าวได้ว่า การเติบโตของลิเกในทศวรรษนี้เป็นผลจากรูปแบบของลิเกที่สามารถปรับให้เข้ากับรสนิยมของผู้ชมได้ โดยมีปัจจัยกระตุ้นสําคัญคือความสามารถเฉพาะบุคคล และผู้บริโภคซึ่งมีฐานะสำหรับการใช้ชีวิตด้านความบันเทิงมากขึ้นจนสามารถอุปถัมภ์ศิลปินได้ ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนวิถีวัฒนธรรมที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างวัฒนธรรม แบบจารีตกับวัฒนธรรมตะวันตก ลิเกจึงยังคงเป็นความบันเทิงที่ดำรงอยู่ได้ในกระความเปลี่ยนแปลง
อ่านเพิ่มเติม :
- ทองมาก จันทะลือ หมอลำรุ่นแรกๆ ที่วิจารณ์การเมือง และได้เป็นทั้งส.ส.-ศิลปินแห่งชาติ
- เปิดบันทึก “ลิเกโรงบ่อน” เผยเหตุผลโรงบ่อนต้องมีมหรสพคู่การพนัน
- โนราภาคใต้ ไปจากภาคกลาง สมัยอยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2564